องค์กรสิทธิทำจดหมายเปิดผนึกถึงนานาชาติกว่า 25 ประเทศ : ชวนจับตาเลือกตั้ง 2566 เรียกร้องแก้ไขกลไกการเลือกตั้งไม่เป็นธรรม-ยุติการดำเนินคดี

เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน องค์กรสิทธิมนุษยชนและภาคประชาชนรวมกว่า 50 องค์กร ได้ร่วมกันส่งจดหมายเปิดผนึกถึงผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงของสหภาพยุโรป และอุปนายกผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศสหภาพยุโรป เกี่ยวกับสถานการณ์การเลือกตั้งของประเทศไทย เพื่อร้องขอให้แสดงความกังวลต่อการเลือกตั้งที่จะมาถึงในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้ ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้โครงสร้างทางการเมืองที่บิดเบี้ยว และการดำเนินคดี-คุกคามต่อผู้แสดงออกทางการเมือง ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้

——————————————–

6 มีนาคม พ.ศ. 2566

เรื่องการเลือกตั้งของประเทศไทย

เรียน คุณ โจเซฟ บอเรลล์ ฟอนเทลส์ 

ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงของสหภาพยุโรป / อุปนายกผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศสหภาพยุโรป

เนื่องด้วยการเลือกตั้งของประเทศไทยที่จะถึงเป็นการเลือกรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีผู้ทำหน้าที่ผู้นำของฝ่ายบริหาร ทว่ากระบวนการเลือกตั้งดังล่าวเกิดขึ้นภายใต้อิทธิพลทางการเมืองรัฐธรรมนูญ และกฎหมายซึ่งไม่เอื้อแก่การเลือกตั้งที่เป็นอิสระและเป็นธรรม กลุ่มสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคมจึงมีความกังวลอย่างยิ่งต่อการเลือกตั้งดังกล่าวจะนำไปสู่ความขัดแย้งและความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ด้วยเหตุที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยที่ผ่านมามีพฤติการณ์ใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มผู้ประท้วงอย่างไม่ได้สัดส่วนเสมอมา 

กลุ่มสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคมจึงร่างจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ขึ้นเพื่อร้องขอต่อสหภาพยุโรปและรัฐบาลที่มีจุดยืนด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเช่นเดียวกันในการแสดงความกังวลอย่างยิ่งยวดดังกล่าวต่อรัฐบาลไทย รวมทั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ข้าราชการทหารและพลเรือนระดับสูง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล นายกรัฐมนตรี และข้าราชการ ดำเนินการป้องกันเหตุการณ์ข้างต้น การแสดงจุดยืนต่อการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาคมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหภาพยุโรปในฐานะคู่ค้าสำคัญของประเทศไทย เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อประชาชนชาวไทย 

ภายหลังการรัฐประหารปี พ.ศ. 2557 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของไทยถูกยกร่างขึ้นโดยคณะรัฐประหารหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้อิทธิพลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในเวลานั้น อีกทั้งการจัดทำประชามติเพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 ล้วนตกอยู่ภายใต้คำสั่งของคณะรัฐประหารซึ่งเต็มไปด้วยการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกการรวมกลุ่มและการชุมนุมอย่างสันติ 

อีกทั้งช่วงเวลาก่อนการจัดทำประชามมติข้างต้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ละเมิดเสรีภาพทางการเมืองของพลเมืองไทย ปิดกั้นการเข้าถึงข่าวสาร ห้ามการรวมกลุ่มของประชาชนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป การฟ้องร้องดำเนินคดีผู้วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว รวมถึงมีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพอื่นๆ อีกมากมาย

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจึงเป็นผลลัพธ์ของการหยั่งรากอำนาจของคณะรัฐประหารเพื่อควบคุมการเมืองของประเทศไทย จากกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้อำนาจตนเองในการเลือกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สององคาพยพที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ความชอบธรรมแก่การเลือกตั้งที่ผ่านมา โดยมีการตีกรอบการทํางานของรัฐบาลและสมาชิกผู้แทนราษฎรภายใต้ “แผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี” และทําให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สามารถกระทำได้หากปราศจากซึ่งการเห็นชอบจากฝ่ายทหาร

ยิ่งไปกว่านั้นรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้สร้างกลไกรัฐสภาที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย แม้ว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวจะกำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งจำนวน 500 คน แต่กลับสงวนไว้ซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวน 250 คน ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการทหารและตํารวจระดับสูงหลายนาย 

กลไกทางการเมืองและกฎหมายทั้งหมดข้างต้น ทําให้กองทัพยังคงรักษาอํานาจในการจัดตั้งรัฐบาลและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่ฝั่งตนเองเห็นชอบได้ ดังที่ปรากฎจากการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งเดือนพฤษภาคมที่จะถึง กองทัพไทยและพรรคการเมืองที่คุมโดยฝ่ายทหารต้องการความเห็นชอบจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียงแค่ 126 เสียงจาก 500 เสียง เพื่อรวมกับเสียงของสมาชิกวุฒิสภาที่ตนแต่งตั้งจำนวน 250 คน ในการจัดตั้งรัฐบาลและเลือกนายกรัฐมนตรี ในทางตรงข้ามฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับกองทัพ ต้องการความเห็นชอบที่มากกว่าถึงสามเท่า หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวน 375 คน จาก 500 คน เพื่อจัดตั้งรัฐบาล 

นอกเหนือจากโครงสร้างที่บิดเบี้ยวดังกล่าว บรรยากาศทางการเมืองของไทยยังถูกปกคลุมด้วยการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร ดังที่เป็นมาตั้งแต่การรัฐประหาร พ.ศ. 2557 โดยนับแต่ พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา ทางการไทยมีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม เรียกร้องประชาธิปไตย, นักกิจกรรมทางการเมือง, ผู้วิจารณ์และเห็นต่างทางการเมือง และผู้สนับสนุนการชุมนุมแล้วถึง 1,800 คน ด้วยเหตุที่บุคคลเหล่านี้แสดงออกหรือเข้าร่วมในการชุมนุมอย่างสันติเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย (ในจำนวนนี้มีการดำเนินคดีกับเด็กจำนวนกว่า 280 คน โดยมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถูกดําเนินคดีถึง 41 คน) 

ในปี พ.ศ. 2563 รัฐบาลไทยได้ดําเนินการยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคฝ่ายค้าน คือพรรคอนาคตใหม่ อันนำไปสู่การชุมนุมทั่วประเทศ ทางการไทยได้ดำเนินการตอบโต้ต่อกลุ่มผู้ชุมนุม แม้ว่าการชุมนุมเหล่านั้นจะเป็นการชุมนุมด้วยความสงบ โดยการข่มขู่ผู้นำหรือผู้เข้าร่วมการประท้วง ด้วยวิธีการต่างๆ อาทิ การสอดแนม การก่อกวน การใช้กำลังที่ไม่ได้สัดส่วน และการคุมขังตามอำเภอใจ ซึ่งเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา มีการเปิดเผยถึงการใช้ “เปกาซัส สปายแวร์” ของทางการไทยต่อนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและผู้วิจารณ์รัฐบาลจํานวนอย่างน้อย 35 คน 

ช่วงเวลาสามปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการบริหารราชการ โดยอ้างเหตุการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า-2019 ข้อกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวถูกขยายระยะเวลาบังคับใช้ถึง 19 ครั้ง และให้อำนาจที่ปราศจากซึ่งการตรวจสอบแก่เจ้าหน้าที่ประกาศและข้อกำหนดที่ออกภายใต้พระราชกำหนดดังกล่าวยังถูกใช้เพื่อดำเนินคดีกับผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองและปิดกั้นการแสดงความเห็นบนอินเทอร์เน็ต แม้ว่าทางการไทยจะยุติสถานการณ์ฉุกเฉินในปีที่ผ่านมาและยกเลิกข้อกำหนดต่างๆ แต่ประชาชนจํานวนมากกลับต้องตกอยู่ภายใต้การดำเนินคดีและบรรยากาศแห่งความกลัว

ความบิดเบี้ยวทางโครงสร้างและกระบวนการเลือกตั้ง การดําเนินการคุกคามฝ่ายตรงข้ามของรัฐ ได้สร้างความเสียเปรียบอย่างมากต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล 

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลไทยยังคงยืนยันที่จะต่อสู้ท่ามกลางระบอบข้างต้น แม้ว่าจะทราบถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น การที่ฝ่ายเห็นต่างจากรัฐบาลเลือกที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งภายใต้ระบอบที่คณะรัฐประหารเป็นผู้กำหนด และภายใต้ความอยุติธรรมต่างๆ จึงมิควรถูกตีความว่าเป็นการเลือกตั้งที่ยุติธรรมและอิสระ และไม่ควรที่รัฐบาลที่สนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะนิ่งเฉยต่อความอยุติธรรมดังกล่าว

 

ข้อเรียกร้องจากองค์กรภาคประชาสังคม ทางองค์กรสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคม ได้ขอให้สหภาพยุโรปและรัฐบาลที่มีจุดยืนเช่นเดียวกัน ควรจะเรียกร้องให้รัฐไทยแก้ไขโครงสร้างและกระบวนการต่างๆ ในการเลือกตั้งที่จะถึง รวมถึงมีข้อเรียกร้องอื่นๆ ดังต่อไปนี้

  1. ยกเลิกการคุมขังและการดำเนินคดีแก่ผู้เห็นต่างผู้สนับสนุน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน สื่อ และนัก กิจกรรมทางการเมืองที่ถูกจับกุม แม้จะได้ใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกโดยต้องดําเนินการดังกล่าวทันทีและไม่มีเงื่อนไข 
  2. ยุติการข่มขู่ คุกคามการดำเนินคดีแก่ผู้ที่เข้าร่วมในการชุมนุมโดยสงบและผู้เข้าร่วมในกิจกรรมการ การเมืองอื่นๆ 
  3. ยุติการปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือกระบวนการทางการเมือง ยินยอมให้พรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลและผู้นำพรรคการเมืองดังกล่าวดำเนินกิจกรรมทางการเมืองโดยปราศจากการคุกคาม 
  4. ยกเลิกหรือยุติการใช้บังคับกฎหมายหรือกฎที่ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความเห็นหรือเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง รวมไปถึงกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ กฎหมายที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์หรือความผิดเกี่ยวกับการยุยงปลุกปั่นที่กว้างขวางและคลุมเครือ 
  5. ดําเนินการรับประกันให้การนับคะแนนเลือกตั้งในวันเลือกตั้งหรือหลังจากนั้นเป็นไปด้วยความยุติธรรมและโปร่งใส รวมถึงเปิดเผยผลการนับคะแนนการเลือกตั้งอย่างรวดเร็วและอนุญาตให้มีการสังเกตการณ์การนับคะแนนการเลือกตั้ง
  6. เรียกร้องให้ทางการไทยซึ่งรวมถึงผู้นำเหล่าทัพ ให้คำมั่นว่าฝ่ายทหารและความมั่นคงจะไม่ขัดขวาง กระบวนการประชาธิปไตยและจะรับมือต่อการชุมนุมอย่างเหมาะสม ไม่ใช้กำลังรุนแรงเกินสัดส่วน 
  7. สื่อสารต่อทางการไทยถึงผลลัพธ์ของการเพิกเฉยต่อโครงสร้างและกระบวนการเลือกตั้งที่อยุติธรรมการเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิพลเมืองและการเมืองของประชาชนชาวไทยหรือการสนับสนุนกระบวนการที่ไม่สะท้อนถึงระบอบประชาธิปไตยในการเลือกตั้งเหล่านี้ การเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมที่จะถึง จะไม่ได้รับการยอมรับเป็นการเลือกตั้งที่ยุติธรรมและเสรีจากประชาคมโลก
  8. สื่อสารต่อทางการไทยถึงการแทรกแซงโดยกองทัพไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อม ไม่ว่าก่อน ในขณะ หรือหลังจากการเลือกตั้งจะบ่อนทำลายความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทยอันนำไปสู่การจำกัด การให้ความร่วมมือทางความมั่นคง และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทย 

.

อ่านจดหมายในฉบับภาษาอังกฤษ 

X