อัยการยังไม่สั่งฟ้องในคดี “นิรนาม” พ้นกำหนดฝากขัง ด้านทนายยื่นเรื่องขอคืนเงินประกัน

เช้าวันนี้ (4 มิย. 2563) เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดพัทยานัดฟังคำสั่งฟ้องชั้นอัยการในคดีของผู้ใช้ทวิตเตอร์ “นิรนาม” ทว่าอัยการยังไม่ยื่นฟ้อง ทำให้เกินกำหนดระยะเวลาฝากขัง หากจะฟ้องต้องขออนุญาตอัยการสูงสุด ด้านทนายและผู้ต้องหาจึงทำเรื่องยื่นขอคืนเงินประกันตัวในชั้นฝากขัง

>>> ศาลอุทธรณ์ให้ประกัน​ “นิรนาม_” หลักทรัพย์​ 2 แสนบาท​ ชี้โทษไม่สูง ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี

>>> ผู้ใช้ทวิตเตอร์ “นิรนาม_” ถูกจับกุมดำเนินคดีพ.ร.บ.คอมฯ ก่อนศาลไม่ให้ประกันตัว อ้างเป็นเรื่องร้ายแรง

อย่างไรก็ตาม คดีนี้ยังไม่ได้เสร็จสิ้นลง เนื่องจากคดี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มีอายุความ 10 ปี หากในระหว่างนี้อัยการจะสั่งฟ้อง ตำรวจสามารถออกหมายเรียกแล้วเชิญตัวมาฟังคำสั่งฟ้องอีกได้ หากมีหมาย ผู้ต้องหายังต้องเดินทางมาศาลปกติ

มูลเหตุสู่คดี: จากการแสดงความคิดเห็น สู่การเป็นภัยความมั่นคง

จุดเริ่มต้นของคดีนี้ย้อนไปเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2563 ศูนย์ทนายฯ ได้รับการร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากผู้ใช้ทวิตเตอร์ในบัญชีชื่อ “นิรนาม_” (@ssj_2475) ซึ่งรายงานว่าตัวเขาถูกเจ้าหน้าที่บุกเข้าค้นห้อง ก่อนจะพาตัวไปยัง สภ.เมืองพัทยา โดยไม่มีหมายจับ จากนั้นจึงถูกแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา เหตุทวิตภาพและข้อความที่เกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 เขาถูกนำตัวไปฝากขังต่อที่ศาลจังหวัดพัทยา  ทางทนายและญาติได้ยื่นขอประกันตัว วางหลักทรัพย์จำนวนหนึ่งแสนบาท แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว อ้างคดีเป็นเรื่องร้ายแรง

ต่อมาในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ทางทนายความและครอบครัวของนิรนามได้เดินทางไปที่ศาลจังหวัดพัทยาอีกครั้งเพื่อยื่นประกันตัวผู้ต้องหาเป็นครั้งที่ 2 โดยเพิ่มหลักทรัพย์ประกันจากเดิมหนึ่งแสนบาท เป็น​ห้าแสนบาท อันได้จากการระดมเงินบริจาคจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ต แต่ทว่าทางศาลชั้นต้นจังหวัดพัทยายังคงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทางทนายและครอบครัวจึงเดินเรื่องต่อในบ่ายวันนั้น เพื่ออุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัว​ชั่วคราวครั้งที่​ 2 จนในช่วงเย็นของวันนั้นเอง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว​นิรนาม โดยให้ใช้หลักทรัพย์​ในการประกันจำนวนสองแสนบาท โดยศาลอุทธรณ์​ระบุเหตุผลว่า

ความผิดตามพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โทษจึงไม่สูงนัก​ มีการจับกุมผู้ต้องหาที่บ้านของผู้ต้องหาเอง โดยไม่มีพฤติการณ์ว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น​ และผู้ขอประกันเป็นบิดาของผู้ต้องหา และใช้เงินสดเป็นหลักประกัน​ จึงน่าเชื่อถือ​ อนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาชั่วคราวในระหว่างสอบสวน”

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:

บันทึกจากเพื่อนผู้ติดตามทวิต “นิรนาม” สู่เพื่อนในชีวิตจริง

ยิ้มแรกของพ่อกับแม่ในรอบหกวัน: บันทึกเรื่อง “นิรนาม_” ก่อนจะได้ประกันตัว

X