คุยกับสาวตรี สุขศรี ว่าด้วย ‘เฟกนิวส์’ และความกว้าง เทา คลุม ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

“รัฐบาลใช้คำว่าเฟกนิวส์บ่อยมากในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา ทำให้อำนาจเขาเยอะขึ้น โดยมีกฎหมายที่รองรับหลักๆ คือมาตรา 14 (2) ซึ่งมองได้สองกรณี อย่างแรกคือใช้ได้จริง หลายสิ่งเป็นเฟกนิวส์จริงๆ กับหลายครั้งเรื่องเฟกนิวส์ถูกเอามาใช้ในลักษณะข่มขู่ ทั้งที่จริงใช้ในกรณีนั้นไม่ได้”

ผศ.สาวตรี สุขศรี จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงสถานการณ์การใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และข้อหาเฟกนิวส์ ที่เป็นประเด็นร้อนแทบทุกวันในช่วงนี้ เช่น การดำเนินคดีกับผู้กำกับภาพยนตร์อย่างยุทธเลิศ สิปปภาค หลังทวิตวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล, การจัดตั้งหน่วยงานใหม่อย่าง ‘ตำรวจไซเบอร์’ ซึ่งจะช่วยให้ดำเนินคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในต่างจังหวัดได้ง่ายขึ้น, การฟ้อง ‘ดนัย’ ศิลปินกราฟิตี้ ผู้โพสต์ว่าไม่พบเจ้าหน้าที่คัดกรองโควิด-19 หลังเขาบินกลับจากประเทศสเปน หรือการข่มขู่ประชาชนว่าอาจถูกฟ้องจากการปลอมประวัติเพื่อลงทะเบียนรับเงิน 5,000 บาท ในโครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน เป็นต้น

เฟกนิวส์คืออะไรกันแน่ เส้นแบ่งระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์กับเฟกนิวส์อยู่ที่ไหน เราต้องกล้าหรือกลัวแค่ไหนก่อนแชร์หรือโพสต์ข่าว พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะมีอำนาจครอบจักรวาลและอยู่ยาวกับสังคมไทยไปอีกนานเท่าใด ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนคุยกับสาวตรีเพื่อคลี่คลายความสับสนนี้ไปด้วยกัน

 

เฟกนิวส์คืออะไร

เฟกนิวส์ คือข้อมูลเท็จหรือข่าวสารปลอม (คำศัพท์ทางกฎหมายคือ ‘ข้อมูลอันเป็นเท็จ’) ก่อนอื่นเราควรทำความเข้าใจก่อนว่า ข้อเท็จจริง (fact) กับความคิดเห็น (opinion) ไม่เหมือนกัน ข้อเท็จจริง (fact) คือข้อมูลที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็น ‘ความจริง’ หรือเป็น ‘ความเท็จ’ เช่นใครทำอะไรกับใคร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร หรือเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ขณะที่ความคิดเห็น (opinion) คือการแสดงความรู้สึก ความคิดเห็นของผู้พูดเองว่าเขารู้สึกอย่างไรต่อข้อเท็จจริงเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงไม่เกี่ยวกับความจริงหรือความเท็จ

เฟกนิวส์ เป็นสิ่งที่เกี่ยวกับ ‘ข้อเท็จจริง’ ค่ะ ไม่ใช่ ‘ความคิดเห็น’ และเป็นข้อเท็จจริงที่ถูกสร้างหรือถูกปั้นแต่งขึ้นมา ทั้งๆ ที่เรื่องนั้นไม่มีอยู่จริง ไม่เคยเกิดขึ้นจริง หรืออาจเกิดขึ้นจริงแต่ถูกบิดเบือนให้ผู้คนเข้าใจไปอีกอย่างหนึ่ง ตัวอย่างเช่นเผยแพร่ว่าเขื่อนใหญ่กำลังจะแตก ทั้งๆ ที่ไม่มีข้อเท็จจริงหรือไม่มีหลักฐานใดๆ รองรับ จนทำให้ชาวบ้านตกใจกลัวรีบอพยพย้ายบ้านหนีจนเดือดร้อนไปหมด หรือกรณีคนขาดคุณสมบัติขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาทจากรัฐบาลปลอมประวัติตัวเองกรอกแบบฟอร์มเพื่อให้ตนมีสิทธิได้รับเงิน ซึ่งเจ้าพนักงานอาจตีความว่าการนำเข้าข้อมูลดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเงินที่จะนำไปช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจริงๆ เสียหายต่อสังคมหรือต่อเศรษฐกิจ เป็นต้น

 

การวิพากษ์วิจารณ์หรือด่ารัฐบาลถือเป็นเฟกนิวส์หรือไม่

ปัญหาของบ้านเราตอนนี้คือดูเหมือนรัฐหรือผู้บังคับใช้กฎหมาย โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตามกำลังปล่อยให้คำว่าเฟกนิวส์คลุมเครือ ไม่รู้ว่าหมายถึงอะไรกันแน่ อาจเป็นเพราะเขาต้องการกดปราบประชาชนไว้ เราจึงมักได้ยินว่าคำขู่ว่าแค่แสดงความเห็นหรือด่ารัฐบาลก็เป็นเฟกนิวส์ได้แล้ว ทำให้ประชาชนที่เขาไม่รู้กฎหมายงงๆ กล้าๆ กลัวๆ อึดอัดคับข้องใจ เพราะต่อให้เราไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลอย่างไร เบื่อหน่ายแค่ไหน กลับไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ เพราะกลัวผิดกฎหมายหรือโดนตำรวจจับ

การวิพากษ์วิจารณ์หรือเอาจริงๆ การต่อว่าด่าทอ คือการแสดงความคิดเห็น (opinion) รูปแบบหนึ่ง เมื่อขึ้นชื่อว่า ‘ความคิดเห็น’ ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ใครจะไปตัดสินได้ว่า ความคิดเห็นของใครนั้นเป็น ‘ความจริง’ หรือ ‘ความเท็จ’ กล่าวอีกอย่างคือ ความคิดเห็นไม่ใช่ข้อเท็จจริง เป็นสิ่งที่นำไปพิสูจน์ด้วยหลักฐานใดๆ ไม่ได้ว่าความคิดเห็นนั้นจริงหรือเท็จ เป็นแค่ความคิดเห็นของผู้ที่เลือกที่จะแสดงออกตามสิทธิของเขา สิ่งที่สร้างให้เกิดขึ้นกับผู้ฟังหรือผู้เห็นความคิดเห็นคือความถูกใจหรือความไม่ถูกใจเท่านั้น ดังนั้นความคิดเห็นจึงเป็นเฟกนิวส์ไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรจริงและอะไรไม่จริง และในระบอบนิติรัฐประชาธิปไตย ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ เป็นผู้เลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ออกกฎหมายและบริหารประเทศ ย่อมเป็นปกติวิสัยหรือเป็นสิทธิโดยชอบธรรมที่ประชาชนจะแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์นโยบาย ไปจนถึงการทำงานของผู้แทนฯ ที่เลือกเข้าไปเหล่านั้น

นอกจากนี้ปัจจุบันประชาชนในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย มักไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์ด้วยการกล่าวถ้อยคำตรงๆ หรือด่าตรงๆ อีกแล้ว เขาอาจใช้วิธีการอื่นๆ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าเขาไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลด้วย เช่น ล้อเลียน เสียดสี หรือทำให้เป็นเรื่องตลก (parody) โดยเจตนาคือเพื่อชี้ให้ประชาชนคนอื่นเห็นว่าเขาไม่เห็นด้วย ไม่พอใจ และต้องการให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนการทำงาน หรือบริหารประเทศให้ดีกว่านี้ ถามว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเฟกนิวส์หรือไม่ โดยส่วนตัวเราเห็นว่ายังไม่ใช่เฟกนิวส์ที่จะนำมาลงโทษตามกฎหมายได้อยู่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสุดท้ายแล้วเป็นแค่ความคิดเห็น หรือแม้แต่ถ้าเรื่องที่แสดงออกมามีข้อเท็จจริงปนเปอยู่โดยผู้แสดงออกทำให้เป็นเรื่องตลก บิดข้อเท็จจริงทำให้ขำ แต่วิญญูชนหรือคนทั่วไปอ่านทั้งหมดแล้วรับรู้ได้ทันทีว่าเป็นเรื่องตลกโปกฮา เสียดสี ล้อเลียน ไม่ใช่เรื่องจริง เช่นนี้ก็ไม่มีเหตุผลหรือควรต้องถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเฟกนิวส์ที่ส่งผลเสียหายกับใครได้ หรือเข้าข่ายเป็นความผิด

 

ในการนำเข้าข้อมูลครั้งหนึ่งๆ ดูจะมีพื้นที่ทับซ้อนของการนำเข้าข้อมูลหลายแบบ เช่นมีทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ เฟกนิวส์ และรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ปะปนกัน เราจะแยกแยะได้อย่างไร

ตรงนี้ยากที่สุด บางคนอาจบอกว่าถึงที่สุดแล้วเฟกนิวส์เป็นคำที่ยังไม่ชัดจริงๆ มีหลายกรณีที่ผสมกันอยู่ทั้งข้อเท็จจริง ความเห็น การบิดเบือน การบอกไม่หมด การปิดไว้บางส่วน หรือการปล่อยให้เข้าใจผิด ฯลฯ แต่ทั้งนี้ข้อความคิดพื้นฐานที่สุดไม่ใช่เรื่องเข้าใจยากและควรตรงกันได้ นั่นคือเฟกนิวส์เป็นเรื่องของข้อเท็จจริงที่เป็นความเท็จ ไม่ใช่ความคิดเห็นที่ไม่มีถูกไม่มีผิด เมื่อเขาแสดงออกมาแล้วผู้ฟังจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้ แต่ไม่ใช่การหลอกลวงใครด้วยความคิดเห็น ส่วนถ้าพบว่าองค์ประกอบทั้งหมดมีลักษณะหลากหลายมากในข้อเขียนหรือประโยคหนึ่งๆ ที่เผยแพร่ออกมา อาจต้องพิจารณาเป็นกรณีไป

ในยุคโซเชียลเน็ตเวิร์ก ความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของเฟกนิวส์ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นกระแสในสังคมโลก ทุกประเทศกำลังตื่นตัวกับคำๆ นี้ และหามาตรการป้องกัน กลายเป็นการรับรองในชั้นต้นว่าเฟกนิวส์ก่อปัญหาได้จริงๆ และสมควรถูกควบคุมจริงๆ เพราะแม้แต่ประเทศที่พัฒนาและเปิดเสรีทางความคิดแล้วยังต้องหามาตรการรับมือ รัฐบาลไทยย่อมหยิบจับประเด็นเหล่านี้มาเน้นย้ำ ใช้สร้างความชอบธรรมในการจัดการได้ แต่ปัญหาคือเราเอามาเน้นแบบสีเทาๆ ปล่อยไว้ให้คลุมเครือ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือปิดปากประชาชนทางอ้อมว่า อย่าสื่อสารนะ ไม่งั้นผิดกฎหมาย

การสร้างความคลุมเครือให้ความหมายของของเฟกนิวส์ การข่มขู่รายวันว่าทำแบบนี้ไม่ได้ พูดแบบนั้นเป็นความผิด ย่อมทำให้ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่ไม่รู้กฎหมาย หรือต่อให้รู้กฎหมายแต่ไม่ค่อยแน่ใจ เกิดความสับสนว่าสุดท้ายเจ้าหน้าที่รัฐตีความคำว่าเฟกนิวส์ว่าอย่างไรกันแน่ รวมการด่าการล้อเลียนด้วยเหรอ ฯลฯ ไม่กล้าแสดงความเห็นอะไรอีกเพราะกลัวถูกดำเนินคดี

เราไม่รู้หรอกค่ะว่ารัฐบาลไม่รู้จริงๆ ว่าเฟกนิวส์คืออะไร หรือแกล้งทำเป็นไม่รู้ เขาอาจรู้แต่ไม่ทำให้ชัดเจน เพราะอยากให้ประชาชนสับสน และเมื่อสับสน ไม่แน่ใจว่าอะไรผิด อะไรถูก อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ สุดท้ายเพื่อความปลอดภัยของตัวเองและครอบครัวเลยไม่ทำดีกว่า เงียบไว้ดีกว่า ซึ่งเท่ากับรัฐบาลประสบความสำเร็จในการสร้างบรรยากาศความกลัวเพื่อปิดปากประชาชน

 

รัฐควรนิยาม ‘เฟกนิวส์’ อย่างไรถึงเรียกได้ว่านิยามให้ชัดเจน

ตอนนี้เรายังไม่คิดไปไกลถึงขั้นเรียกร้องว่ารัฐควรต้องบัญญัตินิยามคำว่าเฟกนิวส์ไว้ในกฎหมายชัดๆ นะคะ เพราะในความเป็นจริง การสร้างเฟกนิวส์อาจเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบ หลายลักษณะ หรือหาคำนิยามที่เป็นเอกภาพยังไม่ได้ เพียงแต่ในระดับการนำกฎหมายไปบังคับใช้ หรือทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วไป รัฐควรต้องมีการสื่อสาร หรือพยายามทำให้ชัดเจนในระดับหนึ่ง เช่นอธิบายได้ว่าเฟกนิวส์เป็นการสร้างข้อเท็จจริงที่เป็นความเท็จ บิดเบือน หรือทำให้เข้าใจผิด ไม่ใช่แค่แสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ หรือล้อเลียน เสียดสีเท่านั้น แต่รัฐคงไม่ทำหรอกค่ะ เพราะเท่ากับเป็นการบอกใบ้กลายๆ ว่าประชาชนสามารถล้อเลียนหรือเสียดสีรัฐบาลได้

แต่อย่างน้อยที่สุดรัฐไม่ควรขู่ประชาชนว่าห้ามด่ารัฐบาล ซึ่งเท่ากับรัฐบาลสร้างเฟกนิวส์เสียเอง เพราะปั้นแต่งเรื่องหลอกประชาชนว่าแค่วิพากษ์วิจารณ์เป็นความผิดตามกฎหมายได้  เรื่องนี้สังคมควรจับตาว่าอย่างน้อยในระดับปัจเจกบุคคล เจ้าหน้าที่รัฐคนไหนขู่ประชาชนอย่างนี้ควรมีความผิด อย่าปล่อยให้ใช้กฎหมายสองมาตรฐาน

 

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ถูกนำมาจัดการกับเฟกนิวส์ตอนนี้อย่างไร และถูกต้องตามหลักการมากแค่ไหน

ปัจจุบัน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) คือ มาตราที่ว่าด้วยการเอาผิดกับการเผยแพร่เฟกนิวส์ ซึ่งมีโทษทางอาญาด้วย กล่าวคือมีโทษจำคุกและ/หรือปรับ ดังนั้นบุคคลจะมีความผิดตามมาตรานี้ได้ เขาต้องมีเจตนาซึ่งคำว่า ‘เจตนา’ มีความหมายทางกฎหมายว่า ผู้กระทำต้อง 1) รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด 2) ‘ประสงค์’ จะกระทำไปเช่นนั้น อธิบายเพิ่มเติมคือผู้กระทำต้องรู้ว่าข้อเท็จจริงนั้นเป็นความเท็จ เป็นเรื่องไม่จริง เป็นสิ่งที่เขาตั้งใจสร้างขึ้น บิดเบือนขึ้นมาเอง แต่ยังต้องการหรือประสงค์นำออกเผยแพร่ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ดังนั้นถ้าเขาไม่รู้ว่าเป็นเรื่องเท็จ เขาจะมีความผิดตามมาตรานี้ไม่ได้เพราะขาดเจตนา

ลองเอามาปรับใช้กับข้อเท็จจริงในช่วงนี้ดูก็ได้ เช่นกรณีรัฐบอกว่าใครปลอมแปลงประวัติเพื่อรับเงินเยียวยา 5,000 บาท อาจมีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีนี้เราเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเข้าข่ายความผิดตามมาตรานี้ หากผู้กระทำรู้ว่าตนเองไม่มีคุณสมบัติหรือไม่เข้าเงื่อนไขที่จะได้รับเงิน จึงสร้างข้อเท็จจริงหรือประวัติของตัวเองใหม่ (ซึ่งเป็นความเท็จ) แล้วกรอกแบบฟอร์มเพื่อขอรับเงิน รัฐอาจตีความได้ว่าการนำเข้าข้อมูลดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเงินที่จะนำไปช่วยเหลือคนเดือดร้อนจริงๆ ทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคม เศรษฐกิจ หรือทำให้ระบบออนไลน์ของรัฐต้องประมวลผลหนักจนล่าช้า กระทบต่อประชาชนที่มีสิทธิจริงๆ ฯลฯ เช่นนี้เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 14 (2) ได้

แต่ในกรณีประชาชนบางคนเข้าใจผิดจริงๆ คิดว่าตนเองมีคุณสมบัติหรือเข้าเงื่อนไขที่จะรับเงิน จึงไปลองลงทะเบียนกับรัฐดู รัฐจะบอกว่าทุกคนที่ลงทะเบียนมั่วๆ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ต้องมีความผิดฐานนี้ไปเสียทั้งหมด ย่อมไม่ถูกต้อง เพราะเขาไม่มีเจตนานำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ หน้าที่ของรัฐคือไม่ควรขู่ประชาชนแบบเหมารวม แต่อธิบายให้ประชาชนเข้าใจโดยยึดถือตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายจริงๆ ซึ่งจะช่วยขจัดความสับสน

อีกสถานการณ์ตอนนี้คือมีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคระบาดเยอะมาก ขณะเดียวกันหลายหน่วยงานของรัฐให้ข้อมูลบางเรื่องไม่ตรงกัน ประชาชนย่อมสับสน ไม่มั่นใจว่าเรื่องไหนจริง บางครั้งเขาได้ข้อมูลมาแล้วอาจกลัว กังวล อยากรีบแชร์ให้ญาติพี่น้องหรือคนรู้จักรับรู้ ไม่ได้ตั้งใจสร้างเฟกนิวส์

โดยสรุปคือความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นความผิดทางอาญา ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐจะดำเนินคดีกับประชาชนได้ต้องดูเจตนาด้วย อย่าเหวี่ยงแหหรือขยายความให้กว้างขวางออกไปจนเป็นโทษกับประชาชน ประชาชนไม่เหมือนสื่อมวลชนที่มีช่องทางตรวจสอบข้อมูลว่าเป็นจริงหรือเท็จได้ง่ายกว่า ดังนั้นหากรัฐบอกว่าทำแบบนี้ผิดหมดจะยิ่งสร้างปัญหาให้สังคม คนจะโกรธและงงว่าฉันกลัวไม่ได้เหรอ แล้วเรื่องจริงคืออะไรล่ะ แทนการขู่ประชาชนรายวันรัฐควรใช้พื้นที่อธิบายทำความเข้าใจและทำให้ข้อมูลเป็นเอกภาพมากขึ้น เช่นการเปิดศูนย์โควิดฯ ที่พยายามบูรณาการให้ข้อมูลจากรัฐตรงกันนั้นเป็นเรื่องดี เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าควรเชื่อข่าวไหนหรือควรแชร์อะไร

 

กรอบการใช้ ‘ดุลยพินิจ’ ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของเรากว้างมากแค่ไหน

หลายมาตราในพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เขียนกว้างมากค่ะ เป็นทะเลเลย และเปิดช่องให้เจ้าพนักงานใช้ดุลยพินิจมาก ซึ่งเรื่องนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตั้งแต่บังคับใช้แรกๆ เมื่อปี พ.ศ.2550 แล้ว มีนักวิชาการ นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด แต่กฎหมายยังไม่เปลี่ยนแปลง ปี พ.ศ.2560 ยิ่งกว้างกว่าเดิม ผู้ร่างกฎหมายชอบอ้างว่าการเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ในโลกอินเทอร์เน็ตเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จำเป็นต้องเขียนไว้กว้างๆ เพื่อให้เจ้าพนักงานได้ตีความตามยุคสมัย เรื่องคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเองเป็นเทคโนโลยีใหม่ การกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนลงไปคงไม่ได้ จำเป็นต้องยืดหยุ่น ไม่อย่างนั้นจะไม่ทันกระแสเทคโนโลยี

 

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ปีนี้ พ.ศ. 2563 แล้ว ผู้ร่างฯ ยังมองว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่อีกหรือ ?

คงยังใหม่อยู่สำหรับหลายประเทศ โดยเฉพาะถ้ามองว่ากฎหมายออกมาไม่ค่อยทันกับระบบนิเวศทางอินเทอร์เน็ตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่นเทคโนโลยี บริการ แพล็ตฟอร์ม ฯลฯ ที่อัพเดตตลอดเวลา แต่ประเทศที่ให้สิทธิเสรีภาพการแสดงออก กฎหมายคอมพิวเตอร์ของเขาอาจไม่กว้างขนาดนี้ และมุ่งหมายควบคุมอาชญากรรมคอมพิวเตอร์โดยแท้ สิ่งที่เขาอาจเปิดช่องให้กว้างหรือตีความตามยุคสมัย คือองค์ประกอบความผิดด้าน ‘การกระทำผิดต่อระบบหรือต่อข้อมูล’ ส่วนองค์ประกอบความผิดด้าน ‘เนื้อหา’ อาจนิ่งแล้ว โดยกำหนดให้ชัดเจนว่าอะไรเผยแพร่ได้หรือไม่ได้ เช่นนำเข้าภาพลามกเด็กไม่ได้ เผยแพร่แนวคิดชาตินิยมสุดโต่งไม่ได้ ปลุกปั่นความเกลียดชังไม่ได้ ฯลฯ ไม่จำเป็นต้องวิ่งตามยุคสมัย แต่สำหรับผู้ปกครองในประเทศเผด็จการหรือเผด็จการแฝงจะทำให้องค์ประกอบความผิดด้านเนื้อหาคลุมเครือ สิ่งที่เขากลัวจริงๆ อาจไม่ใช้เทคโนโลยีใหม่ แต่เป็นพื้นที่สาธารณะทุกประเภท ไม่ว่าจะใหม่หรือเก่าที่ควบคุมไม่ได้ คำวิพากษ์วิจารณ์และความเห็นสาธารณะที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่นั้น ดังนั้นถ้าเขียนกฎหมายไว้ชัดเกินไปย่อมทำให้คุมสิ่งเหล่านั้นได้ยาก

 

ตัวอย่างการนำพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรือเฟกนิวส์ มาใช้กับสื่อมวลชนมีกรณีไหนน่าเรียนรู้บ้าง

ล่าสุด คงเป็นกรณีสื่อให้เบาะแสว่ามีการกักตุนหน้ากากอนามัยแต่สุดท้ายสื่อกลับถูกดำเนินคดีเสียเอง (กรณีแหม่มโพธิ์ดำ) ซึ่งควรพิจารณาอย่างน้อยสองประเด็นค่ะ 1) เอาจริงๆ แล้วเราควรทำอย่างไรเมื่อพบเจอการกระทำความผิดหรือพบเบาะแส 2) การดำเนินคดีกับสื่อมวลชนที่แจ้งเบาะแส ถูกต้องแล้วหรือไม่ อย่างไร

ประเด็นแรก เราเห็นว่าในฐานะประชาชน สื่อมวลชน และองค์กรต่างๆ นอกจากนำเรื่องราวมาเปิดเผยหรือแจ้งเบาะแสในที่สาธารณะ เช่นโพสต์บนโซเชียลมีเดียส่วนตัวหรือขององค์กร เราจำเป็นต้องกล่าวโทษร้องทุกข์ (แจ้งความ) ต่อเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจด้วย เราอาจเห็นว่าสื่อลงไปแล้วเรื่องเป็นไวรัลไปแล้ว แต่สุดท้ายพอไม่มีใครหรือหน่วยงานใดๆ แจ้งความ เราพบว่าบ่อยครั้งเจ้าหน้าที่อ้างว่าเขาไม่ดำเนินคดี หรือใส่เกียร์ว่างกับเบาะแสนี้เพราะยังไม่มีประชาชนมากล่าวโทษร้องทุกข์

อย่างไรก็ตามกรณีรัฐเป็นผู้เสียหาย เมื่อเรื่องแดง เจ้าพนักงานผู้เกี่ยวข้องมีหน้าที่ต้องรีบสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดี แม้ไม่มีใครไปแจ้งความ แต่หลายครั้งพิธีกรรมทางกฎหมายถูกหยิบยกมาอ้างเพื่อเป้าหมายบางอย่างอยู่เสมอ โดยเฉพาะในรายผู้ที่สื่อให้เบาะแสมีอิทธิพลหนุนหลัง เบื้องต้นเราจึงควรแจ้งความไว้เพื่อตั้งเรื่องและกดดันกลายๆ ให้เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการต่อไป

ประเด็นที่สอง การดำเนินคดีกับสื่อผู้ให้เบาะแส หากตัดประเด็นความถูกใจ ไม่ถูกใจ หรือปัญหาการกลั่นแกล้งสื่อออกไปก่อน เราเห็นว่าการดำเนินคดีกับสื่ออาจเกิดขึ้นได้ตามกระบวนการ ‘การใช้สิทธิของผู้เสียหาย’ เมื่อสื่อมวลชนเลือกใช้วิธีแฉใครบางคนต่อสาธารณะต้องเผื่อใจไว้เลยว่าคนถูกแฉอาจเลือกใช้สิทธิตามกระบวนการยุติธรรมด้วยการแจ้งความข้อหาหมิ่นประมาท เพราะเขาอาจมองว่าเป็นการประจาน ทำให้เขาเสียชื่อเสียง ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐเขารับเรื่องไปตามหน้าที่ ในฐานะประชาชนเราจะเอาแต่ก่นด่าเจ้าหน้าที่รัฐว่าคอยจ้องกลั่นแกล้งสื่อคงไม่ถูกต้อง หลักการต้องว่าไปตามหลักการ เวลาวิจารณ์ไม่ควรไปบิดหลักการให้มารับคำด่าของเรา เพราะหลักการจะเสียหมด

เราเห็นว่าสังคมต้องแก้ปัญหาเรื่องนี้เชิงโครงสร้าง ควรมองให้ไกลกว่าการปกป้องสื่อเป็นครั้งคราว เช่นกรณีแหม่มโพธิ์ดำเป็นเพจดังพอเขาถูกกระทำ คนปกป้องเขา แต่ถ้าเป็นสื่ออื่นที่ไม่โด่งดังเท่าถูกกระทำแบบเดียวกัน เราอาจไม่สนใจ ซึ่งไม่ควรเป็นแบบนี้ การฟ้องคดีหรือแจ้งความสื่อในลักษณะนี้เกิดขึ้นมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง และมีลักษณะเป็น ‘การฟ้องคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ’ (strategic lawsuits against public participation: SLAPPs) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘การฟ้องเพื่อปิดหรือตบปากให้หยุดพูด’

เป้าหมายของ SLAPPs คือผู้ฟ้องไม่ได้ต้องการร้องขอความเป็นธรรมจริงๆ หรือไม่ได้ต้องการชนะคดี แต่ต้องการให้สื่อหยุดแฉหรือหยุดพูดเรื่องไม่ดีของเขา ซึ่งหลายกรณีได้ผล เพราะสื่อกลัวหรือต้องเสียเวลาสู้คดี ในขณะที่สื่ออื่นๆ หยุดแฉไปด้วยเพราะกลัวถูกฟ้องแบบเดียวกัน สุดท้ายทำให้ไม่มีใครกล้าพูดถึงปัญหาที่ประชาชนควรได้รู้ ไม่มีคนกล้าตั้งคำถาม เหล่านี้เป็นปัญหาระดับโครงสร้าง เราไม่อยากให้กรณีแหม่มโพธิ์ดำเป็นได้แค่เคสไฟไหม้ฟาง สู้ชนะแล้วจบ ตำรวจเลิกดำเนินคดีแล้วจบ แต่เป็นอีกเคสหนึ่งที่ทำให้คนในสังคมลุกขึ้นมาสนใจปัญหานี้ แล้วช่วยผลักดัน ‘กฎหมายต่อต้านการฟ้องปิดปาก’ (Anti-SLAPP Law) ให้มากขึ้น

 

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ น่าเป็นห่วงที่สุดเมื่อใช้ร่วมกับกฎหมายอะไร

ถ้าน่าเป็นห่วงที่สุด ที่ผ่านมาคงเป็นเรื่อง มาตรา 14 (3) กับ มาตรา 112 ป.อาญา แต่ตอนนี้ดูเหมือนคดีลักษณะนี้ลดน้อยลงแล้ว ด้วยหลากหลายสาเหตุ ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว คนแจ้งความน้อยลง นโยบายเรื่องนี้ของรัฐ ฯลฯ แต่ถ้าวันหนึ่งรัฐคิดจะนำม.112 มาใช้ร่วมกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อีก เขายังเอามาใช้ได้ทุกเมื่อที่ต้องการ ประชาชนคงวางใจไม่ได้ แต่ไม่ควรกลัวกันจนเกินไปจนไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ซึ่งดูเหมือนคนรุ่นใหม่ในทวิตเตอร์จะมีแนวโน้มไปในทิศทางหลัง

ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าตอนนี้เราว่าเป็นการนำพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาใช้แทนกระบวนการทางศาลฯ มากกว่า เพราะให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นสถานที่ หรือปิดกั้นเว็บไซต์ได้เลยโดยใช้อำนาจจากฝ่ายความมั่นคงแทน ซึ่งไม่ควรไปถึงขั้นนั้น ควรใช้กฎหมายปกติ เพื่อให้ผ่านการตรวจสอบไปตามขั้นตอน พอคุณใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้ลัดขั้นตอนการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกกล่าวหา โอกาสละเมิดสิทธิประชาชนย่อมสูงขึ้นโดยสภาพ ส่วนเรื่องเอามาผูกกับความผิดฐาน ‘ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน’ เราว่าเลอะเทอะมากค่ะ อย่าไปกลัว

 

มีความเป็นไปได้ไหมว่าหากประชาชนเผยแพร่เนื้อหาที่ต่อต้านรัฐบาลช่วงนี้มีสิทธิที่จะโดนกวาดเข้าไปในพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ + พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ถ้ารัฐบาลตีความกว้างเป็นทะเลแบบที่เป็นอยู่ว่าทุกอย่างเป็นเฟกนิวส์ไปหมด เราคิดว่าต่อให้ไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เขาก็ใช้พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) เป็นเครื่องมือได้ทุกสถานการณ์ค่ะ ด้วยวิธีการแปลงให้ทุกอย่างเป็นเฟกนิวส์ และใช้คำว่า ‘ความมั่นคง’ อย่างเป็นนามธรรม และกว้างขวาง เทาๆ คลุมเครือเข้าไว้อย่างที่รัฐไทยใช้วิธีการแบบนี้มาทุกยุคทุกสมัย ด้วยการปล่อยให้เป็นดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ บรรยากาศอึมครึมจะอยู่กับคนไทยไปตลอด ยิ่งช่วงมีวิกฤตการณ์ ไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตาม การนำพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาใช้จะหนักหนาขึ้น เพราะเป็นข้ออ้างของรัฐได้ว่าเราอยู่ในวิกฤตกันนะ คุณมาพูดแบบนี้ทำไม มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ ต้องสามัคคีกัน ต้องพูดแต่สิ่งดีๆ สถานการณ์จะได้ดีขึ้น ฯลฯ ซึ่งเรามองว่ายิ่งมีวิกฤตยิ่งต้องยอมให้คนช่วยกันชี้จุดอ่อนให้เห็น ชี้ว่าวิธีที่คุณใช้อยู่ไม่มีประสิทธิภาพอย่างไร ที่อื่นที่รับมือวิกฤตได้ดีเขาทำกันอย่างไร จะได้เกิดการปรับเปลี่ยนนำไปสู่วิธีการที่ดีกว่า หรือมีทีมที่มีศักยภาพมาทำงานแทน ยิ่งปิดปากผู้คนวิกฤตจะยิ่งวิกฤตและเลวร้ายยิ่งขึ้นค่ะ

คนเชียร์รัฐอาจเถียงว่า “ปิดปากยังไง เห็นยังเขียนด่ากันปาวๆ ไม่เห็นมีใครโดนอะไร” ต้องถามกลับไปค่ะว่าคุณรู้ได้ยังไงว่าคนยังด่ารัฐได้ มีคนจำนวนไม่น้อยถูกแจ้งข้อกล่าวหาและจับกุม แม้แต่คนมีสถานะทางสังคมอยู่บ้าง บุคคลสาธารณะ หรือสื่อมวลชนยังต้องคอยเซ็นเซอร์ตัวเอง หลายเรื่องแม้เป็นข่าวในอินเทอร์เน็ต แต่กลับไม่ปรากฏในสื่อทีวี วิทยุ ที่คุณบอกว่าไม่เห็นใครโดนอะไร คนไทยยังมีเสรีภาพทางการสื่อสาร เพราะคุณตั้งใจเพิกเฉยต่อปัญหาของคนอื่นหรือเปล่า  อีกข้อสังเกตหนึ่งคือแม้คนจำนวนมากไม่เข้าใจพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ทั้งหมด ไม่แน่ใจว่าที่เขาพูดจะถูกรัฐกวาดให้เป็นเฟกนิวส์ไหม แต่เขายังเลือกจะวิพากษ์รัฐบาล แสดงว่าปัญหามันต้องร้ายแรงมากๆ แล้ว จนพวกเขาอดทนอยู่เงียบๆ ไม่ได้ เรียกว่า “ถึงโดนก็ยอมวะ เป็นไงเป็นกัน”

 

เราควรตั้งรับกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และเฟกนิวส์อย่างไร

เราเองไม่อยากให้คนกลัวกันเกินไปค่ะ แต่แน่นอนว่าเราไม่มีสิทธิเรียกร้องแบบนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่เขาไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้ว่าทำอะไรไปแล้วผิดหรือไม่ผิด ถ้าโดนรัฐขู่ ใครๆ ก็ต้องกลัวไว้ก่อน ดังนั้นเราคงแนะนำได้แค่เพียงว่า ถ้าคุณเป็นบุคคลสาธารณะ มีคนติดตามความคิดเห็นคุณเยอะ ก่อนแชร์หรือโพสต์คงต้องระวังมากกว่าปกติ หรือมากกว่าระดับของคนธรรมดาทั่วไป ควรเช็คแหล่งข่าวตามสมควร เพราะคุณมักตกเป็นเป้าของเจ้าหน้าที่รัฐก่อนเสมอ หรืออย่างน้อยต้องรู้จักใช้วิธีการสื่อสารในเชิงตั้งคำถาม กระตุกสังคม โดยไม่จำเป็นต้อง ‘ยืนยันข้อเท็จจริง’ ให้เบาะแสตามสมควร ชี้ทางให้ประชาชนไปสืบหาเรื่องราวต่อได้เอง จะถูกฟ้องยากกว่าหรือถูกฟ้องแล้วมีทางต่อสู้ได้ แต่สำหรับการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนนี้เราเห็นว่าทำเลยค่ะ ทำอย่างตรงไปตรงมาด้วย เลือกใช้คำชัดๆ บอกสาธารณชนไปเลยว่าคือ ‘ความคิดเห็น’ ส่วนตัวของสื่อ หรือของคุณเอง แบบนี้ไม่ต้องกลัวจะถูกหาว่าเป็นเฟกนิวส์

ในแง่ของประชาชนทั่วไป หลายคนอาจยังงงๆ เบลอๆ เกี่ยวกับเฟกนิวส์ องค์กรที่เกี่ยวข้อง หรือคนทำงานด้านสิทธิ ส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออก อาจต้องลองพิจารณาทำ คู่มือให้ประชาชน อย่างจริงจัง กำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน เป็นแนวทางให้เห็นว่าเขาวิพากษ์วิจารณ์ได้ แนะนำวิธีตรวจสอบข้อมูลข่าวสารก่อนนำเข้าระบบ หากถูกเจ้าหน้าที่เตือนต้องทำอย่างไรบ้าง หรือมีช่องทางใดพอจะช่วยให้คำปรึกษาได้บ้าง เป็นต้น

 

ปัจจุบัน คนต้องคดีจากพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไม่ได้จำกัดวงแค่คนแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นหลักอีกแล้ว แต่มีทั้งศิลปิน ผู้มีอิทธิพลทางความคิด บุคลากรทางการแพทย์ ฯลฯ จะมีผลทำให้ผู้คนหันมาต่อต้านกฎหมายฉบับนี้มากขึ้นหรือไม่

จากจุดเริ่มต้นปี พ.ศ.2550 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ถูกแก้จนกว้างกว่าเดิมในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2560 ทั้งที่ประชาชนล่ารายชื่อ ประท้วง คัดค้าน ผลักดันให้แก้ไขอย่างมากยังเป็นแบบนี้ เราเชื่อว่าพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อไปเรื่อยๆ พอเกิดวิกฤตก็หยิบเอามาขู่สักทีหนึ่ง ยังดีที่ตัดเรื่องหมิ่นประมาทตามมาตรา 14 (1) ออกไปแล้ว ถ้ายังไม่ตัดจะมีคนต้องคดีอีกเยอะ ขอให้สังเกตดูนะคะ รัฐยังเอาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาใช้ทุกครั้งที่มีโอกาส จริงๆ หลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุด แนวคิดหลักๆ ของรัฐไม่เปลี่ยนเลย ยังใช้คำใหญ่ๆ เช่นความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางการเมือง ความมั่นคงทางโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ มาปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ มีข่าวว่ามีความพยายามเสนอให้ตีความพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กว้างขึ้นไปด้วยซ้ำในช่วงวิกฤตโควิด โชคดีที่ดูเหมือนข้อเสนอนั้นเหมือนจะตกไป เราจะมีปัญหาจากการใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไปอีกยาว และวนกลับมาแบบนี้

สำหรับรัฐบาลชุดนี้ อาจไม่มีใครคาดหวังเรื่องความเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิเสรีภาพหรือประชาธิปไตยอยู่แล้ว แต่ลึกๆ เราเองไม่มั่นใจนะคะว่าต่อให้เป็นยุครัฐบาลประชาธิปไตยจริงๆ จะแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ให้เคารพเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น เพราะถ้าสืบย้อนหลังดูจะพบว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีมากว่าสิบปีแล้ว ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านรัฐบาลที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากบ้าง น้อยบ้างมาหมดแล้ว แต่ยังมีสภาพอย่างที่เห็น การบังคับใช้ยังเป็นอย่างที่เราคุยกันมาทั้งหมด ดูเหมือนว่าที่สุดแล้วฝ่ายรัฐ ฝ่ายการเมือง ฝ่ายผู้ปกครองทุกยุคทุกสมัยจะพยายามคงความกว้างขวางและความคลุมเครือไว้กับกฎหมายฉบับนี้ ต่างกันเพียงในทางปฏิบัติเท่านั้นว่าจะตีความให้คุมมากหรือคุมน้อยกว่ากัน เพราะฉะนั้นคาดการณ์ได้เลยว่ากฎหมายฉบับนี้ของบ้านเราจะยังคงอยู่ต่อไปในสภาพนี้

 

หมายความว่าพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฟังก์ชั่นสำหรับทุกรัฐบาล

ใช่ค่ะ เพียงแต่ว่าจะใช้มากหรือใช้น้อย ขึ้นอยู่กับความเป็นประชาธิปไตยและความใจกว้างของแต่ละรัฐบาล แต่จะยังถูกใช้เป็นเครื่องมือได้ต่อไป และจะยังไม่ถูกแก้ไขไปในทางที่ควรจะเป็นในระบอบนิติรัฐประชาธิปไตยได้ง่ายๆ บางครั้งเราอาจเห็นว่าช่วงนี้สังคมตื่นตัวมาก ดูเหมือนใครๆ ล้วนถูกกฎหมายฉบับนี้ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามสิทธิโดยอาศัยพ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่ด้วยเหตุผลบางประการ ฝ่ายที่อยากให้แก้ไขจะยังไม่ประสบความสำเร็จง่ายๆ ยกตัวอย่างเช่นในช่วงวิกฤตที่ดูเหมือนผู้คนตื่นตัวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์แบบตอนนี้ มีคนตกเป็นเหยื่อของภาครัฐจำนวนไม่น้อย ถ้าฝ่ายอยากเรียกร้องให้แก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รีบฉกฉวยโอกาส ใช้กระแสสังคมมาเสนอแก้ไขกฎหมาย เราจะพบว่ามีคนจำนวนมากออกมาเบรกค่ะ “มาแก้ไขอะไรตอนนี้วะ ไม่ใช่เวลา ไปทำเรื่องอื่นก่อนดีไหม แก้วิกฤตตอนนี้ก่อนดีกว่าไหม”

แต่พอเรารอวิกฤตนี้ผ่านพ้นไปวันที่เราเสนอแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาอีกรอบจะเป็นการ ‘เสนอกันแบบเงียบเชียบ’ เพราะไม่มีกระแสหรือชักชวนคนจำนวนมากมาร่วมไม่ได้ สุดท้ายกลายเป็นการเสนอแก้ไขฯ ที่ไร้พลังไม่ควรค่าแก่การรับฟังอีกต่อไป

ด้วยระบบความคิด (mentality) ของคนในบ้านเราเป็นแบบนี้ ตราบใดปัญหายังไม่ได้มาเคาะประตูบ้านเรา ยังไม่ได้มาเหยียบอยู่บนหน้าอกของเราเอง เราจะไม่สนใจปัญหานั้น มองว่าเป็นเรื่องไกลตัว การแก้ไขปัญหาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาจึงเป็นการปะผุ เกิดปัญหาทีปะมันทีจากนั้นอยู่กับมันต่อได้ ไม่มองว่าเป็นเรื่องเชิงโครงสร้าง ไม่มองว่าถ้าวันนี้เกิดเรื่องกับคนอื่นได้ วันหน้าจะเกิดกับเราได้  เราต้องแก้ไขเรียกร้องกันเชิงระบบ ไม่ต้องรอให้เกิดกับเราเสียก่อน หลายครั้งเรามักพบว่าเมื่อปัญหามันมาถึงเรากลับสายเกินไปแล้วที่จะร้องให้ใครช่วย.

 

X