นิติรัฐที่พังทลาย : รายงาน 4ปี สิทธิมนุษยชนภายใต้ คสช. และผลพวงรัฐประหารต่อสังคมไทย ตอนที่ 2

ในรายงาน “นิติรัฐที่พังทลาย” ตอนที่ 2 นี้เนื้อหายังคงอยู่ในประเด็นที่ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา คสช.ได้สร้างผลผวงอะไรไว้บ้างในระบอบการเมืองและกฎหมายที่จะส่งผลต่อไปในภายภาคหน้า แม้ว่าอาจจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นและ คสช.อาจจะไม่อยู่แล้วหรืออยู่ในรูปแบบอื่น เช่น นายกฯ คนนอกหรือได้เป็นพรรครัฐบาล แต่ระบบที่คสช.ได้วางเอาไว้จะยังคงอยู่ต่อไป

  1. การสถาปนาการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของคณะรัฐประหารให้อยู่อย่างถาวรในรัฐธรรมนูญ

ลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งหลังรัฐประหารครั้งนี้ คือการที่คณะรัฐประหารสร้างและผลักดันการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ ซึ่งเป็นอำนาจในภาวะยกเว้นชั่วคราวระหว่าง “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ให้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ (Constitutionalization of Absolutism)

ระบบกฎหมายในการปกครองแบบนิติรัฐต้องประกันสิทธิเสรีภาพของบุคคล และการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ รวมถึงต้องเคารพต่อกฎหมายอย่างเคร่งครัดทั้งในทางรูปแบบและเนื้อหา มีกลไกตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและความรับผิดของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติโดยองค์กรตุลาการ รวมถึงมีเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างภารกิจการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศของฝ่ายพลเรือน อย่างฝ่ายปกครอง ตำรวจ ศาลยุติธรรม และภารกิจในการรักษาความมั่นคงภายในรัฐ-การป้องกันประเทศของทหาร รวมถึงความเป็นใหญ่ของพลเรือนเหนือทหาร (Civilian Supremacy)

หากบางช่วงเวลา เมื่อเกิดสถานการณ์ที่กระทบต่อการดำรงอยู่ของรัฐ เช่น ภัยพิบัติสาธารณะ โรคระบาด สงคราม จลาจล การก่อการร้าย เป็นต้น แม้มีข้อถกเถียงอยู่มาก แต่บางระบบกฎหมายก็ยินยอมให้มีการเปลี่ยนมาใช้ระบบกฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นระบบชั่วคราว เพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้จบลง รักษาความสงบเรียบร้อย และรักษาระบบกฎหมายปกติไว้ ระบบกฎหมายเช่นนี้ยินยอมให้ลดระดับความเข้มข้นในการประกันสิทธิเสรีภาพของบุคคลลง บางกรณีฝ่ายบริหารจะมีอำนาจเพิ่มมากขึ้น รวมถึงสามารถก้าวล่วงเข้าไปใช้อำนาจนิติบัญญัติได้ ส่วนองค์กรตุลาการจะไม่ใช้ความชอบด้วยกฎหมายในสถานการณ์ปกติเป็นฐานตรวจสอบการกระทำของฝ่ายบริหาร บางครั้งการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายก็อาจหลุดพ้นจากความรับผิด ท้ายที่สุด บางระบบกฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉิน จะอนุญาตให้โอนภารกิจการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศที่เป็นของพลเรือนให้ทหารเป็นการชั่วคราวได้

ระบบกฎหมายอำนาจเบ็ดเสร็จของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แม้ คสช. จะทำการรัฐประหาร โดยอ้างความสงบเรียบร้อยของประเทศ จนคล้ายกับว่าการใช้อำนาจพิเศษของ คสช. ทั้งในรูปแบบคำสั่ง/ประกาศ คสช. กฎหมายจาก สนช. และรัฐธรรมนูญ มีลักษณะสอดคล้องกับระบบกฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีขึ้นเพื่อพิทักษ์ระบบกฎหมายปกติและความสงบเรียบร้อย แต่หากพิจารณาโดยละเอียดจะพบความแตกต่างระหว่างระบบกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินกับระบบกฎหมายของ คสช. ด้วยกันสี่ประการ ดังต่อไปนี้

ประการที่ 1 ที่มาของระบบกฎหมาย กล่าวคือ คสช. ทำรัฐประหารและทำลายระบบกฎหมายเดิมลง ผ่านการออกประกาศคณะรัฐประหาร ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 คณะรัฐมนตรี และรัฐสภา ไม่ได้มาจากการงดเว้นการบังคับใช้ระบบกฎหมายปกติลงชั่วคราว เช่นในระบบกฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉินแต่อย่างใด

ประการที่ 2 เนื้อหาของระบบกฎหมาย กล่าวคือ เนื้อหาของระบบกฎหมายของ คสช. มีลักษณะให้อำนาจรวมศูนย์ ทั้งบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ อยู่ที่องค์กรเดียวเบ็ดเสร็จ โดยอำนาจดังกล่าวไม่อาจถูกตรวจสอบได้ และผู้ใช้อำนาจไม่ต้องรับผิดต่อการใช้อำนาจดังกล่าว ซึ่งขั้นตอนการทำให้อำนาจลักษณะนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบกฎหมาย สามารถแบ่งออกเป็นสามช่วง ตามเหตุการณ์สำคัญทางกฎหมายเป็นเกณฑ์ กล่าวคือ

ระยะแรก ระหว่างวันที่ 22 พ.ค. 2557 ถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เป็นช่วงที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 หรือระบบกฎหมายเดิมถูกยกเลิก และอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างที่ คสช. ยังมิได้สร้างระบบกฎหมายขึ้นมาใหม่ ในช่วงนี้ระบบประกันสิทธิเสรีภาพของบุคคลตามกฎหมายรัฐธรรมนูญจึงถูกยกเลิกทั้งหมด คสช. ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จที่ได้มาจากการทำรัฐประหาร ปกครองและสั่งการองค์กรของรัฐและบุคคลในรูปแบบของประกาศ คสช. จำนวน 122 ฉบับ และคำสั่ง คสช. จำนวน 178 คำสั่ง

ระยะที่สอง นับตั้งแต่ประกาศรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2557 ถึงก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เป็นช่วงเวลาที่ระบบกฎหมายชั่วคราวถูกสร้างขึ้นในรูปแบบของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว  รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้แปรสภาพการใช้อำนาจในช่วงระยะแรกของ คสช. ให้เข้ามาอยู่ในระบบกฎหมายชั่วคราว ตั้งแต่การบัญญัติรับรองให้การรัฐประหารไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย (มาตรา 48) รับรองให้คำสั่ง/ประกาศ คสช. มีสถานะบังคับใช้เป็นกฎหมายสมบูรณ์ (มาตรา 47) และทำให้อำนาจเบ็ดเสร็จที่มาจากรัฐประหารของ คสช. กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบกฎหมายชั่วคราวต่อไป ผ่านการให้อำนาจหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44

ระยะที่สาม หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 (ประกาศใช้วันที่ 6 เม.ย. 2560) กล่าวคือ แม้ประกาศใช้ “รัฐธรรมนูญฉบับถาวร” แล้ว แต่อำนาจเบ็ดเสร็จของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ แม้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะรับรองสิทธิเสรีภาพไว้ในบทบัญญัติ แต่การใช้อำนาจที่มุ่งสนองเป้าหมายความมั่นคงของรัฐดังกล่าว ก็ดำรงอยู่เหนือสิทธิเสรีภาพของบุคคล โดยกำหนดให้รัฐสามารถอ้างความมั่นคงของรัฐที่มีลักษณะเป็นถ้อยคำกว้างๆ และเปิดโอกาสให้ใช้ดุลพินิจเข้าแทรกแซงสิทธิเสรีภาพของบุคคลได้ตามอำเภอใจ

ประการที่ 3 การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและความรับผิดจากการใช้อำนาจ กล่าวคือ แม้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแล้ว และมีการรับรองสิทธิเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อน รวมถึงพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี แต่บรรดาสิทธิเสรีภาพดังกล่าวก็ถูกยกเว้นการบังคับใช้ตั้งแต่ต้น เพราะระบบกฎหมายแบบอำนาจเบ็ดเสร็จของ คสช. ถูกออกแบบขึ้นโดยไม่ให้มีกลไกที่บุคคลสามารถตรวจสอบเนื้อหาและรูปแบบของกฎหมายที่ออกโดย คสช. และการปฏิบัติตามคำสั่ง/ประกาศ คสช. ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลหรือไม่ รวมไปถึงไม่สามารถเอาผิดทางอาญากับบุคคลที่กระทำรัฐประหารได้

ประการที่ 4 ระยะเวลาการดำรงอยู่ กล่าวคือ ระบบกฎหมายเบ็ดเสร็จของ คสช. ข้างต้น จะมิได้ดำรงอยู่เพียงชั่วคราวและสิ้นสุดไปเมื่อเข้าสู่ระบบกฎหมายใหม่ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 แต่จะดำรงอยู่อย่างถาวรไม่สิ้นสุด เนื่องจากผลของมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน แม้จะมีระบบกฎหมายใหม่ที่มีการรับรองสิทธิเสรีภาพของบุคคลแล้ว แต่ประกาศ/คำสั่ง คสช. หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้งหมดก็ยังมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย และไม่อาจถูกตรวจสอบได้เช่นเดิมต่อไป

จากข้อแตกต่างทั้งสี่ประการ สรุปได้ว่าระบบกฎหมายเบ็ดเสร็จไม่ได้มีลักษณะเป็นระบบกฎหมายในที่บังคับใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินเพียงชั่วคราว แต่เป็นระบบกฎหมายที่ คสช. มุ่งทำลายระบบกฎหมายเดิมลงและแปรสภาพการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จที่ปลอดการตรวจสอบและไม่ต้องรับผิด ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่จะดำรงอยู่อย่างถาวรต่อไปในระบบกฎหมายปกติ แม้ว่าอำนาจของ คสช. จะสิ้นสุดไปก็ตาม  และเมื่อพิจารณาประกอบกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 255-256 ซึ่งกำหนดเงื่อนไขทางกฎหมายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยากยิ่ง จนอาจไม่สามารถแก้ไขได้ในความเป็นจริง ย่อมสันนิษฐานได้ว่า คสช. ประสงค์ให้มรดกชิ้นนี้ดำรงอยู่กับสังคมไทยต่อไป

  1. การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการยกเว้นสิทธิเสรีภาพของบุคคล

การปกครองโดย “กฎหมาย” แบบ คสช. มีความแตกต่างประการสำคัญของรัฐที่เป็นนิติรัฐ กับรัฐภายใต้การปกครองแบบอำนาจเบ็ดเสร็จ คือรัฐที่เป็นนิติรัฐ (Rule of Law) เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อำนาจล่วงล้ำแดนสิทธิเสรีภาพของบุคคลจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย มีกฎหมายให้อำนาจไว้ และเป็นไปโดยสมควรแก่เหตุ รัฐที่เป็นนิติรัฐยังให้ความสำคัญกับเนื้อหาของกฎหมาย โดยมีหลักประกันสิทธิเสรีภาพของบุคคลไว้ และรับรองสิทธิในการนำคดีมาฟ้องต่อศาล เพื่อให้ศาลที่เป็นอิสระและเป็นกลางเข้ามาตรวจสอบว่ากฎหมายหรือการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐมีเนื้อหาเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือไม่  แต่รัฐภายใต้การปกครองแบบอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างในยุค คสช. แม้จะอ้างว่าเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย แต่โดยเนื้อหาแล้วเป็นการปกครองที่แปลงอำนาจเบ็ดเสร็จและไม่อาจตรวจสอบได้ของคณะรัฐประหารให้อยู่ในรูปของตัวบทแบบ “กฎหมาย” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือปกครองและยกเว้นสิทธิเสรีภาพของบุคคล ทั้งศาลในฐานะองค์กรทางตุลาการยังเข้าไปรับรองและมีบทบาททำให้แนวทางการใช้กฎหมายของ คสช. ได้รับความชอบธรรมและดำเนินต่อไปอีกด้วย

ลักษณะการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการยกเว้นสิทธิเสรีภาพของบุคคลโดย คสช. ออกมาในรูปแบบ 3 ลักษณะ ดังต่อไปนี้

ลักษณะที่ 1 การเปลี่ยนอำนาจของ คสช. ที่ได้มาโดยมิชอบและไม่ยึดโยงกับประชาชนตามหลักการประชาธิปไตยให้เป็น “กฎหมาย” เพื่อสร้างความชอบธรรมว่ามีลักษณะเป็นการปกครองโดยกฎหมายหรือนิติรัฐ มิใช่การใช้อำนาจโดยอำเภอใจของกองทัพ ผ่านวิธีการ 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบแรก การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จให้รูปแบบคำสั่ง/ประกาศ คสช. หรือหัวหน้า คสช. พร้อมกับให้มาตรา 44 และมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 และมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 รับรองให้มีสถานะเป็นกฎหมาย ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นที่สุด และรูปแบบที่สอง ให้ สนช. ซึ่งเป็นองค์กรที่ก่อตั้งและแต่งตั้งโดย คสช. ทำหน้าที่ตรากฎหมายเสมือนรัฐสภาในสถานการณ์ปกติ

ลักษณะที่ 2 เจ้าหน้าที่รัฐและศาลบังคับใช้กฎหมายของ คสช. ในลักษณะเป็นการควบคุมสังคม เพื่อรักษาความมั่นคงของ คสช. และจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่เป็นปรปักษ์ทางการเมืองกับ คสช. ทำให้การใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศ กลายเป็นความผิดทางอาญา ป้องปรามมิให้บุคคลแสดงออกซึ่งการต่อต้านการรัฐประหาร หรือคัดค้าน คสช.

ลักษณะที่ 3 การใช้และตีความกฎหมายที่มีอยู่เดิม ในลักษณะปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคล โดยกฎหมายสำคัญที่ถูกใช้ในลักษณะนี้ เช่น ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา, ข้อหายุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรือข้อหาดูหมิ่นศาล ก่อให้เกิดการตีความกฎหมายที่กว้างกว่าตัวบท และก่อให้เกิดความไม่แน่นอนในขอบเขตของกฎหมาย หลายการกระทำที่ไม่น่าเป็นความผิดตามกฎหมายในสภาวะปกติกลับถูกกล่าวหาดำเนินคดี ทำให้บุคคลไม่อาจทราบได้ล่วงหน้าว่าการกระทำใดบ้างที่เป็นความผิดทางกฎหมาย ส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวที่จะใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคล และยุติการใช้เสรีภาพด้วยตัวเองในที่สุด

  1. บทบาทของสถาบันตุลาการในฐานะผู้พิทักษ์การรัฐประหารและผลพวงทางกฎหมายของ คสช.

บทบาทสถาบันตุลาการในประเทศไทยต่อการรัฐประหารและการรักษาผลพวงทางกฎหมายของคณะรัฐประหารไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ แต่เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่สืบมาอย่างต่อเนื่อง โดยอาจพิจารณาบทบาทด้านนี้ของสถาบันตุลาการได้จากผลของคำพิพากษาใน 4 ประการ

ประการที่ 1 ผลของคำพิพากษาที่รับรองความสมบูรณ์ของการรัฐประหารของ คสช.

เงื่อนไขสำคัญที่จะตัดสินได้ว่าการรัฐประหารสำเร็จหรือไม่ โดยมากมักจะพิจารณาว่าเมื่อทำลายระบบกฎหมายเดิมลงแล้ว คณะรัฐประหารสามารถก่อตั้งระบบกฎหมายใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ กล่าวคือบุคคลหรือองค์กรของรัฐยอมรับและปฏิบัติตามระบบกฎหมายใหม่หรือไม่ แม้เบื้องต้นจะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ต้องดูว่าการรัฐประหารดังกล่าวมีประชาชน หรือองค์กรของรัฐ รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิเสธการรัฐประหารและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะรัฐประหารอยู่หรือไม่  แต่ในทางกฎหมาย มีปัญหาว่าองค์กรใดจะเป็นผู้วินิจฉัยรับรองความสำเร็จของการรัฐประหาร ว่าได้ทำลายระบบกฎหมายเดิมจนสิ้นสภาพลงแล้ว และระบบกฎหมายใหม่ได้รับการสถาปนาสำเร็จ

สำหรับการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ศาลยุติธรรมมีส่วนสำคัญอย่างมากในการเป็นผู้วินิจฉัยประเด็นเหล่านี้ กรณีสำคัญคือคดีที่นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนไม่มารายงานตัวต่อ คสช. คดีนี้ต่อสู้ว่าขณะที่ คสช. เรียกจำเลยรายงานตัว การรัฐประหารยังไม่แน่ชัดว่าจะสำเร็จหรือไม่ เนื่องจากพระมหากษัตริย์ยังไม่มีพระบรมราชโองการรองรับสถานะของ คสช. แต่อย่างใด ศาลฎีกาในคดีนี้พิพากษารับรองว่าการรัฐประหารของ คสช. สำเร็จแล้ว เนื่องจากไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่ามีประชาชนหรือองค์กรของรัฐต่อต้านการรัฐประหาร จน คสช. ไม่อาจบริหารประเทศได้ ระบบกฎหมายเดิมสิ้นสภาพผ่านการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 คสช. มีฐานะเป็นรัฎฐาธิปัตย์และเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 3578/2560)

ประการที่ 2 ผลของคำพิพากษาที่ทำให้การใช้อำนาจของ คสช. ในรูปแบบคำสั่ง/ประกาศ และพระราชบัญญัติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นส่วนหนึ่งในระบบกฎหมาย

การที่ศาลยอมรับและปฏิบัติตามคำสั่ง/ประกาศของ คสช. และหัวหน้า คสช. รวมถึงบรรดาพระราชบัญญัติของ สนช. คำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวย่อมส่งผลรับรองให้ผลผลิตของการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารเหล่านี้มีสถานะเป็น “กฎหมาย” ขึ้นมา หลังการรัฐประหาร สถาบันตุลาการทั้งศาลยุติธรรมและศาลทหารมีส่วนสำคัญอย่างมากในการนำผลผลิตจากการใช้อำนาจของ คสช. มาบังคับใช้เป็นกฎหมายหรือรับรองให้มีสถานะทางกฎหมาย เช่น ศาลยุติธรรมและศาลทหารนำประกาศหรือคำสั่ง รวมถึงพระราชบัญญัติที่ตราขึ้นโดย สนช. ได้แก่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 เป็นต้น มาพิจารณาลงโทษบุคคล หรือมีความเห็นรับรองว่าประกาศ คสช. มีสถานะเป็นกฎหมาย

ประการที่ 3 ผลคำพิพากษาที่สร้างผู้ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพจากการใช้อำนาจของ คสช.

การที่ศาลนำบรรดาคำสั่ง/ประกาศ คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. รวมถึงพระราชบัญญัติที่ตราโดย สนช. ที่ส่งผลละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล มาบังคับใช้หรือรับรองให้มีสถานะทางกฎหมาย ผลของคำสั่งหรือคำพิพากษาดังกล่าวย่อมเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลโดยตัวเองอยู่แล้ว เช่น การพิพากษาลงโทษบุคคลที่ใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ โดยวินิจฉัยตามประกาศ คสช. ที่ 7/2557 หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 รวมถึง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 หรือการรับรองให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจควบคุมตัวบุคคลตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ได้ เป็นต้น

ประการที่ 4 ผลคำพิพากษาที่สร้างเอกสิทธิ์คุ้มครองให้ คสช. และการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติตามคำสั่ง/ประกาศของ คสช. ให้ลอยนวลพ้นผิด (Impunity) และปลอดจากการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย โดยอาจแยกพิจารณาได้เป็น

การกระทำแรก คือ การทำรัฐประหารของ คสช. โดยสภาพแล้วการกระทำดังกล่าวย่อมถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 แต่เมื่อ คสช. ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 กลับบัญญัติมาตรา 48 นิรโทษกรรมให้กับการกระทำความผิดของตนเอง

นักกิจกรรมกลุ่ม “พลเมืองโต้กลับ” เคยยื่นฟ้อง คสช. ในข้อหาประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 และมาตรา 114 แต่ปรากฏว่าศาลอาญาพิพากษายกฟ้องโดยอ้างเหตุผลว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 48 ยกเว้นความผิดให้การกระทำดังกล่าวแล้ว ต่อมาศาลอุทธรณ์ก็วินิจฉัยยกฟ้องด้วยเหตุผลแบบเดียวกัน ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างฎีกา

การกระทำที่สอง คือ บรรดาคำสั่ง/ประกาศ คสช. ที่ออกก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ หลังรัฐประหาร คสช. ได้ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และฉบับที่ 38/2557 กำหนดให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือนในความผิดบางประเภท เมื่อประชาชนจำนวนหนึ่งเห็นว่าคดีของตนไม่ควรอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร จึงยื่นคำร้องให้ศาลทบทวนความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศของประกาศทั้งสองฉบับ ผ่านสองช่องทาง ได้แก่ การขอให้ศาลทหารส่งประกาศดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่  กับการวินิจฉัยขี้ชาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล

ในส่วนช่องทางแรก ศาลทหารยกคำร้องทั้งหมด โดยระบุว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดช่องทางตามกฎหมาย ให้ศาลทหารส่งเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญได้ พร้อมวินิจฉัยในคำสั่งทั้งหมดว่าประกาศทั้งสองฉบับมีเนื้อหาชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นที่สุด เนื่องจากมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 รับรองเอาไว้  ส่วนช่องทางที่สองก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน นอกจากนี้ คดีที่นายวัฒนา เมืองสุข ยื่นฟ้องเพิกถอนประกาศ คสช. ฉบับที่ 21/2557 ซึ่งห้ามนายวัฒนาและบุคคล 155 รายออกนอกประเทศ ต่อศาลปกครอง ทั้งศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับฟ้อง โดยวินิจฉัยและให้เหตุผลเช่นเดียวกับศาลทหาร

การกระทำที่สาม คือ การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557  ซึ่งศาลปรับใช้มาตรา 44 ในทำนองเดียวกับมาตรา 47 เพื่อละเว้นการตรวจสอบการกระทำดังกล่าว เช่น กรณีศาลปกครองกลางไม่รับพิจารณาคำฟ้องที่ขอให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 24/2558 เรื่องการแก้ไขการประมงที่ผิดกฎหมาย (คำสั่งหมายเลข 1938/2558) และกรณีศาลปกครองสูงสุด ไม่รับพิจารณาคำฟ้องที่ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท (คำสั่งที่ ฟส.8/2559)

สุดท้าย การกระทำที่สี่ คือ การใช้อำนาจตามคำสั่ง/ประกาศ คสช. และหัวหน้า คสช. ของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครอง ตำรวจ หรือทหาร การคุ้มครองเอกสิทธิ์ในส่วนนี้ปรากฏอย่างเด่นชัดในคดีที่บุคคลซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวเป็นระยะเวลา 7 วัน ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558  ญาติของผู้ถูกควบคุมตัวเคยยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา มาตรา 90 ต่อศาลอาญา เพื่อขอให้ไต่สวนว่าการควบคุมตัวดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ศาลก็วินิจฉัยไปในแนวทางเดียวว่า ทหารมีอำนาจตามคำสั่งดังกล่าว และเป็นการควบคุมตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย

X