May Day: ย้อนอ่านคำพิพากษาคดี ‘วันแรงงานสากล’ ศาลยกฟ้อง เพราะเห็นว่าเป็นกิจกรรมตามประเพณี ไม่ต้องแจ้งการชุมนุม

ในโอกาสวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี ถือเป็นวันแรงงานสากล (International Workers’ Day) มีการจัดกิจกรรม การจัดการชุมนุม และเดินขบวนของผู้ใช้แรงงานทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย เพื่อเรียกร้องสิทธิของแรงงานในแง่มุมต่าง ๆ และรำลึกถึงการต่อสู้ของขบวนการแรงงาน

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา พบว่าเคยมีกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐของไทยใช้กฎหมายกล่าวหาดำเนินคดีต่อการทำกิจกรรมของผู้ใช้แรงงานในวันดังกล่าวอยู่ด้วย ได้แก่ กิจกรรมชุมนุมเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2566 ซึ่งพบว่ามีการดำเนินคดีต่อการชุมนุมของเครือข่ายแรงงานใน 2 คดี จาก 2 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมเดินขบวนไปยังหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ และกิจกรรมใกล้ทำเนียบรัฐบาล

คดีแรก เป็นคดีของสน.ปทุมวัน มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 3 คน ส่วนคดีหลังเป็นคดีของ สน.นางเลิ้ง มีผู้ถูกกล่าวหา 2 คน ทั้งสองคดีมีข้อหาหลัก คือเรื่องการไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

ต่อมาในคดีหลังนี้ อัยการได้สั่งฟ้องคดีต่อศาลแขวงดุสิต และสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) ได้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายต่อฝ่ายจำเลย จนหลังการต่อสู้คดี เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2567 ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และลงโทษปรับเป็นพินัยในข้อหาอื่น

ด้วยเนื้อหามีความน่าสนใจ ก่อนถึงวัน May Day ในปีนี้อีกครั้ง ชวนย้อนอ่านสรุปคำพิพากษาที่มีการวินิจฉัยเกี่ยวกับสถานะของการชุมนุมในวันแรงงานเอาไว้ ว่าเป็นกิจกรรมตามประเพณี ไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ นอกจากนั้นยังอ้างอิงเสรีภาพการชุมนุมของผู้ใช้แรงงานตามองค์การแรงงานระหว่างประเทศด้วย

—————–

.

(ภาพจาก เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน)

.

คดีนี้ พนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีจำเลย 2 คน ได้แก่ ธนพร วิจันทร์ จากเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และสมยศ พฤกษาเกษมสุข จากกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย นอกจากข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ แล้ว ยังฟ้องทั้งสองคน ในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ด้วย

ข้อกล่าวหาโดยสรุประบุว่าเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2566 ทั้งสอง ร่วมกับเครือข่ายสหภาพแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ได้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะชื่อ “กิจกรรมวันกรรมกรสากล ปี 2566 สาปส่งรัฐปีศาจ สร้างชาติด้วยรัฐใหม่” เพื่อแสดงออกต่อประชาชนในเรื่องการร่วมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องแรงงาน โดยเป็นผู้เชิญชวนและนัดให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมบริเวณหน้าบ้านพิษณุโลก มีผู้เข้าร่วมประมาณ 80 คน 

จากนั้นจำเลยทั้งสองและผู้ชุมนุมเดินไปทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ โดยจำเลยทั้งสองไม่แจ้งความประสงค์ว่าจะจัดการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนเริ่มชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง คือหัวหน้า สน.นางเลิ้ง อันเป็นท้องที่จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ และร่วมกันโฆษณากล่าวปราศรัยแก่ผู้เข้าร่วมโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และยังร่วมกันเทหม้อดิน เศษพริก เศษฟาง ซึ่งเป็นสิ่งปฏิกูล มูลฝอยลงในทางน้ำคลองเปรมประชากรด้วย (จากการทำกิจกรรมเผาพริกเผาเกลือ เผาหุ่นฟาง และใส่ขี้เถ้าลงไปในหม้อดิน)

คดีนี้ จำเลยทั้งสองต่อสู้คดี และศาลได้วินิจฉัยโดยเห็นว่าจำเลยทั้งสองคนมีสถานะเป็นผู้จัดการชุมนุมดังกล่าวจริง โดยธนพรให้การรับว่าเป็นผู้จัดการชุมนุม ส่วนสมยศแม้จะให้การว่าเป็นผู้ถูกเชิญมาร่วมอ่านบทกวี แต่ศาลเห็นว่าสมยศได้โพสต์นัดหมายเชิญชวนในเฟซบุ๊กให้บุคคลทั่วไปมาเข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว ย่อมต้องถือว่าเป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมด้วย

ศาลวินิจฉัยต่อไปว่า ฝ่ายจำเลยยังต่อสู้ว่ากิจกรรมตามฟ้องเป็นกิจกรรมตามประเพณี หรือตามวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 3 (2)

ฝ่ายจำเลยได้นำสืบพยานนักวิชาการ ได้แก่ พัชร์ นิยมศิลป และ ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ซึ่งเบิกความทำนองเดียวกันถึงที่มาที่ไปของกิจกรรมวันแรงงาน กลุ่มผู้ใช้แรงงานจะจัดกิจกรรมเดินขบวนหรือชุมนุมในวันดังกล่าว เพื่อเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ต่าง ๆ

ศาลได้วินิจฉัยว่าตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มิได้บัญญัติหรือให้นิยามคำว่า “กิจกรรมตามประเพณี” หรือ “ตามวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น” ว่ามีความหมายครอบคลุมเพียงใด จึงต้องถือตามความหมายที่ใช้กันทั่วไป ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายคำว่า “ประเพณี” หมายถึงสิ่งที่นิยมถือประพฤติปฏิบัติสืบ ๆ กันมาจนเป็นแบบแผน ขนบธรรมเนียม หรือจารีตประเพณี 

แม้ในอดีต วันแรงงานแห่งชาติของประเทศไทยอาจมีวัตถุประสงค์เป็นเพียงวันหยุดพักผ่อนประจำปีของผู้ใช้แรงงาน เพื่อเฉลิมฉลองและรำลึกเหตุการณ์ในวันแรงงานในอดีต กับให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่เป็นผู้ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ 

แต่ต่อมารัฐบาลกำหนดให้วันแรงงานแห่งชาติเป็นวันหยุดตามประเพณี เห็นได้จาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 29 บัญญัติให้นายจ้างกำหนดให้ลูกจ้างมีวันหยุดตามประเพณีไม่น้อยกว่าปีละ 13 วัน โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติ ก็เพื่อให้ลูกจ้างประกอบกิจกรรมสำคัญทางศาสนาหรือตามประเพณีนิยม 

เมื่อวัฒนธรรม ค่านิยม และทัศนคติเปลี่ยนแปลง บริบทของสังคมเปลี่ยนไป รวมทั้งประเพณีของคนไทยอันสืบเนื่องมาจากปัจจัยทางเทคโนโลยี การสื่อสาร และทัศนคติของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิด การจัดกิจกรรมในวันแรงงานแห่งชาติจึงผันเปลี่ยนไปตามประเพณีนิยม กรณีจำต้องพิจารณาไปตามยุคสมัย

เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสองนำสืบแล้ว เห็นได้ชัดว่าปัจจุบันวันแรงงานแห่งชาติไม่ใช่เป็นเพียงวันหยุดเพื่อเฉลิมฉลองเท่านั้น แต่เป็นวันที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานรวมตัวกันเพื่อแบ่งปัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและปัญหาของผู้ใช้แรงงาน ตลอดจนร่วมกันเดินขบวนกับทำกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์แสดงออกข้อเรียกร้องต่าง ๆ ต่อรัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 

สอดคล้องกับหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงานตามพันธกิจขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่มีความเห็นว่า สิทธิในการจัดประชุมหรือการจัดเดินขบวนในที่สาธารณะ หรือการแสดงออกเรียกร้องทางสังคมและเศรษฐกิจเนื่องในโอกาสวันแรงงาน เป็นการกระทำตามประเพณีของสหภาพแรงงาน โดยสหภาพแรงงานนั้นมีสิทธิที่จักกระทำการนั้นได้อย่างอิสระไม่ว่าด้วยเรื่องใดก็ตาม เพื่อเฉลิมฉลองวันแรงงาน 

นับได้ว่ากิจกรรมเดินขบวนในวันแรงงานแห่งชาติ เป็นสิ่งที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานนิยมยึดถือปฏิบัติสืบ ๆ กันเรื่อยมา จนเป็นแบบแผนที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์เฉพาะ สะท้อนถึงตัวตนที่ชัดเจนของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ย่อมเป็นกิจกรรมตามประเพณี ตามความในมาตรา 3 (2) แห่ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

ดังนั้นการชุมนุมสาธารณะตามฟ้อง จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 10 ที่ต้องแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้รับแจ้งก่อนการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดในฐานนี้

ต่อมาศาลได้วินิจฉัยในความผิดฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลเห็นว่าทั้งสองคนได้ใช้เครื่องขยายเสียงที่ติดตั้งบนรถกระบะในการปราศรัย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานเขตดุสิต 

ในส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 33 เรื่องเทหรือทิ้งสิ่งปฏิกูล มูลฝอยลงบนถนนหรือทางน้ำ แม้ธนพรจะต่อสู้ว่าไม่ได้มีเจตนาทิ้งหม้อดินลงไปในคลองเปรมประชากร เนื่องจากหลังทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เชือกที่ผูกกับหม้อดินขาดเสียก่อน ทำให้หม้อดินตกลงไป แต่ศาลเห็นว่าจำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าเชือกอาจจะขาด ทำให้หม้อดินตกลงไปในบริเวณที่มีน้ำน้อย จนสามารถมองเห็นพื้นดินได้ จะทำให้หม้อดินแตกออก และเมื่อหม้อดินแตก จำเลยไม่ได้เก็บเศษกลับขึ้นมาแต่อย่างใด ส่อให้เห็นเจตนาว่าตั้งใจจะทิ้งหม้อดินลงไปในคลองอยู่ตั้งแต่แรก ข้อกล่าวอ้างของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอ 

ส่วนสมยศนั้น ศาลเห็นว่าไม่ได้มีส่วนร่วมหรือช่วยเหลือในการทำกิจกรรมถ่วงหม้อดินดังกล่าว พยานหลักฐานจึงยังไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าสมยศกระทำความผิดในข้อหานี้

พิพากษาลงโทษปรับเป็นพินัยในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงคนละ 200 บาท และปรับเป็นพินัย ข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ เฉพาะธนพร 5,000 บาท รวมปรับธนพร 5,200 บาท และปรับสมยศ 200 บาท ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก.

ลงนามคำพิพากษาฉบับนี้โดย นายพูนทรัพย์ รวมเมฆ  

จนถึงปัจจุบันคดีนี้สิ้นสุดลงแล้ว ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์คดีอีก

.

X