อดีตนศ. 11 คน เข้ารับทราบข้อกล่าวหา “ยุยงปลุกปั่น” 22 พ.ค. นี้

22 พ.ค. 62 ที่จะถึงนี้ กลุ่มอดีตนักศึกษาและนักกิจกรรมบางส่วน ที่ถูกพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ออกหมายเรียกให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ในข้อหา “ยุงยงปลุกปั่น” จะเข้ารับทราบข้อกล่าวหา จำนวน 14 คน จากทั้งหมดจำนวน 16 คน ได้แก่ วสันต์ เสดสิทธิ, ทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์, พายุ บุญโสภณ, อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์, ศุภชัย ภูคลองพลอย, อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์, ภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์, สุวิชา พิทังกร, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, พรชัย ยวนยี และ ชลธิชา แจ้งเร็ว

กรณีนี้สืบเนื่องจาก ระหว่างวันที่ 12-13 พ.ค. 62 มีนักศึกษาและนักกิจกรรมของ“ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” จำนวน 15 คน ได้รับหมายเรียกในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ซึ่งระบุว่าเป็นความผิดของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจกับพวก” ในการชุมนุมต่อต้านคณะรัฐประหารคสช. เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.58 โดย “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกหมายเรียกและเข้ารายงานตัวที่ สน.ปทุมวันไปแล้วเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 62

เนื้อหาในหมายเรียกอดีตนักกิจกรรมและนักศึกษาทั้ง 15 คน ระบุเหตุต้องหาว่า “ร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือด้วยวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดการปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปโดยใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง”

ความผิดร่วมกับธนาธร

ในส่วนของความผิดร่วมกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่นั้น ตามบันทึกของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบุว่า ก่อนเกิดเหตุเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 58 รังสิมันต์ โรม และพวก รวม 7 คน ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 รับทราบข้อกล่าวหา เมื่อมาถึง สน.ปทุมวัน ผู้ต้องหากับพวกไม่ยอมเข้าพบพนักงานสอบสวน โดยรออยู่บริเวณใกล้เคียง สน.ปทุมวัน หลังจากนั้นได้มีกลุ่มบุคคลให้การช่วยเหลือกลุ่มผู้ต้องหา จากการสืบสวนทราบว่ากลุ่มคนร้ายได้นำรถตู้สีขาวพากลุ่มผู้ต้องหาหลบหนี

จากการตรวจสอบทะเบียนรถทราบว่าเป็นรถของบริษัทที่มีนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของนายธนาธร เป็นกรรมการ และจากการตรวจสอบทราบว่าในวันดังกล่าวนายธนาธรได้มาอยู่ที่ สน.ปทุมวัน พร้อมกับนายรังสิมันต์ และพวกด้วย คณะ คสช.จึงมอบอำนาจให้ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อนายธนาธรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ 189

น่าสนใจว่า บันทึกแจ้งความที่ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เข้าแจ้งความว่า “รังสิมันต์ โรม และพวก รวม 7 คน ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116” นั้น กล่าวถึงการชุมนุมในวันที่ 25 มิ.ย.58 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งไม่ได้ระบุว่าธนาธรได้เข้าร่วมการชุมนุมในลักษณะใด ระบุเพียงว่าธนาธร อยู่ในพื้นที่หน้า สน.ปทุมวัน ในวันที่ 24 มิ.ย.58 ด้วยเท่านั้น

สำหรับอีก 4 คนที่เหลือซึ่งจะยังไม่ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 22 พ.ค. 62 ได้แก่ รังสิมันต์ โรม รัฐพล ศุภโสภณ ปกรณ์ อารีกุล และวรวุฒิ บุตรมาตร โดยจะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 11 มิ.ย.62

ภาพข่าวจากประชาไท

เกิดอะไรในวันที่ 24 มิ.ย. 58

วันที่ 24 มิ.ย. 58 เป็นวันนัดรับทราบข้อกล่าวหา กลุ่มนักศึกษาที่จัดกิจกรรมรำลึกครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 พ.ค.58 โดยในวันดังกล่าว ก่อนเริ่มกิจกรรมเพียง 5 นาที เจ้าหน้าที่ได้เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาและมีการควบคุมตัวนักศึกษาและนักกิจกรรมจำนวน 37 คนไว้ที่สน.ปทุมวันทั้ง แต่ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด หลังจากที่พวกเขาถูกปล่อยตัวในรุ่งเช้าของวันที่ 23 พ.ค. 58 นักศึกษาที่ทำกิจกรรมที่หน้าหอศิลปฯ ถูกแจ้งความดำเนินคดีตามมาในภายหลังจำนวน 9 คน

จนกระทั่งในวันที่ 24 มิ.ย. 58 นักศึกษาได้เดินทางมาที่ สน.ปทุมวัน เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ ที่เข้าสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงและหลายคนถูกทำร้ายร่างกาย ในวันที่ 22 พ.ค. 58 แต่ปฏิเสธการเข้ารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากไม่ยอมรับการใช้อำนาจของคสช.

นอกจากนั้นในวันดังกล่าวมีกลุ่มนักศึกษาจากหลายสถาบัน และประชาชน ประมาณ 500 คน ได้เดินทางไปให้กำลังใจกลุ่มนักศึกษาที่ทำกิจกรรมที่หน้าหอศิลปฯ แล้วยังมีนักศึกษาดาวดิน 7 คน จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ถูกออกหมายเรียกกรณีชูป้ายคัดค้านครบรอบ 1 ปี การทำรัฐประหาร ที่อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ จ.ขอนแก่น ได้เดินทางไปให้กำลังใจเพื่อนนักศึกษาที่จัดกิจกรรมหน้าหอศิลปฯ ที่ สน.ปทุมวันด้วยเช่นกัน

เมื่อถึงวันนัดหมายนักศึกษาทั้ง 14 คน เดินทางไปที่หน้าสน.ปทุมวัน เพื่อแจ้งความกลับแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้ความรุนแรงในการจับกุมพวกเขาในเดือนก่อน ทว่าถูกปฏิเสธให้เข้าไปในพื้นที่ สน. ดังนั้นพวกเขาและผู้สนับสนุนราว 500 คน จึงตั้งเวทีประท้วงอย่างสันติหน้าสถานีตำรวจ

โดยทางสน.ปทุมวันได้มีการตั้งแผงเหล็กกั้นบริเวณหน้าสน. พร้อมวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบเฝ้าประจำการอยู่ประมาณ 1 กองร้อย และมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยเดินสังเกตการณ์ภายในพื้นที่ทำกิจกรรม

ภาพข่าวจากประชาไท

ข้อเรียกร้องแรกของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ คือขอเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปแจ้งความ โดยขอให้เจ้าหน้าที่เปิดทาง และเปิดพื้นที่ให้มวลชนที่มารอให้กำลังใจ เข้าไปรออยู่ด้านหน้าสน. ปทุมวัน แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธข้อเรียกร้อง โดยตอบกลับว่าจะเปิดทางให้แค่เฉพาะผู้เข้าแจ้งความเท่านั้นที่สามารถเข้าไปใน สน. ได้ ก่อนที่พวกเขาจะเข้าไปแจ้งความได้ในเวลา 18.00 น.

กิจกรรมหน้าสน. ของผู้ให้กำลังใจเป็นไปอย่างคึกคักมีการร้องเพลง มอบดอกไม้ อ่านบทกวี ดำเนินไปทตลอดบ่ายถึงค่ำ จนกระทั่งเวลาประมาณ 9.30 น. ก่อนกิจกรรมจะยุติกิจกรรมลง ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ได้ประกาศหลักการ 5 ข้อเป็นแนวทางในการต่อสู้เพื่อกรียกร้องประชาธิปไตย คือ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม การมีส่วนร่วม และสันติวิธี และสลายตัวกันไปเมื่อเวลา 21.40 น.

X