ปอท.แจ้ง “112-พ.ร.บ.คอมฯ” เหตุปชช. โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับกษัตริย์รัชกาลที่ 10

วันนี้ (18 มี.ค. 64) เวลา 11.00 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) “เรเน่” พุทธพงศ์ (สงวนนามสกุล) เดินทางไปรับทราบ 2 ข้อกล่าวหามาตรา 112 และพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กรณีแสดงความคิดบนเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับสถาบัน ต่อมาได้รับการปล่อยตัวในชั้นสอบสวน โดยไม่ต้องวางหลักประกัน เนื่องจากได้มาปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามนัดหมาย ไม่มีเหตุให้ควบคุมตัว

.

ปอท.บุกตรวจค้นหอพัก ยึดคอมฯ และโทรศัพท์ ก่อนคุมตัวไปซักที่ปอท.

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 มี.ค 64 เวลา 07.00 น.พุทธพงศ์ถูกเจ้าหน้าที่ชุดตรวจค้น ภายใต้อำนวยการของ พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผู้บัญชาการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) แสดงหมายค้นของศาลอาญา และเข้าตรวจค้นบ้านพัก โดยเจ้าหน้าที่ได้ยึดอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือไปด้วย 

จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวพุทธพงศ์ไปที่บก.ปอท. ในรถกระบะของตำรวจ  โดยมีเจ้าหน้าที่ 2 นายนั่งประกบโดยอ้างว่าจะพาไปลงลายมือชื่อในเอกสารเท่านั้น และหากแล้วเสร็จจะปล่อยตัว อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ไม่ได้แสดงหมายเรียกหรือหมายจับแก่พุทธพงศ์แต่อย่างใด 

เมื่อพุทธพงศ์ถูกคุมตัวมาซักถามที่บก.ปอท. เขาไม่ได้รับสิทธิให้ติดต่อญาติหรือทนายแต่อย่างใด ทำให้ระหว่างการซักถามในห้องสอบสวน มีเพียงพุทธพงศ์เท่านั้น ไม่มีทนายเข้าร่วมการซักถามครั้งนี้ด้วย โดยเจ้าหน้าที่ยังนำเอกสารมาให้ลงลายมือชื่อ ซึ่งตนได้ลงลายมือชื่อไปเพราะมีอาการหวาดกลัวและตื่นตระหนก 

หลังการซักถาม พนักงานสอบสวนกลับเปลี่ยนใจจะแจ้งข้อหามาตรา 112 แก่พุทธพงศ์ในวันนั้น แม้ตอนแรกระบุว่า จะนำตัวมาเพื่อซักถามข้อมูลเท่านั้น 

ขณะเดียวกัน ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เดินทางไปถึงบก.ปอท.หลังการซักถาม และได้ปรึกษากับพุทธพงศ์ จึงตัดสินใจให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกผู้ต้องหาให้พุทธพงศ์มารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 18 มี.ค. 64 เวลา 10.00 น. 

.

ปอท.แจ้งข้อหา 112 และพรบ.คอมฯ เหตุโพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบัน

พ.ต.ต. คมสัน ทุติยานนท์ รองสารวัตร (สอบสวน) กก.2 บก.ปอท. และ ร.ต.ท.หญิง ปวริศา ศรีกาญจนากาศ รองสารวัตร(สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. บรรยายพฤติการณ์คดีโดยสรุปว่า จากการตรวจสอบของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบข้อความบนเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 63 ซึ่งข้อความดังกล่าวมีเนื้อหาส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับสถาบัน

ด้านฝ่ายกฎหมายของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษกิจและสังคมจึงมาพบพนักงานสอบสวน เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดําเนินคดีกับผู้ต้องหาดังกล่าวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ซึ่งพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาพุทธพงศ์จำนวน 2 ข้อหา ได้แก่ 

  1.  “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 
  2. “นำเข้าซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง” ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

พุทธพงศ์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายหลังภายใน 30 วัน 

ทั้งนี้พุทธพงศ์ได้ให้การเพิ่มเติมว่า ในวันที่พนักงานชุดตรวจค้น ได้แสดงหมายค้นของศาลอาญาและเข้าตรวจค้นบ้านพัก โดยไม่แสดงหมายจับนั้น ตนถูกเจ้าหน้าที่จูงใจให้เดินทางมาที่ปอท. เพื่อเซ็นเอกสารต่าง ๆ หลังจากเจ้าหน้าที่ให้เซ็นเอกสารแล้วเสร็จ ทนายความจึงเข้าพบภายหลัง ตนจึงได้ปรึกษากับทนาย และประสงค์นัดหมายมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อสอบคำให้การในวันที่ 18 มี.ค. 64

ก่อนรับทราบข้อหา  พุทธพงศ์ เผยว่า ตนมีความกังวล หากตนถูกจับเข้าเรือนจำ อาจอยู่ไม่ได้  เนื่องจากเป็นผู้หญิงข้ามเพศ (transwoman) ด้านญาติพุทธพงศ์เกรงจะเหมือนกรณี “ฟ้า-พรหมศร” ที่ไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน แม้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก

หลังเสร็จกระบวนการ พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวพุทธพงศ์ไป โดยไม่ควบคุมตัวไว้ เนื่องจากมาปรากฎต่อหน้าพนักงานสอบสวนแล้ว ไม่มีเหตุให้ควบคุมตัว

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงวันที่ 18 มีนาคม 64 มีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 73 ราย ในจำนวน 63 คดีแล้ว และคดีของ “พุทธพงศ์” เป็นคดีที่ 5 แล้วที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้ร้องทุกข์

สถานการณ์ดังกล่าว สะท้อนปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการบังคับใช้มาตรา 112 คือ เปิดโอกาสให้ใครก็ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยไม่ต้องเป็นผู้เสียหายเองเหมือนกับข้อหาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ทำให้กฎหมายมาตรานี้สามารถถูกกลุ่มฝ่ายการเมืองต่างๆ นำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือใช้กล่าวหากลั่นแกล้งกันไปมาอีกด้วย

.

X