วันที่ 27 มิ.ย. 2567 ที่สภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมมีการประชุมเป็นครั้งที่ 15 โดยมีวาระพิจารณาและลงมติใน 4 ประเด็นสำคัญด้วยกัน ดังนี้
- การนิรโทษกรรมโดยใช้รูปแบบคณะกรรมการ (รูปแบบคณะกรรมการ อำนาจหน้าที่ โครงสร้างองค์ประกอบ วาระ หน่วยธุรการ งบประมาณ การตรวจสอบ และการติดตามการดำเนินการของคณะกรรมการนิรโทษกรรม)
- มาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ
- กระบวนการสร้างความสมานฉันท์ อาทิ การยอมรับผิดและการให้อภัย การล้างมลทิน และการคืนสิทธิ
- คดี ฐานความผิด หรือการกระทำที่จะได้รับการนิรโทษกรรม
ทั้ง 4 ประเด็น ล้วนเกี่ยวข้องและสำคัญต่อ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่จะเกิดขึ้นทั้งสิ้น ที่น่าจับตามากที่สุดคือ การพิจารณาในประเด็นที่ 4 ว่า สุดท้ายแล้วคณะกรรมาธิการชุดนี้จะมีมติให้คดี ฐานความผิด หรือการกระทำใดบ้างที่จะได้รับการนิรโทษกรรม และจะรวมถึงคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยหรือไม่
ทั้งนี้ มติของคณะกรรมาธิการที่จะมีขึ้นในการประชุมครั้งนี้ สุดท้ายจะถูกสรุปเป็นรายงานการศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เสนอต่อสมาชิกผู้แทนราษฎร (สส.) และวุฒิสภา (สว.) เพื่อประกอบการพิจารณา อภิปราย และยกมือโหวต เมื่อร่างนิรโทษกรรมทั้งหมดถูกบรรจุเป็นวาระเข้าสู่สภาฯ ซึ่งปัจจุบันมีร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่ถูกเสนอเข้าสู่สภาฯ ทั้งหมด 5 ฉบับ ด้วยกัน ได้แก่
- ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ของภาคประชาชนและภาคประชาสังคม
- ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ของพรรคก้าวไกล
- ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสันติสุข ของพรรครวมไทยสร้างชาติ
- ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสันติสุข ของพรรคครูไทยเพื่อประชาชน
- ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสันติสุข ของพรรคพลังธรรมใหม่
ทั้ง 5 ฉบับ ข้างต้นได้ผ่านขั้นตอนการรับฟังความเห็นที่มีต่อร่างฯ บนเว็บไซต์รัฐสภาฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่เป็นไปได้ว่าเมื่อคณะกรรมาธิการชุดนี้มีมติและรายงานผลการศึกษาแล้ว อาจมีการพัฒนาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ร่างที่ 6 จากผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการชุดนี้ก็เป็นได้
สำหรับกรอบระยะเวลาการทำงานของคณะกรรมาธิการชุดนี้ เดิมมีกำหนดเวลาการทำงานจนถึงวันที่ 1 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา แต่ก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการได้มีมติขยายเวลาการทำงานเพิ่มอีก 1 เดือน โดยจะให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา แต่ล่าสุด นิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการ ได้ให้ข้อมูลต่อสื่อมวลชนไว้เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2567 ว่า คณะกรรมาธิการยังคงมีกรอบเวลาอีก 1 เดือน จากนั้นจะสรุปรายงานให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน ก.ค. นี้ ก่อนจะส่งให้สภาฯ พิจารณาต่อไป
จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกท่านให้ติดตามการลงมติใน 4 ประเด็นสำคัญดังกล่าวในการประชุมนัดสำคัญในวันนี้ ตลอดจนติดตามรายงานผลการศึกษาแนวทางแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในช่วงสิ้นเดือน ก.ค. นี้ รวมถึงย้อนอ่านบันทึกการประชุมแต่ละครั้งโดยละเอียดบนเว็บไซต์ของสภา
** อัพเดทวันที่ 27 มิ.ย. 2567: สัมภาษณ์ “ยุทธพร” ประธานอนุ กมธ. เผย กมธ.นิรโทษกรรมได้ข้อสรุปอำนาจหน้าที่และสัดส่วนคณะกรรมการนิรโทษกรรมฯ ส่วนมาตรการป้องกันทำผิดซ้ำคุยต่อนัดหน้า
** วันที่ 7 ก.ค. 2567: สัมภาษณ์ “ยุทธพร” ประธานอนุ กมธ. มีข้อสรุปจะให้การนิรโทษกรรมคดีการเมืองเป็นแบบผสมให้ระบุความผิดที่จะนิรโทษกรรม ผสมกับการใช้คณะกรรมการมาสอบทานโดยกำหนดกรอบเวลาสอบทาน ส่วนมาตรการป้องกันทำผิดซ้ำจะออกแบบหลังจากมีมติเรื่องฐานความผิดที่จะมีการประชุมในสัปดาห์หน้า
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ดูหน้าเว็บไซต์ของ กมธ.ศึกษาแนวทางการตรากฎหมายนิรโทษกรรม และอ่าน บันทึกการประชุมแต่ละครั้งที่ผ่านมา
ชวนจับตา-อ่านบันทึกประชุม กมธ.ศึกษากฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมืองฯ หลังขยายเวลาศึกษาออกไปอีก 60 วัน