ปัญหาการโอนย้ายคดีพลเรือนจากศาลทหาร: จากความยาวนานไม่สิ้นสุดสู่ภาวะสุญญากาศ

ก่อนสิ้นสภาพหัวหน้า คสช.  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 9/2562 ลงวันที่ 9 ก.ค. 62 โดยส่วนหนึ่งของคำสั่งนี้ได้ให้โอนย้ายคดีทางการเมืองและคดีของพลเรือนที่ คสช. เคยประกาศให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ไปอยู่ในอำนาจของศาลพลเรือน โดยไม่กระทบกระเทือนถึงกระบวนพิจารณาใดๆ ที่ได้กระทำไปแล้วในศาลทหาร

ในช่วงเดือนกันยายนและสิงหาคมที่ผ่านมา ศาลทหารทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ซึ่งยังมีคดีพลเรือนคงค้างอยู่ ได้ทยอยเรียกตัวจำเลยมาฟังคำสั่ง โดยสั่งให้งดการพิจารณา และจำหน่ายคดีต่างๆ ออกจากสารบบ เพื่อโอนย้ายให้ไปพิจารณาในศาลพลเรือน และสั่งให้มีหนังสือไปยังสำนักงานศาลยุติธรรมเพื่อดำเนินการทางคดีต่อไป

แต่จนถึงปัจจุบัน (กลางเดือนตุลาคม 2562) คดีส่วนใหญ่ยังไม่ได้ถูกดำเนินการโอนย้ายสำนวนต่อไปยังศาลพลเรือนจนเสร็จสิ้นแต่อย่างใด และกระบวนการดำเนินคดีต่อไปก็ยังไม่ได้เริ่มขึ้น ทำให้คดีแทบทั้งหมดอยู่ในภาวะสุญญากาศ อันส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้ถูกดำเนินคดี เมื่อจำเลยบางคนยังคงถูกคุมขังในเรือนจำ หรือจำเลยหลายคนอยู่ระหว่างการพิจารณามากว่า 5 ปี โดยศาลยังไม่มีคำพิพากษา โดยที่คดีจำนวนมากยังไม่ควรเป็นคดีมาตั้งแต่ต้นด้วยซ้ำ

ที่สุดแล้ว การดำเนินคดีเหล่านี้ต่อไป ยังสะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมและการใช้ “กระบวนการยุติธรรม” เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อปราบปรามผู้เห็นต่าง ซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในยุค คสช. และยังดำรงอยู่ต่อไป แม้ไม่มี คสช. แล้วก็ตาม

 

ภาวะยาวนานไม่สิ้นสุดในศาลทหาร: ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรม

“ผมไม่ใช่สัตว์ ผมเป็นคน ผมเป็นคน” เมื่ออยู่ต่อหน้าศาล นายอาเด็มซึ่งมีน้ำตาคลอเบ้า ได้เลิกเสื้อขึ้นให้ศาลดูรอยช้ำตามตัว และกล่าวผ่านล่ามว่า เฉพาะในเดือนนี้เขาถูกซ้อมทรมานถึงสองครั้งในเรือนจำ ด้านนายเมียไรลีได้กล่าวขอความช่วยเหลือก่อนขึ้นศาลว่า “พวกเราบริสุทธิ์ ช่วยเราด้วย สิทธิมนุษยชนอยู่ที่ไหน?” (รายงานข่าวจากบีบีซีไทยเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2559)

ผ่านมา 3 ปีกว่า จำเลยทั้งสองคนซึ่งร้องเรียนต่อศาลว่าถูกเจ้าหน้าที่รัฐซ้อมทรมาน ถูกย้ายที่คุมขังจากเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี ภายในมณฑลทหารบกที่ 11 ไปยังเรือนจำชั่วคราวแขวงทุ่งสองห้อง พร้อมกับโอนย้ายคดีจากศาลทหารไปพิจารณาในศาลพลเรือน

ผ่านมา 3 ปีกว่า หากคดีนี้ยังพิจารณาไม่เสร็จสิ้น ผู้เสียหายก็ไม่อาจได้รับการเยียวยา เพราะการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง จะต้องรอให้คดีอาญาสืบพยานจนเสร็จสิ้นและมีคำพิพากษาก่อน

ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) ภาษิตกฎหมายที่สนับสนุนสิทธิการเข้าถึงการพิจารณาคดีอย่างรวดเร็ว เพราะความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรมนั้นส่งผลต่อการเยียวยาผู้เสียหาย และความเชื่อมั่นต่อองค์กรศาล ในความล่าช้านั้น อาจใช่เพียงผู้เสียหายที่ไม่ได้รับการเยียวยา แต่กระทบไปถึงพิสูจน์ข้อเท็จจริงในชั้นศาล เมื่อพยานหลงลืมรายละเอียดของเรื่องราวที่เกิดขึ้น ไปจนถึงการตัดสินใจรับสารภาพของจำเลยเพื่อให้คดีสิ้นสุดลงโดยเร็ว

ตั้งแต่ 25 พ.ค. 2557 ศาลทหารถูกใช้ดำเนินคดีพลเรือนในฐานความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์, ความมั่นคงของชาติ, ข้อหาเกี่ยวกับอาวุธ และการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งของ คสช. จากตัวเลขของกรมพระธรรมนูญเอง เมื่อปี 2561 มีจำนวนพลเรือนถูกดำเนินในศาลทหารอย่างน้อย 2,408 ราย

ประเด็นหนึ่งที่ศาลทหารถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่เสมอ คือความล่าช้าในการพิจารณาคดี โดยเฉพาะในคดีที่จำเลยต่อสู้คดี รูปแบบการนัดสืบพยานในศาลทหารนั้น ไม่ได้มีการนัดพิจารณาคดีที่ต่อเนื่อง แต่ใช้ระบบนัด 3-4 เดือนต่อหนึ่งนัด ทั้งไม่ได้สืบพยานทั้งวัน และหลายครั้งยังมีการเลื่อนสืบพยานบ่อยครั้ง ทำให้คดีไม่มีความต่อเนื่อง นำไปสู่ความล่าช้าอย่างมากเมื่อเทียบกับศาลยุติธรรม (ดูในรายงาน ความล่าช้าในศาลทหาร: คดีพลเรือนยังดำเนินอยู่ แม้ไร้เงา คสช.)

หลายคดีที่ดำเนินมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 5 ปีเศษแล้ว ยังสืบพยานไม่แล้วเสร็จ อาทิเช่น คดีของวรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการผู้ถูกกกล่าวหาเรื่องการไม่ไปรายงานตัวกับ คสช., คดีของจาตุรนต์ ฉายแสง และคดีของสมบัติ บุญงามอนงค์ ในข้อหาตามมาตรา 116 จากการแสดงออกต่อต้านการยึดอำนาจ, คดีของสิรภพ ที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 หรือคดีขอนแก่นโมเดล ที่ถูกกล่าวหาเกี่ยวข้องกับอาวุธ เป็นต้น

คดีอันดำเนินไปอย่างล่าช้าเหล่านี้ กำลังถูกส่งทอดมาสืบพยานต่อในศาลพลเรือน ซึ่งอาจทำให้คดีรวดเร็วขึ้น แต่ก็ยังคงมีประเด็นปัญหาและคำถามหลายประการที่เกิดขึ้นจากกระบวนการโอนย้ายคดีนี้

 

ตัวอย่างการโอนย้ายคดีสราวุทธิ์: ต้องยื่นประกันตัวใหม่ถูกคุมตัวในห้องขังอาจต้องเพิ่มเงินประกันตัว

คดีมาตรา 112 ของนายสราวุทธิ์ ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 37 จังหวัดเชียงราย นับเป็นคดีแรก (เท่าที่ทราบ) ที่มีการเริ่มกระบวนการโอนย้ายไปยังศาลพลเรือนแล้ว

คดีนี้จำเลยถูกสั่งฟ้องต่อศาลทหารมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 59 จนถึงเดือนก.ค. 62 เป็นเวลา 2 ปี 7 เดือน การสืบพยานในศาลทหารดำเนินไปได้จำนวน 7 ปาก และยังต้องสืบพยานโจทก์-จำเลยที่เหลืออีก 7 ปาก ต่อในศาลพลเรือน

ในขั้นตอนโอนย้ายคดี หลังจากศาลทหารสั่งให้จำหน่ายคดีไปเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 62  ในช่วงปลายเดือนกันยายน เจ้าหน้าที่ศาลทหารเชียงรายได้ติดต่อนัดหมายจำเลยไปส่งตัวและส่งสำนวนคดีให้ศาลจังหวัดเชียงราย ในวันที่ 30 ก.ย. 62

คดีของสราวุทธิ์ ที่จังหวัดเชียงราย เป็นตัวอย่างคดีแรกที่มีรายงานขั้นตอนการโอนย้ายคดีไปยังศาลพลเรือน โดยจำเลยต้องถูกคุมตัวเพื่อรอประกันตัวซ้ำอีกครั้ง

ก่อนวันนัด เจ้าหน้าที่ศาลจังหวัดเชียงรายได้ระบุกับทนายความจำเลย ว่าการโอนย้ายคดีต้องมีการยื่นประกันตัวใหม่ และต้องมีการเตรียมหลักทรัพย์เพิ่มเติมจากที่ใช้เงินประกันตัวในศาลทหารเดิม จำนวน 100,000 บาท เนื่องจากหลักทรัพย์ประกันในศาลทหารน้อยเกินไป สำหรับศาลยุติธรรมนั้น จะต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัวเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท หรือหลักทรัพย์ที่มีราคาประเมินไม่ต่ำกว่า 280,000 บาท ทำให้ทางจำเลยต้องมีการติดต่อขอยืมเงินและโฉนดที่ดินเอาไว้ เพื่อเตรียมประกันตัวใหม่ในศาลจังหวัดเชียงราย

ในวันนัด ตุลาการของศาลทหารและเจ้าหน้าที่ศาลทหารได้เดินทางมาเป็นผู้ติดต่อประสานงาน ส่งสำนวนคดีให้ศาลพลเรือน และมอบเงินประกันตัวเดิม คืนให้ฝ่ายจำเลย  หลังจากการพูดคุย โดยฝ่ายจำเลยยืนยันว่าไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี และเดินทางมาศาลตลอดการพิจารณาคดีที่ผ่านมา ในที่สุดศาลจังหวัดเชียงรายก็อนุญาตให้ประกันตัวจำเลย ด้วยหลักทรัพย์จำนวนเท่าเดิม คือ 1 แสนบาท

หากระหว่างการยื่นประกันตัวใหม่ จำเลยยังได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจของศาลควบคุมตัวไปยังห้องขังใต้ถุนศาล เพื่อรอคำสั่งศาล เป็นเวลากว่า 6 ชั่วโมง ก่อนจะได้รับการประกันตัว

จะเห็นได้ว่าขั้นตอนการโอนย้ายดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อสิทธิของจำเลย โดยนอกจากฝ่ายจำเลยจะต้องมีภาระในการมาศาลใหม่ และยังต้องสูญเสียอิสรภาพ ถูกควบคุมตัวในห้องขังซ้ำอีก จากการต้องยื่นประกันตัวใหม่อีกครั้ง แม้จะเคยได้รับการอนุญาตให้ประกันตัวหลังมีการสั่งฟ้องคดีมาแล้วก็ตาม 

นอกจากนั้น จำเลยยังอาจถูกเรียกเงินประกันตัวเพิ่มเติมจากเดิม ขึ้นกับดุลยพินิจของศาลพลเรือนแต่ละท้องที่ ทำให้หากเกิดกรณีที่ต้องเพิ่มหลักทรัพย์ประกันตัว และจำเลยไม่ได้มีเงินเพียงพอ อาจทำให้จำเลยในกรณีนั้นต้องสูญเสียอิสรภาพในระยะยาว คือถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาในการพิจารณาคดีที่เหลือต่อไป

 

ภาวะสุญญากาศเมื่อการโอนย้ายคดียังไม่เสร็จสิ้น กับการสูญเสียสิทธิของจำเลย

นอกจากปัญหาเรื่องต้องยื่นประกันตัวใหม่ การถูกคุมตัวซ้ำ และการอาจถูกเรียกหลักทรัพย์ประกันตัวเพิ่มเติมแล้ว ภาวะของความล่าช้าในกระบวนการโอนย้ายคดี ยังส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อสิทธิของจำเลยบางส่วน โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างต่อสู้คดี

แม้ในทางกฎหมาย คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 9/2562 จะมีผลทำให้คดีพลเรือนต่างๆ ที่เคยอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร ถูกโอนย้ายไปอยู่ในอำนาจของศาลพลเรือนแล้ว แต่ขั้นตอนในทางปฏิบัตินั้น สำนวนคดีเหล่านั้นยังอยู่กับศาลทหาร และมีช่วงเวลาที่ต้องรอคอยกระบวนการโอนย้ายคดี ทำให้คดีดังกล่าวยังไม่ถูกโอนไปยังศาลพลเรือนโดยสมบูรณ์ ยังไม่ได้มีเลขคดีในศาลพลเรือน และไม่มีสำนวนให้ศาลพลเรือนพิจารณา

ภาวะกึ่งกลางนี้เอง ทำให้เกิด “สุญญากาศ” ในคดีเกิดขึ้น กล่าวคือยังไม่ได้มีศาลใดเลยที่มีอำนาจสั่งคดีนั้นๆ ได้  ภาวะนี้เองที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิของจำเลยอย่างมาก โดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวข้องกับอาวุธ ซึ่งจำเลยไม่ได้รับการประกันตัว หรือก่อนหน้านี้ไม่ได้มีหลักทรัพย์เพียงพอในการยื่นขอประกันตัว (ดูรายงานเรื่องคดีอาวุธในศาลทหาร)

อาทิเช่น คดีปาระเบิดและจ้างวานปาระเบิดศาลอาญา ซึ่งมีจำเลย 4 คนยังถูกคุมขังในเรือนจำมาเป็นระยะเวลา 4 ปีกว่าแล้ว ในช่วงนี้เอง จำเลยบางรายต้องการยื่นขอประกันตัว เนื่องจากพอรวบรวมหลักทรัพย์ได้ แต่ก็ยังไม่สามารถยื่นต่อศาลใดได้เลย เนื่องจากคดียังถูกโอนย้ายไม่เสร็จสิ้น ทำให้สูญเสียสิทธิในการขอปล่อยตัวชั่วคราวไป

หรือตัวอย่างในคดีธเนตร อนันตวงษ์ ซึ่งถูกกล่าวหาตามมาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์ คสช. และความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม กรณีนี้จำเลยไม่ได้รับการประกันตัว เนื่องจากก่อนหน้านี้เขาเคยไม่ได้เดินทางไปศาลตามนัด ทำให้หลังเข้ามอบตัวใหม่ ศาลทหารไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้เขาถูกคุมขังมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2559 เป็นเวลา 3 ปี 3 เดือนแล้ว โดยที่คดีก็ยังไม่เสร็จสิ้นและมีการเลื่อนสืบพยานบ่อยครั้ง  การโอนย้ายคดีมายังศาลพลเรือน จึงเป็นโอกาสให้จำเลยรายนี้สามารถยื่นขอประกันตัวใหม่ เพื่อให้ศาลมีดุลยพินิจใหม่ได้ แต่ก็ยังไม่สามารถยื่นได้ จนกว่าขั้นตอนการโอนย้ายคดีจะเสร็จสิ้น

ภาวะสุญญากาศในคดีเหล่านี้ ยังไม่ได้มีระยะเวลาที่แน่นอนอีกด้วย เนื่องจากคำสั่งการโอนย้ายคดีนั้น ไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลา ว่าต้องเสร็จสิ้นภายในระยะเวลาเท่าใด ในแต่ละท้องที่ กระบวนการอาจดำเนินไปในภาวะเร็วหรือช้าไม่เหมือนกัน ทำให้จำเลยแต่ละคดีไม่สามารถคาดเดาระยะเวลาได้เลย

ธเนตร อนันตวงษ์ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารนำตัวส่งกองปราบปราม เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 58 ปัจจุบันเขายังถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างพิจารณาคดีมา 3 ปี 3 เดือนแล้ว (ภาพโดย Bannrasdr Photo)

 

ข้อกังวลเรื่องการพิจารณาต่อในศาลพลเรือน: ศาลพิพากษาโดยไม่เคยพิจารณาคดีมาก่อน สิทธิในการอุทธรณ์-ฎีกา และการชดเชยเยียวยา 

ขณะเดียวกัน การพิจารณาคดีของพลเรือน ที่จะดำเนินต่อไปในศาลยุติธรรมนั้น ยังมีข้อน่ากังวลอีกประการหนึ่ง คือเมื่อผู้พิพากษาในศาลพลเรือน ที่ต้องรับสำนวนคดีที่เคยถูกพิจารณาในศาลทหารมาดำเนินการต่อนั้น ไม่เคยได้พิจารณาคดีนั้นๆ มาก่อน ไม่เคยได้ดำเนินการสืบพยานด้วยเอง จึงไม่เคยเห็นอากัปกริยาของพยานและจำเลย แต่จะต้องจัดทำคำพิพากษาคดีนั้นๆ ทันที โดยพิจารณาจากเพียงสำนวนเอกสารที่เคยดำเนินมาในศาลทหาร

ตัวอย่างสำคัญ ได้แก่ คดีของบัณฑิต อาร์ณีญาญ์ นักเขียนอิสระ ที่ถูกกล่าวหาในข้อหามาตรา 112 ถึง 2 คดี ในคดีแรกที่เขาถูกกล่าวหาเรื่องการแสดงความเห็นในที่ประชุมพรรคนวัตกรรมไทย เมื่อปี 2557 ได้มีการสืบพยานในศาลทหารมาจนเสร็จสิ้นในเดือน มี.ค. 62 แล้ว แต่เมื่อถึงวันนัดฟังคำพิพากษา คือวันที่ 24 มิ.ย. 62 ศาลทหารกรุงเทพได้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไป และจากนั้นต้นเดือน ส.ค. 62 คดีกลับถูกสั่งโอนย้ายไปยังศาลยุติธรรม ทำให้ศาลพลเรือนจะต้องเข้ามารับหน้าที่ในการจัดทำคำพิพากษาในคดีนี้ต่อ โดยที่ไม่เคยพิจารณาคดีมาก่อนแต่อย่างใด

บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ นักเขียนอิสระ ผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในยุค คสช. ถึง 2 คดี โดยคดีหนึ่งจะถูกพิพากษาโดยศาลพลเรือน ซึ่งไม่ได้พิจารณาคดีมาก่อนหน้านั้นเลย

หรือในบางคดีที่มีการพิจารณาจนใกล้เสร็จสิ้นมาแล้วในศาลทหาร เหลือเพียงการสืบพยานอีกไม่กี่ปาก อาทิเช่น คดีสมบัติ บุญงามอนงค์ ข้อหามาตรา 116 ซึ่งในช่วงก่อนหน้านี้ อยู่ระหว่างการสืบพยานจำเลยแล้ว จึงต้องจับตาการจัดทำคำพิพากษาที่จะถูกโอนมาอยู่ในอำนาจของศาลพลเรือน

นอกจากนั้น การโอนย้ายคดียังมีคำถามสำคัญ เรื่องสิทธิในการได้รับการทบทวนคำพิพากษาโดยศาลที่สูงขึ้นไป โดยในคดีของพลเรือนที่เหตุระหว่างการประกาศกฎอัยการศึกหลังรัฐประหาร 2557 (ระหว่างช่วงวันที่ 20 พ.ค. 57- 1 เม.ย. 58) เคยถูกห้ามอุทธรณ์หรือฎีกาในศาลทหาร การพิจารณาเสร็จสิ้นภายในศาลทหารศาลเดียว ก็มีปัญหาว่าหากโอนคดีไปศาลยุติธรรมแล้ว และมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่เขียนโดยศาลยุติธรรมแล้ว คู่ความในคดีจะสามารถขออุทธรณ์-ฎีกาใหม่ได้หรือไม่

ขณะเดียวกัน ในส่วนคดีที่สิ้นสุดลงไปแล้วผ่านการพิจารณาพิพากษาในศาลทหารชั้นเดียว และจำเลยเคยไม่สามารถอุทธรณ์-ฎีกาได้ ในกรณีที่จำเลยรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมจากศาลทหาร และประสงค์จะให้มีการพิพากษาใหม่ จะสามารถยื่นขออุทธรณ์คดีต่อศาลพลเรือนได้อีกหรือไม่

กล่าวอย่างถึงที่สุด การโอนคดีในศาลทหารมาพิจารณาในศาลยุติธรรมเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีมาตรการอื่นๆ มารองรับ ไม่ได้เป็นการดำเนินการที่สามารถชดเชยเยียวยาผู้ที่ถูกดำเนินคดี จากกระบวนการพิจารณาที่มีปัญหาไม่สอดคล้องกับหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ในยุค คสช. ได้แต่อย่างใด

 

การรับช่วง “กระบวนการยุติธรรมปิดปาก” ของศาลพลเรือน

หากพิจารณาไกลออกไปจากปัญหาเชิงกระบวนการ คดีจำนวนมากของพลเรือนที่เคยถูกพิจารณาในศาลทหารนั้น ไม่ควรกลายเป็นคดีตั้งแต่ต้น อาทิเช่น คดีที่ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็นทางการเมือง, คดีที่ประชาชนใช้สิทธิในการชุมนุมหรือแสดงออกต่อต้านรัฐประหารโดยสงบ, คดีไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. หรือคดีที่มีการใช้ข้อกล่าวหาทางกฎหมายต่างๆ อย่างขยายความและบิดเบี้ยวมากล่าวหาสร้างภาระให้กับประชาชน

ภาวะการใช้ “กฎหมาย” เป็นเครื่องมือทางการเมือง และใช้ “กระบวนการยุติธรรม” เป็นเครื่องมือในการควบคุม ปิดกั้น และปิดปากการแสดงออกของประชาชน (SLAPP) ซึ่ง คสช. ใช้เป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งในการควบคุมอำนาจของตนนั้น คดีความของพลเรือนจำนวนมากในยุค คสช. ที่ยังไม่สิ้นสุดลง จึงเป็นส่วนหนึ่งของมรดกการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารซึ่งยังคงดำรงสืบเนื่องมา

คดีพลเรือนที่เคยถูกพิจารณาในศาลทหาร ล้วนเกิดขึ้นโดยกระบวนการยุติธรรมที่ชี้นำโดยทหาร (ดูในรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน) ทั้งคดีส่วนใหญ่ในช่วงหลังรัฐประหารใหม่ๆ เริ่มต้นมาจากผู้ต้องหา/จำเลยถูกควบคุมตัวไปซักถามในค่ายทหาร บันทึกซักถามเหล่านี้กลายเป็นพยานหลักฐาน ที่นำไปใช้ขอศาลทหารออกหมายจับ มีนายทหารของคสช. เป็นผู้กล่าวหา เข้ามาร่วมสอบสวน และการพิจารณาสั่งฟ้องคดีก็เกิดขึ้นอัยการทหาร ที่ไม่ได้มีความเป็นอิสระ และอยู่ภายใต้ระบบการบังคับบัญชาของกระทรวงกลาโหมทั้งหมด

คำถามสำคัญ คือทั้งที่ คสช. สิ้นสภาพลงไปแล้ว ยังสมควรหรือไม่ที่ “กระบวนการยุติธรรมปกติ” ทั้งอัยการพลเรือนและศาลพลเรือน ต้องรับช่วงกระบวนการพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้มาดำเนินต่อไปอีก 

ความเห็นในการสั่งฟ้องคดี หรือความเห็นทางกฎหมายในคดีต่างๆ ที่เคยมีโดยอัยการทหาร สมควรจะถูกส่งทอด มาดำเนินต่อโดยอัยการพลเรือนอีกหรือไม่  

และถึงที่สุดแล้วองค์กรในกระบวนการยุติธรรมตามปกติ สมควรจะเป็นส่วนหนึ่งในฐานะเครื่องมือและกลไกของระบอบแห่งการรัฐประหารที่ผ่านพ้นไปแล้วนั้น ต่อไปอีกหรือไม่

 

 

X