Q&A ถาม-ตอบข้อสงสัย ให้ความเห็นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน ทำไปทำไม ทำขั้นตอนใดบ้าง

นับถอยหลังอีกไม่กี่สิบวันแล้ว กับการเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ทางออนไลน์บนเว็บไซต์รัฐสภาฯ ตลอด 24 ชั่วโมงจนถึงวันที่ 12 มิ.ย. นี้ จากนั้นจะมีการจัดทำรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นประกอบการพิจารณาของ สส. เมื่อมีการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาฯ เพื่อพิจารณาอภิปราย ถกเถียง และยกมือโหวตเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อไป

ศูนย์ทนายฯ รวบรวมคำตอบที่หลายคนสงสัยเกี่ยวกับการให้ความเห็นต่อร่างฯ ไว้ที่นี่แล้ว อ่านทำความเข้าใจแล้ว อย่าลืมกดเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์รัฐสภาไทย ที่ bit.ly/4bUu5cN เพื่อให้ความเห็นต่อร่างฯ ด้วย

จนถึงวันที่ 12 มิ.ย. นี้เท่านั้น

ร่วมแสดงพลัง เป็นหนึ่งเสียง ‘เห็นด้วย’ ให้ร่างฯ ผ่านเป็นกฎหมาย 
คืนความปกติ คืนความเป็นธรรม นิรโทษกรรมประชาชน 

Q : ทำไมต้องให้ความเห็นฯ ขั้นตอนนี้สำคัญอย่างไร

A : การรับฟังความเห็นตลอด 1 เดือน สุดท้ายจะถูกจัดทำเป็น ‘รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น’ เป็นข้อมูลสะท้อนให้ทั้ง สส. อ่านประกอบการตัดสินใจในขั้นตอนที่ร่างกฎหมายนี้ถูกเสนอเข้าสู่รัฐสภาฯ เพื่ออภิปราย ถกเถียง และยกมือโหวต ‘เห็นด้วย’ หรือ ‘ไม่เห็นด้วย’ ต่อไป

การเปิดรับฟังความเห็นต่อร่างกฎหมายต่าง ๆ เป็นกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมก่อนที่ร่างกฎหมายใดจะถูกบรรจุเป็นวาระเข้าสู่รัฐสภาฯ เพื่ออภิปรายหาข้อสรุปว่าร่างกฎหมายดังกล่าวสมควรจะถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายหรือไม่ อย่างไร 

แต่สุดท้ายร่างกฎหมายจะผ่านเป็นกฎหมายหรือไม่ อย่างไร ขึ้นอยู่ที่การยกมือโหวตของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในรัฐสภาฯ ในทั้งสามวาระอยู่ดี 

ทั้งนี้ ในขั้นตอนรับฟังความเห็นที่มีต่อร่างกฎหมาย แม้ว่าสัดส่วนความเห็นทั้ง ‘เห็นด้วย’ หรือ ‘ไม่เห็นด้วย’ จะเป็นเท่าใดก็ตาม มากหรือน้อย ย่อมไม่ได้ส่งผลทางตรงต่อการผ่านร่างกฎหมาย แต่อาจส่งผลทางอ้อมให้ สส. ในสภาฯ ยกขึ้นมาเป็นประเด็นในการอภิปรายได้ว่าความเห็นของประชาชนต่อร่างฯ เป็นอย่างไร รวมถึงใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจยกมือโหวต ‘เห็นด้วย’ หรือ ‘ไม่เห็นด้วย’ ของ สส. ในรัฐสภาฯ

Q : ใครให้ความเห็นได้บ้าง

A : เพียงเป็นผู้ที่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก โดยไม่มีเงื่อนไขคุณสมบัติต้องห้ามใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นเกณฑ์อายุ สถานะ หรืออาชีพ ฯลฯ 

Q : ลงชื่อสนับสนุนร่างฯ 1-14 ก.พ. แล้วยังสามารถให้ความเห็นอีกได้หรือไม่

A : แม้จะเคยลงชื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชน เมื่อวันที่ 1-14 ก.พ. 2567 และเป็นหนึ่งใน 35,905 รายชื่อผู้สนับสนุนร่างฯ แล้ว แต่ก็ยังสามารถให้ความเห็นต่อร่างฯ บนเว็บไซต์รัฐสภาฯ ได้อีกเช่นกัน

Q : ให้ความเห็นได้ถึงเมื่อไหร่

A : รัฐสภาฯ เปิดรับฟังความเห็นนาน 1 เดือน ไปจนถึงวันที่ 12 มิ.ย. 2567 ผ่านทางออนไลน์ บนเว็บไซต์รัฐสภาไทย bit.ly/4bUu5cN

Q : ใช้ข้อมูลอะไรบ้างในการให้ความเห็น

A : ไม่ต้องอัปโหลดเอกสารใด ๆ ประกอบการให้ความเห็น แต่จำเป็นต้องตอบคำถามข้อมูลทั่วไป ได้แก่ เพศ, อายุ, ระดับการศึกษา, อาชีพ, ความเกี่ยวข้องกับร่างฯ และหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 

Q : ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลการให้ความเห็นจะถูกเผยแพร่สาธารณะไปที่ช่องทางใดหรือไม่

A : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งบนเว็บไซต์ว่า จะเก็บข้อมูลบัตรประชาชนของผู้ให้ความเห็น ‘เป็นความลับ’ ส่วนรายละเอียดของการแสดงความเห็นนั้น ‘บุคคลอื่น’ จะไม่สามารถดูได้ 

Q : การให้ความเห็นอยู่ขั้นตอนไหนแล้ว กว่าจะได้กฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนต้องรออีกนานไหม

A : หลังจากปิดรับฟังความคิดเห็นที่มีต่อร่างฯ ในวันที่ 12 มิ.ย. นี้ รัฐสภาฯ จะจัดทำรายงานสรุปความคิดเห็นที่มีต่อร่างฯ เมื่อแล้วเสร็จ ร่างฯ นี้ก็จะถูกนำไป ‘ต่อคิว’ รอรับการพิจารณาของสภา ซึ่งจะได้พิจารณาเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับว่าถูกบรรจุเป็นวาระแบบใด 

แต่คาดว่าภายใต้ความสนใจของประชาชนและพรรคการเมืองในเรื่องนี้ ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ (ก.ค. – ธ.ค.) อาจมีการนำร่างกฎหมาย ไปร่วมพิจารณากับร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ถูกเสนอก่อนหน้านี้ รวมทั้งมีการนำรายงานของกรรมาธิการศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่สภาตั้งขึ้นและดำเนินการอยู่ในขณะนี้ มาประกอบการพิจารณาจัดทำและออกกฎหมายต่อไปด้วย

Q : อยากให้ความเห็นฯ ต้องทำยังไง มีขั้นตอนอะไรบ้าง 

A : ให้ความเห็นได้ที่เว็บไซต์รัฐสภาฯ ไทย ตลอด 24 ชั่วโมง ขั้นตอนง่าย ไม่ซับซ้อน ใช้เวลาไม่นานเพียง 5-10 นาที 

  1. เข้าไปที่เว็บไซต์ bit.ly/4bUu5cN
  2. อ่านรายละเอียดร่างฯ และข้อมูลประกอบที่เกี่ยวข้อง
    หรือกดอ่านสรุปร่างฯ ที่ https://amnestypeople.com
  3. กดแสดงความคิดเห็น

3.1 ตอบคำถามข้อมูลทั่วไป รวม 5 ข้อ

3.2 ตอบคำถามให้ความเห็นที่มีต่อร่างฯ รวม 9 ข้อ

  • ข้อ 1-8 ต้องกดเครื่องหมาย ✓ ในช่อง เห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย/ข้อเสนอแนะ เพียงข้อใดข้อหนึ่ง พร้อมกับเขียนเหตุผลประกอบ อย่างน้อย 10 ตัวอักษรขึ้นไป ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถกดส่งคำตอบในตอนสุดท้ายได้

3.3 ตอบคำถามสุดท้ายว่า สมควรให้ร่างพระราชบัญญัตินี้ผ่านเป็นกฎหมายหรือไม่ เลือกเห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย/งดออกเสียง เพียงข้อใดข้อหนึ่ง คำตอบเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในคำถามนี้จะถูกนับผลรวมแสดงผลเป็นเปอร์เซ็นต์บนหน้าเว็บไซต์ของร่างฯ นี้

4. กดส่งคำตอบ ด้วยปุ่ม ‘ร่วมแสดงความคิดเห็น’

    X