หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 ลงวันที่ 9 ก.ค. 2562 ให้โอนย้ายคดีในความผิดบางประเภทที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยประกาศให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ให้ไปอยู่ในอำนาจของศาลพลเรือน โดยไม่กระทบกระเทือนถึงกระบวนพิจารณาใดๆ ที่ได้กระทำไปแล้วในศาลทหาร ประมาณเดือนสิงหาคม 2562 ศาลทหารจึงทยอยออกคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลทหารทั่วประเทศ ในจำนวนนี้เป็นคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือจำนวน 21 คดี และคดีที่ติดตามจำนวน 3 คดี
ล่าสุด ในสัปดาห์นี้ ศาลอาญากำหนดนัดพร้อม 12 คดี ระหว่างวันที่ 27 – 29 ม.ค. 2563 โดยในวันดังกล่าวผู้พิพากษาศาลอาญาเจ้าของสำนวนคดีจะกำหนดวันนัดเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป และสั่งให้จำเลยในคดีเหล่านั้นทำสัญญาประกันใหม่ โดยศาลอาญาต้องพิจารณาว่าจะให้ใช้หลักทรัพย์และเงื่อนไขข้อกำหนดตามสัญญาประกันเดิมที่จำเลยเคยยื่นไว้ที่ศาลทหารกรุงเทพหรือไม่
ลำดับคดี | ชื่อผู้ถูกดำเนินคดี | ข้อหา | พฤติการณ์ที่เป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดี | สถานะคดี |
27 มกราคม 2563 เวลา 9.00 น. | ||||
1 | สิรภพ – นักเขียนและประกอบธุรกิจ คดีหมายเลขดำที่ อ. 3032/2562 | หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ (ม. 112), พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ฯ | ลงบทกลอนและภาพการ์ตูนล้อเลียน จำนวน 3 ครั้ง ในเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ | สืบพยานโจทก์ |
2 | บัณฑิต – นักเขียนและนักแปลอาวุโส คดีหมายเลขดำที่ อ. 3037/2562 | หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ (ม. 112) | แสดงความเห็นในงานเสวนาของพรรคนวัตกรรมไทย | รอฟังคำพิพากษา |
3 | เสาร์ – ผู้ป่วยจิตเภท คดีหมายเลขดำที่ อ. 3038/2562 | หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ (ม. 112) | เขียนคำร้องให้ศาลฯ ทวงเงินของรัชกาลที่ 9 จากพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร | สืบพยานจำเลย |
28 มกราคม 2563 เวลา 9.00 น. | ||||
4 | มหาหิน กับพวกรวม 14 คน คดีหมายเลขดำที่ อ. 3045/2562 | ข้อหาเกี่ยวกับอาวุธ | ปาระเบิดเข้าไปในบริเวณลานจอดรถศาลอาญา | สืบพยานโจทก์ |
5 | สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด – นักกิจกรรม คดีหมายเลขดำที่ อ. 3052/2562 | ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน (ม. 116), พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ | โพสต์เฟซบุ๊ก ชวนคนไปชูสามนิ้วที่แมคโดนัลด์ราชประสงค์ | สืบพยานจำเลย |
6 | พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ – นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับ คดีหมายเลขดำที่ อ. 3046/2562 | ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน (ม. 116), พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ | เดินเท้าจากบ้านเพื่อไปรายงานตัวที่ สน.ปทุมวัน ในคดี “เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก” ซึ่งถูกดำเนินคดีข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป | สืบพยานโจทก์ |
7 | บัณฑิต – นักเขียนและนักแปลอาวุโส คดีหมายเลขดำที่ อ. 3049/2562 | หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ (ม. 112) | แสดงความเห็นในงานเสวนา ต่อร่างรัฐธรรมนูญที่มีการร่างภายใต้รัฐบาล คสช. | สืบพยานโจทก์ |
8 | เจริญ – รับจ้างทั่วไป คดีหมายเลขดำที่ อ. 3051/2562 | ข้อหาเกี่ยวกับอาวุธ | ถูกกล่าวหาว่าครอบครอง RGD5 จำนวน 20 ลูก | สืบพยานโจทก์ |
9 | ฤาชา – ผู้ป่วยจิตเภท คดีหมายเลขดำที่ อ. 3054/2562 | หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ (ม. 112), พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ฯ | โพสต์ข้อความเฟซบุ๊ก รวม 5 ครั้ง | จำหน่ายคดีชั่วคราว เนื่องจากแพทย์วินิจฉัยว่าฤาชายังมีอาการของโรคจิตเภท ไม่สามารถต่อสู้คดีในศาลได้ |
29 มกราคม 2563 เวลา 9.00 น. | ||||
10 | สุภาพร กับพวกรวม 6 คน คดีหมายเลขดำที่ อ. 3060/2562 | ข้อหาเกี่ยวกับอาวุธ | ปาระเบิดศาลอาญา (เหตุโอนเงิน) | สืบพยานโจทก์ |
11 | พัฒน์นรี – มารดาสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์/ จ่านิว คดีหมายเลขดำที่ อ. 3059/2562 | หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ (ม. 112), พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ฯ | ตอบข้อความในแชทด้วยคำว่า “จ้า” กับบุรินทร์ ซึ่งรับสารภาพในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์แล้ว | สืบพยานโจทก์ |
12 | อัญชัญ – รับราชการ คดีหมายเลขดำที่ อ. 3065/2562 | หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ (ม. 112), พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ฯ | แชร์ข้อความเสียงที่จัดทำโดยผู้ใช้นามแฝงว่า ‘บรรพต’ จำนวน 29 ครั้ง รวมเป็นจำนวน 19 คลิป ในเฟซบุ๊กและยูทูบ | สืบพยานโจทก์ |
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2563 ศาลจังหวัดสมุทรปราการได้นัดพร้อมกำหนดวันพิจารณาใน คดีฐนกร “หมิ่นสุนัขทรงเลี้ยง – แชร์ผังราชภักดิ์ฯ – ไลค์เพจหมิ่นฯ” โดยกำหนดนัดสืบพยาน ระหว่างวันที่ 24 – 26 มิ.ย. 2563 ทุกนัดเริ่มเวลา 9.00 – 16.00 น. และคดีประชามติบางเสาธง ศาลกำหนดวันตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 2 มี.ค. 2563 เวลา 13.30 น.
การรับช่วง “กระบวนการยุติธรรมปิดปาก” ของศาลพลเรือน
หากพิจารณาไกลออกไปจากปัญหาเชิงกระบวนการ คดีจำนวนมากของพลเรือนที่เคยถูกพิจารณาในศาลทหารนั้น ไม่ควรกลายเป็นคดีตั้งแต่ต้น อาทิเช่น คดีที่ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็นทางการเมือง, คดีที่ประชาชนใช้สิทธิในการชุมนุมหรือแสดงออกต่อต้านรัฐประหารโดยสงบ, คดีไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. หรือคดีที่มีการใช้ข้อกล่าวหาทางกฎหมายต่างๆ อย่างขยายความและบิดเบี้ยวมากล่าวหาสร้างภาระให้กับประชาชน
ในภาวะการใช้ “กฎหมาย” เป็นเครื่องมือทางการเมือง และใช้ “กระบวนการยุติธรรม” เป็นเครื่องมือในการควบคุม ปิดกั้น และปิดปากการแสดงออกของประชาชน (SLAPP) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการดำรงไว้ซึ่งอำนาจของ คสช. นั้น ทำให้เกิดคดีความของพลเรือนจำนวนมากในยุค คสช. ที่ยังไม่สิ้นสุดลง แม้จำเลยบางคนจะถูกดำเนินคดีมากว่า 5 ปีแล้ว อันถือเป็นส่วนหนึ่งของมรดกการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารซึ่งยังคงดำรงสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน
อ่านเพิ่มเติม
- ปัญหาการโอนย้ายคดีพลเรือนจากศาลทหาร: จากความยาวนานไม่สิ้นสุดสู่ภาวะสุญญากาศ
- ความล่าช้าในศาลทหาร: คดีพลเรือนยังดำเนินอยู่ แม้ไร้เงา คสช.
- คดีแรก! ศาลทหารส่งสำนวนคดี “ช่างตัดแว่น เชียงราย” ให้ศาลยุติธรรม จำเลยต้องประกันตัวใหม่
ทั้งนี้ เมื่อปลายปี 2562 สำนักงานอัยการสูงสุดให้สัมภาษณ์ไว้ว่าคดีที่โอนย้ายมาที่สำนักงานอัยการคดีอาญาที่จะเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญา มีทั้งสิ้น 43 เรื่อง โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม พร้อมการดำเนินการในแต่ละกลุ่มคดี ดังนี้
- คดีที่อัยการศาลทหาร ได้ยื่นฟ้องเป็นคดีในศาลทหารไว้จนสืบพยานเสร็จแล้ว เพียงแต่รอฟังคำพิพากษา กลุ่มนี้เมื่อโอนคดีไปยังศาลยุติธรรม ศาลก็จะทำคำพิพากษาไปแล้วเข้าสู่กระบวนการอุทธรณ์-ฎีกาตามกฎหมายศาลยุติธรรมตามปกติ
- คดีที่อัยการศาลทหารสั่งฟ้องแล้ว แต่ยังจับตัวมาฟ้องไม่ได้โดยมีหมายจับของศาลทหารอยู่ กรณีนี้ก็ต้องแจ้งให้พนักงานสอบสวนในพื้นที่นั้นดำเนินการขอเพิกถอนหมายจับเดิมของศาลทหารก่อน จากนั้นไปขอหมายจับใหม่กับศาลยุติธรรมแล้วส่งมาให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดที่รับผิดชอบคดีนั้นๆ เพื่อจะแจ้งสั่งตามกระบวนการให้ติดตามตัวบุคคลนั้นมาฟ้องศาลภายในอายุความ
- คดีที่ฟ้องแล้วในศาลทหาร และอัยการศาลทหารได้สืบพยานไปแล้วบางส่วน ยังเหลือพยานที่ต้องสืบต่ออีกก็จะเป็นภารกิจของพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดต้องตามพยานที่เหลือนั้นมาสืบต่อให้เสร็จในศาลยุติธรรม เพื่อที่คดีจะมีคำพิพากษาโดยศาลยุติธรรมต่อไป และ
- คดีที่อัยการศาลทหารฟ้องคดีแล้ว แต่ยังไม่เริ่มสืบพยานใดๆ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ก็ต้องดำเนินการสืบพยานตามบัญชีที่อัยการศาลทหารเคยระบุไว้ต่อไปให้จบ