10 ก.พ.61 หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมการชุมนุม “หยุดยื้ออำนาจ หยุดยื้อเลือกตั้ง” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อเวลา 19.45 น. นายรังสิมันต์ โรม กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย, นายสิริวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ กลุ่มประชาธิปไตยศึกษา และนายอานนท์ นำภา ทนายความ ได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จัดรถตู้มารอรับแล้ว ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่แสดงหมายจับ และนำตัวขึ้นรถตู้ไปยัง สน.สำราญราษฎร์ โดยมี พ.ต.อ.ต่อเกียรติ พรหมบุตร ผกก.สน.สำราญราษฎร์ รับตัวเพื่อไปทำบันทึกการจับกุม
ย้อนดู ประมวลภาพ–สถานการณ์ชุมนุม “หยุดยื้ออำนาจ หยุดยื้อเลือกตั้ง” ก่อนตำรวจคุมตัว 3 แกนนำ
หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจทำบันทึกการจับกุม โดยมีทนายความอยู่ร่วมด้วย ทั้งสามคนพบว่าในพฤติการณ์การจับกุมมีการระบุว่าเจ้าหน้าที่ได้ “เข้าจับกุม” ผู้ต้องหา ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ทำให้ทั้งสามคนไม่ยินยอมลงลายมือชื่อในบันทึก และได้บันทึกหมายเหตุไว้ในบันทึกด้วยว่าพฤติการณ์การจับกุมระบุไว้ไม่ถูกต้อง เนื่องจากทั้งสามคนได้เป็นผู้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง ไม่ใช่การจับกุม
ภาพโดย Banrasdr Photo
ขณะเดียวกัน ยังมีรายงานว่าตั้งแต่เสร็จสิ้นกิจกรรมการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้นำตัวนายปิยรัฐ จงเทพ หรือ “โตโต้” นักกิจกรรมอีกรายหนึ่ง ไปที่สน.สำราญราษฎร์ เนื่องจากเป็นผู้นำรถเครื่องเสียงเข้ามาในที่ชุมนุม ก่อนมีการแจ้งข้อกล่าวหาเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ.ควบคุมตัวการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง และมีการเปรียบเทียบปรับผู้ต้องหาเป็นเงิน 200 บาท แล้วจึงปล่อยตัวไป
จนประมาณ 21.50 น. รังสิมันต์, สิริวิชญ์ และอานนท์ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจพาตัวออกจากสน.สำราญราษฎร์ ต่อไปยังสน.ปทุมวัน โดยมีประชาชนมารอให้กำลังใจอยู่ด้านหน้าสถานีตำรวจราว 100 คน ประชาชนได้มีการร้องเพลงและจุดเทียนร่วมกัน เรียกร้องให้มีการยุติการดำเนินคดีต่อผู้ใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองโดยสงบสันติทุกคนด้วย
จากนั้น ทางพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวัน ได้แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และข้อหาชุมนุมห่างจากเขตพระราชฐานไม่ถึง 150 เมตร ตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ จากกรณีการทำกิจกรรมชุมนุมที่บริเวณสกายวอล์คปทุมวัน หรือ “คดี MBK39” เมื่อวันที่ 27 ม.ค.61 ทั้งสามคนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ขณะที่อานนท์ นำภา ยังมีการโต้แย้งเรื่องการที่ตำรวจไม่ยอมให้คัดถ่ายเอกสารข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าเป็นความผิด เพื่อนำไปใช้จัดทำคำให้การเอาไว้ด้วย
ทางนายรังสิมันต์ โรม ยังปฏิเสธการพิมพ์ลายนิ้วมือ ทำให้เจ้าหน้าที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คมช.) ฉบับที่ 25/2549 เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญาด้วย
ต่อมา ตัวแทนนักวิชาการจากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ได้ทำเรื่องยื่นขอประกันตัวผู้ต้องหา ด้วยหลักทรัพย์รายละ 1 แสนบาท รวม 4 แสนบาท ซึ่งรวมนายเอกชัย หงส์กังวาน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวจากบ้านพักมาตั้งแต่ในช่วงเช้า โดยใช้เงินทุนที่ระดมสำหรับการประกันตัวผู้ต้องหาในคดี MBK39 และพนักงานสอบสวนได้อนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวนนี้ และให้มารายงานตัวอีกครั้งวันที่ 20 ก.พ.61
ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้นำตัวนายรังสิมันต์ โรม ไปยังจังหวัดขอนแก่น เนื่องจากมีการถูกออกหมายจับจากการร่วมกิจกรรมเสวนา “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน? ” ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแเต่เมื่อวันที่ 31 ก.ค.59 ช่วงก่อนหน้าการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีการกล่าวหาดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ซึ่งคดีนี้มีการสั่งฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลทหารขอนแก่นไปก่อนหน้านี้แล้ว 8 ราย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ปทุมวัน ได้ทำบันทึกการจับกุมรังสิมันต์ในคดีนี้เอาไว้ด้วย
ดูรายงานคดีนี้ล่าสุด อัยการศาลทหารขอนแก่นค้านตรวจพยานคดีพูดเพื่อเสรีภาพ เกรงคดีล่าช้า
จนเวลา 1.45 น. หลังกระบวนการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ลงบันทึกประจำวัน และการทำเอกสารส่งตัวเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวทั้งสิริวิชญ์, อานนท์ และเอกชัย ออกจากสถานีตำรวจ ขณะที่รังสิมันต์ เจ้าหน้าที่ได้นำตัวขึ้นรถตู้ของตำรวจเพื่อไปยังสภ.ขอนแก่นต่อไป โดยที่ในตอนแรกเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้มีผู้ที่ไว้วางใจติดตามไปด้วย แต่หลังการเจรจา เจ้าหน้าที่ก็ได้อนุญาตให้เพื่อนติดตามไปด้วยได้หนึ่งราย