คดีแกนนำ “Army 57” เริ่มตรวจพยานหลักฐาน คู่ความถกกันหนักหลังโจทก์แก้ไขคำฟ้องใหม่

24 มิ.ย. 62 ที่ศาลอาญา รัชดา เป็นนัดตรวจพยานหลักฐาน ในคดีที่อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง 9 แกนนำคนอยากเลือกตั้ง ได้แก่ รังสิมันต์ โรม, สิริวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, ปกรณ์ อารีกุล, อานนท์ นำภา, กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์, ณัฏฐา มหัทธนา, ศรีไพร นนทรี, ธนวัฒน์ พรหมจักร, และโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ ที่ถูกดำเนินคดีจากเหตุชุมนุมและปราศรัยในกิจกรรม “รวมพลังถอนราก คสช.” บริเวณสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และเดินขบวนไปยังกองบัญชาการกองทัพบกเพื่อทวงถามกำหนดการเลือกตั้งจากรัฐบาลคสช. เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 61 (ARMY57)

แกนนำคนอยากเลือกตั้งในคดีนี้ถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น 4 ข้อหา ได้แก่ 1.ข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (2) (3), 2.เดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมหลัง 6 โมงเย็นโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ, ไม่เลิกชุมนุมตามเวลาที่ผู้จัดชุมนุมแจ้งไว้ ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ พ.ศ. 2558, 3.โฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ ตามมาตรา 4 ของพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 และ 4.ร่วมกันเดินขบวนขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 108, 114

อ่านสรุปคำฟ้องเดิมได้ที่: สั่งฟ้องคนอยากเลือกตั้งหน้ากองทัพบก 9 คน ศาลนัดตรวจพยาน 13 พ.ค. 62

โจทก์ขอรวมคดีเอกชัย และแก้คำฟ้องใหม่

9.00 น. ศาลได้ขึ้นบัลลังก์พิจารณาคดี ฝ่ายโจทก์ได้แถลงขอนำคดีที่ฟ้องเอกชัย หงส์กังวานไปก่อนหน้าเพื่อมารวมกับคดีของจำเลยทั้ง 9 คน เพื่อความสะดวกในการพิจารณาคดี เนื่องจากพยานเอกสาร พยานบุคคล พยานวัตถุเป็นชุดเดียวกัน นอกจากนี้โจทก์ได้ขอแก้ท้ายคำฟ้องใหม่เนื่องจากพิมพ์ผิดพลาด โดยตัดข้อความเดิมว่า “พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 114” ออก และขอเพิ่มเติมข้อความใหม่ว่า “พระราชพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 148” และขอเพิ่มเติมข้อความพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 9 และพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 28, 30, 31 ซึ่งว่าด้วยการกำหนดบทลงโทษ โดยโจทก์ชี้แจงว่าการแก้ไขนี้ไม่ได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบหรือหลงการต่อสู้คดีแต่อย่างใด

ทนายความจำเลยแถลงค้านอ้างเป็นการฟ้องใหม่

ด้านทนายความจำเลยบางราย ลุกขึ้นแถลงค้านเนื่องจากเหตุว่าเป็นฟ้องใหม่ ซึ่งในคำฟ้องเดิมไม่ได้ปรากฏมาตรากำหนดบทลงโทษตามที่แก้ไข ซึ่งอาจจะทำให้จำเลยเกิดความเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ขณะที่รังสิมันต์จำเลยที่ 3 เห็นว่าทั้งในการให้การในชั้นสอบสวนมาจนถึงในคำบรรยายฟ้องของอัยการฝ่ายโจทก์ มิทำให้เข้าใจได้ว่าเหตุแห่งความผิดจะนำมาสู่บทลงโทษที่มีการแก้ไขเข้ามาใหม่ ซึ่งฝ่ายโจทก์เพิ่งมาแก้ไขในวันนี้ ทำให้ตนคิดว่าอาจจะไม่ได้รับความเป็นธรรม

ขณะที่ศาลวินิจฉัยว่า คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเพิ่มเติมของฝ่ายโจทก์ ไม่ได้มีการบรรยายสภาพข้อหาขึ้นมาใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นการเพิ่มเติมมาตราบางมาตราที่ไม่ได้ระบุไว้หรือตัดออกบางมาตราที่ไม่ได้เกี่ยวข้องออกไป อันเนื่องมาจากการพิมพ์ผิดพลาดตกหล่นย่อมไม่ทำให้ฝ่ายจำเลยทั้ง 10 คนเสียเปรียบหรือลงการต่อสู้ จึงอนุญาตให้แก้ไข

โจทก์ยื่นพยานเอกสาร 50 ฉบับ พยานบุคคลอีก 51 ปาก

ต่อมาได้มีการสอบคำให้การจำเลย โดยจำเลยทั้ง 10 คน ขอให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาจากฝ่ายโจทก์ทุกข้อหา ทั้งนี้โจทก์ได้ยื่นพยานเอกสารและพยานบุคคลจำนวนมาก จึงแยกแจกแจงพยานแต่ละลำดับดังนี้ 1. พันเอกบุรินทร์ ทองประไพ ผู้รับอำนาจจากคสช. ให้ร้องทุกข์ดำเนินคดีกับจำเลยทั้ง 10 คน และมีส่วนในการรวบรวมพยานและหลักฐานด้วย 2. พ.ต.อ.จักรกริศน์ โฉสูงเนิน ผู้กำกับการสน.ชนะสงคราม เป็นผู้ควบคุมและอยู่ในเหตุการณ์ระหว่างการชุมนุมของคนอยากเลือกตั้งในวันเกิดเหตุ 3. พ.ต.อ.กัมปนาทร อรุณคีรีโรจน์ ผู้กำกับการสน.นางเลิ้ง ซึ่งเป็นผู้ควบคุมพื้นที่การเดินขบวนจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศจนถึงบริเวณหน้ากองทัพบก ที่ผู้ชุมนุมใช้ปราศรัย และ 4. ส.อ.นคร สงวนน้อย เป็นผู้ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ออกสืบสวนหาข่าวกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจรัฐบาลและ คสช.

นอกจากนี้ในบัญชีพยานฝ่ายโจทก์ได้ระบุชื่อประชาชนที่อ้างว่าได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุม รวมถึงพนักงานสอบสวน ผู้ถอดเทปคำปราศรัย รวมพยานบุคคลของฝ่ายโจทก์ 51 ปาก มีพยานเอกสาร 50 ฉบับ

ด้านฝ่ายจำเลยอ้างสืบพยานทั้งสิ้น 22 ปาก โดยขอใช้เวลาในการสืบพยาน 6 นัด ทำให้เมื่อรวมกับของฝ่ายโจทก์การสืบพยานคดีนี้จึงรวมระยะเวลาในการสืบพยานทั้งสิ้น 20 นัด

อนึ่งเนื่องจากรังสิมันต์ โรม จำเลยที่ 3 ของคดีนี้ต้องทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ศาลจึงให้เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์นัดความกำหนดวันสืบพยานที่เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงวันประชุมรัฐสภาของจำเลย ส่วนกรณีเอกชัย หงส์กังวาน จำเลยที่ 10 ที่ได้ขออนุญาตให้มีการพิจารณาคดีลับหลัง ศาลได้อนุญาตด้วยเหตุผลว่ามีแม่ที่แก่ชราภาพที่ต้องดูแล

ในตอนท้ายของการพิจารณาคดีในวันนี้ ศาลได้กำหนดนัดตรวจความพร้อมของคู่ความก่อนสืบพยานในวันที่ 23 มี.ค. 63 และจะเริ่มกระบวนการนัดสืบพยานโจทก์ ปากแรกในวันที่ 26-29 พ.ค. 63

 

X