วันที่ 26 พ.ค. 2567 ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจัดกิจกรรมปิดนิทรรศการ “วิสามัญยุติธรรม” เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี การรัฐประหาร และ 10 ปี ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยมี “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม “TRUTH TALK” มีเนื้อหาดังต่อไปนี้
จาก “นักศึกษา” สู่ “ภัยความมั่นคง”
ไผ่เล่าว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้วที่มีการรัฐประหารปี 2557 เกิดขึ้น เขากับเพื่อนยังเป็นนักศึกษากันอยู่ พอเห็นการรัฐประหารจึงรวมตัวกันออกมาต่อต้าน เริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ อย่างการแสดงสัญลักษณ์กันในเฟซบุ๊ก จากนั้นก็ร่วมกันเคลื่อนไหวในกลุ่มดาวดิน โดยถือหลักปรัชญาที่ว่า “เมื่อความอยุติธรรมเป็นกฎหมาย การต่อต้านก็เป็นหน้าที่”
“เราสู้ทุกวิถีทาง ก่อนที่จะมีการชูสามนิ้วต่อหน้าประยุทธ์เนี่ย เราพ่นสีอยู่หน้าค่ายทหาร เขาลบ วันต่อมาเราก็ไปพ่น เขาลบ เราพ่น สู้กันอยู่แบบนี้ จนเขาเอาคดีให้กับเรา พอเขาเอาคลิปมาบอกว่าพวกคุณไปพ่นสีนะ เขาก็เรียกไปเจรจาต่อรองและบอกว่าห้ามไปพ่นอีก ไม่งั้นจะถูกดำเนินคดี เราจึงเริ่มเข้าไปสู่ในสายตาของเผด็จการทหารมากขึ้น”
จนกระทั่งวันที่ 27 พ.ย. 2557 ไผ่และเพื่อนได้ไปชูสามนิ้วต่อหน้าประยุทธ์ โดย ณ วันนั้นพวกเขาแทบไม่ได้พูดอะไรเลย แค่ไปแสดงสัญลักษณ์เพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น จากนั้นทหารก็จับพวกเขาไปค่ายทหาร และตั้งข้อหาพวกเขา วันนั้นเองที่ทำให้พวกเขาได้รู้จักกับศูนย์ทนายฯ เป็นครั้งแรก
“เวลาที่อยู่ในศาลเขาจะบอกว่า คุณมีเครื่องมือกระทำความผิดอะไรบ้างใช่ไหมครับ แต่สิ่งที่ทหารตั้งข้อหาเรา ที่พวกเราโดนคือ 3 นิ้ว โดยเขาเขียนในสำนวนว่า สามนิ้ว ป้ายผ้า เสื้อ คือเครื่องมือการกระทำความผิด แล้วเขาก็ให้เราไปยืนอยู่ตรงกำแพง และให้เราถอดเสื้อ (เสื้อยืดสกรีนของสมาชิก 5 คน ที่มีถ้อยคำเรียงต่อกันว่า ‘ไม่เอารัฐประหาร’) สุดท้ายพวกเราก็ยืน แต่เราบอกว่าเราไม่ถอด ทหารก็มาถอดเสื้อเราไป
“วันนั้นเราได้เรียนรู้แล้วว่า การที่เราออกไปชูป้ายผ้า การที่เราใส่เสื้อเนี่ย มันผิดเหรอ ทำไมถึงต้องมายึดเสื้อ ยึดป้ายผ้า ทำไมถึงต้องมาจับกุมเรา วันนั้นเรายังเป็นเด็ก เราเพิ่งเข้ามา แล้วเราก็รู้สึกว่าอยากจะต่อต้าน ต่อสู้ สิ่งที่เราโดนตอนนั้นคือ ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. แล้วเราก็ขึ้นศาลทหาร”
จุดเริ่มต้นของ NDM และการใช้กฎหมายที่ทวีความรุนแรงขึ้น
ไผ่เล่าต่อว่า พอบริบทปี 2557 ผ่านไป มันคือการบังคับใช้กฎหมายแบบคำสั่ง คสช. ประยุทธ์สั่งอะไรคือกฎหมาย ทหารจับพวกเขาขึ้นศาลทหาร มีการพิจารณาคดีในศาลทหาร พอปี 2558 คือช่วงที่หลายกลุ่มออกมาต่อต้านมากขึ้น ช่วงนั้นพวกเขารู้สึกว่ามีบทกวีหนึ่งที่ตอบโจทย์ ณ วันนั้น
“มึงไม่ได้เดียวดายใต้ฟ้ากว้าง และฟ้าก็ไม่ได้อ้างว้างอย่างที่เห็น ถ้าเธอเลือกเส้นทางอย่างที่เป็น เธอจะเห็นว่าผองเพื่อนก็เคลื่อนพล”
ในปี 2558 พวกเขาเริ่มสรุปบทเรียนกันแล้วเห็นว่า การต่อสู้ของแต่ละกลุ่มที่คัดค้านรัฐประหาร อยู่กันอย่างกระจัดกระจาย ไม่มีพลัง จึงเกิดการรวมตัวกันในนาม NDM (New Democracy Movement) ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ มีทั้งกรุงเทพฯ และขอนแก่น โดยเป็น 14 นักศึกษาที่รวมตัวกันมาเพื่อที่จะต่อต้านเผด็จการทหาร มีการเล่นดนตรี มีการปราศรัย
“พวกเราก็โดนคดีอีก เราโดนคดีแรงมากขึ้นจากคำสั่ง คสช. เป็นมาตรา 116 ในครั้งนั้นทำให้พวกเรา 14 คนโดนจับเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ครั้งแรก นี่คือความอยุติธรรมที่มันเกิดขึ้น การที่เรามารวมกันต่อสู้เรียกร้องนี้ เราโดนมาตรา 116 โดนจับที่สวนเงินฯ แล้วก็เข้าไปถูกฝากขัง 14 นักศึกษา นี่คือพาร์ทหลังจากคำสั่ง คสช. และมาตรา 116”
“หลังจากนั้น มีการลงประขามติ ปี 2559 พวกเราในนาม NDM ก็ร่วมมือกันทำแผ่นพับ ทำข้อเสนอ ทำอะไรต่าง ๆ เพื่อที่จะรณรงค์ พวกเราถูกสกัดกั้นทั้งหมดเลย การส่งใบปลิวจากกรุงเทพฯ ไปขอนแก่นโดนสกัดกั้น การรณรงค์แจกใบปลิวทุกที่โดนจับกันหมด นี่คือช่องทางที่เปิดโอกาสให้สู้ คุณบอกว่าจะทำประชามติ เราก็ลงไปแสดงความคิดเห็น แต่ว่าสิ่งที่เราได้กลับมาคือ การที่เขาก็จับพวกเราอีก มีคนโดนจับที่ภูเขียว โรมโดนจับที่กรุงเทพฯ มีทีมรามฯ ที่โดนจับหลายคน คนที่ออกมารณรงค์ว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดนจับติดคุก
“พาร์ทนั้นก็คือพาร์ทที่การใช้กฎหมายเริ่มแรงขึ้น ในเมื่อผู้ปกครองมองว่า ไอ้เด็กพวกนี้เจอคำสั่ง คสช. ไม่หลาบไม่จำ เอา 116 มาใส่อีก ไม่หลาบไม่จำ จนสุดท้ายครับ สิ่งที่เขาใช้มาเป็นเครื่องมือคือมาตรา 112”
เมื่อคิดไม่ตรงกับรัฐ “อิสรภาพ” คือราคาที่คุณต้องจ่าย
ในปี 2559 สำนักข่าวบีบีซีไทยเผยแพร่ประวัติในหลวงรัชกาลที่ 10 เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านรัชกาล ซึ่งมีคนแชร์เป็นจำนวนมาก แต่กลับมีเพียงไผ่และการ์ตูน นักกิจกรรมอีกคนหนึ่ง ที่ถูกดำเนินคดี ม.112 เพียงเพราะแชร์ข่าวดังกล่าว
ไผ่กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปีในยุค คสช. ในสังคมแห่งเผด็จการ อนุญาตให้เขาอยู่ข้างนอกได้เพียงแค่ 2 ปี อีกครึ่งหนึ่งนั้นเขาต้องไปอยู่ในคุก กระบวนการพิจารณามาตรา 112 ของไผ่ แตกต่างจาก มาตรา 116 หรือ คำสั่ง คสช. โดยสิ้นเชิง
“วันที่ผมโดนประทับตราว่าโดน ม.112 นั้น ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด กระบวนการทางกฎหมาย พอเป็นคดีเรื่องนี้ เขาก็จะเปลี่ยนท่าทีการปฏิบัติอีกแบบหนึ่ง จนสุดท้ายแล้วการพิจารณาคดีนี้ ผมได้เข้าเรือนจำไปในวันที่ 2 ธ.ค. (2559) หลังจากนั้นผมก็ไม่ได้ออกมาอีกเลย กระบวนการต่อสู้ ผมอยู่ในคุกไป 8 เดือน เพิ่งจะได้มาสืบพยาน และในวันนั้นเองที่ผู้พิพากษากล่อมกับครอบครัวผม ไปกล่อมกับแม่ผมว่า ให้ลูกรับสารภาพเถอะ เพราะถ้าสู้ต่อไปยังไงก็ไม่ชนะแน่ สู้ต่อไปยังไงก็ติดยาวแน่ ทำยังไงจะให้ออกมาเร็วที่สุด
“สุดท้ายกระบวนการก็บีบให้ผมรับสารภาพ เขาบอกกับผมว่า ถ้ารับสารภาพจะยกขึ้นมา 3 ปี ลดให้เหลือ 1 ปี 6 เดือน ซึ่งตอนนั้นผมติดมาแล้ว 8 เดือน แต่พอผมรับสารภาพ เขาตัดสินมา 3 ปี ไม่เหมือนที่คุยกันไว้ นี่คือกระบวนการที่มันเกิดขึ้น”
“ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่คำสั่ง คสช. สิ่งเหล่านี้เราเห็นได้ว่า เขาไม่อนุญาตให้คนรุ่นใหม่ เขาไม่อนุญาตให้คนหนุ่มสาว ได้คิด ได้เชื่อ ได้เฉิดฉายในความฝันของเขา เขาปิดกั้นเราทุกอย่าง ผมกลับไปดูแล้วครับว่าความผิดมันไม่ได้เป็นแค่สามนิ้วหรอก มันไม่ได้เป็นแค่ป้ายผ้าหรอก ถ้าสามนิ้วนั้นเป็นสามนิ้วรักสถาบันเขาอนุญาตไหมครับสังคมนี้ ถ้าป้ายผ้านั้นเป็นป้ายบอกว่า ทรงพระเจริญ อนุญาตไหมครับ ถ้าสนับสนุนเผด็จการทหาร อนุญาตไหมครับ ประเด็นคือเขาไม่ให้ความคิดเหล่านี้อยู่บนสังคมนี้เลย ไม่ว่าจะเป็นสามนิ้ว ไม่ว่าจะเป็นเสื้อ ไม่ว่าจะเป็นอะไรต่าง ๆ เขาไม่อนุญาตให้เราคิด”
หากความอยุติธรรมยังคงอยู่ การต่อสู้ก็ยังไม่จบ
“ดังนั้นแล้วใน 5 ปี ที่ความอยุติธรรมมันเกิดขึ้น แน่นอนว่ามันมีคนที่หล่นหายจากขบวนการต่อสู้นี้ แน่นอนว่าเครื่องมือที่ฝ่ายขวาใช้มันสำเร็จ แน่นอนว่าเขาไปบีบครอบครัว เขาใช้กฎหมาย มันสำเร็จ มันกด มันปราบคนได้ แต่ความอยุติธรรมที่มันทำอยู่ ณ วันนี้ มันก็สร้างคนที่ออกมาต่อสู้เหมือนกัน จากวันนั้นมา ก็มีคนมาต่อสู้อีก และความอยุติธรรมที่มันยังอยู่ มันจะมีคนที่ออกมาต่อต้านและต่อสู้เรื่อย ๆ
“ดังนั้นแล้วนี่คือพาร์ทสุดท้าย 5 ปีแรกที่ผมอยู่ในสังคมนี้ อยู่ได้เพียงแค่นี้ครับ จากนั้นผมก็ติดคุก จนกระทั่งรับปริญญาก็รับในคุก นี่คือชีวิตของคนหนุ่มสาวที่อยู่ในบรรยากาศของเผด็จการหาร ชีวิตของคนหนุ่มสาวที่ไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น เมื่อเขาใช้ช่องทางต่าง ๆ เขาโดนกฎหมายทุกอย่างปราบปรามเขา และวันหนึ่งวันที่คำสั่งของ คสช. หมดไป คดีนั้นไม่มีความผิดแล้ว แต่ ณ วันนั้นเราถูกตราหน้าว่าผิด วันนั้นเราติดคุก ความอยุติธรรมที่มันเกิดขึ้นนี้ มันจะมีคนที่ยังจดจำ ผมเองเป็นหนึ่งในนั้นที่จากนี้ไปเราก็จะไม่ยอม เราจะหาวิธีการต่อสู้จนกว่าประเทศนี้จะเปลี่ยน จนกว่ากระบวนการยุติธรรมนี้จะเปลี่ยน”
“วันนี้ก็ 10 ปีรัฐประหาร ศูนย์ทนายฯ ก็ยังอยู่กับเรา ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ก็อยากจะขอเสียงปรบมือให้กับศูนย์ทนายฯครับ ที่ซัพพอร์ต ช่วยเหลือพวกเรา และขอประณามนะครับ กับการรัฐประหารที่เกิดขึ้น กับการใช้กฎหมาย กับการวิสามัญกระบวนการยุติธรรม ขอประณามสิ่งเหล่านี้ อย่าให้มันเกิดขึ้นอีก และถ้ามันเกิดขึ้นอีก อยากให้ทุกคนช่วยกันออกมาต่อต้านให้มากกว่านี้ครับ
“ผมเชื่อว่าวันนี้นะครับ สิ่งที่เราต้องยืนยันต่อไปคือ อำนาจสูงสุดต้องเป็นของประชาชน ประเทศนี้อำนาจสูงสุดต้องเป็นของประชาชนครับ ขอบคุณครับ”