วันที่ 26 พ.ค. 2567 ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจัดกิจกรรมปิดนิทรรศการ “วิสามัญยุติธรรม” เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี การรัฐประหาร และ 10 ปี ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยมี สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม “TRUTH TALK” มีเนื้อหาดังต่อไปนี้
Catch Me If You Can กิจกรรมไล่จับที่ใช้ตอบโต้กับอำนาจรัฐประหาร
“เรื่องมีอยู่ว่า มีนายทหารกลุ่มหนึ่งที่กำลังจะเกษียณ ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาเรื่องสังคมผู้สูงอายุครับ คือคนกลุ่มนี้กังวลว่า เมื่อเกษียณออกมาแล้วไม่รู้จะทำอะไรดี ซึ่งเป็นวิกฤตของวัย เพียงแต่ว่าเขามีตำแหน่งหน้าที่เป็นทหาร เขาจึงใช้โอกาสและวิกฤตของสังคมไทยในทางการเมือง เพื่อต่ออายุความเป็นคนหนุ่มสาวของพวกเขา โดยการยึดอำนาจและยึดทีวีครับ”
สมบัติเล่าว่า เขาเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2557 ในประกาศฉบับที่ 3 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เขาอยู่ในอันดับรายชื่อที่ 60 “มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแฟนตาซีนะครับ ที่เราจะได้เห็นว่าชื่อของเราได้มีการเอ่ยในทีวีรวมการเฉพาะกิจ หมายความว่าทีวีทุกช่องจะพูดชื่อคุณ และขอให้มารายงานตัว”
แต่สมบัติไม่ได้ไปรายงานตัวตามคำร้องขอดังกล่าว เนื่องจากเขาไม่ว่างและไม่รู้ว่า คสช. คือองค์กรประเภทใด เพราะประเทศไทยไม่เคยมีองค์กรนี้มาก่อน การเรียกให้ไปรายงานตัวจึงเป็นสิ่งที่เขาไม่สามารถเข้าใจได้ อย่างไรก็ตาม คสช. ออกประกาศอีกฉบับหนึ่งเพื่อเรียกให้เขาไปรายตัวอีกครั้ง และถ้าครั้งนี้ไม่ไปเขาจะมีความผิด นี่จึงเป็นที่มาที่เขาได้มีโอกาสไปนอนในค่ายทหารเป็นครั้งที่ 2 ในชีวิต และเป็นครั้งแรกที่เข้าสู่กระบวนการในศาลทหาร
ในเวลานั้น สมบัติได้ไปหลบซ่อนตัวอยู่ที่บ้านพักหลังหนึ่งใน จ.ชลบุรี เป็นเวลากว่า 11 วัน โดยเขาไม่เคยก้าวออกมาจากบ้านหลังนั้นเลย
“ผมได้เริ่มปฏิบัติการ Catch Me If You Can เป็นกิจกรรมแมวไล่จับหนู ผมก็พยายามเป็นหนูวิ่งหนีไปมา เพื่อใช้กิจกรรมตรงนี้เป็นการตอบโต้กับคณะรัฐประหารในเวลานั้นว่า ผมไม่ยอมรับอำนาจรัฐประหารของพวกเขา”
ทหารคุกคามลูกสาวถึงหน้าโรงเรียน อ้างหวังดีพ่อถูกอายัดบัญชี-กลัวไม่มีทุนการศึกษา
ระหว่างนั้นสิ่งที่คณะรัฐประหารทำกับสมบัติคือ การอายัดบัญชีเขาทั้งหมด และยังมีกรณีการอายัดบัญชีทั้งหมดของมูลนิธิแห่งหนึ่งซึ่งสมบัติเป็นหนึ่งในกรรมการผู้มีอำนาจในการเซ็นลงนามเบิกเงินของมูลนิธิด้วย ดังนั้นเงินที่ถูกอายัดจึงไม่ใช่แค่บัญชีของสมบัติ แต่เป็นบัญชีของมูลนิธิอื่นด้วย
หลังจากนั้นไม่นาน มีมูลนิธิแห่งหนึ่งได้ส่งเรื่องไปถึงคณะสำนักงานเขตที่ดูแลเกี่ยวกับการเปลี่ยนระเบียบมูลนิธิ ปรากฏว่าทางสำนักงานเขตไม่อนุญาตให้มีการแก้ไขระเบียบของมูลนิธิด้วยเหตุผลว่า มีชื่อของสมบัติ บุญงามอนงค์ ซึ่งเป็นบุคคลภัยความมั่นคง เป็นกรรมการมูลนิธิ หลังจากทราบเรื่องราวเหล่านี้ สมบัติได้ลาออกจากการเป็นกรรมการในทุกมูลนิธิ และจนถึงปัจจุบัน เขาก็ไม่กล้าเป็นกรรมการในมูลนิธิใด ๆ อีกเลย
“หลังจากอายัดบัญชี สิ่งที่เขาพยายามทำคือการหาข้อมูลว่าผมไปแอบซ่อนตัวอยู่ที่ไหน จึงไปหาลูกสาวผม แต่ผมไม่ได้บอกลูกสาวผม มีอยู่วันหนึ่ง ทหารได้ขับรถไปหน้าโรงเรียนที่ลูกสาวผมเรียนอยู่ ตอนเย็นก่อนจะเลิกเรียน ทางโรงเรียนก็ติดต่อมาที่ครอบครัวว่ามีรถทหารอยู่หน้าโรงเรียน ขอให้ผู้ปกครองมารับลูกสาวผมออกไป พอผมทราบก็ประสานให้เพื่อนที่อยู่เชียงราย ขับรถไปรับลูกสาวออกมาจากโรงเรียน แล้วผมก็โพสต์เรื่องนี้ลงโซเชียลว่าลูกสาวผมถูกคุกคามที่โรงเรียน”
หลังจากนั้น มีสื่อมวลชนแห่งหนึ่งไปสอบถามทหารที่อยู่เชียงราย ถามว่าทหารไปดักรอลูกสาวของสมบัติทำไม ทหารอธิบายว่า เขายอมรับว่าได้ไปที่โรงเรียนแห่งนั้นจริง แต่มีวัตถุประสงค์ที่ดีคือ เนื่องจากบิดาถูกอายัดบัญชี เกรงว่าลูกสาวของสมบัติจะมีปัญหาเรื่องทุนการศึกษา จึงจะขอเชิญลูกสาวเขาไปรับทุนการศึกษาในค่ายทหาร
“นี่มันเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อมากครับกับคำตอบนี้” สมบัติกล่าว
“เชลย” สถานะที่แท้จริงในค่ายทหาร
หลังจากหลบซ่อนตัวอยู่ในบ้านเพื่อนเป็นเวลา 11 วัน เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารก็เข้าควบคุมตัวสมบัติ และพาไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง สมบัติพยายามถามเจ้าหน้าที่ว่าเหตุใดถึงจำเป็นต้องปิดตาเขาด้วย สมบัติไม่รู้เลยว่าตนเองกำลังมุ่งหน้าไปที่ไหน
“แต่ผมขออนุญาตสดุดีนายตำรวจท่านหนึ่ง ในขณะที่ผมถูกจับกุม เขาบอกผมว่า เขาไม่ทราบว่าจะมาจับกุมใคร เพราะเขาตามเฟซบุ๊กผมอยู่ ตามในฐานะแฟนคลับ เขาตกใจมากที่พบว่าคนที่ต้องมาจับคือผมเอง และเสียใจ ตอนนั้นคือทหารมารออยู่แล้ว ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าจะถูกพาไปที่ไหน ทำยังไงผมถึงจะมั่นใจได้ว่า การจับกุมผมในครั้งนี้จะเป็นที่รับรู้ในทางสาธารณะได้แล้ว หมายความว่าจะไม่ได้มีแค่คนที่จับกุมผมเท่านั้นที่รู้ว่าผมไปที่ไหน นายตำรวจคนนั้นบอกกับผมว่า เขารับปาก เขาจะดูแลเรื่องนี้ให้ผม เขาจะขับรถตามไปจนถึงที่ที่ผมอยู่”
สมบัติเดินทางมาถึงค่ายทหาร และถูกพาตัวมาที่ห้องแห่งหนึ่ง เขาอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 9 วัน ทั้ง ๆ ที่ตามกฎหมายมีอำนาจควบคุมเขาเพียงแค่ 7 วัน จากนั้นเขาจึงถูกส่งตัวไปที่กองอำนวยการของทหาร
สมบัติเล่าว่า ที่ที่เขามาอยู่ถูกเรียกว่าบ้านรับรอง VIP ซึ่งทหารได้บอกกับเขาว่า เขาไม่ใช่คนแรกที่ต้องมาอยู่ที่นี่ ในห้องยังมีหน้าต่างที่มีกระดาษหนังสือพิมพ์ปิดอยู่ด้วย ซึ่งทำให้ไม่สามารถมองออกไปข้างนอกหน้าต่างได้
อยู่มาวันหนึ่ง สมบัติเริ่มเปิดประเด็นสนทนากับนายสิบคนหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่เป็นหัวหน้าชุดดูแลความปลอดภัยของ VIP ว่า “พี่ ผมพูดตรง ๆ นะ ผมคิดว่ามันไม่ค่อยยุติธรรมเท่าไหร่ ที่ผู้ต้องหาอย่างผมถูกควบคุมตัวอยู่ ณ ที่แห่งนี้ และไม่สามารถใช้โทรศัพท์ติดต่อสื่อสารกับคนสนิท คนที่ผมไว้วางใจ หรือทนายความได้ ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผมอยู่ที่ไหน หลักการนี้มันผิด เพราะผู้ต้องหาควรจะมีสิทธิ
“เขาบอกผมว่า คุณสมบัติ คุณไม่ใช่ผู้ต้องหา คุณเป็นเชลย คือผมรับรู้สถานะที่แท้จริงเลย ตอนที่ผมอยู่ ผมไม่เข้าใจ หลายวันที่ผมอยู่ในค่ายทหาร ผมไม่เข้าใจว่าทำไมผมถูกปฏิบัติแบบนั้น และมันอึดอัดใจมาก ผมรู้สึกว่ามันอธิบายไม่ได้ มันไม่ยุติธรรม แต่พอเขาบอกผมเป็นเชลย ผมเลิกวอแวเลย นี่คือสถานะที่แท้จริงของผม”
ความสิ้นหวังในศาลทหาร และการเมืองไทยกับหนังบ้านผีปอบ
สมบัติเล่าว่า เขาไม่เคยมีจินตนาการเลยว่าจะถูกดำเนินคดีในศาลทหาร แม้เขาจะเคยเคลื่อนไหวทางการเมือง เคยถูกทหารฟ้อง เคยต่อสู้กับทหารมา แต่ไม่เคยมีประสบการณ์ขึ้นศาลทหารเลย
“แต่ถ้าคุณทบทวนเรื่องคำตอบที่นายสิบคนนั้นตอบว่าคุณเป็นเชลย คุณจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ แต่มันเป็นความรู้สึกที่ไม่แฟร์มาก ๆ เพราะขณะที่คุณเข้าไปศาลทหารเนี่ย คนที่ฟ้องคุณก็เป็นอัยการทหาร และคนที่นั่งบัลลังก์อยู่ข้างหน้าคุณทั้ง 3 คน ก็เป็นตุลาการทหาร ขณะที่ผมยืนอยู่ตรงนั้น ผมไม่รู้เลยว่าผมจะต่อสู้ยังไง”
สมบัติเล่าต่อว่า วันที่เขาถูกส่งตัวออกมาจากค่ายทหารและมาที่สโมสรกองทัพบก เขาโดนคดีแรกคือ ขัดขืนคำสั่ง คสช. คดีที่สอง ม.116 ภัยความมั่นคงเนื่องจากเขาไปโพสต์ในอินเทอร์เน็ตว่า คสช. ยึดอำนาจ ล้มล้างการปกครอง คดีที่สาม ตอนที่เขาติดคุก สมบัติยังถูกแจ้งข้อหา ม.112 อีกคดีหนึ่งด้วย
“ผมสาบานได้เลยว่า ในขณะที่ผมแอบอยู่แล้วสู้เนี่ย ผมตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า ผมทำสิ่งนั้นโดยสำนึกของพลเมือง เพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าผมเป็นพลเมืองดี ตอนเด็ก ๆ ผมถูกสอนมาตลอดว่าเราต้องเป็นพลเมืองดี รักษากฎหมาย อย่าทำผิดกฎหมาย เอ้า แล้วมีคนเอาอาวุธสงคราม มายึดอำนาจล้มล้างการปกครอง ผมพิทักษ์รัฐธรรมนูญ พิทักษ์กฎหมาย ผมผิดยังไง ปรากฏว่ามันผิดแล้วกัน ก็จับผมไปอยู่ในค่ายทหาร 9 วัน แล้วก็เอาผมมาส่งตัว”
“คนแรกเลยที่ผมเจอ ซึ่งไม่ใช่ตำรวจ ไม่ใช่ทหาร ไม่ใช่แม่บ้านในสโมสรตำรวจ ตำรวจคนหนึ่งเดินมาบอกผมว่า คุณสมบัติ มีคนอยากพบคุณ ผมงงเลย ยังไม่รู้มาที่ไหนเลย แต่เขาบอกว่า มีคนคนหนึ่งอยากพบตัวคุณ ใครครับ ทนายอานนท์ นำภา ผมบอกว่า ไปเอาเข้ามาเลยครับ
“ตำรวจคนนั้นยังล็อบบี้ผมอยู่เลย บอกว่าคุณสมบัติ คุณไม่ควรทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ไม่ต้องให้เขาเข้ามาหรอก นี่เป็นกระบวนการปกติ ไม่มีปัญหาอะไร ถ้าทางที่ดีก็ไม่ต้องให้เข้ามา แต่ผมยืนยันให้อานนท์ นำภาเข้ามา และอานนท์เป็นทนายในคดีความที่ผมถูกดำเนินการในครั้งนั้นทั้งหมด”
“ทั้งหมดก็เป็นเรื่องราวช่วงสั้น ๆ ผมอาจจะเล่าเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับความผิดปกติในกระบวนการยุติธรรม ผ่านเรื่องราวที่ผมเผชิญอยู่ แต่ผมอยากจะบอกว่า ประเทศไทยนั้นไม่ใช่หนังเรื่อง Catch Me If You Can หรือ John Wick ครับ การเมืองไทยเป็นการเมืองที่คล้ายกับภาพยนตร์ไทยยอดนิยมเรื่องหนึ่ง ที่มีด้วยกันหลายตอน และมันจะสลับกันมาเรื่อย ๆ เมื่อโอกาสมาถึง ภาพยนตร์ไทยเรื่องนั้นชื่อว่า บ้านผีปอบ ครับ และมันจะมีการยึดอำนาจหมุนไปหมุนมาแบบนี้
“ผมก็หวังว่าเทรนด์เรื่อง บ้านผีปอบ จะจบไป และพวกเราจะได้กลับสู่ความเป็นปกติ และขอให้มีการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองทุกคนครับ ขอบคุณครับ”