Amnesty International Thailand ร่วมกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จัดเวทีเสวนาประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน และความพร้อมสู่การเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ของประเทศไทย 

วันที่ 2 ม.ค. 2567 เวลา 18.00 น. ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย  มีเสวนา “หนทางสู่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ประเทศไทย จะทำได้หรือเปล่า?” ที่จัดโดย สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 

ในเวทีมีตัวแทนจากองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายองค์กร ได้แก่ เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, Arnaud Chatlin ผู้แทนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR), วิทิต มันตาภรณ์ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ, คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ใบปอ ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุวัง, ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกียวโต และผู้ลี้ภัยทางการเมือง, ธนภัทร ชาตินักรบ นักวิชาการ ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศและศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อัครชัย ชัยมณีการเกษ หัวหน้าฝ่ายต่างประเทศและนโยบาย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และเฝาซี ลาเต๊ะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์เชิงนโยบายของแอมเนสตี้ฯ ร่วมเสวนา

ก่อนเริ่มงานเสวนาในวันนี้ พบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจ จาก สน.ลุมพินี ได้เดินทางมาสังเกตการณ์และขอดูรายละเอียดในการจัดการงานตั้งแต่ก่อนเริ่มงาน และตลอดการเสวนาพบว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่ทราบสังกัดได้เข้าร่วมสังเกตการณ์งานในวันนี้ด้วย

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของเวทีเสวนาเกิดขึ้น อันสืบเนื่องมาจากที่กระทรวงการต่างประเทศ ได้ประกาศเจตจำนงค์ในการเสนอตัวเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (the United Nations Human Rights Council) ในช่วงวาระปี 2568 – 2570 

ในเวลาต่อมาช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ดอน ปรมัตถ์วินัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงต่อประชาคมระหว่างประเทศไทยให้ทราบถึงการสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ของประเทศไทย ในฐานะตัวแทนเดียวของสมาคมอาเซียน 

ท่ามกลางสถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมือง และก่อนหน้าการเลือกตั้งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ในเดือนตุลาคม 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ Amnesty International Thailand เชื่อว่าช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่ความพร้อมต่อหน้าที่ และความรับผิดชอบในฐานะสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ 

งานเสวนาในวันนี้ จึงเป็นการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ตลอด 3 – 4 ปีที่ผ่านมานี้ว่า ประเทศไทยเหมาะสมแล้วหรือไม่ที่จะได้รับที่นั่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

วิทิต มันตาภรณ์ ผู้รายงานพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติ ได้เริ่มปาฐกถางานเสวนาในหัวข้อ “Thailand – In search of the rights way” โดยกล่าวเน้นเรื่องความพร้อมของประเทศไทย ขอให้รัฐบาลพิจารณาในสิ่งที่เคยสัญญาไว้อนุสัญญาต่าง ๆ ทั้งเรื่องทางด้านมั่นคง สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี โดยเห็นว่าในอนาคต สิทธิมนุษยชนยังคงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับประเทศไทย และหวังว่าจะเป็นเรื่องที่เรายังพัฒนาไปข้างหน้าไปด้วยกันได้

ต่อมา อัครชัย ชัยมณีการเกษ หัวหน้าฝ่ายต่างประเทศและนโยบาย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้กล่าวถึงสถานการณ์สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมในประเทศไทย โดยสรุปให้ฟังถึงการติดตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า ปัจจุบันประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิและเสรีภาพของประเทศไทยยังคงอยู่ในภาวะวิกฤติของเสรีภาพทางการชุมนุม

จากการเก็บข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ตั้งแต่ปี 2557 – 2563 องค์กรศูนย์ทนายให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายอยู่ราว 30 – 40 คดีต่อปี แต่ในช่วงปี 2563 ที่มีการชุมนุมใหญ่กลับพบว่าองค์กรต้องให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเพิ่มขึ้นเป็น 234 คดีต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่กระโดดสูงมาก และหากดูในส่วนของคดี ม.112 ก็พบว่าจากผู้ที่ถูกดำเนินคดีเพียง 55 ราย ก็เพิ่มขึ้นเป็น 263 ราย หรือเพิ่มขึ้นกว่า  378 เปอร์เซ็นต์ ภายหลังการชุมนุมใหญ่ในปี 2563 

อัครชัย ได้สรุปภาพรวมว่าแม้จะมีการเลือกตั้งและเปลี่ยนผ่านรัฐบาล แต่จนถึงวันนี้ (2 ก.พ. 2567) ยังคงมีการสั่งฟ้องคดี ม.112 เพิ่มขึ้นอยู่ในทุกเดือน 

อย่างไรก็ตาม เฝาซี ลาเต๊ะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์เชิงนโยบายของ Amnesty  ได้อธิบายเพิ่มในส่วนภาพรวมของการออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมของประเทศไทยว่า จากการเก็บข้อมูลของ Mob Data Thaialnd มีการชุมนุมเกิดขึ้นอย่างน้อย 3,582 ครั้งตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา โดยเป็นการชุมนุมในประเด็นที่หลากหลาย อาทิเช่น ความเท่าเทียม ที่ดิน และการเมือง เฝาซีเห็นว่าตัวเลขดังกล่าวมีนัยที่น่าสนใจ และน่าภูมิใจในการเคลื่อนไหวของประชาชน แต่ในอีกนัยหนึ่งตัวเลขดังกล่าวก็เป็นการโชว์ความล้มเหลวต่อการตอบสนองในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล

ทั้งนี้ เฝาซีได้เสนอให้เห็นถึงตัวเลขของการเข้าสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีมากกว่า 70 ครั้งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยมีการเข้าขัดขวางการชุมนุมกว่า 148 ครั้ง โดยหนึ่งในรูปแบบที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดจากตัวเลขดังกล่าวคือการใช้กระสุนยางยิงใส่ผู้ชุมนุม ซึ่งเกิดขึ้นกว่า 125 ครั้ง

และในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา มีการจับกุมเด็กและเยาวชนโดยไม่มีหมายจับจากศาล มีการใช้เครื่องพันธนาการต่อเด็กและควบคุมตัวรวมกับผู้ใหญ่ และยังมีตัวเลขของเด็กที่ได้รับบาดเจ็บจากการเข้าร่วมการชุมนุมอย่างน้อย 200 ราย 

เฝาซี สรุปในภาพรวมว่าจากการตรวจสอบในเรื่องการจับกุม ไม่เคยมีครั้งใดที่ศาลเห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐ ปฏิบัติโดยไม่ชอบทางกฎหมาย และไม่เคยมีการเยียวยาหรือสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านั้นอย่างจริงจัง 

ต่อมา มีการเสวนาในหัวข้อ ประสบการณ์และผลกระทบจากการเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักกิจกรรที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย

ใบปอ นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุวัง เริ่มต้นด้วยการเล่าประสบการณ์จากการเคลื่อนไหวทางการเมืองและการตกเป็นผู้ต้องหาในคดี ม.112 พบว่ามีการคุกคามและขัดขวางไม่ให้ทำกิจกรรมทางการเมืองหลายครั้ง ตลอดจนในความรุนแรงผ่านทางภาพสื่อโซเชียลมีเดีย มักมีจุดเริ่มต้นจากตัวของเจ้าหน้าที่รัฐที่ก่อความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุม 

ตัวแทนจากทะลุวังเสนอว่า ใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ จะต้องรวม ม.112 ไปด้วย ถ้าจะแก้ ก็ต้องแก้ได้ทุกหมวด เพราะ ม.112 ก็เป็นคดีทางการเมืองที่มีผู้ถูกดำเนินคดีเยอะพอ ๆ กับคดีประเภทอื่น ๆ ปัจจุบันมีนักโทษทางการเมืองอยู่ 39 ราย มีหลายคนคดีสิ้นสุดแล้ว ถ้าพระราชบัญญัตินี้ออกมาได้ ก็จะส่งผลดีต่อเพื่อน ๆ ในเรือนจำของเรา และส่งผลต่อท่าทีที่ดีขึ้นของสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย 

คุ้มเกล้า ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังได้แสดงความคิดเห็นและกล่าวถึงประเด็นที่น่าเป็นห่วงในเรื่องการแจ้งสิทธิขั้นพื้นฐานกับผู้ต้องหา และไม่แจ้งพื้นที่ควบคุมตัวกับผู้ต้องหา ซึ่งเป็นอุปสรรคของทนายความ ที่ไม่สามารถเข้าถึงผู้ต้องหาได้ ซึ่งกล่าวได้ว่าการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งในเรื่องการจับกุมเยาวชนที่เข้าใช้สิทธิในพื้นที่ชุมนุม ไม่ได้กระทำโดยละมุมละมอม มีการจับเด็กไปรวมกับผู้ใหญ่ในห้องขังเดียวกัน ซึ่งมันเป็นภาพที่ไม่ควรเกิดขึ้น

คุ้มเกล้า กล่าวต่อว่าเรามีปัญหาเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองจริง ๆ จากการทำรัฐประหาร ปี 2557 มันไม่แปลกที่จะมีกลุ่มคนเห็นต่างออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง และมันนำไปสู่การเกิดขึ้นคดีทางการเมือง เราต้องยอมรับให้ได้ว่ามันมีความขัดแย้งตรงนี้ และมาตรา 112 ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือของกลุ่มคนที่เห็นต่าง ปกป้องสถาบันกษัตริย์ นำมาแจ้งความดำเนินคดี ตอบโต้กลุ่มประชาชนอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น ม.112 จึงสมควรที่จะต้องรวมอยู่ใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนนี้ด้วย

ปวินเริ่มต้นกล่าวว่าตัวเองก็โดนมาตรา 112 ในหลายคดี และเห็นว่าบทลงโทษในข้อหาดังกล่าว มันขาดความสมดุลในการกระทำผิด และไม่เหมาะสมที่จะต้องมีบทลงโทษโทษสูงขนาดนั้น 

และในส่วนประเด็นเกี่ยวกับการคุกคาม ปวินกล่าวว่าเขามีความเข้าใจมาก เพราะเป็นหนึ่งในบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยไทยที่หนีออกมาจากการคุกคามของรัฐไทย ซึ่งมีหลายกรณีเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา 

นอกจากนี้ ปวินยังกล่าวว่าสังคมไทยไปไกลมากแล้ว การพยายามเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างทางสังคมของประชาชนจึงเป็นเรื่องสำคัญมากกับการอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์ แต่ท้ายที่สุด แม้เขาจะปิดประตูทางกฎหมายได้ แต่จะไมมีใครสามารถปิดประตูการพูดในพื้นที่สาธารณะได้ 

ทั้งนี้ ปวินกล่าวถึงพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชนว่า เขาเห็นด้วยกับทุกคนในพื้นที่นี้ว่า นิรโทษกรรมควรรวมข้อหา ม.112 เพราะมันมีการใช้เป็นเครื่องมือกับคนที่เห็นต่าง แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือการคืนความยุติธรรมให้กับผู้ต้องหาคดีการเมืองทุกคน 

ธนภัทร ชาตินักรบ นักวิชาการ ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศและศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หากประเทศไทยคาดหวังจะเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ก็ควรจะพิจารณาถึงข้อกฎหมายต่าง ๆ อาทิเช่น ความมั่นคงของรัฐ ก็ต้องมาตีความกันว่าความมั่นคงดังกล่าวคืออะไร หรือในเรื่องความั่นคงทางสาธารณะสุข ที่ถูกเอามาใช้ดำเนินคดีกับการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะก็ต้องตีความกันว่ามีข้อยกเว้นอะไรได้บ้าง 

ประเทศที่ได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการหลายประเทศ ก็มีการพิจารณาในหลากหลายประเด็น ซึ่งมองว่าประเทศไทยก็ยังมีสิทธิที่จะได้และไม่ได้ หลายเรื่องที่ยังเกิดข้นในประเทศไทยที่คิดไว้ว่ามันจะเป็นแบบหนึ่ง แต่สุดท้ายมันก็ไม่ได้เป็นแบบที่เราคิด และมีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอยู่พอสมควรที่จะได้รับเลือกให้มีที่นั่งในเรื่องนี้ 

สุดท้าย ธนภัทรกล่าวว่ากฎหมายที่บังคับใช้ ทั้งเรื่องสิทธิและพื้นฐานต่าง ๆ ท้ายที่สุดเราก็ต้องมองว่า คนใช้บังคับกฎหมายนั้น ๆ ใช้มันอย่างเท่าเทียมหรือไม่

3 องค์กรสิทธิ แถลงข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย ก่อนการเลือกตั้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ

ในช่วงสุดท้ายของงานมีการแถลงข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย ก่อนการเลือกตั้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ โดย อัครชัย ชัยมณีการเกษ หัวหน้าฝ่ายต่างประเทศและนโยบาย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ภัทรานิษฐ์ เยาดำ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์เชิงนโยบายอาวุโส แอมเนสตี้ฯ และ รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล จาก iLaw

ภัทรานิษฐ์เล่าถึงปัญหาการที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยังไปติดตามการทำงานขององค์กรเธอในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้แล้วก็ยังพบว่ามีการสอดส่องการทำงานขององค์กรอย่างผิดกฎหมายและการติดตามแบบนี้ของเจ้าหน้าที่ก็ดำเนินมากว่าสามปีนับตั้งแต่แอมเนสตี้ฯ เริ่มแคมเปญเรื่องสิทธิในการชุมนุมกับนักกิจกรรมบางคน และยังมีปัญหาแม้กระทั่งในการขอวีซ่าทำงานจนถึงการโทรศัพท์ไปที่ออฟฟิศภูมิภาคด้วย และเหตุการณ์แบบนี้ก็เกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาลทหารมาจนถึงรัฐบาลพลเรือน

ตัวแทนจากแอมเนสตี้กล่าวว่าปฏิบัติการแบบนี้ทำให้เห็นว่างานความมั่นคงยังนำทิศทางการทำงานของรัฐบาลพลเรือนอยู่ทำให้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนส่วนแนวหน้ายังไม่เปลี่ยน คนยังต้องไปศาลทุกวัน ประกันได้บ้างไม่ได้บ้างทำให้มีคนถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีรวมถึงคนที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112

ภัทรานิษฐ์การที่รัฐบาลไทยประกาศคำมั่นและแสดงความพร้อมที่จะลงสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นก็เป็นสัญญาณที่ดีจากรัฐบาลเศรษฐาว่าจะนำประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาลแต่ก็เป็นข้อท้าทายของรัฐบาลด้วยว่าจะจัดการสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่ซับซ้อนและถูกซุกใต้พรมด้วย ซึ่งก็อยากให้รัฐบาลมีความรับผิดชอบต่อคนในประเทศด้วย

ตัวแทนจากแอมเนสตี้ฯ กล่าวถึงข้อเสนอขององค์กรต่อรัฐบาลไทยทำเพื่อให้ถูกเลือกเป็นคณะมนตรีฯ

ข้อแรก รัฐบาลต้องยกเลิกมติ ครม.ที่ตั้งเรื่องยกร่าง พ.ร.บ.องค์กรไม่แสวงกำไร และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็ควรจะยุติส่งร่างพ.ร.บ.นี้เข้าสภาด้วย

ข้อสอง รัฐบาลต้องตอบรับคำขอเยี่ยมประเทศอย่างเป็นทางการจากผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะด้านนักปกป้องสิทธิ ด้านแสดงออกและแสดงความคิดเห็น และด้านชุมนุม

ข้อสาม รัฐบาลต้องยุติการดำเนินคดีต่อเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีที่ออกมาชุมนุมและตั้งคณะกรรมการสอบสวนการใช้กำลังสลายการชุมนุมช่วงปี 2563-2565 และออกคำสั่งเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย รวมถึงการแก้ไขพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ด้วย

ข้อสี่ ศาลต้องใช้ดุลพินิจในการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีทางการเมือง และกระทรวงยุติธรรมเองก็ต้องยอมรับว่ามีนักโทษทางการเมืองและคนเหล่านี้ไม่ใช่อาชญากรและไม่ปฏิบัติกับเขาเช่นอาชญากร

ข้อห้า รัฐบาลต้องเร่งผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนให้เร็วที่สุด โดยร่างนั้นต้องไปยกเว้นกับคดีมาตราใดมาตราหนึ่ง

อัครชัย ชัยมณีการเกษ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่าการพิจารณาที่นานาประเทศจะเลือกประเทศใดเข้าไปเป็นคณะมนตรีสิทธิฯ ก็จะดูจากคุณูปการในด้านการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของประเทศนั้นๆ และจะสามารถทำตามกติกาของยูเอ็นได้แล้วหรือยัง

ข้อเสนอแนะของศูนย์ทนายความฯ มีอยู่สองข้อคือ ข้อแรก ต้องยุติการดำเนินคดีและแก้ไขมาตรา 112 และข้อสองออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยจะต้องเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการเลือกคณะมนตรีสิทธิฯ ในเดือนตุลาคมนี้

อัครชัยกล่าวว่าข้อเสนอเรื่องแก้ไขมาตรา 112 เป็นประเด็นก็เพราะที่ผ่านมากลไกด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นเองก็เคยมีคำแนะนำและข้อกังวลต่อเรื่องมาตรา 112 ถึงรัฐบาลไทย โดยนับตั้งแต่หลังปี 2549 เป็นต้นมามีข้อร้องเรียนถึง 21 ข้อร้องเรียนจากกรณีต่างๆ และทางยูเอ็นเองก็มีฉันทามติชัดเจนด้วยว่าการใช้มาตรา 112 นั้นขัดกับข้อ 19 ในกติการะหว่างประเทศด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR) อีกทั้งยังมีประเด็นที่การใช้มาตรา 112 ในการคุมขังถือเป็นควบคุมตัวโดยไม่ชอบตาม

“ในสายต่อของยูเอ็นนั้นไม่มีข้อที่ต้องถกเถียงกันในมาตรา 112 เลย” อัครชัยกล่าว

ตัวแทนจากศูนย์ทนายความฯ ยังกล่าวด้วยว่าข้อเสนอเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ต้องมีเพราะนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมามีคดีมากกว่าพันคดีและยังมีคดีอยู่ในชั้นสอบสวนจนถึงชั้นศาลกว่าแปดร้อยคดี เท่ากับมีคดีที่ยังไม่เสร็จสิ้นอยู่ถึง 65% และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่นิรโทษกรรม และการใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีไปเรื่อยๆ ยังเหมือนเป็นเชื้อเพลิงคว่ามขัดแย้งทางการเมืองก็ยิ่งสูงขึ้น การนิรโทษกรรมจึงเป็นกระดุมเม็ดแรกที่จะลดความขัดแย้งนี้และรัฐบาลสามารถทำได้

รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล ตัวแทนจาก iLaw กล่าวว่าการที่รัฐบาลไทยจะไปเข้าร่วมเป็นคณะมนตรีสิทธิฯ ก็ต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่ามีอะไรแตกต่างกับรัฐบาลประยุทธ์เพราะเมื่อปี 2564 ในเวทีทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหรือ UPR ไทยได้รับความเห็นจากนานาประเทศหลายข้อแต่ก็มีข้อที่ไทยขอสงวนไว้ซึ่งหมายถึงว่ารับทราบแต่ไม่ทำถึง 60 ข้อก็ให้ย้อนกลับไปดูว่าจะรับเพิ่มขึ้นหรือไม่เพราะประเด็นเหล่านี้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม รัชพงษ์ก็ได้กล่าวถึงข้อเสนอของ iLaw เองที่จะมีถึงรัฐบาลไทยก่อนที่จะถึงการเลือกตั้งคณะมนตรีสิทธิฯว่ามีอยู่สองข้อ

ข้อแรก ต้องมีกระบวนการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเดินหน้าโดยที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้เต็มรูปแบบ ไม่มีการซ่อนเงื่อนไขใดๆ เอาไว้และพรรคเพื่อไทยเองก็เคยสัญญาไว้ 3 ข้อว่าเมื่อตั้งรัฐบาลได้จะ ครม.มีมติทำประชามติ ข้อสอง จะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วม และสาม จะทำให้การร่างรัฐญธรรมนูญฉบับใหม่สำเร็จ แต่วันนี้ทั้งสามข้อนี้จะเป็นจริงอย่างไร

รัชพงษ์ยังกล่าวอีกว่าเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ก็ยังมีเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทที่ต้องจัดการ เช่น เรื่องจะทำอย่างไรกับองค์กรอิสระทั้งศาลรัฐธรรมนูญ กกต. หรือ กสม.เองก็มีปัญหา หรือเรื่องรับรองสิทธิเสรีภาพ

ข้อสอง เรื่องที่ไอลอว์เรียกร้องคือหลังจาก สว. 250 คนจะหมดอายุในเดือนพฤษภาคมนี้และจะมี สว.ชุดใหม่ 200 คนมาจากการเลือกกันเองซึ่งมีกระบวนการที่ซับซ้อนและไม่ได้เปิดกว้างให้คนทั่วไป แต่เป็นกระบวนการ “สำหรับคนมีอายุ คนมีพรรคพวกและมีเงิน”

รัชพงษ์อธิบายว่าเพราะต้องมีอายุถึง 40 ปีก่อนแล้วก็ชวนพรรคพวกไปสมัครแล้วก็ต้องจ่ายเงินค่าสมัครเพื่อให้คนเหล่านั้นมาโหวตให้ตัวเองเพื่อมาเป็น สว. โดยที่กระบวนการเหล่านี้ไม่มีอะไรรับประกันถึงความโปร่งใส จึงอยากเห็นกระบวนการที่โปร่งใส ประชาชนเข้าใจและสามารถไปสังเกตการณ์ได้เพราะที่ผ่านมาก็เห็นปัญหาของ สว.อยู่แล้วและไม่อยากให้ชุดใหม่ที่เข้ามามีปัญหาต่อไป

“เกือบสิบปีที่แล้วประเทศไทยเองเราก็เดินอยู่บนเวทีระหว่างประเทศด้วยการที่คอตก จนถึงวันนี้เรารู้รู้สึกมั่นใจมากขึ้น เราอยากไปสมัครเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแล้วเรารู้สึกว่าคออยากตั้งตรงขึ้นมานิดนึง ผมก็ยังอยากบอกว่าเมื่อคอคุณตั้งตรงแล้วบ่ามันก็หนักขึ้น มันมีความรับผิดชอบที่มากขึ้น เราก็หวังว่าก่อนจะถึงเดือนตุลาคมปีนี้เราอยากเห็นพัฒนาการของเรื่องการปฏิรูปการเมือง เรื่องของสิทธิทางการเมืองและเรื่องสิทธิพลเมืองของประชาชน”

X