ตรวจพยานหลักฐานคดี 112 “เรเน่-พุทธพงศ์” ศาลนัดสืบพยานตุลาคมปีหน้า ด้านเจ้าตัวเผย กำลังใจดี ยังพร้อมสู้

วันนี้ (15 พ.ย. 64) ที่ศาลอาญารัชดาฯ มีนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานคดี  “เรเน่” พุทธพงศ์ (สงวนนามสกุล) ที่ถูกสั่งฟ้องในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กรณีแสดงความคิดบนเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

เวลา 14.40 น. ผู้พิพากษาออกนั่ง วันนี้พนักงานอัยการโจทก์ จําเลย และทนายจําเลยมาศาล

หลังศาลอ่านและอธิบายคำฟ้องให้ฟัง จําเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อหา ด้านโจทก์แถลงประสงค์จะสืบพยานบุคคลทั้งสิ้น 7 ปาก ได้แก่ เจ้าหน้าที่รัฐ 5 รายที่เกี่ยวข้อง และประชาชน 2 ราย โดยเป็นอาจารย์ประจําคณะนิติศาสตร์ที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อความที่จําเลยโพสต์ และประชาชนผู้อ่านข้อความจำเลย

ส่วนจําเลยแถลงแนวทางการต่อสู้คดีว่า ตนเป็นผู้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กจริง แต่ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามข้อกล่าวหา โดยฝั่งจำเลยประสงค์จะขอนำสืบพยาน 2 ปาก คือ ตัวจําเลย และคณบดีคณะนิติศาสตร์ หรือผู้แทน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อชี้แจงเรื่องเจตนาของตน โดยจะขอใช้เวลาสืบพยานจำเลยครึ่งนัด

ศาลจึงกำหนดนัดสืบพยานจำนวน 4 นัด โดยเป็นของฝ่ายโจทก์ 3 นัด และจำเลย 1 นัด ในวันที่ 4-5 ต.ค. 65 เวลา 09.00 น. และ 13.30 น. ของแต่ละวัน

อนึ่ง เรเน่เป็นผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ย้อนไปเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 64 เวลา 07.00 น. เธอถูกเจ้าหน้าที่ชุดตรวจค้นจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) แสดงหมายค้นและเข้าตรวจค้นบ้านพัก โดยเจ้าหน้าที่ได้ยึดคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือของเธอไป  ก่อนนำตัวไปที่ บก.ปอท. โดยอ้างว่าจะพาไปซักถาม และลงลายมือชื่อในเอกสาร 

อย่างไรก็ตาม หลังมาถึงที่ บก.ปอท. เจ้าหน้าที่กลับจะแจ้งข้อกล่าวให้เธอฟัง ทั้งยังไม่ให้เธอติดต่อญาติหรือทนายแต่อย่างใด ทำให้ในกระบวนดังกล่าวมีเพียงเธอและเจ้าหน้าที่ เธอเกิดความกลัว และตื่นตระหนก จนลงลายมือชื่อในเอกสารของเจ้าหน้าที่

ภายหลังทนายเข้าไปให้ความช่วยเหลือและพูดคุยกับเจ้าหน้าที่จึงมีการออกหมายเรียกให้เธอมารับทราบข้อกล่าวหาในอีกหนึ่งสัปดาห์ถัดไป 

“ไม่ยุติธรรม” 

เธอเล่าย้อนถึงความรู้สึกในวันนั้นว่า ไม่ยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง เธอมองว่ากฎหมายนี้รุนแรงต่อชีวิตคนๆ หนึ่งมาก ทั้งตอนนั้นยังมีความรู้สึกกลัว เพราะไม่รู้ว่าคดีความจะไปจบที่ตรงไหน 

ในช่วงแรกของคดีความ ทำให้เธอต้องลาออกจากงานที่เคยทำ แม้ทางบริษัทจะยังสนับสนุนเธออยู่ก็ตาม แต่เธอรู้สึกว่าตัวเธอเองอาจจะเป็นปัญหาหรือตัวถ่วงให้กับบริษัทที่เธอทำอยู่ 

แต่ในความโหดร้าย ก็ยังแฝงความโชคดีอยู่บาง คนรอบข้างเธอทั้ง ครอบครัว และเพื่อนฝูงเข้าใจและไม่ต่อว่าในสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมยังบอกอีกว่า “การที่เธอถูกดำเนินคดีไม่ใช่ความผิดเธอ หากแต่เป็นของคนที่ใช้กฎหมายมารังแกผู้อื่น”

แม้จะถูกฟ้องด้วยมาตรา 112 เธอยังคงติดตามข่าวสารทางการเมืองอยู่ตลอด เพียงแต่ในครั้งต่อๆ มา เธอไม่ได้แสดงความเห็นผ่านทางแพลตฟอร์มสาธารณะมากนัก มีเพียงการพูดคุยเรื่องการเมืองกับคนรอบข้างเท่านั้น

เธอเล่าว่า ตามปกติที่ทุกครั้งที่มาศาลจะรู้สึกเครียด คิดมาก และนอนไม่หลับทุกครั้ง ทั้งยังกังวล และหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลาว่าตัวเองจะถูกตัดสินและโยนเข้าห้องคุมขังในเรือนจำหรือไม่ 

แต่ในวันนี้เธอพอจะสามารถสลัดความกลัวและความกังวลเหล่านั้นไปได้ อีกทั้งนัดในครั้งต่อไปคือเดือนตุลาคมปีหน้า ทำให้เธอรู้สึกได้มีเวลาใช้ชีวิตมากขึ้น

ทั้งนี้ เธอยกคงยืนยันว่า กฎหมายมาตรา 112 ควรถูกยกเลิก เนื่องจากโทษนั้นหนักเกินไป จนสามารถตัดโอกาสชีวิตของคนๆ หนึ่งได้ และไม่ควรมีใครถูกรังแกด้วยกฎหมายนี้ แม้ท้ายที่สุดไม่อาจยกเลิกกฎหมายนี้ เธอก็หวังว่ามันควรจะสามารถปรับแก้ให้เป็นคดีความทางแพ่ง โดยให้ผู้ที่ถูกหมิ่นประมาทนั้นมาสู้คดีด้วยตัวเอง และเธอเชื่อว่าสถาบันกษัตริย์ต้องสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ เขาและเราควรปรับตัวเข้าหากัน

เธอกล่าวทิ้งท้ายว่า “ยังอยากสู้ต่อที่นี่จนถึงลมหายใจสุดท้าย แต่ก็ไม่อยากเข้าเรือนจำ”

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 63 – 11 พ.ย. 64

X