ความคุ้มครองที่ไม่ครอบคลุมของกฎหมายไทยในเรื่องหลักความเป็นกลางของผู้พิพากษา

ณัฐวรรธน์ แก้วจู

.

หลักความเป็นกลางของผู้พิพากษา

จุดมุ่งหมายสูงสุดของการพิจารณาพิพากษาบรรดาอรรถคดีที่ขึ้นสู่ศาลไม่ว่าในคดีประเภทใดย่อมเป็นไปเพื่อการ “อำนวยความยุติธรรม” ให้เกิดแก่คู่ความในคดีทุกฝ่ายทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลย ซึ่งสิ่งที่จะทำให้คู่ความรับรู้ได้ว่าตนได้รับความยุติธรรม คือการที่ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีให้เป็นไปอย่าง “อิสระ” และ “มีความเป็นกลาง”

การดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างอิสระและมีความเป็นกลาง คือหลักการสำคัญในการพิจารณาคดี เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งซึ่งทำให้กระบวนพิจารณานั้นสามารถ “ประชิดความยุติธรรม” มากยิ่งขึ้น  และทำให้ประชาชนผู้มีอรรถคดี รวมถึงสาธารณชนทั่วไป “เชื่อมั่น” ในกระบวนการพิจารณาได้ว่าเกิดขึ้นอย่างยุติธรรม

หลักความเป็นอิสระของศาล คือหลักที่ว่าด้วยอำนาจอิสระของผู้พิพากษาในการพิจารณาและพิพากษาชี้ขาดคดี โดยการใช้กฎหมายมาปรับกับข้อเท็จจริงเพื่อวินิจฉัยผลของคดีให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายในเรื่องหนึ่ง ๆ ซึ่งผู้พิพากษาต้องมีความอิสระทั้งในแง่ของความเป็นสถาบันตุลาการ และในแง่ของปัจเจกบุคคล1 การกำหนดให้ศาลต้องมีความเป็นอิสระก็เป็นไปเพื่อให้ผู้พิพากษาพิจารณาพิพากษาคดีได้โดยปราศจากจากการแทรกแซงไม่ว่าจากอำนาจใด ถือเป็นหลักสำคัญหลักหนึ่งของระบบนิติรัฐในสังคมเสรีประชาธิปไตย

ส่วนหลักความเป็นกลาง คือหลักที่ว่าด้วยสภาพจิตใจของผู้พิพากษาที่มีต่อคดีความที่ได้พิพาทกันและกับคู่ความในคดี หากดูตามข้อบท 14 (1) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ความเป็นกลางของศาลมีนัยยะว่า “ผู้พิพากษาจะต้องไม่มีความคิดล่วงหน้าใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องที่พิจารณาอยู่ และหมายความว่าผู้พิพากษาจะต้องไม่กระทำการหรือไม่กระทำการใด อันเป็นการส่งเสริมประโยชน์ของคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่มีความเกี่ยวข้องกับคู่ความในคดี ไม่มีผลประโยชน์หรือมีส่วนได้เสียกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง”2

.

มองสากลโลก

ในต่างประเทศ หลักความเป็นกลางของผู้พิพากษาถูกอ้างอิงและมีที่มาที่แตกต่างกัน แต่คำอธิบายนั้นคล้ายคลึงกันและล้วนมีจุดมุ่งหมายประสงค์ให้ผู้พิพากษาพิจารณคดีโดยไม่มีอคติ ไม่เอาตนเองไปเข้าข้างคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือแสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อข้อเท็จจริงแห่งคดีที่เกิดขึ้น เช่น ในอังกฤษ หลักความเป็นกลางของผู้พิพากษามีที่มาจากหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติ (Natural Justice) ซึ่งมีบ่อเกิดจากกฎหมายธรรมชาติ (Natural Law)3 มุ่งหมายให้คู่ความในคดีได้รับการพิจารณาจากศาลที่ปราศจากอคติเพื่อความเป็นธรรม

หรือในสหรัฐอเมริกา หลักความเป็นกลางมีที่มาจากหลักวิถีทางที่ถูกต้องแท้จริง (Due Process of Law)4 ซึ่งเป็นหลักที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา วางหลักไว้อย่างกว้าง เป็นหลักปฏิบัติให้ศาลนำมาปรับใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดีเพื่อมิให้กระบวนพิจารณาคดีของศาลเป็นไปอย่างอำเภอใจ รักษาความเป็นธรรมในการพิจารณาคดีให้เกิดแก่คู่ความทุกฝ่าย และเพื่อให้สาธารณชนเชื่อว่าศาลได้อำนวยความยุติธรรมให้เกิดแก่คู่ความอีกด้วย

ตอนหนึ่งในคำพิพากษาของ Supreme Court ของสหรัฐอเมริกา ในคดี Pfizer Inc. v. Lord, 456 F.2d 532 (8th Cir. 1972) กล่าวว่า “It is important that the litigant not only actually receive justice, but that he believes that he has received justice.” ซึ่งแปลความได้ว่า “สิ่งสำคัญไม่ใช่เพียงการที่คู่ความได้รับความยุติธรรมที่แท้จริงเท่านั้น แต่ต้องให้เขาเชื่อว่าเขาได้รับความยุติธรรมด้วย5  

ส่วนในระดับกฎหมายระหว่างประเทศ หลักความเป็นกลางของผู้พิพากษาปรากฎอยู่ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights : UDHR) ที่เป็นพื้นฐานของกฎหมายสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ในข้อ 10 วางหลักไว้ว่า “ทุกคนย่อมมีสิทธิในความเสมอภาคอย่างเต็มที่ในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและเปิดเผยจากศาลที่อิสระและไม่ลำเอียงในการพิจารณากำหนดสิทธิและหน้าที่ของตนและข้อกล่าวหาอาญาใดต่อตน” และในหลักบังกาลอร์ว่าด้วยจริยธรรมตุลาการ (Bangalore Principles of Judicial Conduct) ที่กำหนดเรื่องจริยธรรมของผู้พิพากษาก็ปรากฎหลักเรื่องความเป็นกลาง (Impartiality) นี้เช่นกัน

ข้อสำคัญที่หลายประเทศยึดเป็นหลักเพื่อคุ้มครองหลักความเป็นกลางของผู้พิพากษาคือ หากมีข้อเท็จจริงหรือเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้พิพากษาคนใดมีความไม่เป็นกลางในการพิจารณาคดีและมีการยื่นคำคัดค้านโดยคู่ความ ผู้พิพากษาคนนั้นต้อง “ถูกตัดอำนาจในการพิจารณาคดีนั้น” บางประเทศถือว่าเมื่อมีเหตุเกี่ยวกับความไม่เป็นกลางเกิดขึ้นไม่ว่าด้วยเหตุอันเกิดจากความลำเอียง มิตรภาพส่วนตัว หรือความเกี่ยวพันอื่น ผู้พิพากษาผู้นั้นย่อมขาดคุณสมบัติในการพิจารณาพิพากษาคดีนั้นไปเลย

ในระดับสากล เหตุผลที่หลักความเป็นกลางของผู้พิพากษาได้รับความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากหลักดังกล่าวเป็นหลักประกันหนึ่งให้แก่คู่ความในคดีว่าการพิจารณาพิพากษาคดีจะเป็นไปอย่าง “ยุติธรรม” ซึ่งท้ายที่สุดจะนำไปสู่ “ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน” ที่มีต่อศาลได้ในมุมมองโดยรวม

.

.

กลับมาหันมองเรา

ส่วนในประเทศไทย หลักความเป็นกลางของผู้พิพากษา ก็ปรากฏตั้งแต่ในกฎหมายยุคก่อนสมัยใหม่ แม้อาจด้วยฐานคิดที่ต่างออกไปจากกฎหมายสมัยใหม่ และปัจจุบันในระบบกฎหมายสมัยใหม่ก็มีให้เห็นจากหลากหลายบทบัญญัติ อาทิ รัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และในประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ ซึ่งในที่นี้จะยกเฉพาะในส่วนที่ปรากฏในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการขึ้นมาพิจารณา เพื่อชี้ให้เห็นถึงหลักคิดที่เปลี่ยนแปลงไป ความคุ้มครองที่อ่อนกำลังลง และปัญหาบางประการในทางปฏิบัติ

ในสมัยสุโขทัย หลักความเป็นกลางของผู้พิพากษาปรากฏให้เห็นในกฎหมายว่าด้วยลักษณะตระลาการ ที่กำหนดให้บุคคลที่เป็นตระลาการหรือผู้พิพากษาจะต้องตัดสินคดีโดยสุจริตไม่เข้าข้างคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าคู่ความนั้นจะมียศถาบรรดาศักดิ์เป็นผู้ใด เรื่อยมากระทั่งสมัยอยุธยา คัมภีร์พระธรรมศาสตร์กำหนดว่าผู้ที่เป็นตระลาการ หากมีอคติ 4 ประการ คือ รัก โลภ โกรธ หลง ในการพิจารณาพิพากษาคดี ผู้นั้นก็จะเสื่อมเกียรติยศของตระลาการไป กล่าวคือผู้พิพากษาจะเป็นผู้มีเกียรติศักดิ์ศรีต่อเมื่อได้พิจารณาพิพากษาคดีด้วยความเป็นกลาง ปราศจากอคติ และในยุครัตนโกสินทร์ที่มีการชำระกฎหมายรวมขึ้นเป็นกฎหมายตราสามดวง ก็ได้กำหนดเรื่องจริยธรรมของผู้พิพากษาเอาไว้ว่าต้องตัดสินคดีด้วยความเที่ยงธรรม และต้อง “พึงกระทำสันดานให้นิราศปราศจากอคติธรรมทั้ง 4 คือ ฉันทาคติ โทสาคติ ภยาคติ และโมหาคติ” หรือที่เรียกว่าหลักอินทภาษ 46

เมื่อเข้าสู่ระบบกฎหมายสมัยใหม่ ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 เกิดการชำระสะสางและรวบรวมกฎหมายเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลและวิธีพิจารณาความแพ่ง และประกาศใช้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. 127 ขึ้น (มีการรวบรวมกฎหมายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2448 และได้ตราขึ้นบังคับใช้ช่วงพุทธศักราช 2451 เพื่อใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติกระบวนพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. 115 ที่มีแต่เดิม) โดยในพระราชบัญญัตินี้ปรากฏบทบัญญัติที่สะท้อนให้เห็นถึงหลักความเป็นกลางของผู้พิพากษา ในหมวด 2 มาตรา 4 ซึ่งกำหนดให้ผู้พิพากษาจะมีอำนาจพิจารณาคดีที่ได้รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องด้วยไม่ได้7 โดยวางหลักว่า

มาตรา 4 “ผู้ซึ่งกระทำการตามน่าที่ของผู้พิพากษา มีข้อห้ามมิให้กระทำการนั้นเปนอันขาด ในข้อที่กล่าวต่อไปนี้ คือ

1 ถ้าผู้พิพากษานั้นเปนผู้มีผลประโยชน์ที่ได้เสียเกี่ยวข้องอยู่ในคดีอันนั้นด้วยก็ดี

2 หรือถ้าเปนญาตวงศ์วารกับคู่ความฝ่ายใด ๆ โดยทางสายโลหิตสืบตระกูลต่อกันหรือโดยทางเปนลูกพี่ลูกน้องนับได้เพียงภายใน 3 ชั้นก็ดี หรือเป็นวงศ์วารเกี่ยวพันธ์กันโดยทางแต่งงานนับได้เพียง 2 ชั้นก็ดี

3 หรือถ้าเปนผู้ที่ได้เบิกความเปนพยานโดยที่ได้รู้ได้เห็น หรือโดยเปนผู้ชำนาญการพิเศษที่เกี่ยวข้องในคดีนั้นก็ดี

ในข้อหนึ่งข้อใดเหล่านี้ ต้องห้ามไม่ให้เปนผู้พิพากษาในคดีนั้นเปนอันขาด

กล่าวคือ หากมีเหตุปรากฎว่าผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีมีความไม่เป็นกลางโดยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้น ผู้พิพากษาคนนั้นต้องห้ามพิจารณาคดีนั้นเป็นอันขาด เป็นการตัดอำนาจของผู้พิพากษาไม่ให้สามารถเข้ามาทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้อีกต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองหลักความเป็นกลางของผู้พิพากษาคล้ายกับบทบัญญัติในกฎหมายอังกฤษและสหรัฐอเมริกา

ต่อมาเมื่อมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับวิธีพิจารณาความแพ่งเสียใหม่ จึงได้มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พุทธศักราช 2477 ขึ้น ซึ่งบังคับใช้มาจวบจนปัจจุบัน ซึ่งในเนื้อหายังคงปรากฏบทบัญญัติที่คุ้มครองหลักความเป็นกลางของผู้พิพากษาอยู่บ้าง เห็นได้จากการบัญญัติให้คู่ความมีสิทธิในการคัดค้านผู้พิพากษาที่ไม่มีความเป็นกลางไว้ ในมาตรา 11 และมาตรา 12

มาตรา 11 “เมื่อคดีถึงศาล ผู้พิพากษาคนหนึ่งคนใดในศาลนั้นอาจถูกคัดค้านได้ในเหตุหนึ่งเหตุใด ดังต่อไปนี้

(1) ถ้าผู้พิพากษานั้นได้มีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องอยู่ในคดีนั้น

(2) ถ้าเป็นญาติเกี่ยวข้องกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คือว่าเป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใด ๆ หรือเป็นพี่น้อง หรือเป็นลูกพี่ลูกน้องนับได้เพียงภายในสามชั้น หรือเป็นญาติเกี่ยวพันทางทางแต่งงานนับได้เพียงสองชั้น

(3) ถ้าเป็นผู้ที่ได้ถูกอ้างเป็นพยานโดยที่ได้รู้ได้เห็นเหตุการณ์ หรือโดยเป็นผู้เชี่ยวชาญมีความรู้เป็นพิเศษเกี่ยวข้องกับคดีนั้น

(4) ถ้าได้เป็นหรือเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้แทนหรือได้เป็นทนายความของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาแล้ว

(5) ถ้าได้เป็นผู้พิพากษานั่งพิจารณาคดีเดียวกันนั้นในศาลอื่นมาแล้ว หรือเป็นอนุญาโตตุลาการมาแล้ว

(6) ถ้ามีคดีอีกเรื่องหนึ่งอยู่ในระหว่างพิจารณาซึ่งผู้พิพากษานั้นเอง หรือภริยา หรือญาติทางสืบสายโลหิตตรงขึ้นไป หรือตรงลงมาของผู้พิพากษานั้นฝ่ายหนึ่ง พิพาทกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือภริยา หรือญาติทางสืบสายโลหิตตรงขึ้นไปหรือตรงลงมาของคู่ความฝ่ายนั้นอีกฝ่ายหนึ่ง

(7) ถ้าผู้พิพากษานั้นเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ หรือเป็นนายจ้างของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

มาตรา 12 “เมื่อศาลใดมีผู้พิพากษาแต่เพียงคนเดียว ผู้พิพากษานั้นอาจถูกคัดค้านด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งตามที่กำหนดไว้ในมาตราก่อนนั้นได้ หรือด้วยเหตุประการอื่นอันมีสภาพร้ายแรงซึ่งอาจทำให้การพิจารณาหรือพิพากษาคดีเสียความยุติธรรมไป

.

ภาพจากเว็บไซต์ห้องสมุดศาลยุติธรรม

.

ปัญหาของตัวบท และช่องว่างของความคุ้มครองที่ไม่ครอบคลุม

หากพิจารณาเปรียบเทียบบทบัญญัติที่คุ้มครองหลักความเป็นกลางระหว่างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พุทธศักราช 2477 กับพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. 127 จะเห็นได้ว่าทั้งสองมาตราดังกล่าวของกฎหมายใหม่ไม่ได้คุ้มครองหลักความเป็นกลางของผู้พิพากษาเทียบเท่ามาตรา 4 ของกฎหมายเดิม เพราะในกฎหมายใหม่เมื่อมีเหตุปรากฏว่าผู้พิพากษามีอคติ หรือเกิดความไม่เป็นกลางขึ้นในการพิจารณาคดี บทบัญญัติดังกล่าวก็ให้สิทธิคู่ความไว้เพียงสิทธิใน “การคัดค้าน” เท่านั้นตาม มาตรา 13 (2) ทั้งการคัดค้านดังว่าก็ไม่มีผลให้การพิจารณาคดีของผู้พิพากษาที่ไม่เป็นกลางนั้นถูกตัดอำนาจไปแต่อย่างใด และกระบวนพิจารณา “ทั้งหลาย” ที่ได้ดำเนินไปโดยผู้พิพากษาซึ่งไม่มีความเป็นกลางนั้น ไม่ว่าจะก่อนมีการยื่นคำคัดค้าน หรือกระบวนพิจารณาที่ได้ดำเนินไปภายหลังการยื่นคำคัดค้านในคดีที่ต้องมีการพิจารณาโดยไม่ชักช้า ก็มีผลเป็นการพิจารณาที่สมบูรณ์ไม่เสียไปแม้ศาลมีคำสั่งยอมฟังคำคัดค้านดังกล่าว ดังปรากฏในมาตรา 138

กระบวนการคัดค้านดังกล่าวยังมีปัญหาในเรื่องระยะเวลาอีกด้วย เพราะระยะเวลาที่กฎหมายอนุญาตให้คู่ความยื่นคำคัดค้านได้นั้นสั้นอย่างมาก เนื่องจากหากคู่ความทราบเหตุที่จะคัดค้านได้ก่อนวันสืบพยาน ให้คู่ความยื่นคำคัดค้านก่อนวันสืบพยานนั้น หรือถ้าทราบเหตุที่จะคัดค้านได้ในระหว่างพิจารณาคดี ก็ให้ยื่นคำร้องคัดค้านไม่ช้ากว่าวันนัดสืบพยานครั้งต่อไป หรือหากเป็นกรณีที่ไม่มีการสืบพยาน คู่ความต้องคัดค้านก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา9  

ทั้งนี้เหตุในการคัดค้านที่กำหนดไว้ตามมาตรา 11 ก็ไม่ครอบคลุมเช่นในมาตรา 12 เพราะคำว่า “หรือด้วยเหตุประการอื่นอันมีสภาพร้ายแรงซึ่งอาจทำให้การพิจารณาหรือพิพากษาคดีเสียความยุติธรรมไป” นั้นหายไป ทั้งที่ถ้อยคำดังกล่าวควรปรากฏในมาตรา 11 ด้วยเพื่อให้มีเหตุในการคัดค้านผู้พิพากษาคนหนึ่งคนใดได้กว้างขวางและครอบคลุมขึ้น มิใช่กำหนดเหตุไว้เพียง 7 เหตุเท่านั้น ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุใดถ้อยคำดังกล่าวจึงปรากฎเพียงในมาตรา 12

และหากพิจารณาประมวลจริยธรรมของข้าราชการตุลาการ (The Code of Judicial Conduct) พ.ศ. 2529 ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยจริยธรรมและเป็นบรรทัดฐานการดำรงตนในวิชาชีพของผู้พิพากษาเพิ่มเติม หลักความเป็นกลางของผู้พิพากษาปรากฏให้เห็นเช่นกัน โดยจะเห็นได้ในหมวด 2 ในส่วนที่เป็นจริยธรรมเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในทางอรรถคดี ซึ่งมีความครอบคลุม และชัดเจนกว่าในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งอย่างมาก ตัวอย่างเช่น

ข้อ 3 “ในการนั่งพิจารณาคดี ผู้พิพากษาจักต้องวางตนเป็นกลางและปราศจากอคติ  ทั้งพึงสํารวมตนให้เหมาะสมกับตําแหน่งหน้าที่ แต่งกายเรียบร้อย  ใช้วาจาสุภาพ  ฟังความจากคู่ความและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างตั้งใจ ให้ความเสมอภาค  และมีเมตตาธรรม

ข้อ 12 “เมื่อจะพิพากษาหรือมีคําสั่งในคดีเรื่องใด ผู้พิพากษาจักต้องละวางอคติทั้งปวงเกี่ยวกับคู่ความหรือคดีความเรื่องนั้น ทั้งจักต้องวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า และไม่เห็นแก่หน้าผู้ใด คําพิพากษาและคําสั่ง จักต้องมีคําวินิจฉัยที่ตรงตามประเด็นแห่งคดี ให้เหตุผลแจ้งชัดและสามารถปฏิบัติตามนั้นได้ การเรียงคําพิพากษาและคําสั่ง พึงใช้ภาษาเขียนที่ดี ใช้ถ้อยคําในกฎหมาย ใช้โวหารที่รัดกุมเข้าใจง่าย และถูกต้องตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ข้อความอื่นใดอันไม่เกี่ยวกับการวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีโดยตรง หรือไม่ทําให้การวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวชัดแจ้งขึ้นไม่พึงปรากฏอยู่ในคําพิพากษาหรือคําสั่ง

ข้อ 14 “ผู้พิพากษาพึงถอนตัวจากการพิจารณาและพิพากษาคดี เมื่อมีเหตุที่ตนอาจถูกคัดค้านได้ตามกฎหมาย หรือเมื่อมีเหตุประการอื่นที่เกี่ยวกับตัวผู้พิพากษา อันอาจทําให้การพิจารณาพิพากษาคดีนั้นเสียความยุติธรรม และจักต้องไม่กระทําการใด ๆ อันเป็นการจูงใจผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาพิพากษาคดีนั้นในภายหลังในประการที่อาจทําให้เสียความยุติธรรมได้

ความแตกต่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนในเรื่องการคุ้มครองหลักความเป็นกลางของผู้พิพากษาของประมวลจริยธรรมฯ เมื่อเปรียบเทียบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งคือ การกำหนดให้ผู้พิพากษาถอนตัวจากการพิจารณาและพิพากษาคดี เมื่อ “มีเหตุที่อาจถูกคัดค้าน” ได้ตามกฎหมาย หรือมีเหตุประการอื่นเกี่ยวกับตัวผู้พิพากษา ซึ่งหมายถึง เพียงแค่มีเหตุที่อาจถูกคัดค้าน ไม่ต้องถึงขนาดที่เหตุนั้นปรากฏขึ้น ก็เป็นอันเพียงพอแล้วที่ผู้พิพากษาควรต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ของตนในการพิจารณาและพิพากษาคดีลง เป็นความต้องการให้ผู้พิพากษาตัดอำนาจของตนเองจากคดีนั้น ๆ เพื่อรักษาความยุติธรรมและมุ่งหวังให้กระบวนพิจารณาพิพากษาคดีเกิดขึ้นอย่างเป็นกลาง อันจะเป็นประโยชน์แก่คู่ความทุกฝ่าย รวมถึงองค์กรตุลาการเองด้วย

อย่างไรก็ดีประมวลจริยธรรมของข้าราชการตุลาการ เป็นเพียงแนวทางในการดำรงตนของข้าราชการตุลาการ และมีสภาพบังคับเป็นเพียงการลงโทษทางวินัยแก่ผู้พิพากษาที่ไม่ปฏิบัติตามประมวลฯ นี้เท่านั้น ไม่มีผลเป็นการตัดอำนาจผู้พิพากษาในการพิจารณาคดีกรณีปรากฏความไม่เป็นกลางเกิดขึ้นในกระบวนพิจารณา และไม่ส่งผลไปถึงกระบวนพิจารณาที่ดำเนินไปโดยผู้พิพากษาผู้ไม่เป็นกลางนั้นอีกด้วย

เมื่อพิจารณาบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการที่มีอยู่ จึงไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองหลักความเป็นกลางได้เลยในทางปฏิบัติ เพราะประมวลกฎหมายแพ่งก็บัญญัติเหตุในการคัดค้านและระยะเวลาในการยื่นคำคัดค้านไว้อย่างจำกัดจำเขี่ย ส่วนในประมวลจริยธรรมฯ ก็เป็นเพียงสิ่งที่จะใช้ลงโทษในทางวินัยแก่ผู้พิพากษาที่ไม่ปฏิบัติตนให้เป็นไปตามจริยธรรมเท่านั้น  

เมื่อกฎหมายที่มีอยู่ไม่คุ้มครองหลักความเป็นกลางอย่างเพียงพอ หรือคุ้มครองไว้อย่างแคบ บางครั้งจึงอาจกลายเป็นถนนที่ผู้พิพากษาใช้เป็นทางวิ่งสู่การพิจารณาที่ไม่เป็นกลางได้ เพราะเขาไม่ต้องเกรงกลัวว่าจะมีกล้องตรวจจับความไม่เป็นกลางบนถนนการพิจารณาเส้นนี้หรือไม่ หรือหากมี กล้องนั้นก็อาจไม่สามารถบังคับได้เพราะเขาอาจไม่สนใจว่าจะต้องขับรถเพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณของใคร ขอเพียงแต่มุ่งไปสู่ปลายทางที่หวังไว้ก็เพียงพอ

ทั้งที่ในความเป็นจริงเรื่องความเป็นกลางของผู้พิพากษาเป็นสิ่งที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในกระบวนพิจารณาของศาล และจะกระทบต่อความเชื่อมั่นในความยุติธรรมโดยรวม เพราะเมื่อใดที่คู่ความมีความสงสัยในความเป็นกลางของผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดีเกิดขึ้น และหากปรากฏในข้อเท็จจริงว่าความไม่เป็นกลางนั้นมีอยู่จริงในคดี สิ่งเช่นว่าต้องถูกยุติได้โดยการคัดค้านของคู่ความและศาลต้องถูกตัดอำนาจในการพิจารณาคดีนั้นโดยกฎหมาย และควรเป็นมาตรฐานขั้นต่ำเพื่อให้ประชาชนสามารถมีเครื่องมือในการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจตุลาการ ทั้งยังเป็นหลักประกันซึ่งสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมของคู่ความ และยังจะเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมด้วย

หากมองว่ากฎหมายที่มีอยู่เพียงพอแล้วในการคุ้มครองหลักความเป็นกลางของผู้พิพากษา เพราะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการคุ้มครองหลักความเป็นกลาง กับการคุ้มครองศาลจากการถูกใช้ร้องกลั่นแกล้งหรือจากการใช้บทบัญญัติเกี่ยวกับการคัดค้านผู้พิพากษาเพื่อใช้ประวิงคดีโดยคู่ความเพื่อให้ศาลยังมีอิสระในการพิจารณาคดีด้วย ในเรื่องนี้ผู้เขียนเห็นว่าการชั่งน้ำหนักนี้ไม่ได้สัดส่วนนัก จริงที่ว่าศาลต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไปอย่างอิสระ ไม่เกรงกลัวต่ออำนาจใด จึงไม่ควรให้คู่ความหยิบยกกฎหมายเรื่องการคัดค้านผู้พิพากษามาข่มศาลได้ แต่อย่าลืมว่าการพิจารณาคดีไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อความต่อเนื่อง รวดเร็ว เป็นไปอย่างเปิดเผย แต่ต้องเป็นไปเพื่อมุ่งที่จะอำนวยความยุติธรรมให้แก่คู่ความทุกฝ่ายในคดีด้วย การเกรงว่าหากมีกฎหมายที่คุ้มครองหลักนี้แล้วจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งผู้พิพากษามากกว่าการมุ่งคุ้มครองหลักเช่นว่า มีแต่จะส่งผลให้ “ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม” ลดน้อยถอยลง

เราต่างทราบดีว่าผู้พิพากษาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่พระอิฐพระปูน เมื่อเป็นมนุษย์ความรู้สึกรัก โลภ โกรธ หลง ย่อมเกิดขึ้นได้ รวมไปถึงการมีทัศนคติหรืออุดมการณ์ทางการเมืองของตนเอง และทราบดีว่าผู้พิพากษามีความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี แต่หากตั้งคำถามต่อไปว่า “แล้วถ้ามนุษย์คนนั้นต้องมาทำหน้าที่ในการพิจารณาตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลอื่นล่ะ ความรู้สึกหรืออุดมการณ์ต่าง ๆ เหล่านั้นควรถูกจัดวางอย่างไรสำหรับการพิจารณาคดี” 

หากปล่อยให้ความไม่เป็นกลางของผู้พิพากษาเกิดขึ้นในการพิจารณาคดี หรือการตัดสินพิพากษาเปลี่ยนแปลงไปมาตามอุดมการณ์ทางการเมือง จะมีสิ่งใดที่เป็นหลักประกันและคุ้มครองสิทธิให้แก่คู่ความได้อีก และจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าข้อพิพาทที่นำขึ้นสู่ศาลจะถูกตัดสินชี้ขาดด้วยความเป็นธรรม ไม่เอนเอียงแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้พิพากษาจะต้องมีความเป็นกลางในการพิจารณาคดีด้วย แม้ว่าจะมีความรู้สึกส่วนตัวกับข้อเท็จจริงในคดีมากน้อยเพียงใด แต่เมื่อดำรงอยู่ในบทบาทของความเป็นผู้พิพากษาแล้ว ก็ต้องรับฟังและวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีนั้น ๆ ด้วยความเป็นกลางโดยอิงจากข้อเท็จจริงที่ถูกนำเสนอเข้ามาในคดี

ผู้เขียนเห็นว่า สิ่งที่ควร “เกิดขึ้น” ในการพิจารณาพิพากษาคดี คือศาลต้องดำเนินกระบวนพิจารณาด้วยความอิสระและมีความเป็นกลาง เมื่อเกิดขึ้นแล้วกฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมายควรกระทำให้สองสิ่งนี้ “ดำรงอยู่” และต้องมีมาตรการเพื่อคุ้มครองไม่ให้สองหลักนี้ “หายไป”

อย่างไรก็ดีในท้ายที่สุด หลักกฎหมายที่ชัดเจน ครอบคลุมและคุ้มครองหลักการพิจารณาคดีอย่างอิสระและเป็นกลาง ประกอบกับการปฏิบัติตามหลักการดังกล่าวอย่างเคร่งครัดของผู้พิพากษา จะเป็นหลักประกันให้แก่คู่ความว่าคดีถูกพิจารณาไปอย่างเป็นธรรม และการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมนี้เอง คือสิทธิมนุษยชนที่สำคัญในระบอบการปกครองเสรีประชาธิปไตย เป็นสิ่งหนึ่งที่จะใช้ในการจำกัดอำนาจรัฐ ซึ่งในที่นี้คืออำนาจตุลาการ ไม่ให้ดำเนินไปโดยมิชอบหรือถูกใช้ในทางที่ผิดได้ 

.

——————————-

อ้างอิงท้ายบทความ

  1. ร้อยตำรวจโท ถาวร เกษมะณี, หลักความเป็นกลางของศาล The Principle of Judicial Impartiality, 2551 (หน้า 28) ↩︎
  2. หลักการสากลว่าด้วยความเป็นอิสระและความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้พิพากษา ทนายความ และอัยการ แนวทางสำหรับนักปฏิบัติลำดับที่ 1, คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists), 2007 (หน้า 35) ↩︎
  3. หลัก Natural Law เป็นแนวคิดเกี่ยวกับความยุติธรรมซึ่งมีหลักคิดว่า ความยุติธรรมไม่ได้ขึ้นอยู่กับกฎหมายที่เขียนขึ้นหรือเกิดจากการบัญญัติของรัฐ แต่เกิดจากหลักการทางศีลธรรมและเหตุผลทั่วไปที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เป็นพื้นฐานของหลัก Natural Justice ที่มีหลักสำคัญว่า 
    1) ผู้พิพากษาต้องมีความเป็นกลาง ไม่มีผู้ใดสามารถเป็นผู้พิพากษาในคดีของตนเอง (No one shall be a judge in their own case)
    2) บุคคลมีสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (Right to a Fair Hearing) มีสิทธิที่จะรับฟังข้อกล่าวหาและมีโอกาสแสดงพยานหลักฐานตอบโต้ข้อกล่าวหานั้นได้อย่างเสมอภาค ↩︎
  4. Due Process of Law หรือ หลักวิถีทางที่ถูกต้องแท้จริง ในรัฐธรรมนูญอเมริกามีหลักการสำคัญที่เน้นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการกระทำของรัฐ โดยอยู่ใน บทแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 5 (Fifth Amendment) และ บทแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 14 (Fourteenth Amendment) ของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ โดยมีหลักการสังเขป คือ 
    1. Substantive Due Process รัฐต้องเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคล โดยกฎหมายที่ออกมาไม่ควรล่วงละเมิดสิทธิของบุคคลเว้นแต่มีเหตุผลอันสมควรและจำเป็น
    2. Procedural Due Process รัฐต้องปฏิบัติต่อบุคคลอย่างเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม เช่น บุคคลมีสิทธิที่จะได้รับแจ้งข้อกล่าวหา, บุคคลมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรม
    3. Equality Before the Law บุคคลย่อมเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย เป็นหลักที่ปรากฏในบทแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 14 กำหนดว่ารัฐไม่สามารถเลือกปฏิบัติต่อบุคคลใด ๆ โดยไม่เป็นธรรมได้ ↩︎
  5. ร้อยตำรวจโท ถาวร เกษมะณี, อ้างแล้ว (หน้า 19) ↩︎
  6. ยงยศ เอี่ยมทอง, หลักอินทภาษ หลักแห่งความยุติธรรม ดุลพาห กันยายน – ธันวาคม 2555 (หน้า 199) ↩︎
  7. พระยาจินดาภิรมย์ราชสภาบดี (จิตร์ วิเชียร, ณสงขลา) พระธรรมนูญศาลยุติธรรม กับพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความแพ่ง (ร.ศ.127) พ.ศ.2451 ตัวบทกับคำอธิบาย, พิมพ์ครั้งแรก พุทธศักราช 2461 ↩︎
  8. มาตรา 13 ถ้ามีเหตุที่จะคัดค้านได้อย่างใดอย่างหนึ่งดังที่กล่าวไว้ในสองมาตราก่อนเกิดขึ้นแก่ผู้พิพากษาคนใดที่นั่งในศาล
                    (1) ผู้พิพากษานั้นเองจะยื่นคำบอกกล่าวต่อศาลแสดงเหตุที่ตนอาจถูกคัดค้าน แล้วขอถอนตัวออกจากการนั่งพิจารณาคดีนั้นก็ได้
                    (2) คู่ความที่เกี่ยวข้องอาจยกข้อคัดค้านขึ้นอ้างโดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาล แต่ถ้าตนได้ทราบเหตุที่พึงคัดค้านได้ก่อนวันสืบพยาน ก็ให้ยื่นคำร้องคัดค้านเสียก่อนวันสืบพยานนั้น หรือถ้าทราบเหตุที่พึงคัดค้านได้ในระหว่างพิจารณา ก็ให้ยื่นคำร้องคัดค้านไม่ช้ากว่าวันนัดสืบพยานครั้งต่อไป แต่ต้องก่อนเริ่มสืบพยานเช่นว่านั้น
                    เมื่อได้ยื่นคำร้องดังกล่าวแล้ว ให้ศาลงดกระบวนพิจารณาทั้งปวงไว้ก่อนจนกว่าจะได้มีคำชี้ขาดในเรื่องที่คัดค้านนั้นแล้ว แต่ความข้อนี้มิให้ใช้แก่กระบวนพิจารณาซึ่งจะต้องดำเนินโดยมิชักช้า อนึ่ง กระบวนพิจารณาทั้งหลายที่ได้ดำเนินไปก่อนได้ยื่นคำร้องคัดค้านก็ดี และกระบวนพิจารณาทั้งหลายในคดีที่จะต้องดำเนินโดยมิชักช้า แม้ถึงว่าจะได้ดำเนินไปภายหลังที่ได้ยื่นคำร้องคัดค้านก็ดี เหล่านี้ย่อมสมบูรณ์ไม่เสียไป เพราะเหตุที่ศาลมีคำสั่งยอมฟังคำคัดค้าน เว้นแต่ศาลจะได้กำหนดไว้ในคำสั่งเป็นอย่างอื่น
                    ถ้าศาลใดมีผู้พิพากษาคนเดียว และผู้พิพากษาคนนั้นถูกคัดค้าน หรือถ้าศาลใดมีผู้พิพากษาหลายคน และผู้พิพากษาทั้งหมดถูกคัดค้าน ให้ศาลซึ่งมีอำนาจสูงกว่าศาลนั้นตามลำดับเป็นผู้ชี้ขาดคำคัดค้าน
                    ถ้าศาลใดมีผู้พิพากษาหลายคน และผู้พิพากษาที่มิได้ถูกคัดค้านรวมทั้งข้าหลวงยุติธรรม ถ้าได้นั่งพิจารณาด้วยมีจำนวนครบที่จะเป็นองค์คณะและมีเสียงข้างมากตามที่กฎหมายต้องการ ให้ศาลเช่นว่านั้นเป็นผู้ชี้ขาดคำคัดค้าน แต่ในกรณีที่อยู่ในอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวจะชี้ขาดคำคัดค้าน ห้ามมิให้ผู้พิพากษาคนนั้นมีคำสั่งให้ยกคำคัดค้าน โดยผู้พิพากษาอีกคนหนึ่งหรือข้าหลวงยุติธรรมมิได้เห็นพ้องด้วย
                    ถ้าศาลใดมีผู้พิพากษาหลายคน และผู้พิพากษาที่มิได้ถูกคัดค้าน แม้จะนับรวมข้าหลวงยุติธรรมเข้าด้วย ยังมีจำนวนไม่ครบที่จะเป็นองค์คณะและมีเสียงข้างมากตามที่กฎหมายต้องการ หรือถ้าผู้พิพากษาคนเดียวไม่สามารถมีคำสั่งให้ยกคำคัดค้านเสียด้วยความเห็นพ้องของผู้พิพากษาอีกคนหนึ่ง หรือข้าหลวงยุติธรรมตามที่บัญญัติไว้ในวรรคก่อน ให้ศาลซึ่งมีอำนาจสูงกว่าศาลนั้นตามลำดับเป็นผู้ชี้ขาดคำคัดค้าน ↩︎
  9. http://old-book.ru.ac.th/e-book/l/LW306/chapter8.pdf เอกสารประกอบการสอน, ไม่ระบุผู้แต่ง ↩︎

.

X