ในการแพร่ระบาดของความข้นแค้น

“ผมไม่อยากสูญเสียสิ่งที่โรคระบาดเผยให้เห็นเกี่ยวกับตัวเรา เมื่อหายกลัวแล้ว ความตระหนักรู้ที่ผ่านเข้ามามักหายไปสิ้นในพริบตา เป็นเช่นนั้นเสมอเมื่อเจอกับโรคภัย”

เปาโล จอร์ดาโน  (Paolo Giordano) นักเขียนและนักฟิสิกส์ชาวอิตาลี 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ชวนอ่านความเรียงภาพซึ่งบอกเล่าความเดือดร้อน (แม้เพียงส่วนหนึ่ง) ของประชาชนไทยในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด  โดยได้รับแรงบันดาลใจในการร้อยเรียงจากข้อความเรียบงามของหนังสือ ในการแพร่ระบาด ซึ่งผู้เขียน เปาโล จอร์ดาโน ใช้ช่วงเวลากักตัวเองในอิตาลีผลิ ‘ถ้อยคำเปี่ยมปัญญา’ เหล่านี้ขึ้นมา แปลเป็นภาษาไทยอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่โลกหยุดหมุนให้โควิดโดย นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่านอิตาลี

นอกจากนี้ ความเรียงภาพชิ้นนี้ยังได้รับแรงบันดาลใจจากถ้อยแถลงด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งรวบรวมจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลกที่เปล่งเสียงในวันโควิดคายความขัดสนข้นแค้นฝากไว้ตามเส้นทางที่ยาตราผ่าน เพราะในโลกยุคปัจจุบันที่มนุษยชาติเคยผ่านสงคราม ความอดอยากอันป่าเถื่อน การทอดทิ้งให้คนตายอย่างโง่ๆ ก้าวล่วงมาสู่วันปัจจุบันที่เราตกลงกันว่าเราจะมีอารยะและมนุษยธรรมต่อกันมากขึ้น การมีมนุษย์คนไหนเผชิญความขัดสนข้นแค้นเพียงลำพังจนถึงขั้นตายได้ นับเป็นเรื่องหยาบทรามในโลกสมัยใหม่ ในเวลานาทีหมาดใหม่ ณ ปัจจุบัน ทุกชีวิตมีสิทธิได้รับการประคับประคองรองรับ สิทธินี้ติดตัวมนุษย์ทุกคน และไม่มีสิ่งใดพรากไปได้แม้ในช่วงการแพร่ระบาด

ในพื้นที่สาธารณะช่วงโควิด หลายคนออกมาเดินถนนเพื่อทำมาหากิน หลายคนออกมาเพื่อรอการแบ่งปัน ที่ใดแจกเงิน อาหาร และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดคนจะไปรวมตัวคลาคล่ำ ผู้รายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติกล่าวว่า “คุณไม่สามารถอยู่บ้านถ้าคุณไม่มีบ้าน คุณไม่สามารถหยุดนิ่งอยู่แบบล็อคดาวน์ได้ถ้าไม่มีอะไรมาเลี้ยงปากท้องครอบครัวของคุณ คุณจะปฏิบัติมาตรการ ‘เว้นระยะห่างทางสังคม social distancing’ ได้อย่างไร ถ้าต้องอยู่ในชุมชนสลัมแออัด”

ภาวะการแพร่ระบาดของโควิดเผยถึงความสำคัญของการลงทุนในระบบสาธารณสุขให้เพียงพอ และลงทุนในสิ่งที่มีคุณค่า เช่นที่พักอาศัย อาหาร น้ำดื่ม ระบบสุขอนามัย ฯลฯ ตามหลักการของสิทธิด้านสุขภาพ รัฐควรบริหารจัดการให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสินค้า หน่วยงาน และบริการเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ รวมทั้งการเข้าถึงการดูแล วัคซีน (ในอนาคต) และการรักษาโรคโควิด-19 ได้อย่างไม่มีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ “ต้องใช้พลังมาก เสียสละมาก และอดทนมาก” ทั้งสิ้น

ไม่มีพื้นที่ใดที่โควิดเดินทางไปไม่ถึง ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาตรการเคอร์ฟิวกระทบต่อวิถีการทำมาหากินของประชาชนเช่นการกรีดยางที่ต้องทำตอนเช้ามืด หลายชุมชนที่พบว่ามีผู้ป่วยจากโควิด แม้สถานการณ์ยังไม่รุนแรง มีผู้ป่วยไม่มากนัก แต่พบว่ารัฐมักปิดล้อมพื้นที่อย่างรวดเร็ว พร้อมกับด่านของฝ่ายความมั่นคงที่ผุดขึ้นหนาแน่น

ในพื้นที่ที่วิถีชีวิตของประชาชนเดินตามนาฬิกาธรรมชาติมากกว่าเวลาราชการ และอยู่ภายใต้เขตกฎหมายพิเศษมาเนิ่นนานอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐต้องคำนึงถึงบริบทเหล่านี้ก่อนตัดสินใจนำกฎหมายพิเศษมาใช้ เพื่อไม่ให้ประชาชนตื่นกลัวมากเกินไปจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษซ้ำซ้อนและยังทำมาหากินได้บ้าง เช่นอาจพิจารณานำกฎหมายปกติอย่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาใช้ควบคุมการระบาดแทนมาตรการเคอร์ฟิว และแปรเปลี่ยนปริมาณการตั้งด่านของฝ่ายความมั่นคง เป็นปริมาณงบประมาณสูบฉีดให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขเข้าแนะนำมาตรการป้องกันตัวแก่ประชาชน จัดหาอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาด และนำประชาชนเข้าสู่ระบบการตรวจหาเชื้อโควิด-19 อย่างทั่วถึง

การเอารัดเอาเปรียบด้วยเหตุแห่งเพศเป็นปัญหามาก่อนช่วงโควิด ทั้งในพื้นที่บ้านและที่ทำงาน และยิ่งพุ่งสูงขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดที่ผู้ถูกกระทำหลบเลี่ยงการเผชิญหน้าผู้กระทำได้ยากยิ่งขึ้น สุ่มเสี่ยงจะเผชิญกับความรุนแรงมากขึ้นและขอความช่วยเหลือได้จำกัด ปัญหาสุขภาพจิตอื่นเช่นโรคซึมเศร้า ความวิตกกังวล มักคับข้องขึ้นในช่วงยากลำบากนี้เช่นกัน

การเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยาทางกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อรับมือการระบาดของโควิด-19 ต้องคำนึงถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มที่มีความเปราะบางมากที่สุด เช่นการดำเนินการให้มีสายด่วนร้องเรียนความรุนแรงในครอบครัว การเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยาต่อผู้หญิงและเด็ก การก่อตั้งสถาบันเพื่อพัฒนาความเท่าเทียมทางเพศ และสร้างความมั่นใจว่าผู้หญิง เด็ก เยาวชนที่อาจจำเป็นต้องออกจากบ้านเนื่องจากความรุนแรง จะไม่กลายเป็นคนไร้บ้าน โดยจัดหาที่พักทางเลือกที่มีความปลอดภัยเพียงพอ เข้าถึงน้ำ/สุขาภิบาล อาหาร การช่วยเหลือทางสังคม การรักษาพยาบาล และการตรวจหาโควิด

นอกจากนั้นประชาชนทุกคนยังมีสิทธิด้านสุขภาพ ที่ครอบคลุมทั้งสุขภาพกายและใจ รัฐควรประกันและสนับสนุนให้มีนักจิตวิทยาสังคม เพื่อรับมือกับปัญหาด้านสุขภาพจิตและผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรค รวมทั้งรับมือความตื่นเต้นกังวลและภาวะซึมเศร้า โดยผู้ที่ติดเชื้อหรือคาดว่าจะติดเชื้อ หรือบุคคลเสี่ยง รวมทั้งครอบครัวของพวกเขา มีสิทธิที่จะได้รับคำปรึกษาอย่างจริงจัง และได้รับโอกาสตัดสินใจเกี่ยวกับชะตากรรมของตนเองมากสุดเท่าที่จะเป็นไปได้

สำหรับแรงงานข้ามชาติ บางคนไม่มีกระทั่งหม้อหุงข้าวไว้หุงหาอาหาร เด็กๆ จำนวนมากอยู่ในพื้นที่แออัดเสี่ยงต่อโรคทางเดินหายใจ หลายคนถูกปล่อยให้เคว้งคว้างจากมาตรการปลดคนงานออกและล็อกดาวน์เมืองชายแดน จึงถูกเลิกจ้าง ขาดรายได้ ความคุ้มครองทางสุขภาพขาดผึง พร้อมกลับประเทศของตนไม่ได้ไปพร้อมกัน

รัฐควรริเริ่มโครงการโดยมีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองการจ้างงาน ค่าจ้าง และผลประโยชน์ของคนงานทุกคน รวมถึงแรงงานอพยพที่ไม่มีเอกสาร เช่นการพักชำระหนี้หรือชลอการรื้อถอนในกรณีที่ที่อยู่อาศัยถูกใช้เป็นหลักประกันการจำนองในระหว่างการแพร่ระบาดใหญ่ การจัดทำโครงการบรรเทาผลกระทบทางสังคมและโครงการสนับสนุนรายได้เพื่อประกันว่าผู้ที่ต้องการสามารถเข้าถึงอาหารและความมั่นคงทางด้านรายได้ การใช้มาตรการที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของชนกลุ่มน้อยที่มีความเปราะบาง

มาตรการต่างๆ ทั้งการอยู่บ้าน การแยกตัว  การเว้นระยะห่างทางกายภาพ  เพื่อควบคุมการระบาด ล้วนกำหนดขึ้นบนข้อสันนิษฐานว่าทุกคนมีบ้านที่มีสุขอนามัยที่เพียงพอ แต่ไม่ใช่สำหรับคนไร้ที่อยู่อาศัย ผู้รายงานพิเศษจากองค์การสหประชาชาติกล่าวว่า “ในการเผชิญกับการระบาดใหญ่ครั้งนี้ อาจเป็นโทษประหารสำหรับผู้ที่ไร้บ้าน”

รัฐต้องตอบสนองต่อความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้ไร้บ้าน/ไร้ที่อยู่อาศัยอย่างเร่งด่วน สิทธิในที่อยู่อาศัยรวมถึงสิทธิด้านสุขภาพและสิทธิในอาหาร เป็นพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการรักษาชีวิตที่ไม่สามารถถูกระงับได้ แม้แต่ในสภาวะฉุกเฉิน  นอกจากนี้คนไร้บ้านและคนกลุ่มเปราะบางจำนวนมากยังถูกตีตราในช่วงแพร่ระบาดได้ง่าย ดังนั้นข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาดที่ถูกต้อง เข้าถึงได้ง่าย ทั้งในภาษาหลักและภาษาท้องถิ่น ควรถูกนำเสนอเป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโรค ปกป้องประชาชนจากข้อมูลเท็จ และลดความเสี่ยงในการตีตราหรือปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมต่อผู้เปราะบาง

ภาพคนมารอรับเงินเยียวยา 5,000 บาทที่หน้ากระทรวงการคลังอย่างแน่นขนัดเป็นภาพชวนตั้งคำถามต่อประเทศนี้ หลายคนนั่งตามฟุตปาธเพื่อกรอกข้อมูล หลายคนส่งเสียงประท้วง และบางคนฆ่าตัวตายเพราะไม่มีเงินเหลือพอต่อลมหายใจอีกแล้ว

มีกลุ่มคนทำงานหลายประเภท ทำงานจากบ้าน (work from home) ไม่ได้ หลายคนมีรายได้น้อย  มีการจ้างงานที่ไม่มั่นคง หรือเป็นแรงงานนอกระบบ หรือต้องตกงานจากผลกระทบของโรคระบาด เพื่อบรรลุการรับมือกับการระบาดของโควิดอย่างเท่าเทียมและปกป้องสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชน รัฐต้องพยายามทุกหนทางและจัดสรรทรัพยากรที่มีตามความจำเป็นพิเศษให้กลุ่มคนเหล่านี้ โดยใช้มาตรการควบคุมเพื่อป้องกันการค้ากำไรเกินควรในกลุ่มสินค้าอาหาร ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอนามัย ยารักษาโรค และสินค้าที่จำเป็น เพื่อรับประกันว่าคนยากจนจะซื้อจัดหาได้ และประกันว่าการวางแผนและยุทธศาสตร์ของรัฐสามารถช่วยเหลือประชากรกลุ่มนี้ได้อย่างแท้จริง

“รีวิวการเรียนออนไลน์วันแรก บอกเลยว่าไม่เห็นด้วย ไม่เหมาะสมกับเด็กประถม สำหรับคนทำงานจะเอาเวลาที่ไหนมาดูแล” คือเสียงจากแม่คนหนึ่งที่ต้องทำงาน ผู้ปกครองหาเช้ากินค่ำยากจะแบ่งภาคเป็นครูคอยตรึงความสนใจลูกๆ นักเรียนหรือกระทั่งนักศึกษาจำนวนมากไม่มีคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และบางคนขาดสถานที่เรียนอันเหมาะสม

ในยามที่โรงเรียนหยุดเพราะโควิดและนักเรียนนักศึกษาต้องเรียนออนไลน์ รัฐควรจัดให้มีการประกันการเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตด้วยราคาเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมเพื่อวัตถุประสงค์ทางการศึกษา เร่งรัดให้นักเรียน-นักศึกษาทุกคนเข้าถึงอุปกรณ์ทางเทคนิคที่จำเป็น ระดมทรัพยากรสนับสนุนครู พ่อแม่ ผู้ดูแล นวัตกร นักสื่อสาร ฯลฯ รวมทั้งสนับสนุนรายการวิทยุเพื่อการศึกษา หลักสูตรการเรียนที่บ้าน การเรียนออนไลน์ หรือสนับสนุนนวัตกรรมอื่นๆ เพื่อให้การศึกษาช่วงการแพร่ระบาดดำเนินต่อไปโดยมีข้อจำกัดน้อยที่สุด ทั้งสิทธิในการศึกษาและสิทธิในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตล้วนแล้วแต่เป็นสิทธิมนุษยชน

ประชาชนให้ความร่วมมือ “หยุดเชื้อเพื่อชาติ” กับรัฐและผู้ประกอบการมาพักใหญ่แล้ว  บ้างหยุดอยู่บ้าน บ้างหยุดงานถาวร รัฐและผู้ประกอบการควรให้ความร่วมมือประชาชนกลับเช่นกัน ด้วยการจ่ายเงินทดแทนแก่ผู้ประกันตนฯ ซึ่งสูญเสียอาชีพช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อคุ้มครองการจ้างงาน บำนาญ และสิทธิประโยชน์ทางสังคมอื่นๆ ของลูกจ้างในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ และบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น โดยใช้มาตรการเช่นการอุดหนุนค่าจ้าง การให้ความช่วยเหลือด้านภาษี การจัดโครงการเพื่อช่วยเสริมความคุ้มครองด้านประกันสังคมและรายได้ ทว่าในความเป็นจริงมีผู้ประกันตนฯ จำนวนมาก ยังไม่ได้รับเงินชดเชยอย่างที่ควรได้ เป็นความบกพร่องทางจินตนาการเกินกว่าผู้เพียรส่งหยาดเหงื่อของตนเข้าสู่ระบบประกันสังคมจะคาดหมายได้

การถูกสังคมทอดทิ้งไว้ให้เอาตัวรอดจากช่วงการแพร่ระบาดของโควิดด้วยกำลังตนเองเพียงลำพังนับเป็นความโดดเดี่ยวรูปแบบหนึ่ง ซึ่งรัฐไม่ควรทิ้งให้ประชาชนต้องโดดเดี่ยวหรือตกอยู่ในอันตราย

รัฐควรใช้มาตรการพิเศษและตรงจุด รวมทั้งผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อปกป้องและบรรเทาผลกระทบของการแพร่ระบาดใหญ่ต่อกลุ่มผู้เปราะบางเป็นการเร่งด่วน เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ลี้ภัยและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบขัดแย้ง ตลอดจนชุมชนและกลุ่มที่ถูกเลือกปฏิบัติและถูกเอารัดเอาเปรียบในเชิงโครงสร้าง รัฐบาลต้องกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่นคนหาเช้ากินค่ำ คนไร้บ้าน ผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัด ฯลฯ

นอกจากนี้รัฐยังควรประกันว่าวัคซีนและการรักษาพยาบาลโรคโควิด-19 ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา จะมีราคาที่เหมาะสมและทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยควรร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ (รวมทั้งบริษัทยา) โดยต้องพิจารณาถึงความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ทั้งยังควรให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการ เพื่อประกันให้ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงน้ำสะอาดและอนามัย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งเพื่อป้องกันการติดโรคโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ

การคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนควรเป็นศูนย์กลางของการป้องกัน แจ้งเตือน เตรียมการ กักตัว ดูแลรักษา และแก้ไขปัญหาโควิด-19 ตั้งแต่ต้นจบ สิทธิมนุษยชนเป็นเครื่องมือปกป้องชีวิตของมนุษย์อยู่แล้วในภาวะปกติ และยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นในภาวะวิกฤต

แม้ในระยะการแพร่ระบาดของโควิดและความข้นแค้น รัฐยังคงมีพันธกิจผูกพันในการรับประกันสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจและสังคม วัฒนธรรม  ฯลฯ อย่างสอดคล้องต่อหลักที่ว่าสิทธิเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันทั้งหมดและไม่อาจแบ่งแยก

เช่นเดียวกับที่เปาโล จอร์ดาโน กล่าวไว้ในหนังสือ การแพร่ระบาด ว่า “ผมไม่อยากสูญเสียสิ่งที่โรคระบาดเผยให้เห็นเกี่ยวกับตัวเรา เมื่อหายกลัวแล้ว ความตระหนักรู้ที่ผ่านเข้ามามักหายไปสิ้นในพริบตา เป็นเช่นนั้นเสมอเมื่อเจอกับโรคภัย”

โควิด-19 ได้เผยให้เห็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ได้รับการรักษาไว้หรือถูกทำลายลงของประชาชนในแต่ละรัฐ เสื้อผ้า ยา ข้าว นม ที่พัก การศึกษา อาชีพ เงินเยียวยา ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต ฯลฯ สิ่งบรรเทาความข้นแค้นเหล่านี้ไม่ใช่แค่ความช่วยเหลือ สถานะ หรือวัตถุ แต่คือสิ่งที่ยึดโยงร่างกายและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งภาวะปกติประชาชนอาจไขว่คว้าสิ่งเหล่านี้ได้โดยกำลังตนเอง แต่ในภาวะวิกฤต ได้เผยให้เห็นการทำหน้าที่ของรัฐว่าสามารถรักษาสิ่งที่ทำให้ประชาชนเงยหน้าอย่างผ่าเผยด้วยความภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนได้มากเพียงใด.

 

อ่านแถลงการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนฉบับเต็มได้ที่

ผู้รายงานพิเศษ UN ออกแนวปฏิบัติว่าด้วยการใช้กำลังจนท.รัฐในภาวะฉุกเฉิน ช่วงโควิด-19

ผู้รายงานพิเศษ UN เผย 13 แนวทางคุ้มครองคนไร้บ้านช่วงโควิด-19 ชี้ไม่ควรดำเนินคดีจากเคอร์ฟิว

ทำไมรัฐจึงต้องดูแลประชาชน?: การรับมือกับโควิด19 และพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน

มาตรการพิเศษในภาวะฉุกเฉินกับหลักสิทธิมนุษยชน กรณีศึกษา โควิด 2019

ขอให้พิจารณาปล่อยตัวผู้ต้องขังโดยเร็วและให้ความมั่นใจว่าทุกคนที่อยู่ในสถานที่คุมขังมีสุขภาพและปลอดภัยดี โดยเฉพาะจากไวรัสโคโรนา 2019 

รัฐต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง: โควิด-19 และสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมที่รองรับ

 

 

X