พยานโจทก์ ‘ขอนแก่นโมเดล’ รับปืนพกของกลางมีหมายเลขตรงใบอนุญาต

22 ธ.ค. 60 ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (ศาล มทบ.23) จ.ขอนแก่น นัดสืบพยานโจทก์ในคดี ‘ขอนแก่นโมเดล’ คดีหมายเลขดำที่ 10ก./2557 ซึ่งมี จ.ส.ต.ประธิน จันทร์เกศ และพวกรวม 26 คน เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันขัดประกาศ คสช.ที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง, ร่วมกันตระเตรียมก่อการร้าย, เป็นซ่องโจร, ครองครองอาวุธ และอื่นๆ จำเลยมาศาลจำนวน 22 คน โดยเบิกตัวมาจากเรือนจำและทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น จำนวน 3 คน จำเลยที่เหลือหลบหนี 2 คน และเสียชีวิต 2 คน    

พยานโจทก์ที่อัยการทหารนัดไว้ 2 ปาก มาศาลเพียงปากเดียว คือ ร.ต.อ.นพดล ถาโงกโป้ จากกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น ส่วน ร.อ.ธนนันท์ มานะยิ่ง ผู้บังคับกองร้อยรถถัง กองพันทหารม้าที่ 6 ซึ่งตอบคำถามทนายจำเลยค้างอยู่ ติดภารกิจไม่มาศาล ตุลาการศาลจึงให้เลื่อนไปสืบในนัดหน้า วันที่ 23 ก.พ. 61 พร้อมกับนัดสืบพยานโจทก์ปากอื่นไว้ล่วงหน้าในวันที่ 27 เม.ย., 25 พ.ค. และ 29 มิ.ย. 61

พยานเบิกความตอบอัยการทหารโดยสรุปว่า ขณะเกิดเหตุรับราชการตำแหน่งรองสารวัตรสืบสวน ประจำกองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น ในวันที่ 27 พ.ค. 57 พยานได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ไปตรวจยึดอาวุธปืนของ จ.ส.ต.ประธิน จันทร์เกศ (จำเลยที่ 1) ที่เก็บไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากได้รับการประสานมาจากทหาร เมื่อไปถึง ธนาคารฯ พยานได้ประสานกับหัวหน้าพนักงานรักษาความปลอดภัย คือ ส.อ.สังวร บุญราษฎร์ ซึ่งได้นำพยานไปที่เคาน์เตอร์ทำงานของ จ.ส.ต.ประธิน พบกระเป๋าสะพายสีดำในลิ้นชักเก็บของ ตรวจสอบในกระเป๋าพบปืน .45 จำนวน 1 กระบอก ซองกระสุนปืนบรรจุกระสุนขนาด .45 จำนวน 7 นัด และสิ่งของอื่นๆ เช่น หนังสือเดินทาง จากนั้น พยานได้ทำบัญชีรายการตรวจยึดของกลางทั้งหมด แล้วนำส่งกองอำนวยการร่วมทหาร-ตำรวจ ที่ค่ายสีหราชเดโชชัย

จากนั้น พยานได้ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้ง 22 สรุปได้ว่า ส.อ.สังวร เป็นคนนำกระเป๋าออกมาจากลิ้นชักวางบนโต๊ะ บอกว่าเป็นกระเป๋าของ จ.ส.ต.ประธิน ซึ่งพยานไม่ทราบว่า โต๊ะนั้นเป็นโต๊ะของใคร  และจำไม่ได้ว่า ลิ้นชักโต๊ะดังกล่าวล็อคอยู่หรือไม่

ขณะไปตรวจยึดของกลางนั้น พยานไม่ได้สวมถุงมือยาง และพยานไม่ได้ทำการตรวจสอบว่า อาวุธปืนที่พยานตรวจยึดนั้น มีใบอนุญาตหรือไม่ แต่จำได้ว่ามีหมายเลขประจำปืน ซึ่งตรงกันกับสำเนาใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนที่ทนายจำเลยเอาให้ดูและอ้างส่งศาล   

ทนายจำเลยถามว่า ข้าราชการมักขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืนเป็นของตนเอง การที่ จ.ส.ต.ประธิน ซึ่งเป็นอดีตตำรวจจะมีปืนพกสั้นซึ่งเป็นของกลางในคดี ถือเป็นเรื่องปกติใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ รวมทั้งสิ่งของอื่นๆ ที่ตรวจยึดได้ ก็ไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย 

พยานไม่ทราบว่า มีการควบคุมตัว จ.ส.ต.ประธิน และยึดของกลางตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 57 บันทึกจับกุม จ.ส.ต.ประธิน และบัญชีของกลาง (ที่โจทก์อ้างส่งศาล) ไม่มีลายเซ็นของพยาน เนื่องจากพยานไม่ได้ร่วมจับกุม ส่วนบัญชีตรวจยึดของกลางที่พยานทำและลงชื่อไว้ ปัจจุบันอยู่ที่ไหน พยานไม่ทราบ และอัยการไม่ได้เอาให้พยานดู

ทนายจำเลยถามพยานอีกว่า ผู้บังคับบัญชามีเหตุผลอะไรถึงส่งพยาน ซึ่งอยู่หน่วยสืบสวนไปตรวจยึดของกลาง  แทนที่จะส่งพนักงานสอบสวนไป พยานตอบว่า ไม่ทราบ

หลังพยานตอบคำถามค้านของทนายจำเลยแล้ว โจทก์ไม่ได้ถามติง เป็นอันจบการสืบพยานโจทก์ปากนี้ ซึ่งถือเป็นพยานโจทก์ปากสุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับการจับกุม จ.ส.ต.ประธิน แต่ทนายจำเลยยังถามค้านชุดจับกุม จ.ส.ต.ประธิน ไม่เสร็จอีก 1 ปาก และยังเหลือพยานโจทก์ในคดีนี้อีกกว่า 80 ปาก

จำเลยที่ได้รับการประกันตัวมาศาลนัดสืบพยานโจทก์

คดีขอนแก่นโมเดล ซึ่งเริ่มสืบพยานโจทก์นัดแรก เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 59 ผ่านไปกว่า 1 ปี แล้ว ยังสืบพยานโจทก์ 5 ปากแรก ไม่เสร็จสิ้น ความล่าช้าสืบเนื่องจาก วิธีการนัดสืบพยานของศาลทหาร ซึ่งโดยทั่วไปไม่นัดต่อเนื่อง ต่างจากศาลยุติธรรม โดยศาล มทบ.23 นัดสืบเดือนละ 1 นัด และบางเดือนก็ไม่มีการนัด เนื่องจากคู่ความ รวมทั้งตุลาการ หาวันว่างตรงกันไม่ได้ ทั้งทนายจำเลย (ส่วนหนึ่งมาจากสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ) มีจำนวนหลายคน ประกอบกับตุลาการแต่ละคนจะเข้าเวรออกพิจารณาคดีในแต่ละศาลเพียงครึ่งเดือน อีกทั้งเมื่อนัดแล้ว พยานซึ่งเป็นทหารมักจะติดภารกิจ ทำให้ต้องเลื่อนไป ไม่มีการสืบพยาน โดยเวลากว่า 1 ปีนี้ ศาลนัดสืบพยาน 12 นัด ได้สืบจริงเพียง 8 นัดเท่านั้น

ศาลไม่ได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับ แต่บุคคลทั่วไปก็ไม่สามารถเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีได้ โดยเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่า ห้องพิจารณาเล็ก ที่นั่งไม่พอ เนื่องจากมีจำเลยและทนายจำเลยจำนวนมาก ทั้งนี้ องค์กรสิทธิมนุษยชนหรือผู้สื่อข่าวที่ประสงค์จะเข้าสังเกตการณ์คดีต้องมีหนังสือแจ้งจากต้นสังกัด    

คดีนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 23 พ.ค.57 หลัง คสช. เข้ายึดอำนาจ 1 วัน กำลังทหารจากกรมทหารราบที่ 8 จ.ขอนแก่น ได้เข้าตรวจค้นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และที่โรงแรมชลพฤกษ์เลคไซด์ และจับกุมผู้ต้องสงสัยรวม 22 คน โดยกองทัพภาคที่ 2 แถลงข่าวว่า ได้รับแจ้งว่ามีกลุ่มผู้ไม่หวังดีจะออกปฏิบัติการ “ขอนแก่นโมเดล” ในลักษณะกวนเมืองขอนแก่น จึงทำการสืบสวนและเข้าจับกุมคนกลุ่มดังกล่าวขณะประชุมเตรียมก่อเหตุ พร้อมของกลาง ได้แก่ ลูกระเบิดขว้าง 2 ลูก, ลูกระเบิดปิงปอง 1 ลูก, ลูกระเบิดควัน 1 ลูก, ซองกระสุนปืน 2 อัน, กระสุนปืนพกขนาด 9 มม. 202 นัด, 11 มม. 154 นัด, กระสุนปืนลูกซอง 15 นัด, ถังแก๊ส 2 ใบ, ผ้าพันคอสีแดงประมาณ 300 ผืน เป็นต้น ต่อมา มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยเพิ่มอีก รวมเป็น 26 คน เป็นชาย 24 คน หญิง 2 คน

หลังการจับกุม ผู้ต้องสงสัยถูกส่งไปควบคุมตัวที่กรมทหารราบที่ 8 และ มทบ.23 เป็นเวลา 7 วัน ก่อนถูกส่งตัวให้ตำรวจดำเนินคดี และนำตัวไปขังที่เรือนจำกลางจังหวัดขอนแก่น ต่อมา ในเดือน ต.ค. 57 – ก.พ. 58 ศาลทยอยให้ประกันตัวจำเลยทั้ง 26 คน อย่างไรก็ตาม ปลายเดือน พ.ย. 58 จำเลยในคดีนี้ 4 คน ถูกออกหมายจับพร้อมกับคนอื่น ๆ รวม 9 คน ในข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่การแถลงข่าวของตำรวจระบุว่า ทั้งหมดเตรียมการก่อเหตุในกิจกรรม Bike for Dad และเชื่อมโยงว่าเป็นขบวนการเดียวกับ “ขอนแก่นโมเดล” ทั้งที่ 1 ในผู้ถูกออกหมายจับอยู่ในเรือนจำจังหวัดขอนแก่น จำเลย 2 คนถูกจับกลับเข้าเรือนจำ โดยศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ขณะที่อีก 1 คน หลบหนี

ทั้งนี้ จำเลย ‘ขอนแก่นโมเดล’ หลายคนให้ข้อมูลตรงกันว่า ในวันเกิดเหตุ พวกเขาตั้งใจมาประชุมเพื่อรับฟังข้อมูลเรื่องการปลูกพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ คือ ดาวอินคา แต่กลับถูกบุกเข้าจับกุม โดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อถูกเจ้าหน้าที่สอบปากคำ โดยกล่าวถึง “ขอนแก่นโมเดล” นั้น พวกเขาไม่เคยได้ยินมาก่อน ปัจจุบัน จำเลยบางคนและครอบครัวยังถูกทหารติดตามพฤติกรรมอยู่โดยตลอด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ศาลทหาร-ศาลจังหวัดขอนแก่นเห็นพ้อง ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดี ‘ขอนแก่นโมเดล’ พร้อมชี้ รธน.57 รับรองประกาศ คสช.

ผบ.ฉก.ร.8 ผู้สั่งการจับกุมจำเลย ‘ขอนแก่นโมเดล’ เข้าตอบคำถามค้านทนายจำเลยนัดที่สอง

สืบพยานโจทก์คดี ‘ขอนแก่นโมเดล’ ยังไม่คืบ พยานทหารติดราชการ เลื่อนสืบไปอีก

 

X