28-29 ส.ค. 61 ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (มทบ.23) จ.ขอนแก่น มีการสืบพยานโจทก์ในคดีขอนแก่นโมเดล ซึ่งอัยการศาล มทบ.23 เป็นโจทก์ฟ้อง จ.ส.ต.ประธิน จันทร์เกศ กับพวกรวม 26 คน ในความผิดฐานร่วมกันขัดประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง, ร่วมกันตระเตรียมก่อการร้าย, เป็นซ่องโจร, มีอาวุธปืนและวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, พกพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต, มีเครื่องยุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต จากกรณีการเข้าตรวจค้นจับกุมกลุ่มผู้ต้องสงสัยในจังหวัดขอนแก่นหลัง คสช.เข้ายึดอำนาจ เพียง 1 วัน โดยกองทัพภาคที่ 2 แถลงข่าวว่า กลุ่มดังกล่าวเป็นผู้ไม่หวังดีที่เตรียมออกปฏิบัติการ “ขอนแก่นโมเดล” ในลักษณะกวนเมืองขอนแก่น
นัดนี้โจทก์นำ พ.ต.สรเชษฐ ดีเอื้อ รองผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 13 ช่วยราชการสำนักงานรองแม่ทัพภาค 2 กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2 อ.เมือง จ.นครราชสีมา ขณะเกิดเหตุ รับราชการในตำแหน่งผู้บังคับกองร้อยลาดตระเวนและเฝ้าตรวจ กรมทหารราบที่ 8 (ร.8) เกี่ยวข้องกับคดีนี้โดยได้รับมอบหมายจาก พ.อ.ชาญชัย เอมอ่อน ผบ.ร.8 ให้ดูแลวัตถุพยานและเอกสารที่ตรวจค้นได้ที่โรงแรมชลพฤกษ์เลคไซด์
ที่มาภาพ เฟซบุ๊ค วิญญัติ ชาติมนตรี
นับว่า พ.ต.สรเชษฐ เป็นพยานโจทก์ที่เข้าเบิกความเป็นปากที่ 7 ของคดีนี้ หลังจำเลยถูกจับกุมดำเนินคดีเป็นเวลากว่า 4 ปี โดยกระบวนการสืบพยาน ซึ่งเริ่มสืบพยานโจทก์ปากแรกในวันที่ 28 ต.ค. 59 ผ่านไปเกือบสองปี เสร็จสิ้นไปเพียง 5 ปาก คือ พ.อ.ชาญชัย เอมอ่อน ผบ.ร.8 และ ผบ.ฉก.ร.8 ผู้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นจับกุมจำเลยในคดีนี้ อีก 4 ปาก เป็นเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจำเลยที่ 1 และตรวจยึดของกลางที่ธนาคารแห่งประเทศไทย สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนพยานโจทก์ปากที่ 6 คือ พ.ต.วิชญะ สืบนุช หัวหน้าชุดเคลื่อนที่เร็วที่นำกำลังเข้าตรวจค้นจับกุมที่โรงแรมชลพฤกษ์ เข้าเบิกความเสร็จแล้ว เช่นเดียวกับ พ.ต.สรเชษฐ แต่ทนายจำเลยยังไม่ได้ถามค้าน เนื่องจากทั้งสองพยานเป็นชุดจับกุมจำเลย 21 ราย ที่โรงแรมชลพฤกษ์ในช่วงเย็นวันที่ 23 พ.ค. 57 ซึ่งเจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าว โจทก์จะนำเข้าเบิกความเป็นพยานจำนวนทั้งสิ้น 8 ปาก ถือเป็นพยานคู่ในเหตุการณ์เดียวกัน ทนายจำเลยจึงขอถามค้านหลังการเบิกความของพยานคู่ชุดดังกล่าวแล้วเสร็จทุกปาก
ระหว่างการเบิกความของ พ.ต.สรเชษฐ์ โจทก์ได้อ้างส่งกระดาษเขียนข่าวของ ผบ.ร.8 ลงวันที่ 23 พ.ค. 57 ศาลรับไว้ ต่อมา ทนายจำเลยแถลงคัดค้านการอ้างส่งเอกสารดังกล่าวของโจทก์ เนื่องจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำเอกสารดังกล่าว คือ พ.อ.ชาญชัย เอมอ่อน แต่โจทก์ไม่ได้นำเอกสารดังกล่าวมาถามเมื่อครั้งที่ พ.อ.ชาญชัย เข้าเบิกความ ทนายจำเลยจึงไม่มีโอกาสถามค้าน พ.อ.ชาญชัย เกี่ยวกับเอกสารดังกล่าว ทำให้จำเลยเสียเปรียบ จึงถือเป็นการอ้างส่งพยานเอกสารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นอกจากนี้ จ.ส.ต.ประธิน จันทร์เกศ จำเลยที่ 1 ได้ขอแถลงเรื่องที่ตนเองไม่ได้ประกันตัว ปัจจุบันครอบครัวประสบปัญหา จำเลยอยากได้รับการประกันตัวออกไปแก้ไขปัญหาครอบครัว ศาลชี้แจงว่า คดีนี้ศาลยินดีให้ประกันตัวเช่นเดียวกับจำเลยคนอื่น ๆ แต่จำเลยที่ 1 ถูกควบคุมตัวในคดีหมิ่นพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย ซึ่งคดีนั้นศาลไม่อนุญาตให้ประกัน หากทนายจำเลยดำเนินการยื่นประกันตัวจำเลยในคดี 112 และศาลอนุญาต ก็มายื่นประกันในคดีนี้ ซึ่งศาลไม่มีเหตุให้ต้องควบคุมตัวจำเลยในคดีนี้ไว้
ศาล มทบ.23 นัดสืบพยานโจทก์ในคดีนี้อีก 2 ปาก ในวันที่ 10 ต.ค. 61 และกำหนดวันนัดสืบพยานล่วงหน้าอีก 2 นัด คือ วันที่ 6 พ.ย. และ 14 ธ.ค. 61
ทนาย สกสส. แถลงศาล ถูกทหารฝ่ายข่าวคุกคาม
ในระหว่างการสืบพยานในวันที่ 29 ส.ค. 61 ทนายจำเลยจากสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) ได้แถลงต่อศาลว่า มีทหารฝ่ายข่าวเข้ามาในศาล ถ่ายรูปทนายจำเลย และทะเบียนรถของทนายจำเลยทุกคัน ทำให้ทนายจำเลยเกิดความกังวล และถือเป็นการคุกคามการทำหน้าที่ของทนายจำเลย รวมทั้งอาจจะเป็นการละเมิดอำนาจศาลหรือไม่
หลังการรับฟังทนายจำเลยแถลง ศาลกล่าวว่า ถ้าทนายจำเลยกังวล ศาลจะแจ้งให้เจ้าหน้าที่ศาลดูแล แต่ถ้าทนายอยากให้เป็นทางการให้ทำคำร้องยื่นมา ศาลจะไต่สวนว่าจะตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ แต่ขอให้ทนายจำเลยเข้าใจเบื้องต้นว่า ศาลก็อยู่ใน มทบ.23 ซึ่ง มทบ.23 ก็มีระเบียบรักษาความปลอดภัย
วิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการ สกสส.ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการติดตามคุกคามทนายจำเลยจาก สกสส. ซึ่งทำหน้าที่เป็นทนายให้จำเลยในคดีขอนแก่นโมเดลจำนวน 15 ราย ว่า “การที่ทหารฝ่ายข่าวมาติดตามเพื่อหาข่าวและเก็บข้อมูลที่เป็นภาพถ่ายของเรา ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่มันเกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา เราเคยแถลงในห้องพิจารณาไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อสองปีก่อน ตุลาการท่านแรกที่เคยเป็นตุลาการพิจารณาคดีนี้ ท่านก็จดในรายงานกระบวนพิจารณา พร้อมกับมีกระบวนการภายใน ทำให้การมาถ่ายภาพเราลดลง”
ทนายจำเลยขอนแก่นโมเดลกล่าวต่อไปอีกว่า “แต่ช่วงหลังมานี้ก็เกิดขึ้นอีก มีการตามถ่ายภาพในที่ต่างๆ ทั้งนอกและในค่ายทหาร มีรถสะกดรอย ตามไปที่พักก็เคยเห็น มีการถ่ายรูปบริเวณข้างศาลทหาร ซึ่งไม่ได้ขออนุญาตก่อน รวมทั้งแอบถ่าย และตามถ่ายภาพทะเบียนรถทุกคันที่เป็นของเรา วิธีการเหล่านี้ เราถือว่าเป็นการข่มขู่คุกคาม ทำให้เกิดความวิตกกังวลถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิตร่างกายหรือเสรีภาพ ไม่ใช่เป็นการหาข่าวปกติ ถ้าจะอ้างว่า เป็นบริเวณค่ายทหารซึ่งจะต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัย แต่ในค่ายก็มีวงจรปิดอยู่แล้ว และเราก็ต้องแลกบัตรก่อนเข้า ยิ่งไปกว่านั้นบริเวณบางส่วนเป็นบริเวณศาลทหาร ซึ่งถ้าทำในลักษณะนี้ได้ก็หมายความว่า ศาลทหารกับค่ายทหารคืออันเดียวกันใช่หรือไม่”
วิญญัติเห็นว่า “มันเป็นเรื่องที่ไม่ถูก คุณต้องให้เกียรติกระบวนการยุติธรรม เรามาในฐานะของทนายความ ไม่ได้มาในฐานะเป็นศัตรูกับทหาร หรือเป็นอริราชศัตรูของใคร ฉะนั้น ในบริเวณศาลคุณต้องยุติ ไม่ควรทำแบบนี้ วันนั้นเราจึงแถลงให้ศาลรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อทำให้ศาลเห็นว่า ถ้าเอาประชาชนขึ้นสู่กระบวนการยุติธรรมของศาลทหาร ศาลทหารต้องสามารถใช้อำนาจปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ขึ้นศาลและปกป้องการทำหน้าที่ของทนายความได้ ไม่ใช่ให้ไปอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของผู้บัญชาการค่าย หรือหัวหน้า กอ.รมน. แต่ผมก็ผิดหวังที่วันนั้นยังไม่เกิดกระบวนการที่เหมาะสม ศาลไม่ได้จดในรายงานกระบวนพิจารณาเหมือนคราวก่อน ซึ่งอาจกระทบต่อความเป็นอิสระและเป็นกลางของศาลทหารได้ หากเป็นในศาลยุติธรรมเชื่อว่าจะมีวิธีการหรือข้อกำหนดที่ชัดเจนกว่านี้ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของทนายความและประชาชน”
ทนายวิญญัติคาดสืบพยานอีก 4 ปี
คสช. เข้ายึดอำนาจมากว่า 4 ปี คดีขอนแก่นโมเดลก็ดำเนินมากว่า 4 ปีแล้วเช่นกัน ในฐานะทนายของจำเลยที่รับรู้กระบวนการมาตลอดตั้งแต่ในชั้นสอบสวนและชั้นศาล ทนายวิญญัติคาดหมายว่า คดีนี้จะใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 4 ปี ในการสืบพยาน “จากกระบวนการและเทคนิคการว่าความของฝ่ายอัยการทหาร ซึ่งเป็นไปอย่างล่าช้า และการที่พยานฝ่ายโจทก์ยังเหลืออีกไม่ต่ำกว่า 50 ปาก ซึ่งโจทก์ยืนยันว่าจะไม่ตัดพยานเลย หรือตัดน้อย เชื่อว่า เฉพาะพยานฝ่ายโจทก์ก็คงจะสืบไปอีก 3-4 ปี ฝ่ายจำเลยน่าจะใช้เวลาไม่นาน”
ดูเหมือนศาล มทบ.23 ก็คาดหมายได้เช่นเดียวกัน และพยายามจะเร่งให้กระบวนการพิจารณาคดีเร็วขึ้น โดยเพิ่มวันนัดเป็นเดือนละ 2 นัด ต่อเนื่องกัน หลังจาก 2 ปีที่ผ่านมานัดหมายเพียงเดือนละ 1 นัด บางเดือนที่คู่ความและศาลไม่มีวันว่างตรงกัน ก็ไม่มีการนัด โดยเฉพาะในปี 2561 นี้ มีการเปลี่ยนรอบการหมุนเวียนปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการ 2 คน ที่ทำหน้าที่หลักในการพิจารณาคดีในศาล มทบ.23 จากที่เข้าปฏิบัติหน้าที่สลับกันคนละครึ่งเดือน เปลี่ยนเป็นสลับกันคนละเดือน ทำให้การนัดหมายคู่ความเพื่อสืบพยานโจทก์ต้องนัดเดือนเว้นเดือน ตามเวลาที่ตุลาการที่รับผิดชอบสำนวนคดีเข้าปฏิบัติหน้าที่ในศาล มทบ.23 นี้
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มวันนัดเป็นนัดทุกเดือน ๆ ละ 2 นัด ดังกล่าว เท่ากับเป็นการให้ตุลาการอีกท่านที่ไม่ได้รับผิดชอบสำนวนทำการสืบพยานด้วย โดยสลับกันคนละเดือน ซึ่งทีมทนาย สกสส. มีความเห็นว่า “การให้ตุลาการท่านอื่นมานั่งเสริม และเพิ่มวันนัดมากขึ้น ถามว่า ศาลเอื้อให้กระบวนการพิจารณาเร็วขึ้นหรือไม่ มันก็ไม่เชิงเป็นแบบนั้นตรงๆ นัก เพราะตุลาการท่านอื่นที่มานั่งเสริม ไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบสำนวน รายละเอียดของสำนวนเป็นอย่างไรก็อาจจะไม่รู้ หรือไม่เข้าใจ หรืออาจจะไม่อยากบันทึกในบางครั้ง รวมถึงสุดท้ายตุลาการท่านที่มานั่งเสริมก็ไม่ได้เป็นองค์คณะผู้ตัดสิน ซึ่งโดยกระบวนการยุติธรรมมันไม่ควรจะเกิดขึ้น”
ในส่วนของจำเลยเห็นว่า การนัดเดือนละ 2 วัน ต่อเนื่องกัน เป็นการเพิ่มภาระให้พวกเขา เนื่องจากจำเลยส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในจังหวัดขอนแก่น จึงต้องมีค่าที่พักและค่าใช้จ่ายในการกินอยู่เพิ่มขึ้นมา การสืบพยานในนัดนี้ จำเลย 5 ราย จึงลุกขึ้นแถลงต่อศาล และขอให้ศาลนัดสืบพยานเดือนละ 1 วัน
กระบวนการพิจารณาคดีที่ล่าช้า = ไม่เป็นธรรม
ทนายวิญญัติ ยังได้บอกเล่าถึงมุมมองของเขาต่อจำเลยในคดีขอนแก่นโมเดลในประเด็นความไม่เป็นธรรมที่พวกเขาได้รับตลอดระยะเวลากว่า 4 ปีที่ถูกดำเนินคดี “ตั้งแต่แรกแล้ว ชาวบ้านบางคนเสมือนถูกหลอกให้มาเป็นจำเลย เช่น เด่นชัย และกัลยรักษ์ ทหารอ้างว่าขอเชิญตัวไปให้ข้อมูล ไปปรับทัศนคติ ทั้งที่เขาไม่มีอะไร อย่างเด่นชัยทำชมรมฌาปนกิจ หลังจากเชิญไปให้ข้อมูลก็เอาข้อมูลไปออกหมายจับมาจับเขา อย่างนี้ไม่เป็นธรรม บางคนถูกจับในภายหลังแล้วเอาเข้ามารวมในคดีเดียวกัน โดยที่พฤติการณ์ไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย เช่น ไปจับคมสัน อ้างว่าเขามีอาวุธ ซึ่งเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มนี้
เข้าใจว่าสิ่งที่ไม่เป็นธรรมกับเขามากๆ คือ กระบวนการในการตั้งข้อหาที่รุนแรง มันทำให้ต้องใช้เงินจำนวนมากในการประกันตัว กว่าจะมีเงินประกัน แต่ละคนก็ต้องติดคุกไป ทั้ง ๆ ที่โดยศักยภาพของชาวบ้านเขาไม่สามารถที่จะกระทำความผิดตามที่กล่าวหาได้
สุดท้าย กระบวนการพิจารณาที่ล่าช้า ซึ่งเกิดจากวิธีการว่าความของฝ่ายอัยการทหารเอง หรือบางครั้งศาลไม่สามารถบังคับพยานโจทก์มาศาลทุกนัดได้ ทำให้จำเลยซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนนอกพื้นที่ จ.ขอนแก่น ต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาศาล รวมทั้งไม่ได้ทำมาหากิน ขาดรายได้ เท่ากับพวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการที่เขาถูกเอามาฟ้องในศาล นอกจากนี้ มีจำเลย 3 คน ที่ถูกดำเนินคดีอื่นด้วย คือคดี 112 ทั้งสามคนก็ไม่ได้รับการประกันตัว ซึ่งก็ถือว่าพวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมเช่นกัน”
**ข้อมูลเพิ่มเติม
จำเลยขอนแก่นโมเดลทั้ง 26 คน ได้รับประกันตัวทั้งหมด ในช่วงเดือน ต.ค. 57 – ก.พ. 58 แต่แล้วปลายเดือน พ.ย. 58 จำเลย 4 คน ถูกออกหมายจับพร้อมกับคนอื่น ๆ รวม 9 คน ในข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขณะที่การแถลงข่าวของตำรวจระบุว่า ทั้งหมดเตรียมการก่อเหตุรุนแรงในกิจกรรม Bike for Dad และเชื่อมโยงว่าเป็นขบวนการเดียวกับ “ขอนแก่นโมเดล” ทั้งที่ 1 ในผู้ถูกออกหมายจับอยู่ในเรือนจำจังหวัดขอนแก่น (อ่านเพิ่มเติมใน ประมวลเหตุการณ์คดีผู้ต้องหาวางแผนป่วนกิจกรรม Bike for Dad) จำเลย 2 คน ถูกจับและคุมขังในเรือนจำอีกครั้ง โดยศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว (อ่านเพิ่มเติมใน ศาลทหาร มทบ. 23 สั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยคดี “ป่วน Bike for Dad”) ขณะที่อีก 1 คน หลบหนี
อ่านข่าวคดีขอนแก่นโมเดลก่อนหน้านี้:
ผบ.ฉก.ร.8 ผู้สั่งการจับกุมจำเลย ‘ขอนแก่นโมเดล’ เข้าตอบคำถามค้านทนายจำเลยนัดที่สอง
สืบพยานโจทก์คดี ‘ขอนแก่นโมเดล’ ยังไม่คืบ พยานทหารติดราชการ เลื่อนสืบไปอีก
พยานโจทก์ ‘ขอนแก่นโมเดล’ รับปืนพกของกลางมีหมายเลขตรงใบอนุญาต