นิติรัฐที่พังทลาย: รายงาน 4 ปี ภายใต้ คสช. สิทธิมนุษยชน และผลพวงรัฐประหารต่อสังคมไทย

นิติรัฐที่พังทลาย: รายงาน 4 ปี ภายใต้ คสช. สิทธิมนุษยชน และผลพวงรัฐประหารต่อสังคมไทย

การปกครองที่ยาวนานภายใต้ “ระบอบ คสช.” ซึ่งดำเนินมากว่า 4 ปี ทำให้สังคมไทยเที่ยวนี้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกองทัพยาวนานเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ระบอบเผด็จการทหารครองอำนาจในทศวรรษที่ 2510 อันเต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน และการวางกลไกการรัฐประหารไว้ในทุกพื้นที่ของบ้านเมืองทำให้สังคมไทยอยู่ในภาวะตรึงเครียดยืดเยื้อ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ทำการสำรวจปัญหา รวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ทางออกจากประสบการณ์ตลอด 4 ที่ผ่านมา เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์และค้นหาแนวทางหลุดพ้นนี้ โดยมีประเด็นสำคัญใน 3 เรื่อง ที่ต้องการนำเสนอ คือ 1.ลักษณะสำคัญทางการเมืองและกฎหมายเกิดขึ้นในยุค คสช. 2.สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน และ 3. ข้อเสนอในการจัดการผลพวงและมรดกของคสช. เนื้อหามีดังนี้

1.  ลักษณะสำคัญทางการเมืองและกฎหมายเกิดขึ้นในยุค คสช

ลักษณะสำคัญที่ระบอบ คสช. ได้สร้างขึ้นเพื่อรักษาอำนาจการรัฐประหารและจะส่งผลสืบทอดต่อสังคมไทยต่อไป มี 3 ประการ ได้แก่ 1.การจัดการพลเรือนโดยใช้วิธีคิดและปฏิบัติการแบบทหาร 2.การสถาปนาการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จไว้ในรัฐธรรมนูญ และ 3.การปกครองโดย “กฎหมาย”

ในการจัดการพลเรือนโดยใช้วิธีคิดและปฏิบัติการแบบทหาร หรือการที่สังคมค่อยๆ ถูกกำกับควบคุมโดยกองทัพ จนสังคมตกอยู่ภายใต้ความจำเป็นทางทหาร วิธีการนี้ไม่เพียงเป็นคุณค่าที่ครอบงำสังคม แต่ยังถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมต่อไปด้วย ในแง่นี้ประชาชนจึงกลายเป็น “เป้าหมาย” ทางการทหาร ตัวอย่างเช่น การทำให้การแสดงออกทางการเมืองโดยสงบสันติ กลายเป็นเรื่อง “ความมั่นคงของรัฐ”  การแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจและการชุมนุมทางการเมือง ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องของ “ความไม่สงบเรียบร้อย-ความวุ่นวาย”  ตัวอย่างการจัดตั้งกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ซึ่งเป็นหน่วยความมั่นคงกลายเป็นหน่วยสำคัญที่เข้ามาควบคุมจัดการปัญหาทางการเมือง ยังเป็นตัวอย่างในการเข้าใจสถานการณ์ดังกล่าว จากการรวบรวมข้อมูลพบว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้มีการจัดทำบัญชีรายชื่อของประชาชนกลุ่มที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าต้องจับตาหรือ “กลุ่มเป้าหมาย” ดังกล่าวข้างต้น โดยมีการจัดทำแฟ้มข้อมูลของบุคคล

ประเด็นสำคัญคือ การสถาปนาการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จไว้ในรัฐธรรมนูญ ปรากฏให้เห็นผ่านการกำหนดให้กองทัพเข้าไปมีบทบาทเหนือรัฐบาลพลเรือน และการปกครองโดย “กฎหมาย” ไม่ว่าจะเป็นถ่ายโอนอำนาจของคณะรัฐประหารเข้าไปอยู่ในองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยทั้ง นิติบัญญัติ บริหารและ ตุลาการ  ตัวอย่างที่เด่นชัดคือ  แม้จะมีการประกาศใช้ “รัฐธรรมนูญฉบับถาวร” แล้ว แต่อำนาจเบ็ดเสร็จของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็ยังคงมีอยู่ต่อไปจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ผลในท้ายที่สุดคือ ระบบกฎหมายของ คสช. บ่อนทำลายระบบกฎหมายเดิมลงและแปรสภาพการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จที่ปลอดจากถูกตรวจสอบและไม่ต้องรับผิด ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่จะดำรงอยู่อย่างถาวรต่อไปในระบบกฎหมายปกติ

2. สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน

สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนไทยตลอด 4 ปีที่ผ่านมา สามารถจำแนกได้ออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ ได้แก่ หนึ่ง การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยกระบวนการที่ไม่ใช่การดำเนินคดี แและ สอง การละเมิดสิทธิมนุษยชนผ่านกระบวนการดำเนินคดีทางการเมือง ซึ่งมีรูปแบบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ทั้งเหมือนและแตกต่างไปจากยุคเผด็จการอื่นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย รูปแบบการละเมิดต่างๆได้แก่ 1.การเรียกรายงานตัว / คุมตัวในค่ายทหาร/  ติดตามตัวถึงบ้าน 2.การปิดกั้น-แทรกแซงกิจกรรมสาธารณะ 3.การปิดกั้นสื่อและการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร 4.การปิดกั้นการใช้สิทธิชุมชน และการแสดงออกของชุมชนท้องถิ่น และ5.การซ้อมทรมาน และการคุมขังพลเรือนในเรือนจำทหาร

จากข้อมูลคดีของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และข้อมูลจากการสังเกตการณ์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) มีประชาชนที่ถูกเรียกรายงานตัวและปรับทัศนคติ มีผู้ที่ถูกข่มขู่ คุกคามและติดตาม อย่างน้อย 1,138 คน

กิจกรรมสาธารณะถูก คสช. หรือเจ้าหน้าที่ทหารปิดกั้นและแทรกแซง อย่างน้อย 264 กิจกรรม

กลุ่มองค์กรชาวบ้าน/ชุมชน หรือประชาสังคม ที่ถูกปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม แล้วอย่างน้อย 66 กลุ่ม

ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในยุคนี้ คือการคุกคามผู้เห็นต่างทางการเมือง  ในรูปของ “กระบวนการยุติธรรม” ซึ่งถูกนำมาใช้จัดการในลักษณะต่างๆ รวมทั้งถูกใช้ควบคุมการแสดงออกของคนทั่วไปในสังคมด้วย นอกจากนี้การละเมิดในหลายกรณีมีเจ้าหน้าที่ทหารเป็นคู่ความโดยตรง ไม่ว่าจะกระทำผ่านการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญาที่มีอยู่เดิมอย่างรุนแรงมากขึ้น หรือการปรับเป้าหมายของกฎหมายมากำจัดผู้เห็นต่าง ตัวอย่างข้อมูลการดำเนินคดีด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 พบว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีแล้วอย่างน้อย 92 คน

ขณะเดียวกันก็มีการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ไปอย่างกว้างขวาง มีบุคคลที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ผ่านประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 อย่างน้อย 378 คน

ถูกดำเนินคดีด้วย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 214 คน

เป็นที่ถกเถียงว่า การใช้กฎหมายตามแนวทางนี้ขัดกับ รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่รับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนหรือไม่

นอกจากนี้ ข้อมูลจากกรมพระธรรมนูญถึงเดือนตุลาคม 2560 พบว่า มีพลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหาร 1,886 คดี

นับเป็น 2,408 คน ในจำนวนนี้ยังพิจารณาคดีไม่เสร็จสิ้น 369 คดี หรือ 450 คน

ส่วนผู้ถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีอย่างน้อยจำนวน 162 คน ในจำนวนนี้เป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้เสรีภาพการแสดงออกอย่างน้อย 101 คน

นอกจากนี้ มีผู้ร้องเรียนต่อศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า มีการซ้อมทรมานเกิดขึ้นระหว่างการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกและคำสั่งหัวหน้า คสช. อีกอย่างน้อย 18 ราย

การละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ยังรวมไปถึงการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และข้อหาละเมิดอำนาจศาล และดูหมิ่นศาล นอกจากนี้ยังมีคดีอื่นๆที่ถูกนำมาใช้จัดการเห็นต่างทางการเมืองที่แม้จะมิใช่ประเด็นเสรีภาพในการแสดงออก แต่ก็ได้รับผลกระทบเรื่องสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมในยุคของ เช่น คดีเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธ โดยพบว่าคดีในข้อหานี้คิดเป็นถึงร้อยละ 91.9 ของคดีพลเรือนที่ขึ้นศาลทหารทั้งหมด

ดังนั้นแล้ว รูปแบบการใช้ข้อกล่าวหาทาง “กฎหมาย” และ “กระบวนการยุติธรรม” ที่กล่าวมาจึงกลายเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการแสดงออก ที่มีผลร้ายแรงต่อประชาชนคือ สร้างภาระทางคดีให้กับผู้ถูกกล่าวหา ทั้งภาระค่าใช้จ่าย ผลกระทบทางจิตใจ ระยะเวลาที่ต้องเสียไประหว่างต่อสู้คดี

3. ข้อเสนอในการจัดการผลพวงและมรดกของ คสช.

เพื่อเป็นการยับยั้งมิให้มรดกเหล่านั้นได้รับการรองรับและบังคับใช้เป็นกฎเกณฑ์ซึ่งขัดแย้งกับคุณค่าในสังคมประชาธิปไตย ศูนย์ทนายความเสนอวิธีการจัดการมรดกนี้ใน 4 ประเด็น คือ 1.แยกทหารออกจากการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน โดยทหารต้องยุติการดำรงตำแหน่งและการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจในงานบริหาร นิติบัญญัติ คณะกรรมการชุดต่างๆ ทั้งหมด และจัดการเลือกตั้งทั่วไปอย่างเป็นธรรมและโดยเร็วที่สุด 2. จัดการกับมรดกทางกฎหมายของคสช. ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่มาจากโครงสร้างหรือวิธีการออกโดยมิชอบ เช่น รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศ/คำสั่งของหัวหน้าคสช. หรือกฎหมายที่อยู่ในกระบวนการบังคับใช้โดยมิชอบ คือ ชุดกฎหมายซึ่งเป็นความผิดทางอาญาที่มีผลบังคับใช้อยู่แล้ว แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตีความและบังคับใช้อย่างเข้มข้นหลังการรัฐประหาร โดยไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์และกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการจัดการกับบุคคลซึ่งเห็นต่างหรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคสช.

3.ปฏิรูปกระบวนการกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และการใช้ฐานด้านสิทธิมนุษยชนส่งเสริมให้ศาลวินิจฉัย/มีคำพิพากษาเพื่อรับรองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชน โดยเป็นการพิจารณาการปฏิรูปกระบวนการทั้งระบบ  และ4.เยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจของทหาร โดยแบ่งออกเป็น 2ดังนี้ ประเภทที่ 1 การเยียวยาแก่ประชาชน กรณีถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่ไม่ถูกดำเนินคดี และประเภทที่สอง การเยียวยาแก่ประชาชน กรณีถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยการถูกรัฐ/เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดี

ข้อเสนอสุดท้ายคือ จัดการคำพิพากษาซึ่งรับรองความสมบูรณ์ในการทำรัฐประหารของคสช. ใน2 วิธีคือ 1.ต้องลบล้างความชอบด้วยกฎหมายและการรับรองความสมบูรณ์ของการกระทำรัฐประหารโดยคสช. ด้วยการทำให้คำพิพากษา สิ้นผลไป และ 2.นำคำพิพากษามาทบทวนและทำให้สิ้นผลไปในส่วนที่ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอันเป็นผลจากการกระทำของคสช. และเจ้าหน้าที่รัฐ  ด้วยกฎหมายของผลผลิตการใช้อำนาจของคสช.ข้างต้น ซึ่งนำมาสู่การลงโทษประชาชนผู้ใช้สิทธิเสรีภาพที่ตนควรมีควรได้ในระบอบประชาธิปไตย

X