เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2567 เวลา 11.15 น. ที่กระทรวงยุติธรรม เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนเข้าเสนอข้อเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับคดีการเมือง โดยมีสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นตัวแทนนำประชุม พร้อมด้วยผู้แทนจากกรมราชทัณฑ์ และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเข้ารับฟังด้วย
โดยวันนี้ตัวแทนเครือข่ายฯ ได้นำเสนอข้อเรียกร้องใน 3 ประเด็นหลักด้วยกัน ได้แก่
- การนิรโทษกรรมทุกคดี รวมคดีมาตรา 112
- คืนสิทธิการประกันตัวให้แก่ผู้ต้องขังระหว่างสู้คดี
- พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังคดีการเมืองในมิติต่าง ๆ และอำนวยความสะดวกในความเป็นอยู่ของผู้ต้องขัง
ข้อเสนอให้เร่งรัดและสนับสนุนการนิรโทษกรรม
ในประเด็นแรก สมบูรณ์กล่าวว่า ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมมีเสนอจากหลายฝ่าย ทั้งจากภาคประชาชนและพรรคการเมือง หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าเป็นนโยบายเร่งด่วน ส่วนตัวเชื่อว่าการเปิดประชุมสภาสมัยหน้าจะสามารถยื่นร่างกฎหมายนิรโทษกรรมทั้งหมดเข้าสภาเพื่อพิจารณาและอภิปรายได้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของรัฐสภาไทย และการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม
สมยศ พฤกษาเกษมสุข หนึ่งในตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน กล่าวว่า การทำงานของคณะกรรมาธิการฯ ดูแล้วเป็นการถ่วงเวลาการแก้ปัญหามาตรา 112 ผู้ที่เข้าไปนั่งในกรรมาธิการจำนวนมากไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องมาตรา 112 บางท่านพูดว่าคดีมาตรา 112 ไม่ได้เป็นคดีที่มีแรงจูงใจทางเมือง แสดงว่าไม่ได้มีความเข้าใจจริง ๆ เพราะคดีมีที่มาจากการเมืองอันเนื่องมาจากการรัฐประหารในปี 2549 ด้วยเหตุนี้จึงขอเสนอให้กระทรวงยุติธรรมเปิดเวทีให้มีการพูดกันอย่างเป็นทางการจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาชนอยากมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น
“อานนท์ นำภา อยู่ในคุกอย่างนี้ เขาควรจะได้พูดว่า ทำไมต้องนิรโทษกรรม พวกผมซึ่งก็ผ่านคุกผ่านตะรางคดี 112 มา ก็จะได้พูดได้เต็มที่ว่า มันมีแรงจูงใจทางการเมืองและต้องนิรโทษกรรม การไปยกเว้นมันคือ ‘ตราบาป’ ของกระทรวงยุติธรรม ณ ขณะนี้ …ผมจึงขอเสนอให้มี ‘เวทีสาธารณะ’ ถกเถียงอย่างเป็นทางการ ข้อเสนอของเวทีสาธารณะอาจจะส่งผลให้กรรมาธิการรับฟังประชาชนมากขึ้น…”
ข้อเสนอขอให้อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีที่ไม่ประโยชน์ต่อสาธารณะ
ในประเด็นเรื่องการดำเนินการเจรจากับสำนักงานอัยการสูงสุดและอัยการสูงสุด เพื่อให้พิจารณายุติการสั่งฟ้องคดีทางการเมืองที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่น คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วยการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 21
ตัวแทนกระทรวงยุติธรรมกล่าวว่า เรื่องนี้มีการดำเนินการไปบ้างแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมสถิติคดีความต่าง ๆ ที่ดำเนินอยู่ในแต่ละชั้นของกระบวนการยุติธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์กรอัยการ และกรมราชทัณฑ์
เมื่อรวบรวมข้อมูลครบถ้วนแล้ว กระทรวงยุติธรรมจะเสนอเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อให้พิจารณาว่าคดีใดบ้างที่หากดำเนินคดีต่อไปจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ จากนั้นคณะรัฐมนตรีจึงจะออกเป็นมติต่อไป โดยกรอบเวลาที่จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีนั้น คาดว่าอย่างเร็วที่สุดในช่วงเดือน มิ.ย. นี้
ข้อเสนอคืนสิทธิประกันตัว
ในประเด็นข้อเสนอให้พิจารณาคืนสิทธิการประกันตัวนั้น ตัวแทนจากกระทรวงยุติธรรมมองว่า การแก้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิการประกันตัวนั้นเป็นไปได้ยากและคาดว่าจะใช้ระยะเวลายาวนาน
ประเด็นนี้เบื้องต้นกระทรวงยุติธรรมได้มีแนวทางและข้อสรุปอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว คือ การออกกฎกระทรวงเพื่อเน้นย้ำหลักการที่ว่า ผู้ที่ถูกดำเนินคดีที่คดียังไม่ถึงที่สุดจะต้องได้รับสิทธิประกันตัว ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย แต่ในการบังคับใช้จริงนั้นอาจจะมีมาตรการอื่นใช้ประกอบ อย่างเงื่อนไขการให้ประกันตัวโดยให้ติด EM ด้วย
“เจตนารมณ์ของกระทรวงยุติธรรม คือ ต้องการมีกฎกระทรวงเพื่อเป็นบรรทัดฐานว่า สิทธิขั้นพื้นฐานของคนที่เป็นผู้ต้องหาควรจะได้รับสิทธิการประกันตัวอย่างเต็มที่”
ความคืบหน้าของกฎกระทรวงที่ว่านี้ ตัวแทนกระทรวงยุติธรรมระบุว่า อยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะทำงาน โดยคาดว่าจะมีขึ้นอย่างเร็วที่สุดในเดือน มิ.ย. นี้ และจากนั้นจะได้ดำเนินการร่างกฎกระทรวงขึ้นมา โดยมีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นจริง
ข้อเสนอ พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขัง
สุดท้าย ตัวแทนเครือข่ายฯ ได้นำเสนอถึงข้อเสนอในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังทางการเมือง ทั้งที่อยู่ในระหว่างสู้คดีและคดีถึงที่สุดแล้ว โดยได้เน้นย้ำถึงข้อเสนอที่สามารถทำได้เลยและควรทำอย่างเร่งด่วน โดยอาศัยอำนาจของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นั่นคือ การย้ายผู้ต้องขังที่คดียังไม่ถึงที่สุดกลับไปยังภูมิลำเนาของตัวเองหรือตามความต้องการของผู้ต้องขัง เช่น กรณีของ “อุดม” และ “กัลยา” ซึ่งพักอาศัยอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรีและกรุงเทพฯ แต่ถูกดำเนินคดีทางไกลข้ามภูมิภาค ทำให้ปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส โดยสถานะคดีความยังไม่ถึงที่สุดจึงยังไม่สามารถยื่นคำร้องขอย้ายมายังเรือนจำใกล้ภูมิลำเนาได้
รวมถึงให้พิจารณาย้ายผู้ต้องขังทางการเมืองที่อยู่ในเรือนจำ ‘เดียวกัน’ ให้ได้มาอยู่รวมกันในแดนเดียว เช่น ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้ต้องขังการเมืองอยู่จำนวนมาก แต่ปัจจุบันถูกควบคุมตัวอยู่อย่างกระจัดกระจายในหลายแดน
โดยตัวแทนจากกรมราชทัณฑ์ได้รับฟังข้อเสนอและให้คำมั่นว่าจะนำเรียนต่ออธิบดีกรมราชทัณฑ์ต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมได้นัดหมายเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนประชุมเพื่อติดตามผล ระดมความเห็น และพิจารณาวาระอื่น ๆ ต่อไปในวันที่ 7 มิ.ย. 2567 เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป