12 เม.ย. 2568 เป็นวันครบรอบ 8 ปี การคุมขัง “อัญชัญ” ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ซึ่งถูกตัดสินจำคุกรวม 29 ปี 174 เดือน (หรือประมาณ 43 ปี 6 เดือน) จากการถูกกล่าวหาว่าเป็นหนึ่งในผู้อัปโหลดและเผยแพร่คลิปเสียงของ “บรรพต” ดีเจผู้จัดรายการวิทยุใต้ดิน ซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ รวมทั้งหมด 29 ครั้ง เป็นความผิด 29 กระทง โดยในปีนี้จะเป็นปีที่เธอมีอายุครบ 70 ปีเต็ม ถือเป็นนักโทษการเมืองหญิงที่มีอายุมากที่สุดในปัจจุบัน
อัญชัญถูกคุมขังในระหว่างสอบสวนและพิจารณาคดีถึง 3 ปี 9 เดือน โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวและถูกพิจารณาคดีภายใต้อำนาจของศาลทหาร แม้ภายหลังอัญชัญจะได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในช่วงปลายปี 2561 และยังคงต่อสู้คดีเรื่อยมาหลังจากมีการโอนย้ายคดีจากศาลทหารสู่ศาลยุติธรรม อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือน ธ.ค. 2563 อัญชัญตัดสินใจกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ ทำให้วันฟังคำพิพากษา 19 ม.ค. 2564 กลายเป็นวันสุดท้ายที่เธอมีอิสรภาพ
แม้การต่อสู้ในคดีมาตรา 112 จะสิ้นสุดไปนานแล้ว แต่ปัจจุบันอัญชัญยังต้องต่อสู้อย่างอยากลำบากกับคำสั่ง “ไล่ออกจากราชการ” จากหน่วยงานของเธอ ซึ่งอัญชัญได้รับคำสั่งนี้ในปี 2566 หรือ 8 ปี ให้หลังตั้งแต่เธอถูกจับกุมในปี 2558 คำสั่งดังกล่าวทำให้เธอหมดสิทธิที่จะได้รับเงินบำนาญจากการทำงานราชการมาเกือบ 40 ปี ความพยายามยื่นอุทธรณ์คำสั่งจึงเป็นการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและเพื่อคุณภาพชีวิตที่เหลืออยู่ที่จะมีผลผูกพันอย่างยิ่งต่ออนาคตของเธอเมื่อพ้นโทษ
อัญชัญเล่าว่าเธอมีพื้นเพเป็นชาวกรุงเทพมหานครและเริ่มรับราชการหลังเรียนจบ
“ป้าเชื่อว่าป้าเป็นคนตั้งใจทำงาน ไม่เคยคดโกง ทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีมาโดยตลอด ทำผลงานและคอยสอบเลื่อนขั้นอยู่เรื่อย ๆ ที่ไหนเปิดสอบป้าก็สอบ และได้ย้ายไปปฎิบัติหน้าที่ตามจังหวัดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดในภาคอีสานอย่างสุรินทร์ หรือภาคใต้ เช่น ตรัง ยะลา และสตูล”
นอกจากนี้เธอยังเคยไปประจำการอยู่ที่ราชบุรีและกาญจนบุรีอยู่หลายปี อัญชัญเล่าถึงงานที่ทำอย่างภาคภูมิใจเสมอ เพราะงานคือส่วนหนึ่งของเรื่องราวกว่าค่อนชีวิตของเธอและทำให้เธอสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี
หลังจากการทำงานข้าราชการต่อเนื่องยาวนานมาตั้งแต่ปี 2519 หรือตั้งแต่อายุ 21 ปี อัญชัญก็ถูกจับกุมและแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 ในปี 2558 ซึ่งขณะนั้นเป็นเวลาที่เธอรับราชการมาแล้วถึง 39 ปี
ภายหลังถูกจับกุมในวันที่ 25 ม.ค. 2558 โดยเจ้าหน้าที่ทหารกว่า 10 นายพร้อมอาวุธ อัญชัญก็ไม่สามารถติดต่อญาติได้อีกจนกระทั่งวันที่ 30 ม.ค. 2558 ภายหลังอัญชัญจึงได้ทราบว่าตนเองถูกนำตัวไปสอบสวนในค่ายทหารและถูกควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึก ตั้งแต่วันแรกที่ถูกจับกุมอัญชัญได้ให้พี่ชายไปยื่นใบลาออกจากราชการ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานของเธอไม่อนุญาตให้ลาออก แต่มีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนในปีเดียวกันนั้น พร้อมทั้งตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงโดยทันที
ก่อนที่คณะกรรมการดังกล่าวมีมติให้มีคำสั่งไล่ออกจากราชการเนื่องจากการกระทำผิดวินัยร้ายแรงในปี 2566 ซึ่งขณะที่ได้รับคำสั่งดังกล่าว อัญชัญก็ถูกคุมขังในรอบหลังมาแล้ว 2 ปี และได้พยายามเขียนอุทธรณ์เพื่อโต้แย้งมติดังกล่าวจากภายในเรือนจำมาโดยตลอด
“ป้าคิดว่ามันไม่ยุติธรรมกับป้าเลย ป้าแก่ขนาดนี้แล้ว ออกไปก็ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ไปได้ถึงเมื่อไหร่ อยากจะได้รับความยุติธรรม อย่างน้อยกับการทำงานที่มีประโยชน์กับแผ่นดินตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาหลายสิบปี” อัญชัญมักเปรยถึงการต่อสู้ในเรื่องที่ถูกไล่ออกจากราชการเสมอ นอกจากการถูกคุมขังด้วยโทษสูงถึง 43 ปี จะนำมาซึ่งความรู้สึกหนักอึ้งแล้ว การถูกไล่ออกจากราชการโดยอ้างเหตุผิดวินัยร้ายแรงยังเป็นโศกนาฏกรรมซ้ำซ้อนที่อัญชัญกำลังเผชิญอยู่ในทุกวัน
แม้จะเผชิญกับการรอคอยที่ยาวนานและความอยุติธรรม อัญชัญกลับรู้สึกว่าปีนี้ (2568) เป็นปีที่เธอมีความหวังขึ้นมาอีกครั้งอย่างน่าประหลาด
“ป้าอยู่กับคดีนี้มา 10 ปีเต็มแล้ว (นับตั้งแต่ถูกจับกุมในปี 2558) มันยาวนานมากเลยเนอะ โลกหมุนไปไหนต่อไหนแล้ว แต่เรายังอยู่ที่เดิม เป็นช่วงเวลาที่ป้าได้คิดทบทวน เรียนรู้เรื่องการดูแลตัวเอง พยายามใช้วิกฤติให้เป็นโอกาส
“ปีนี้เป็นปีที่ป้าถูกขังมาครบ 8 ปี แปลว่า ป้าถูกขังมา 1 ใน 3 ของโทษแล้ว หากมีอภัยโทษมาป้าก็เข้าเกณฑ์กับเขาบ้างแล้ว อาจจะได้ปล่อยตัวในปีนี้ ปีนี้ป้าเลยรู้สึกมีความหวังมาก ๆ อยู่ได้ด้วยความหวังเลยลูก”
ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยโดยสิ้นเชิง อัญชัญยังคงรอคอยความยุติธรรมเกี่ยวกับผลการอุทธรณ์คำสั่งไล่ออกจากราชการ และพยายามต่อสู้เท่าที่เธอจะทำได้ เนื่องจากเกือบตลอดระยะเวลาดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน เป็นช่วงที่เธออยู่ในเรือนจำและมีเพียงพี่ชายวัย 71 ปี คอยช่วยเหลือ ทำหน้าที่ส่งเอกสารข้อต่อสู้ให้ โดยแต่ละครั้งที่ได้พูดคุยกันก็มีเวลาเพียง 15 นาที ตามสิทธิในการเยี่ยมญาติเท่านั้น
“เขาก็อายุ 69 แล้ว ส่วนเราก็ 71 เขามีเราคนเดียว เราเป็นพี่น้องคลานตามกันมา ไม่ช่วยเขา เขาก็ไม่มีใคร แฟนก็อยู่ต่างประเทศ” ชัย พี่ชายของอัญชัญวัย 71 ปี พูดขึ้นขณะนั่งไล่เรียงเอกสารข้อต่อสู้ของอัญชัญที่ดำเนินมาหลายปีตั้งแต่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน
“ปีที่แล้ว เขาผิดหวังมากกับการติดล็อคเกณฑ์อภัยโทษ ข้อที่ต้องรับโทษมา 1 ใน 3 ถึงเข้าเกณฑ์ได้อภัย เพราะโทษของเขาเยอะมาก ถึงจะติดมานานแล้วแต่ก็ยังไม่ถึง 1 ใน 3 การต่อสู้เรื่องนี้เป็นอีกความหวังของเขาเลย คนที่รับราชการมานานขนาดนี้ แต่กลับถูกไล่ออกโดยที่จะไม่ได้รับผลประโยชน์ที่เคยทำมา ถูกตัดสินว่าผิดวินัยร้ายแรง เขาพยายามมากที่จะอุทธรณ์คำสั่ง”
ชัยเล่าว่า เย็นวันที่เขาเดินทางไปให้กำลังใจและฟังคำพิพากษาที่อัญชัญถูกตัดสินจำคุกถึง 43 ปี เขาก็ล้มป่วยทันที
“ตอนนั้นหมอวินิจฉัยว่า ผมเป็นโรคหลอดเลือดในสมองตีบ เย็นวันนั้นเลย นอนแล้วตื่นขึ้นมาอีกที ก็กลายเป็นอัมพาตครึ่งซีก ซีกขวาของผมไม่มีความรู้สึกเลย หัวจรดเท้า กลายเป็นคนติดเตียง ตอนนั้นผมคิดว่าผมจะไม่สามารถกลับมามีชีวิตปกติได้อีกแล้ว” ชัยต้องนอนอยู่ในโรงพยาบาล 7 วันเต็มและยังต้องแอดมิทในโรงพยาบาลเพื่อทำกายภาพต่ออีกเป็นเดือนจนสามารถกลับมาเดินได้อีกครั้ง เขายอมรับว่าปัจจุบันสุขภาพก็ยังไม่ดีนัก ต้องคอยไปหาหมออยู่เรื่อย ๆ
“ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะช่วยเหลือเขาไปได้นานแค่ไหน เราก็มีครอบครัวและสุขภาพไม่แข็งแรง กว่าสังคมจะเปลี่ยน เราอาจตายไปก่อนแล้ว โดยไม่มีโอกาสได้รับความเป็นธรรมก็ได้”