วันที่ 26 พ.ค. 2567 ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจัดกิจกรรมปิดนิทรรศการ “วิสามัญยุติธรรม” เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี การรัฐประหาร และ 10 ปี ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โดย พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวปาฐกถาปิดในหัวข้อ “ทะลวงกรอบทลายกรง รัฐความมั่นคงของไทย”
พวงทองกล่าวถึงปัญหาที่เรื่องทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จำนวนมาก ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ ส่งผลให้กลายเป็นการขยายอำนาจ บทบาท และภารกิจของกองทัพเข้ามาในปริมณฑลต่าง ๆ ในยุคหลังสงครามเย็น รวมทั้งทำให้วิธิคิดแบบทหารเข้ามามีอิทธิพลในการจัดการปัญหาต่าง ๆ และส่งผลต่อการมองประชาชนในประเด็นต่าง ๆ ในฐานะภัยคุกคาม หรือกระทั่งกลายเป็นศัตรูของชาติ
.
.
เมื่ออะไร ๆ ก็กลายเป็นความมั่นคงของชาติ
พวงทองเริ่มต้นด้วยการอธิบายว่าความมั่นคงที่พูดถึง หมายถึงความมั่นคงของชาติ (national security) เราได้ยินคำนี้กรอกหูเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน อะไร ๆ ก็กลายเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ
พวงทองยกตัวอย่างถึง เรื่องราวที่เกิดขึ้นในนิทรรศการวิสามัญยุติธรรมนี้ หรือย้อนกลับไปที่การสังหารคนอย่างโหดเหี้ยมทารุณเมื่อวันที่ 6 ตุลา 2519, การสังหารคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ก็กระทำในนามความมั่นคงของชาติเช่นกัน, การพยายามให้ผู้คนคิดแบบเดียวกัน เชื่อแบบเดียวกัน อย่าตั้งคำถาม การพยายามโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ ผ่านการศึกษา เครือข่ายสื่อของรัฐ ก็กระทำในนามของความมั่นคงของชาติ
ถ้าเราไปเปิดดูเอกสารเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ความมั่นคงของชาติ ก็จะพบว่าทุกวันนี้ กองทัพรวมเอาสารพัดปัญหามาเป็นภัยความมั่นคงของชาติ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ, ความยากจน, สิ่งแวดล้อม, ภัยธรรมชาติ, ยาเสพติด, การค้ามนุษย์, คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย, ปัญหาเศรษฐกิจโลก ฯลฯ
พวกเราคนไทยส่วนใหญ่รู้หรือไม่ว่าเรื่องสารพัดชนิดเหล่านี้ ถูกจัดเป็นภัยความมั่นคงของชาติ หรือเรารู้แต่ไม่สนใจ เพราะเราได้ยินการอ้างความมั่นคงบ่อยจนเราเคยชิน จนไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหาอะไร แต่ความเคยชินนี้เป็นอันตราย และมีปัญหามาก ๆ
สิ่งที่อยากจะพูดในวันนี้มีสามประเด็นหลัก คือ
1. ทำไมเรื่องสารพัดชนิดเหล่านี้จึงถูกทำให้เป็นปัญหาความมั่นคงของชาติไปได้
2. เวลาประเด็นเหล่านี้ถูกทำให้เป็นปัญหาความมั่นคง มันมีความหมายอย่างไร สถานะอย่างไร
3. อะไรคือปัญหาหรือผลกระทบของการทำให้เรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาความมั่นคง
.
ทำไมเรื่องสารพัดชนิดจึงถูกทำให้เป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ
พวงทองระบุว่า ภัยความมั่นคงบางเรื่องก็เป็นสิ่งที่ตกทอดมาจากยุคสงครามเย็น ที่รัฐไทยต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ การดำรงอยู่ของคอมมิวนิสต์ก็ถูกอธิบายว่า ชาติไทยจะล่มสลายถึงขั้นสิ้นชาติ เพราะคอมมิวนิสต์ต้องการจะทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เปลี่ยนแปลงการปกครองถอนรากถอนโคน ดังนั้น จะทำให้ชาติมั่นคง ก็ต้องทำให้คนไทยมีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ยิ่งจงรักภักดีมากเท่าไรก็ยิ่งชี้ว่าชาติมั่นคงมากขึ้น
สิ่งที่ตามมาคือการสร้างอุดมการณ์ราชาชาตินิยมผ่านกลไกสารพัด จนกลายมาเป็นลัทธิกษัตริย์นิยมล้นเกินในปัจจุบัน และทำให้สถาบันกษัตริย์กลายเป็นหัวใจของความมั่นคงของชาติไทยจนถึงปัจจุบัน
แต่ “ภัยคุกคาม” หลายเรื่องก็เป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคหลังสงครามเย็น เมื่อภัยคุกคามที่ชื่อว่าคอมมิวนิสต์หมดไป รัฐไทยก็ต้องแสวงหาภัยคุกคามใหม่ ๆ สร้างศัตรูตัวใหม่ขึ้นมา ด้านหนึ่ง เพื่อให้กองทัพยังคงมีบทบาทและอำนาจในสังคมและการเมืองต่อไปด้วย เช่น หลังคอมมิวนิสต์พ่ายแพ้ไม่นาน ก็เกิดคำอธิบายใหม่โดยชนชั้นนำจารีต คือมีภัยคุกคามจากความยากจน เพราะมันแทรกซึมไปทั่วทุกหัวระแหง พอไปเรียกความยากจนว่าเป็นภัยความมั่นคง ฉะนั้น กองทัพก็ต้องเข้ามามีบทบาทในการจัดการกับเรื่องเหล่านี้ เราจะพบโครงการพัฒนาเศรษฐกิจของทหารมากมาย ในนามความมั่นคงภายในของชาติ
ภัยความมั่นคงบางเรื่อง ก็เกิดจากการหยิบฉวยเอาแนวคิดทางวิชาการของโลกตะวันตก มาปรับใช้เป็นแบบไทย ๆ เป็นแบบทหาร ให้ทหารเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการ คงเคยได้ยินคำว่า “ความมั่นคงมนุษย์” (human security) หรืออีกคำคือ “ความมั่นคงแบบใหม่” สองคำนี้จะซ้อนทับกัน ซึ่งนักวิชาการตะวันตกคิดขึ้นมาในช่วงหลังสงครามเย็น เช่น เรื่องความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และศาสนา ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ การโยกย้ายถิ่นฐาน (migration) ผู้อพยพ โรคระบาด ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
อันที่จริง แนวคิดเรื่องนี้มีเจตนาที่ดี เจตนาที่จะให้รัฐโยกงบประมาณ โยกสรรพกำลัง ความรู้ความสนใจไปสู่เรื่องอื่น ๆ ที่กระทบต่อวิถีชีวิตของมนุษย์มากขึ้น เพราะมองว่าในช่วงสงครามเย็น ปัญหาการเผชิญหน้าระหว่างประเทศ การแข่งขันกันสะสมอาวุธ มันดึงเอางบประมาณของประเทศชาติไปเป็นจำนวนมาก และทำให้ทหารมามีบทบาทในการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย
ฉะนั้นประเด็นเรื่องความมั่นคงมนุษย์ มันต้องการลดงบประมาณทหาร ลดบทบาททหาร และเพิ่มบทบาทของพลเรือนเข้ามาแก้ไขปัญหาความมั่นคงมากยิ่งขึ้น แต่ในสังคมไทยมันกลับตาลปัตร กลับกลายเป็นโอกาสที่ทหารจะเข้ามามีบทบาทในพื้นที่ ในมิติใหม่ ๆ มากขึ้นด้วย
จากจุดประสงค์เดิม ที่ต้องการลดบทบาทและอิทธิพลของทหารในสังคม (demilitarization) แต่สิ่งที่เกิดในสังคมไทย กลับทำให้ปัญหาที่มีสาเหตุจากปัจจัยเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองกลายเป็นเรื่องของความมั่นคงแบบทหาร หรือถูก militarization มากยิ่งขึ้น ทำให้วิธีการแก้ไขก็เป็นแบบทหาร หรือถูกครอบงำด้วยวิธีคิดแบบทหาร ทหารตั้งงบประมาณในการจัดการได้มากขึ้น
ตัวอย่างเช่น นโยบายทวงคืนผืนป่า ที่ถูกประกาศใช้ทันทีไม่ถึง 1 เดือนหลังรัฐประหารของ คสช. ปัญหาเรื่องที่ดินมีการเจรจาต่อรองระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันมาเป็นระยะ มีความเข้าใจว่าหลายพื้นที่ ชาวบ้านอาศัยอยู่ก่อนการประกาศเป็นเขตป่าอนุรักษ์ แต่พอทหารเข้ามาปุ๊บ กวาดเขาออกจากที่ดินทันที ทำลายพืชผล ทหารมองว่าคนเหล่านี้เป็นภัยคุกคามของชาติ ฉะนั้นอะลุ้มอล่วยไม่ได้ ประนีประนอมไม่ได้ ต้องจัดการอย่างเด็ดขาด ยังมีตัวอย่างปัญหาอีกเยอะที่เมื่อทหารเข้ามาจัดการ มันถูก militarize ถูกจัดการปัญหาแบบทหารมากขึ้น
ในปัจจุบัน ถ้าเราไปดูโครงการต่าง ๆ ในมือกองทัพทุกเหล่า จะมีโครงการที่เกี่ยวกับความมั่นคงมนุษย์เต็มไปหมด โครงการเหล่านี้กลายเป็นงานส่วนใหญ่ของกองทัพ ถ้านับจำนวนโครงการ ประมาณ 7 ใน 10 โครงการ เป็นเรื่อง “ความมั่นคงภายใน” เรียกได้ว่าตอนนี้ภารกิจหลักของกองทัพ ไม่ใช่เรื่องการปกป้องดินแดน หรือปกป้องอธิปไตยจากภัยคุกคามจากภายนอก แต่เรื่อง “ความมั่นคงภายใน” ต่างหาก ที่เป็นหัวใจสำคัญของอำนาจของกองทัพไทยมานานแล้ว ถ้าไม่มีเรื่องนี้ นายพลทั้งหลายจะไม่มีงานทำเลยก็ว่าได้
.
.
นัยยะและผลกระทบของการที่ทำให้ปัญหาต่าง ๆ กลายเป็นเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ
พวงทองอธิบายศัพท์ทางวิชาการคำว่า securitization หมายถึงคือการยกสถานะของปัญหาหนึ่ง ให้มีความสำคัญมากขึ้น ทำให้เป็น “ภัยคุกคามอันน่ากลัว” ทำให้กลายเป็นปัญหาระดับชาติ มีการสร้างคำอธิบายหรือความชอบธรรม ว่าปัญหานั้น ๆ เป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของรัฐและชาติ หรือประชาชนในประเทศ (existential threat) ถ้าไม่จัดการแก้ไขอย่างเด็ดขาด รวดเร็ว ฉับพลัน จะนำไปสู่ภยันตรายร้ายแรงของชาติและประชาชน จนถึงระดับพินาศย่อยยับ เช่น กรณีวาทกรรมเกี่ยวกับเรื่องคอมมิวนิสต์
ฉะนั้น เมื่ออธิบายว่าเรื่องนั้น ๆ สำคัญต่อชีวิตของชาติ รัฐก็จำเป็นที่จะต้องทุ่มเทงบประมาณและสรรพกำลังเข้าไปแก้ไขปัญหา บางครั้งรัฐก็จำเป็นต้องอาศัยวิธีการพิเศษ รวดเร็ว ฉับพลันเพื่อแก้ปัญหานั้น แม้ว่าจะต้องละเมิด rule of law, ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ก็จำเป็นต้องทำ และมักอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และไม่ต้องรับผิดชอบใด ต่อให้ละเมิดชีวิตของประชาชนก็ไม่ต้องรับผิด การลอยนวลพ้นผิด Impunity จึงเกิดขึ้นจนเป็นเรื่องปกติของรัฐความมั่นคงแบบไทย
ฉะนั้น การทำปัญหาหนึ่ง ๆ ให้เป็นปัญหาภัยคุกคามความมั่นคงแห่งชาติ ก็คือการอนุญาตให้การจัดการกับปัญหานี้อยู่ใน “สภาวะยกเว้น” และบ่อยครั้ง มักจะเป็นสภาวะยกเว้นแบบถาวร เช่น กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือใช้นานเกินกว่าเหตุ เช่น กรณีโควิด ใช้ถึงสองปีกว่า หรือกรณีปราบเสื้อแดงปี 53 ใช้จนถึง 7 เดือน เป็นต้น นี่คือคุณลักษณะสำคัญ รัฐความมั่นคง หรือ Security State
รัฐไทยก็จัดอยู่ใน “รัฐความมั่นคง” รูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจนในสังคมไทยคือ การดำรงอยู่ของกฎหมายพิเศษจำนวนหนึ่ง ได้แก่ กฎอัยการศึก, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กฎหมายเหล่านี้เป็นกฎหมายที่รัฐส่วนใหญ่ก็มี แต่ในสังคมประชาธิปไตย จะถูกจำกัดการใช้เฉพาะในสถานการณ์ที่จำเป็นจริง ๆ และในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ในสังคมไทย มักถูกใช้นาน ๆ จนกลายเป็น “สภาวะยกเว้นแบบถาวร”
หรือการดำรงอยู่ของกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ถูกจัดไว้ในหมวดความมั่นคงของรัฐ และการประพฤติปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรมไทยที่ผ่านมา ก็ฟ้องตัวมันเองชัดเจน ว่ามันอยู่ในสภาวะยกเว้น ทั้งเรื่องไม่ให้ประกัน การลงโทษหนัก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตีความกฎหมายที่ว่า “ต่อให้สิ่งที่พูดหรือเขียนเป็นจริง ก็ถือว่าผิดอยู่ดี และไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าสิ่งที่พูดเป็นจริงหรือไม่”
มาตรา 112 จึงถูกยกให้มีสถานะพิเศษเหนือระบบการเมืองและกฎหมายแบบปกติธรรมดามานานแล้ว สถานะพิเศษนี้จึงเรียกร้องให้ทุกองคาพยพของสังคมต้องช่วยกันทำงานอย่างแข็งขัน อนุญาตให้ประชาชนฟ้องร้องกล่าวโทษ ทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาให้กับรัฐได้ หรืองบปกป้องสถาบันกษัตริย์จัดอยู่ในหมวดการรักษาความมั่นคงภายในของชาติ
รัฐความมั่นคง ยังถือว่าปฏิบัติการลับทั้งหลาย เป็นเรื่องปกติที่ทำได้ เช่น เงินราชการลับ ระบบหาข้อมูลลับที่ใช้วิธีการสอดแนม แอบฟังโทรศัพท์ ใช้สปายแวร์เจาะโทรศัพท์ ใช้มวลชนจับตาการเคลื่อนไหวของประชาชนที่รัฐมองว่าเป็นศัตรู ไปจนถึงการทำ IO สร้าง fake news หรือแม้แต่การไม่เปิดเผยตัวเลขรายได้จากธุรกิจกองทัพสารพัดชนิด ก็อ้างเรื่องความมั่นคงเช่นเดียวกัน
สิ่งที่อยากย้ำให้เห็นถึงปัญหาของรัฐความมั่นคงคือ ในปัจจุบัน การที่ประเด็นปัญหาภายในสารพัดเรื่อง ถูกทำให้เป็นปัญหาความมั่นคงของชาติ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายสังคม แล้วก็สร้างปัญหามากบ้างน้อยบ้าง แต่ปัญหาเลวร้ายที่สุดเกิดขึ้นในสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย สังคมที่ทหารมีอำนาจมาก ประชาชนจะถูกคุกคาม เวลาที่บอกว่าเรื่องภายในประเทศ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เรื่องความแตกต่างทางความคิด เป็นภัยคุกคาม มันเกี่ยวข้องกับประชาชนภายในชาติแทบทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องภายนอกแล้ว ประชาชนถูกทำให้เป็นภัยคุกคามของชาติ ทำให้ประชาชนกลายเป็น enemy of the state คนที่ยืนข้างรัฐเป็น “พวกเรา” คนที่ยืนตรงข้ามเป็น “พวกมัน” ต้องจัดการอย่างเด็ดขาด
รัฐความมั่นคง ยังเชื่อในข้อมูลข่าวสารที่ตนเองได้มา โดยไม่ตระหนักถึงอคติที่ครอบงำตัวเองอยู่ อคติที่มองประชาชนเป็นภัยคุกคาม ความแตกต่างคือภัยคุกคาม อคติที่เต็มไปด้วยความไม่ไว้วางใจ และจะประนีประนอมไม่ได้ และจะไม่พยายามทำความเข้าใจ ความแตกต่างก็คือความแตกต่าง ไม่จำเป็นต้องเข้าใจมัน
ฉะนั้น อำนาจของรัฐความมั่นคงไม่ใช่แค่อำนาจทางกฎหมายและกลไกบริหาร ระบบราชการ กองทัพ และตำรวจ แต่ยังเป็นอำนาจที่ครอบงำความคิดของคนในสังคมด้วย มันคือแว่นที่รัฐใช้ และรัฐก็พยายามทำให้แว่นนั้นกลายเป็นแว่นของประชาชนทั่วไปด้วย เพื่อสนับสนุนความเชื่อเรื่องภัยคุกคาม
คำถามคือ ในปัจจุบัน การที่บรรดาสารพัดปัญหาที่ถูกจัดให้เป็น “ภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ” มัน make sense จริงหรือ ความแตกต่างทางความคิดจะทำให้ประเทศนี้พังทลายจริง ๆ หรือ หรือเป็นความพังทลายของกลุ่มผู้มีอำนาจเท่านั้น
.
.
โครงการท่องเที่ยว-หาประโยชน์ทางเศรษฐกิจของกองทัพ ในนามความมั่นคงแห่งชาติ
พวงทองยังได้เล่าถึงประสบการณ์จากการทำงานวิจัยเรื่องทหารที่ผ่านมา และในฐานะที่ได้เข้าไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญของสภาฯ ที่ศึกษาธุรกิจกองทัพที่กำลังทำงานอยู่ในขณะนี้ ก็พบเหตุการณ์แปลก ๆ ในนามของ “การรักษาความมั่นคงของชาติ”
ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ทุกเหล่าทัพจะมีโครงการเศรษฐกิจมากมายที่จัดอยู่ในหมวด “การรักษาความมั่นคงภายในของชาติ” เช่น โครงการ Army Land ทำแหล่งท่องเที่ยวในค่ายทหารกว่า 170 แห่งทั่วประเทศ สร้างขึ้นโดยภาษีของประชาชน ภายในค่ายมีกิจกรรม เช่น ปีนหน้าผาจำลอง กระโดดหอ ยิงปืน ให้ดูอาวุธยุทโธปกรณ์ และมีพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวีรประวัติของพระมหากษัตริย์ไทย เป็นการท่องเที่ยวแบบทหาร เป็น militarization of tourism ก็ได้ ที่มุ่งส่งเสริมภาพลักษณ์ของทหารไทยในสายตาประชาชนพร้อม ๆ ไปกับส่งเสริมอุดมการณ์หลักของชาติ
จากเว็บไซต์โครงการนี้ พบว่ามีการนำนักเรียนนิสิตนักศึกษาเข้าชมเป็นหมู่คณะด้วย รวมทั้งนิสิต ของจุฬา-เกษตร-มศว. ในสามมหาวิทยาลัยนี้มีวิชาความมั่นคงแห่งชาติด้วย และเชิญทหารมาบรรยายด้วย ในระยะอย่างน้อย 10 ปีที่ผ่านมา เห็นได้ว่ารัฐความมั่นคงไทยพยายามแทรกซึม และ militarize เยาวชนไทยผ่านระบบการศึกษาปกติมากขึ้นเรื่อย ๆ
นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เฉพาะกองทัพเรือมีงบเรื่องนี้เกือบหมื่นล้านในสี่ปีที่ผ่านมา โครงการพัฒนาระบบโลจิสติคของประเทศ โครงการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โครงการสร้างความสุขให้กับประชาชนที่ตั้งอยู่ใกล้เขตทหาร โครงการเหล่านี้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติอย่างไร
พวงทองตอบว่า มันไม่เกี่ยวหรอก แต่เขาทำให้เกี่ยว เพราะเขาอ้างว่าในรัฐธรรมนูญกำหนดว่า “การพัฒนาประเทศต้องมุ่งให้เกิดความมั่นคง” ด้วย ทหารก็ต้องมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วย ฉะนั้น นี่กลายมาเป็นข้ออ้างและความชอบธรรมตามกฎหมาย อย่าถามว่า ทหารมีความรู้ความสามารถหรือไม่ เพราะนั่นไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือ เขาอ้างว่านี่คือภารกิจของกองทัพ จึงต้องทำ ต้องมีโครงการ ต้องมีงบประมาณให้ทำ
พวงทองยังกล่าวถึงปัญหา “การมีความลับ ความไม่โปร่งใส ไม่ต้องมีการตรวจสอบ” ว่าเป็นคุณลักษณะสำคัญของรัฐความมั่นคง เรื่องความมั่นคงกลายเป็นข้ออ้างที่จะไม่ต้องโปร่งใส ฉะนั้น ปัญหาใหญ่ที่ กมธ. ศึกษาธุรกิจของกองทัพ ประสบก็คือ ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือในเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับสถานะการเงินของกองทัพ ในบรรดาหน่วยงานทหารทั้งหมด กองทัพบก ซึ่งมีธุรกิจมากที่สุด ครอบครองที่ดินของประเทศมากที่สุด มักไม่ยินยอมเปิดเผยบัญชีรายรับรายจ่ายจากการประกอบธุรกิจของตน
ธุรกิจจำนวนมากถูกจัดอยู่ในหมวดสวัสดิการเพื่อคนในกองทัพ เช่น ปั๊มน้ำมัน 100 กว่าแห่ง, สนามกอล์ฟอีกเกือบ 100 แห่ง, ค่าเช่าร้านสะดวกซื้อ, ร้านกาแฟ, โรงแรมรีสอร์ททั่วประเทศ ฯลฯ ธุรกิจพวกนี้ไม่ต้องถูกตรวจสอบโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แต่กองทัพตรวจสอบกันเอง หรือจ้างบริษัทเอกชนตรวจบัญชี แต่กลับไม่ยอมเปิดเผยบัญชี
ส่วนธุรกิจที่กฎหมายกำหนดว่าต้องให้ สตง. ตรวจสอบ ก็พบว่า สตง. ไม่ได้อนุญาตให้ตรวจสอบ เช่น รายได้ของ ททบ.5 และบริษัทลูกต่าง ๆ, รายได้จากการเช่าคลื่นวิทยุโทรทัศน์ของกองทัพ เป็นต้น
นี่คือสภาวะยกเว้นในนามของความมั่นคงของชาติ เป็นสภาวะยกเว้นทางเศรษฐกิจ ที่มีแต่กองทัพที่ได้รับอภิสิทธิ์นี้ ขณะที่หน่วยงานรัฐอื่นทำไม่ได้
นอกจากนี้ “ความมั่นคงของชาติ” ยังถูกอ้างเพื่อให้กองทัพสามารถครอบครองที่ดินจำนวนมหาศาลของประเทศไว้ได้ (7.5 ล้านไร่ จาก 12.5 ล้านไร่) จำนวนมากถูกนำไปใช้เป็น สนามกอล์ฟ โรงแรม บ้านพักตากอากาศ แหล่งท่องเที่ยว
พวงทองกล่าวถึงเรื่องพิลึกกึกกืออีกกรณีหนึ่ง คือ ปัญหาการให้บริการไฟฟ้าในพื้นที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่ดำเนินการโดยกองทัพเรือ โดยประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอสัตหีบและบางส่วนของบ้านฉาง จ.ระยอง มาร้องเรียนกับ กมธ.สภาตั้งแต่สภาชุดที่แล้ว ว่าเดือดร้อนจากปัญหากองทัพเรือเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในราคาแพงกว่าไฟฟ้าที่บริการโดยการไฟฟ้าฝ่ายภูมิภาค (กฟภ.) โดยกองทัพเรือซื้อไฟจาก กฟภ. มาขายต่อให้ชาวบ้านอีกทีในราคาที่แพงขึ้น อีกทั้งบริการไม่ได้คุณภาพเพราะไฟดับบ่อยครั้ง
กมธ. ก็เสนอว่ากองทัพเรือควรพิจารณาจำกัดการให้บริการไฟฟ้าเฉพาะพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับกิจการทหาร หรือในค่ายทหารเท่านั้น และถ่ายโอนพื้นที่ที่กองทัพเรือไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึงให้ กฟภ. กองทัพเรือควรให้ความสำคัญกับภารกิจป้องกันประเทศมากกว่าทำธุรกิจแสวงหากำไรจากการขายไฟฟ้า
กระนั้น ทางกองทัพเรือก็ยืนยันว่าจำเป็นต้องควบคุมการให้บริการไฟฟ้าในเขตอำเภอสัตหีบต่อไป ด้วยเหตุผลว่า เพราะเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยด้านการทหารเพราะมันเป็นพื้นที่ทหาร แต่ในความเป็นจริงพื้นที่ดังกล่าวจะเต็มไปด้วยบ้านเรือนของประชาชน ร้านค้า โรงแรม รีสอร์ท คอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า สวนน้ำ ฯลฯ กองทัพเรือแสวงหาประโยชน์ทางพาณิชย์จากพื้นที่ความมั่นคงของตน หากำไรจากการขายไฟฟ้าแพงให้ชาวบ้านปีละร้อยกว่าล้านบาท กำไรนี้เข้ากระเป๋าสวัสดิการของกองทัพ ไม่ได้เข้าคลัง แต่พอจะขอให้ชาวบ้านซื้อไฟโดยตรงจาก กฟภ. แทน กลับอ้างเรื่องความมั่นคงของชาติ
จะเห็นได้ว่า “ความมั่นคงของชาติ” ได้กลายเป็นยาสารพัดชนิดไว้ให้กองทัพและชนชั้นนำ ไว้ทำอะไรก็ได้ มีไว้ปราบปรามประชาชนที่คิดต่างก็ได้ มีไว้ให้ทหารมีอำนาจเหนือหน่วยงานพลเรือน ไม่ต้องถูกตรวจสอบก็ได้ มีไว้ตั้งงบประมาณสูง ๆ เพื่อซื้ออาวุธ มีไว้ให้กองทัพขยายภารกิจของตนออกไปครอบจักรวาลก็ได้
.
.
เราจะทลายกรงของ “รัฐความมั่นคงไทย” ได้อย่างไร
พวงทองกล่าวในประเด็นสุดท้ายว่า เรามักจะได้ยินคนพูดว่าที่เราต้องจำทนกับระบอบประยุทธ์มาถึง 8 ปี ก็เพราะคนไทยโกรธไม่พอ แต่เธอเห็นว่าไม่ใช่เช่นนั้น เพราะคนโกรธคนไม่รู้จักโกรธยังไงแล้ว ไม่ใช่ว่าเราโกรธไม่พอ แต่เพราะในความโกรธ มีความกลัวอยู่ด้วย แต่ต้องถามว่าคนกลัวอะไร
“ดิฉันไม่คิดว่าคนกลัวปืน ไม่คิดว่าคนกลัวตาย ในอดีตที่ผ่านมา แม้กระทั่งเร็ว ๆ นี้ เราเห็นการเสียสละของชีวิตของผู้คน แม้กระทั่งเหตุการณ์ปี 2553 คนเสื้อแดง แต่คนพร้อมที่จะเสียสละชีวิตตนเอง ความสุขสบายของตนเอง ถ้าเขามีความหวัง แต่ถ้าคุณเสียสละ แล้วคุณตายฟรี เสียสละแล้ว คุณรู้สึกว่ามันไม่เกิดอะไรขึ้น ระบอบเดิมก็ยังคงอำนาจอยู่เหมือนเดิม หรืออาจจะมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพื่อนที่ตายก็ตายไป เจ็บก็เจ็บไป คนจำนวนมากทุกข์ยากจากการบาดเจ็บล้มตายของคนในครอบครัว ขณะที่คนที่ทำร้ายประชาชน สังหารประชาชน กลับได้ดี ได้รางวัล ได้เลื่อนขั้น แต่ประชาชนกลับถูกลงโทษซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันคือภาวะสิ้นหวัง ที่คนรู้สึกว่าแล้วจะสู้ไปทำไม
“ภาวะสิ้นหวังนี้ มันเกิดขึ้นจากภาวะ impunity การลอยนวลพ้นผิด ไม่ต้องรับผิด ถ้าคุณทำตอบสนองนโยบายของรัฐ คุณจะได้รับรางวัล ถ้าคุณกล้าท้าทายคุณจะถูกลงโทษอย่างแสนสาหัส นี่ต่างหากที่คนกลัว ดิฉันคิดว่าการ impunity ลอยนวลพ้นผิด ไม่ต้องรับผิดต่างหาก ที่ทำให้คนกลัว สู้แล้วมันไม่มีหวัง จะสู้ไปทำไม
“กระนั้นก็ตาม หลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นความกล้าหาญของคนจำนวนมาก ของเยาวชน ตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นมา ของคนที่เสียชีวิตไป คนที่ยังติดคุกอยู่ ของคนที่มีสารพัดข้อหาติดตัวอยู่จนถึงทุกวันนี้ เห็นความกล้าหาญของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ดิฉันคิดว่าหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นความพยายามท้าทาย ‘ความมั่นคงของรัฐ’ มากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งคำถามกับมันเรื่อย ๆ ไม่เคยมีครั้งไหนที่ดิฉันคิดว่า ประชาชนจะตั้งคำถามต่อสถาบันทางอำนาจที่ดำรงอยู่มากเท่านี้อีกแล้ว เราตั้งคำถามไปถึงวัฒนธรรมอำนาจนิยม ระบบอุปถัมภ์ ระบบอาวุโส ล้วนถูกดันเพดานขึ้นไป ปรากฏการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำลายความชอบธรรมของรัฐความมั่นคง เราต้องตั้งคำถามให้ไปถึงที่สุด
“ดิฉันอยากจะเสนอว่า เราต้องตั้งคำถามแม้กับสิ่งที่อ้างว่าเป็นความมั่นคงของชาติทุกชนิด แม้แต่สิ่งที่ดูเหมือนจริงแท้แน่นอนสำหรับคนไทยมาตลอดชีวิต ก็ควรตั้งคำถามได้”
พวงทองยกตัวอย่างเรื่องภัยคอมมิวนิสต์ คนที่โตในยุคสงครามเย็น ก็จะอยู่กับคำอธิบายว่าภัยคอมมิวนิสต์จะทำลายชาติ ทำลายความเป็นไทย ทำลายสถาบันหลักของประเทศ จะเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ฉะนั้นก็ต้องจัดการอย่างเด็ดขาด การสังหารนักศึกษาประชาชนเมื่อวันที่ 6 ตุลา 2519 ก็วางอยู่บนวาทกรรมแบบนี้ วาทกรรมนี้แหละที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ผิดพลาด เป็นวาทกรรมของรัฐเผด็จการ ที่ไม่สามารถรับมือกับความแตกต่างหลากหลายทางความคิดอย่างสันติวิธีได้
ในความเป็นจริง ในสังคมประชาธิปไตยหลายสังคมทีเดียว คอมมิวนิสต์ไม่ได้เป็นภัยความมั่นคงของชาติ คอมมิวนิสต์เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ค ในประเทศเหล่านี้ อนุญาตให้คอมมิวนิสต์ไม่ผิดกฎหมาย สู้กันในระบอบรัฐสภาได้ สู้กันที่นโยบาย แล้วให้ประชาชนตัดสินใจ เขาเชื่อว่าประชาชนมีวิจารณญาณและสิทธิที่จะเลือกได้ เลือกผิดก็เลือกใหม่
ฉะนั้น แม้กระทั่งสิ่งที่มันดูจริงแท้แน่นอน อาจจะมีปัญหาเยอะมาก ๆ ที่ตั้งคำถามได้ สิ่งที่อยากฝากไว้คือ เราต้องตั้งการ์ดสูงไว้ทุกครั้งที่ได้ยินเรื่อง “ความมั่นคงของชาติ” ต้องระแวงไว้ก่อน สงสัยไว้ก่อน แล้วบางทีคำว่าความมั่นคงนี้ มันก็มาในศัพท์แบบอื่นด้วยเหมือนกัน เช่น ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อันเป็นประมุข คำนี้ความหมายของมันก็คือความมั่นคงของชาติเช่นกัน ถ้าคุณกล้าท้าทายมัน คุณก็คือภัยคุกคาม
อยากฝากว่าต้องทำให้เรื่อง “ความมั่นคงของชาติ” กลายเป็นคำที่ไร้ความน่าเชื่อถือ ถ้ามันเป็นปัญหาเศรษฐกิจก็บอกว่าเป็นปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหายาเสพติดก็เรียกว่าปัญหายาเสพติด ปัญหาผู้ลี้ภัยก็เรียกว่าปัญหาผู้ลี้ภัย อย่าไปยอมรับคำว่าความมั่นคงของชาติง่าย ๆ เพราะคำ ๆ นี้มันปิดปากเรา และเปิดโอกาสให้รัฐใช้อำนาจอย่างเกินเลยในการกดปราบ-ปราบปรามประชาชน
.
รับชมคลิปงานปิดนิทรรศการ “วิสามัญ ยุติธรรม”
.