แถลงการณ์ประเด็น ม.112 จากคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล: ทำลายความเป็นไปได้ในการปรับตัวของระบอบการเมืองต่อความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย

ตามที่เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย (เรื่องพิจารณาที่ 10/2567) จากคำร้องคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ยุบพรรคก้าวไกล จากเหตุที่พรรคก้าวไกลนำเสนอนโยบายในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นนโยบายหาเสียง รวมไปถึงการเข้าเป็นนายประกันคดีมาตรา 112 หรือการที่ผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ศาลอ้างว่าเป็นพฤติการณ์ล้มล้างการปกครอง และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) ทั้งยังตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นระยะเวลา 10 ปี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในคดีที่ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก มีความห่วงกังวลถึงผลกระทบจากคำวินิจฉัยดังกล่าว รวมไปถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ดังต่อไปนี้

1. การเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น สามารถกระทำได้ ทั้งในทางนโยบายการหาเสียง และเสนอร่างตามกระบวนการทางนิติบัญญัติ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดขั้นตอนการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญไว้ทั้งก่อนและหลังการผ่านร่างพระราชบัญญัติ การตีความว่าการเสนอร่างกฎหมายใด ๆ เป็นไปเพื่อล้มล้างการปกครอง เป็นการตีความที่ไกลเกินกว่าเหตุ และอาจเข้าข่ายการใช้อำนาจตุลาการก้าวล่วงอำนาจทางนิติบัญญัติ อันขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

ทั้งนี้การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น เป็นเพียงแต่การเสนอว่าความผิดต่อผู้ดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย ว่าควรมีเนื้อหาและโทษอย่างไร แต่มิได้กระทบกระเทือนต่อ  “สถานะ” ของสถาบันกษัตริย์ซึ่งรับรองไว้อยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หมวด 1 และหมวด 2 เห็นได้ชัดจากช่วงเดือน ก.พ. 2561 – พ.ย. 2563 ที่รัฐไทยมีนโยบายในการงดใช้มาตรา 112 โดยไม่มีการลงโทษบุคคลด้วยมาตรา 112  สถาบันกษัตริย์ก็สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงมาได้จนถึงปัจจุบัน

2.  การเข้าเป็นนายประกันในคดีอาญา ไม่ว่าในฐานความผิดใดนั้น เป็นเพียงผู้ที่เข้าประกันว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีดังกล่าวจะไม่หลบหนี และจะเข้าร่วมการพิจารณาคดีจนกว่าคดีจะสิ้นสุด ซึ่งผลร้ายที่สุดที่นายประกันจะได้รับในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนี คือนายประกันมีหน้าที่ในการติดตามตัวบุคคลดังกล่าวมาส่งศาล หรือต้องจ่ายเงินค่าปรับตามวงเงินที่เข้าเป็นประกันต่อศาล 

การที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าบทบาทการเข้าเป็นนายประกันของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลเป็นหนึ่งในพฤติการณ์ที่ล้มล้างการปกครองนั้น เป็นผลร้ายแรงต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพราะหากการทำหน้าที่นายประกันซึ่งเป็นบุคคลที่เข้ามาอำนวยสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวกลายเป็นความผิดเสียแล้ว ย่อมไม่มีบุคคลใดอยากผูกพันตนเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม และอาจทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญานั้นเข้าไม่ถึงสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Right to a Fair Trial) เนื่องจากจะต้องถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี ถูกปฏิบัติเสมือนศาลได้มีคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดไปแล้ว ขัดกับหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence)

3. คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคก้าวไกล แม้โดยหลักการแล้วจะไม่ส่งผลกระทบถึงสถานการณ์การประกันตัวผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 27 ราย หรือไม่กระทบกระเทือนต่อคำพิพากษาคดีมาตรา 112 คดีอื่น ๆ รวมทั้งไม่ควรส่งผลกระทบต่อการพิจารณานิรโทษกรรมคดีการเมืองใด ๆ

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการบังคับใช้กฎหมายตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้งสองคำวินิจฉัยนั้น อาจเกิดผลกระทบกระเทือนต่อบรรยากาศการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกที่หดแคบอยู่แล้ว ให้แย่ลงไปอีก ทั้งการถูกนำไปเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการพิจารณาพิพากษาคดีมาตรา 112 ที่ดำเนินอยู่จำนวนมากในศาลในขณะนี้ อาจนำไปสู่การตีความข้อหานี้ที่ขัดต่อหลักการในระบอบประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้นไปอีก หรือการเสนอและรณรงค์ให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อหามาตรา 112 ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยต่อไปในอนาคต ก็อาจเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น 

4.  คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (UN Working Group on Arbitrary Detention) ซึ่งเป็นกลไกพิเศษภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ที่ประเทศไทยประสงค์ที่จะสมัครรับเลือกตั้งเข้าไปเป็นสมาชิกในเดือน ต.ค. 2567 ได้มีความเห็นอย่างต่อเนื่อง ว่าการควบคุมตัวบุคคลภายใต้มาตรา 112 เป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบ อันเป็นการละเมิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 3 และข้อ 9 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 9 (1) โดยตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา กลไกดังกล่าวมีความเห็นต่อการควบคุมตัวบุคคลในคดีมาตรา 112  ในทางเดียวกันถึงสิบราย โดยกรณีของนางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ เป็นรายที่ 10

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาในทางที่จำกัดผู้มีอำนาจในการริเริ่มคดี และลดอัตราโทษลงให้ได้สัดส่วนนั้น นอกจากจะมิใช่การล้มล้างการปกครองแล้ว ยังทำให้ประเทศไทยเข้าใกล้การเคารพต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกมากยิ่งขึ้น ข้อเสนอดังกล่าวยังสอดคล้องกับข้อสังเกตโดยสรุป (Concluding Observations) ของคณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) ที่เรียกร้องให้รัฐไทยทบทวน (review) มาตรา 112 เพื่อที่จะแก้ไขให้บทบัญญัติดังกล่าวสอดคล้องกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในข้อ 19 แห่งกติการะหว่างประเทศสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และข้อเรียกร้องของผู้เชี่ยวชาญองค์การสหประชาชาติให้รัฐไทยยกเลิก (repeal) มาตรา 112

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขอยืนยันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ว่าประชาชนสามารถสะท้อนถึงปัญหา วิพากษ์วิจารณ์ และรณรงค์ให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายซึ่งกระทบต่อสิทธิเสรีภาพประชาชน อันรวมถึงมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาได้ด้วยเช่นเดียวกัน

การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในสองคำวินิจฉัยดังกล่าว จึงขัดต่อหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง และอาจนำสังคมไทยไปสู่สถานการณ์ที่ระบอบการเมืองไม่มีความสามารถในการปรับตัวและตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงในโลกสมัยใหม่และความคิดเห็นของประชาชนในวงกว้างได้อีกต่อไป

.

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

.

X