31 ม.ค. 61 ศาลจังหวัดพลนัดอ่านคำพิพากษาคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติในอำเภอพล และอำเภอชนบท จ.ขอนแก่น คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1267/2560 ซึ่งพนักงานอัยการจังหวัดพลเป็นโจทก์ฟ้องนายไตรเทพ (นามสมมติ) และพวกรวม 6 คน ในข้อหา เป็นอั้งยี่, เป็นซ่องโจร, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1268/2560 ซึ่งพนักงานอัยการจังหวัดพลเป็นโจทก์ฟ้องนายไตรเทพ (นามสมมติ) และพวกรวม 4 คน ในข้อหา เป็นอั้งยี่, เป็นซ่องโจร, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น และร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ โดยจำเลยที่ 1-4 ในคดีทั้งสองเป็นบุคคลเดียวกัน ซึ่งโจทก์ขอให้นับโทษจำคุกในคดีทั้งสองต่อกันด้วย
จำเลยทั้งหมดให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ในนัดพร้อมซึ่งโจทก์ขอรวมการพิจารณาคดีทั้งสอง เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 60 (อ่านข่าวที่นี่) โดยก่อนหน้านี้ จำเลยทั้ง 6 ให้การรับสารภาพในข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์และทำให้เสียทรัพย์ในทั้ง 2 คดี แต่ปฏิเสธข้อหาอื่นๆ โดยเฉพาะข้อหาหมิ่นฯ พระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ยืนยันว่า ไม่มีเจตนาเช่นนั้น (อ่านข่าวที่นี่)
ก่อเหตุโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขอศาลลงโทษสถานเบา
ก่อนมีคำพิพากษา ศาลมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยรายงานต่อศาล เพื่อศาลใช้พิจารณาประกอบดุลพินิจในการพิพากษา ขณะที่จำเลยทั้งหมดได้ยื่นคำแถลงประกอบคำรับสารภาพเป็นหนังสือ โดยมีเนื้อหายอมรับว่า การกระทำของจำเลยทั้งหมดเป็นความผิดร้ายแรง แต่จำเลยทำไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขอศาลพิจารณาลงโทษจำเลยในสถานเบาและรอการลงโทษ เพื่อให้จำเลยมีโอกาสกลับตัวกลับใจเป็นคนดีของสังคมอีกครั้ง
ทั้งนี้ จำเลยอ้างเหตุผลในคำแถลงดังกล่าวว่า จำเลยทั้ง 6 กระทำความผิดในครั้งนี้ เนื่องจากได้รับการว่าจ้างในขณะที่จำเลยไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง อีกทั้งครอบครัวมีรายได้ไม่มากนัก จำเลยจึงเห็นว่าอาจสามารถนำเงินมาจุนเจือครอบครัวได้ โดยที่ไม่รู้มาก่อนว่า งานที่ได้รับการว่าจ้างให้ทำนั้นเป็นงานในลักษณะใด ภายหลังมา ผู้ว่าจ้างหว่านล้อมให้พวกจำเลยเข้าใจว่า หากทำสำเร็จจะทำให้ภาครัฐหันมาพัฒนาหมู่บ้านให้มีความเจริญมากขึ้น จะมีสวัสดิการให้พ่อแม่ของจำเลยทุกคน ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1, 4, 5 และ 6 มีอายุเพียง 18 ปี จำเลยที่ 2 มีอายุเพียง 20 ปี จำเลยที่ 3 มีอายุเพียง 19 ปี ทำให้จำเลยขาดวุฒิภาวะ ไม่ได้ใช้สติคิดทบทวนไตร่ตรองให้ดีก่อน และการที่จำเลยที่ 1-4 รับจ้างจากผู้ว่าจ้างคนเดิมลงมือก่อเหตุเป็นครั้งที่ 2 อีก เนื่องจากพวกจำเลยเกรงกลัวว่า อาจจะไม่ได้รับความปลอดภัย ด้วยความที่ผู้ว่าจ้างมักจะกล่าวอ้างว่า พวกตนมีความสัมพันธ์กับบุคคลที่มีอำนาจหลายกลุ่ม
นอกจากนี้ จำเลยยังระบุในคำแถลงประกอบคำรับสารภาพอีกว่า ทั้ง 6 ถูกคุมขังตลอดระยะเวลาการดำเนินคดีมาเป็นเวลาหลายเดือน ได้รับบทลงโทษและบทเรียนจากการกระทำความผิดครั้งนี้แล้ว จำเลยยังให้การเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีมาโดยตลอด อีกทั้งในระหว่างที่จำเลยได้รับการปล่อยตัวเมื่อครบกำหนดฝากขัง จำเลยที่ 1-4 ได้บรรพชาเป็นสามเณรเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องจากตระหนักถึงความผิดที่ได้กระทำ
ย้อนดูภูมิหลังจำเลยทั้ง 6 ก่อนตัดสิน
หากพิจารณาดูถึงภูมิหลังของจำเลยทั้ง 6 พบว่า จำเลยที่ 1 อาศัยอยู่กับแม่เพียงคนเดียว เนื่องจากพ่อเสียชีวิตตั้งแต่เขายังเล็ก จำเลยที่ 2, 4 และ 5 พ่อแม่หย่าร้างกันนานมาแล้ว จำเลยที่ 2 และ 4 อยู่กับแม่และน้อง ขณะจำเลยที่ 5 อาศัยอยู่กับยาย และจำเลยที่ 6 อาศัยอยู่อา เนื่องจากพ่อและแม่ไปทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ครอบครัวทั้งหมดมีอาชีพรับจ้างทั่วไป และทำนา มีรายได้ไม่มากนัก ทำให้จำเลยที่ 1 และ 2 ซึ่งจบ ปวช.แล้ว ไม่ได้เรียนต่อ และได้ขวนขวายทำงานเลี้ยงตัวเองและช่วยเหลือครอบครัว โดยจำเลยที่ 1 รับจ้างซ่อมรถจักรยานยนต์อยู่กับบ้าน ส่วนจำเลยที่ 2 เข้ากรุงเทพฯ ทำงานรับจ้างได้ 1 ปี เพิ่งกลับมาบ้านก่อนกระทำผิด ขณะจำเลยที่ 3 ยังเรียน ปวช. อยู่ และจำเลยที่ 4 เพิ่งสมัครเข้าเรียน ปวส. ส่วนจำเลยที่ 5 และ 6 กำลังเรียน กศน.
ในการพูดคุยเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงในคดี จำเลยทั้ง 6 เปิดเผยว่า พวกเขาไม่เคยสนใจเรื่องการเมือง ไม่เคยดูข่าว ที่รับทำงานเพราะแค่อยากได้ค่าจ้าง และถ้าหมู่บ้านจะพัฒนาขึ้นก็ดี แต่ไม่ได้ทำเพราะเห็นคล้อยตามผู้ว่าจ้างที่ชักจูงหว่านล้อมให้พวกเขาทำงานด้วยการโจมตีรัฐบาล คสช. หรือวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ พวกเขากลับเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่เกินตัว จนถึงไร้สาระ และไม่ได้ให้ความสนใจ ส่วนผู้ว่าจ้างนั้นเป็นคนบ้านเดียวกับจำเลยที่ 1-4 เคยเห็นกันมาตั้งแต่เป็นเด็ก แต่ไม่เคยได้พูดคุยกัน มีเพียงจำเลยที่ 1 และ 2 ที่เคยทำงานที่โรงงานผลิตเครื่องดื่มสมุนไพรของเขาในช่วงสั้นๆ แต่ก็แค่ทักทายกัน ไม่ได้ถึงขั้นพูดคุยสนิทสนม ส่วนจำเลยที่ 5 และ 6 ไม่เคยรู้จักผู้ว่าจ้างเลย
คดีทั้งสองนี้ อาจไม่ใช่กรณีที่จำเลยใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสันติ แต่อย่างไรก็ดี หากประมวลเรื่องราวในคดีแล้ว ก็พอจะเห็นได้ว่า นี่เป็นผลพวงของความขัดแย้งทางการเมืองที่คุกรุ่นอยู่ในสังคมไทยอยู่ในปัจจุบัน หากแต่ฝ่ายที่ตรงข้ามกับรัฐ ถูกกดปราบ ปิดกั้น ไม่ได้รับการส่งเสริมให้แสดงออกอย่างสันติ และเท่าเทียมกับฝ่ายรัฐ โดยเฉพาะในช่วงหลังรัฐประหาร 3 ปีกว่ามานี้ ทำให้คนกลุ่มแรกหันไปเลือกใช้วิธีการที่ไม่ได้อยู่ในกรอบของกฎหมาย ซึ่งทำให้ต้องปกปิดการกระทำโดยการใช้ผู้อื่นทำแทน จนนำมาสู่การที่วัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นวัยที่มีอนาคตและเป็นกำลังในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ต้องถูกดำเนินคดีและคุมขังอยู่ในเรือนจำแทนอย่างน่าเสียดาย
ทั้งนี้ ศาลจังหวัดพลจะพิจารณาลงโทษสถานเบา ฐานที่จำเลยยังไม่บรรลุนิติภาวะ และให้โอกาสจำเลยวัยรุ่นทั้ง 6 กลับคืนสู่ครอบครัว เป็นทรัพยากรบุคคลของสังคมโดยเร็ว หรือจะพิจารณาลงโทษอย่างหนักเพื่อให้หลาบจำ ไม่เป็นเยี่ยงอย่างกับบุคคลอื่นต่อไป เป็นเรื่องที่ไม่อาจคาดเดา
ก่อนหน้านี้ ในคดีที่นายหนูพิณและนายฉัตรชัยเป็นจำเลย กรณีรับจ้างเผาซุ้มฯ ในเขต อ.เปือยน้อย จ.ขอนแก่น จากผู้ว่าจ้างคนเดียวกัน แต่ทั้งสองไปถึงที่เกิดเหตุแล้วเปลี่ยนใจไม่ได้ลงมือวางเพลิง ศาลจังหวัดพลพิพากษาว่า มีความผิดฐานเป็นอั้งยี่, ร่วมกันตระเตรียมวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น และร่วมกันหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ลงโทษจำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา ให้ริบของกลางคือน้ำมัน โทรศัพท์เคลื่อนที่ และรถกระบะ (อ่านรายละเอียดที่นี่)
ชดใช้ค่าเสียหายเก้าแสนหรือน้อยกว่า
นอกจากศาลจะอ่านคำพิพากษาในความผิดที่จำเลยวัยรุ่นทั้ง 6 ให้การรับสารภาพแล้ว ศาลยังนัดอ่านคำพิพากษาในส่วนแพ่งของทั้งสองคดี โดยในกรณีของซุ้มเฉลิมพระเกียรติในอำเภอบ้านไผ่ซึ่งถูกเพลิงไหม้ได้รับความเสียหายบางส่วน ปลัด อบต.หินตั้ง อ.บ้านไผ่ ผู้เสียหาย ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 3,000 บาท จำเลยทั้ง 6 ยิมยอมร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว คู่ความจึงตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความเสนอต่อศาล และขอให้ศาลมีคำพิพากษาตามสัญญาดังกล่าว โดยไม่ต้องมีการสืบพยาน
ส่วนในคดีหมายเลขดำที่ 1268/2560 ซึ่งนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลชนบท ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 958,000 บาทนั้น ได้มีการสืบพยานผู้เสียหาย พยานเบิกความว่า ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวอ้างอิงราคาในการก่อสร้างซุ้มในปี 2551 โดยไม่มีการคิดค่าเสื่อมราคา เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีระเบียบในการคิดค่าเสื่อมราคา ขณะพยานจำเลยได้ให้ผู้เชี่ยวชาญคำนวณค่าเสื่อมราคาของซุ้มฯ โดยยึดตามหลักเกณฑ์การคำนวณค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์ถาวรสำหรับหน่วยงานภาครัฐของกรมบัญชีกลางพบว่ามูลค่าที่เหลือของซุ้มทั้งสองในวันที่ถูกเผาทำลายเท่ากับ 23,952.96 บาท ซึ่งศาลจะใช้ดุลพินิจตัดสินว่า จำเลยทั้ง 4 ต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้นกี่บาท โดยศาลแจ้งคู่ความว่า คดีนี้ศาลต้องไปปรึกษาสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาคว่าจะใช้หลักเกณฑ์อย่างไร ก่อนเขียนคำพิพากษา
ทั้งนี้ ในการเบิกความของพยานผู้เสียหายคือ นายชัชวาล ตั้งวัฒนสุวรรณ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลชนบท ได้ระบุว่า หลังเกิดเหตุ คณะกรรมการที่เข้าตรวจสอบสภาพความเสียหายของซุ้มฯ ซึ่งประกอบด้วย ผบช.ภ.ภาค 4, ผบ.มทบ.23, นายอำเภอชนบท, ผกก.สภ.ชนบท และพยาน พบว่าซุ้มทั้งสองเสียหายโดยสิ้นเชิง เทศบาลฯ ได้บันทึกภาพสภาพความเสียหายของโครงเหล็กในระยะใกล้ไว้เป็นหลักฐาน ทนายจำเลยถามว่า ได้มีการทำบันทึกการตรวจสอบทางวิชาการไว้หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่มีการทำ แต่คณะกรรมการตรวจสอบลงความเห็นว่า ซุ้มทั้งสองไม่สามารถใช้งานได้อีก อีกทั้งเป็นซุ้มเฉลิมพระเกียรติ การปรับปรุงซ่อมแซมนำมาใช้ใหม่เป็นเรื่องไม่เหมาะสม จึงให้รื้อถอนออก
ทนายจำเลยถามพยานผู้เสียหายอีกว่า พยานเคยเห็นหลักเกณฑ์การคำนวณค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์ถาวรสำหรับหน่วยงานภาครัฐที่จัดทำโดยกรมบัญชีกลาง และมีหนังสือแจ้งถึงปลัดกระทรวง อธิบดี หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ให้กระทรวง กรม ยึดถือปฏิบัติหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่เคยเห็น พยานทราบเพียงว่า ไม่ได้ใช้บังคับกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
พยานผู้เสียหายระบุด้วยว่า ทราบว่าคดีนี้มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี แยกดำเนินคดีในศาลเยาวชนฯ ซึ่งพยานได้มอบหมายให้นิติกรยื่นคำร้องต่อศาลขอให้บังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเช่นกัน แต่ศาลเยาวชนฯ ให้ถอนคำร้อง เนื่องจากเด็กไม่มีทรัพย์สินให้บังคับคดี
ด้านพยานจำเลยเบิกความว่า พยานได้ไปปรึกษานิติกรผู้ปฏิบัติงานฝ่ายพัสดุ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งนิติกรฯ ได้ทำความเห็นเป็นหนังสือแสดงที่มาที่ไปของการคิดค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินในคดีนี้ ยึดตามหลักเกณฑ์การคำนวณค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์ถาวรสำหรับหน่วยงานภาครัฐของกรมบัญชีกลาง
ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาโดยสรุปว่า ซุ้มทั้งสองในคดีนี้จัดเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีวัสดุอื่นๆ เป็นส่วนประกอบหลัก มีอายุการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 10 ปี ซุ้มทั้งสองใช้งานมาแล้วเป็นเวลาเกือบ 9 ปี 9 เดือน (15 ส.ค. 50 – 13 พ.ค. 60) คำนวณค่าเสื่อมราคาด้วยวิธีเส้นตรงตามหลักเกณฑ์ของกรมบัญชีกลาง มูลค่าที่เหลือของซุ้มทั้งสองในวันที่ถูกเผาทำลายจะอยู่ที่ 23,952.96 บาท นอกจากนี้ นิติกรฯ คนดังกล่าวยังมีความเห็นในเรื่องการบังคับใช้หลักเกณฑ์การคำนวณค่าเสื่อมราคาฯ ของกรมบัญชีกลางว่า แม้จะไม่ได้กำหนดให้ใช้บังคับไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ยังไม่มีระเบียบ หรือหลักเกณฑ์เพื่อใช้ในการคิดค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ก็สามารถนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้ได้โดยอนุโลม ซึ่งจะเป็นผลดีมากกว่า