รัฐต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง: โควิด-19 และสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมที่รองรับ

                  (ภาพประกอบจาก เครือข่ายสลัม๔ภาค Four Regions Slum Network)

เมื่อวันที่ 6 เม.ษ. 63 คณะกรรมการสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของสหประชาชาติออกแถลงการณ์ เรื่อง การระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด – 19) กับสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม พร้อมข้อเสนอแนะ 16 ข้อ ต่อประชาคมโลก    

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าข้อเสนอแนะดังกล่าวมีเนื้อหาน่าสนใจ และจำเป็นต่อการสนับสนุนความเป็นอยู่ของกลุ่มคนเปราะบางตามคำแนะนำนี้ ซึ่งจะได้ขยายความด้านล่างมาปรับใช้ในสังคมไทย จึงนำคำแปลจากเนื้อหาของเอกสารฉบับนี้อย่างไม่เป็นทางการมาเผยแพร่ ณ ที่นี้  

ในแถลงการณ์ฉบับนี้มีสาระสำคัญ กล่าวถึงการระบาดของโรคที่คุกคามต่อระบบบริการสุขภาพ ระบบเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางสังคม การศึกษา และการผลิตอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิทางด้านสุขภาพของกลุ่มผู้มีความเปราะบาง รัฐบาลของประเทศต่างๆ มีพันธกรณีในการดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันหรืออย่างน้อยบรรเทาผลกระทบดังกล่าวโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

คณะกรรมการสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของ UN (คณะกรรมการฯ) ย้ำถึงผลกระทบของโรคโควิด-19 ต่อสิทธิด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ดังนี้ การระบาดใหญ่ในครั้งนี้เป็นภัยคุกคามสาธารณสุขทั่วถึงในทั่วโลก ซึ่งมีหลายแง่มุมต่อการใช้สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองโดยเฉพาะการจำกัดการเดินทาง รัฐจำต้องใช้มาตรการต่างๆ เพื่อต่อสู้กับการระบาดใหญ่ด้วยความสมเหตุสมผล (reasonable) และได้สัดส่วน (proportionate) อีกทั้ง ระบบดูแลสุขภาพของทั่วโลกอ่อนแอลงและขาดแคลนเครื่องมือในการรับมือเพื่อจัดการกับความรุนแรงของการระบาดใหญ่ในปัจจุบันอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว 

ทำให้กลุ่มหลากหลายได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตินี้ ทั้งผู้ด้อยโอกาสและคนชายขอบ ผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพอยู่แล้ว คนที่มีความเสี่ยงมากที่จะติดไวรัสที่อยู่ในสถานที่แออัด ผู้ต้องขัง ผู้อยู่ในสถานที่กักกัน หรือคนที่อยู่ในพื้นที่ขาดแคลนผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด กลุ่มคนทำงานบางประเภทที่ไม่เอื้ออำนวยให้ทำงานจากบ้าน (work from home) โดยใช้เทคโนโลยีได้ คนทำงานด้านสาธารณสุขที่ทำงานอย่างน่ายกย่องในแนวหน้า รวมถึงอีกหลายคนที่ได้รับความเสียหายจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจนก่อให้เกิดความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจต่อตนเองและผู้พึ่งพาอาศัยตน               

ส่งผลให้ผู้ยากจนเข้าไม่ถึงในสินค้าสาธารณะและโครงการทางสังคมที่มีอยู่อย่างไม่เพียงพอ นักเรียนนักศึกษาเข้าไม่ถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมในบริการทางอินเตอร์เน็ตและอุปกรณ์เครื่องมือ เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และแท็ปเล็ต ผู้หญิงมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัวและขอความช่วยเหลือได้อย่างจำกัด รวมถึงชนพื้นเมือง ผู้ขอลี้ภัย (refugees) ผู้แสวงหาที่พักพิง (asylum-seekers) หรือผู้ที่อยู่ในประเทศหรือภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง มีความเปราะบางมากขึ้น โดยพวกเขาไม่สามารถเข้าถึง น้ำ สบู่ และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ข้อมูลข่าวสาร และการบริการสาธารณสุข และคนทำงานด้านสาธารณสุขกำลังติดโรคเนื่องจากความไม่เพียงพอหรือขาดแคลนอุปกรณ์และชุดป้องกันตนเอง  

คณะกรรมการสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของ UN จึงมีข้อเสนอแนะ ดังนี้  

1. รัฐภาคีควรดำเนินมาตรการรับมือกับการระบาดใหญ่อย่างเร่งด่วนจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดที่มีอยู่เพื่อปกป้องสุขภาพของสาธารณชน

2. เมื่อใดที่มาตรการต่างๆ จำกัดสิทธิตามที่ระบุไว้ในกติการะหว่างประเทศ ฯ การจำกัดดังกล่าวควรต้องมีความจำเป็น (necessary) เพื่อรับมือกับวิกฤติทางด้านสาธารณสุขที่เกิดจากโรคโควิด – 19 ทั้งยังต้องเป็นเหตุเป็นผล (reasonable) และได้สัดส่วน (proportionate) มาตรการและอำนาจฉุกเฉินที่รัฐภาคีนำมาใช้เพื่อรับมือกับการระบาดใหญ่ต้องไม่ถูกใช้ในทางที่ผิด และต้องยกเลิกในทันทีที่ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปในการปกป้องสุขภาพของสาธารณชน

3. การเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยาทางกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพในบริบทการรับมือการระบาดนี้ ต้องคำนึงถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มที่มีความเปราะบางหรือกลุ่มชายขอบมากที่สุด เช่น การดำเนินการให้มีสายด่วนร้องเรียนความรุนแรงในครอบครัว หรือ การเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยาต่อผู้หญิงและเด็กซึ่งเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวในช่วงที่ยากลำบากนี้ 

4. รัฐภาคีต้องรับประกันว่าทรัพยากรด้านการบริการสุขภาพของทั้งภาครัฐและเอกชนจะได้รับการระดมและแบ่งสรรให้กับประชาชนโดยทั่วถึงเพื่อประกันการรับมือกับวิกฤติอย่างครอบคลุมและประสานกัน ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านสาธารณสุขทุกคนต้องได้รับอุปกรณ์และชุดป้องกันการแพร่เชื้อโรค และต้องได้รับค่าตอบแทนจากการให้ข้อเสนอแนะต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจ

5. รัฐจำต้องพยายามทุกหนทางในการระดมทรัพยากรที่มีอยู่ให้มากที่สุดเพื่อการบรรลุการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด – 19 อย่างเท่าเทียมมากที่สุด หลีกเลี่ยงการเพิ่มภาระทางเศรษฐกิจให้กับกลุ่มคนชายขอบ และต้องจัดสรรทรัพยากรที่มีตามความจำเป็นพิเศษให้กลุ่มคนชายขอบเป็นอันดับแรก 

6. รัฐทุกรัฐควรใช้มาตรการพิเศษและตรงจุด รวมทั้งผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อปกป้องและบรรเทาผลกระทบของการแพร่ระบาดใหญ่ต่อกลุ่มผู้เปราะบางเป็นการเร่งด่วน เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ลี้ภัยและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบขัดแย้ง ตลอดจนชุมชนและกลุ่มที่ถูกเลือกปฏิบัติและถูกเอารัดเอาเปรียบในเชิงโครงสร้าง มาตรการดังกล่าว ได้แก่ การจัดหาน้ำ สบู่ และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดให้แก่ชุมชนที่ขาดแคลน รัฐควรริเริ่มโครงการโดยมีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองการจ้างงาน ค่าจ้าง และผลประโยชน์ของคนงานทุกคน รวมถึงแรงงานอพยพที่ไม่มีเอกสาร การพักชำระหนี้หรือชะลอการรื้อถอนในกรณีที่ที่อยู่อาศัยถูกใช้เป็นหลักประกันการจำนองในระหว่างการแพร่ระบาดใหญ่ การจัดทำโครงการบรรเทาผลกระทบทางสังคมและโครงการสนับสนุนรายได้เพื่อประกันว่าผู้ที่ต้องการสามารถเข้าถึงอาหารและความมั่นคงทางด้านรายได้ การใช้มาตรการที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของชนกลุ่มน้อยที่มีความเปราะบาง เช่น ชาวโรมา (the Roma) และกลุ่มชนพื้นเมือง และประกันการเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตที่ราคาเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมเพื่อวัตถุประสงค์ทางการศึกษา

7. คนทำงานทุกคนควรได้รับการคุ้มครองจากความเสี่ยงในการติดเชื้อจากสถานที่ทำงาน รัฐควรใช้มาตรการควบคุมที่เหมาะสมเพื่อประกันว่านายจ้างจะลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อให้น้อยที่สุดตามแนวปฏิบัติที่ดีของมาตรฐานทางด้านสาธารณสุข พนักงานต้องไม่ถูกบังคับให้ทำงาน ไม่ถูกลงโทษหากปฏิเสธที่จะทำงานเนื่องจากไม่มีมาตรการป้องกันที่เพียงพอ อีกทั้ง รัฐควรใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อคุ้มครองการจ้างงาน บำนาญ และสิทธิประโยชน์ทางสังคมอื่น ๆ ของลูกจ้างในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ และบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น โดยใช้มาตรการ เช่น การอุดหนุนค่าจ้าง การให้ความช่วยเหลือด้านภาษี การจัดโครงการเพื่อช่วยเสริมความคุ้มครองด้านประกันสังคมและรายได้ 

8. ควรใช้มาตรการควบคุมเพื่อป้องกันการค้ากำไรเกินควรในกลุ่มสินค้าอาหาร ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอนามัย ยารักษาโรค และสินค้าที่จำเป็น เพื่อรับประกันว่าคนยากจนจะสามารถจัดซื้อจัดหาได้ มาตรการที่แนะนำ คือ การยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มและให้การอุดหนุนต้นทุนราคาในสินค้าดังกล่าวในระหว่างการแพร่ระบาดใหญ่  

9. ข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาดที่ถูกต้อง เข้าถึงได้ง่าย ทั้งในภาษาพื้นเมืองและภาษาท้องถิ่น ควรถูกนำเสนอเป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโรค เพื่อปกป้องประชาชนจากข้อมูลเท็จที่อันตราย และจำเป็นอย่างมากต่อการลดความเสี่ยงในการตีตรา และปฏิบัติการอย่างไม่เหมาะสมต่อผู้ที่มีความเปราะบาง อีกทั้ง ควรดำเนินมาตรการเร่งรัดให้มีการเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตหรืออุปกรณ์ทางเทคนิคที่จำเป็นสำหรับนักเรียนทุกคน โดยเฉพาะในชุมชนและภูมิภาคที่ยากจน เพื่อให้นักเรียนเหล่านี้ได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมจากโครงการเรียนรู้ทางออนไลน์ในระหว่างที่สถานศึกษาปิดการเรียนการสอน

10. ความร่วมมือและความช่วยเหลือระหว่างประเทศต่อวิกฤตระดับโลกนี้ ควรครอบคลุมการแบ่งปันข้อมูลด้านการศึกษาวิจัย อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติที่ดีในการต่อสู้กับไวรัส รวมถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม และประกันการฟื้นตัวอย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียม อีกทั้ง ศูนย์กลางของความพยายามในการช่วยเหลือจากนานาชาติควรมุ่งไปที่กลุ่มผู้มีความเปราะบางและด้อยโอกาส ประเทศด้อยพัฒนา และประเทศที่อยู่ทั้งในและหลังสภาวะสงคราม

11. รัฐมีพันธกรณีนอกอาณาเขตเกี่ยวกับความพยายามระดับโลกเพื่อต่อสู้กับโรคโควิด – 19 โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วควรหลีกเลี่ยงการตัดสินใจจำกัดการส่งออกอุปกรณ์หรือเครื่องมือทางการแพทย์ไปยังประเทศที่ยากจน ซึ่งก่อให้เกิดอุปสรรคการเข้าถึงอุปกรณ์ที่จำเป็น ภาครัฐควรรับประกันว่า มาตรการควบคุมชายแดนแบบฝ่ายเดียวต้องไม่ขัดขวางการเคลื่อนย้ายไหลเวียนของสินค้าที่สำคัญและจำเป็น หากมีมาตรการการควบคุมใดๆ ต้องมีเป้าหมายเพื่อรักษาปริมาณสินค้าในประเทศตนอย่างได้สัดส่วนและพิจารณาถึงความจำเป็นเร่งด่วนของประเทศอื่นๆ ด้วย

12. รัฐควรใช้อำนาจในการลงคะแนนเสียงในสถาบันการเงินระหว่างประเทศเพื่อบรรเทาภาระด้านการเงินของประเทศกำลังพัฒนาในการต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่ด้วยมาตรการ เช่น การปรับใช้มาตรการการบรรเทาภาระด้านหนี้สินกับประเทศเหล่านี้ต่างจากประเทศอื่น รัฐภาคีควรส่งเสริมให้ระบบทรัพย์สินทางปัญญามีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนได้ เพื่อให้การเข้าถึงผลประโยชน์ด้านความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด – 19 เป็นไปโดยทั่วถึงกัน เช่น การวินิจฉัย ยารักษา และวัคซีน

13. การคว่ำบาตรทางด้านเศรษฐกิจและการเงินฝ่ายเดียวทำให้ระบบบริการสุขภาพอ่อนแอและอาจทำลายความพยายามในการต่อสู้กับโรคโควิด – 19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของการจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ การคว่ำบาตรดังกล่าวควรต้องยกเลิกเพื่อทำให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นในการรับมือกับการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

14. ความร่วมมือระหว่างประเทศทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญมากต่อการระบาดใหญ่นี้ โดยเฉพาะบทบาทขององค์การอนามัยโลก (WHO) ต้องทำให้รัฐต่างๆ มีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าจะมีการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น การแบ่งปันข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเชื้อที่อาจก่อให้เกิดโรค ปรับปรุงกลไกการแจ้งเตือนล่วงหน้า บนพื้นฐานของการแบ่งปันข้อมูลที่รวดเร็วและโปร่งใสโดยรัฐที่เกิดโรคระบาดซึ่งอาจพัฒนาเป็นโรคระบาดใหญ่  ซึ่งจะเอื้ออำนวยให้มีการตอบสนองได้โดยเร็วบนฐานของหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุด การควบคุมการแพร่ระบาดและการป้องกันการลุกลามสู่การระบาดใหญ่ ซึ่งหากถึงขึ้นระบาดใหญ่แล้วก็แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องด้านการรักษา การค้นพบการรักษา และวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเร็วขึ้น พร้อมๆ กับการเตรียมพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ในอนาคต 

15. โรคโควิด – 19 เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการลงทุนให้เพียงพอในระบบสาธารณสุข โครงการด้านสังคมอื่นที่ควรครอบคลุมถึง อาทิ งานที่มีคุณค่า ที่พักอาศัย อาหาร น้ำดื่ม และระบบสุขอนามัย รวมทั้งสถาบันเพื่อพัฒนาความเท่าเทียมทางเพศ 

16. ท้ายที่สุด คณะกรรมการฯ ขอเรียกร้องให้รัฐภาคีต่าง ๆ ประกันว่าการระดมทรัพยากรเพื่อรับมือกับการระบาดใหญ่ของโรคโควิด – 19 อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้ จะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการระดมทรัพยากรในระยะยาวไปสู่การใช้สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอย่างเต็มที่และเท่าเทียมตามที่ระบุไว้ในกติการะหว่างประเทศ ฯ เพื่อกระทำการดังกล่าว รัฐต้องดำเนินการเพื่อบรรลุตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในการสร้างสรรค์โลกที่มนุษย์มีเสรีภาพในการใช้สิทธิ “โดยปราศจากความกลัวและความต้องการ” 

คณะกรรมการ ฯ เองมุ่งมั่นตั้งใจติดตามผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด – 19 ต่อสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ผ่านการปฏิบัติตามอำนาจที่ได้รับมอบหมายตามกติการะหว่างประเทศ ฯ 

———————————————————-  

เรียบเรียงและสรุปจากเอกสารเผยแพร่ของ คณะกรรมการสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ แถลงการณ์ เรื่อง การระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด – 19) กับสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

Statement on the coronavirus disease (COVID-19) pandemic and economic, social and cultural rights Committee on Economic, Social and Cultural Rights  

         

X