อัยการศาลทหารขอนแก่นค้านตรวจพยานคดีพูดเพื่อเสรีภาพ เกรงคดีล่าช้า

อัยการศาลทหารขอนแก่นค้านตรวจพยานคดีพูดเพื่อเสรีภาพ เกรงคดีล่าช้า

21 ธ.ค. 60 ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร (มทบ.23) จ.ขอนแก่น นัดสอบคำให้การจำเลยคดีพูดเพื่อเสรีภาพ ที่ถูกฟ้องในข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จำเลยให้การปฏิเสธขอต่อสู้คดี

คดีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากกิจกรรม ‘พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?’ เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 59 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งจัดขึ้นโดยนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่อีสาน ร่วมกับกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ ในช่วงก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 ส.ค. 2559 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ ผู้จัดงานและผู้เข้าร่วม ตลอดจนผู้สังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนถูกดำเนินคดี ทั้งสิ้น 11 ราย ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช.

ในผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 11 ราย ถูกฟ้องขึ้นสู่ศาล 8 ราย ได้แก่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, ฉัตรมงคล เจนเชี่ยวชาญ, ภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์, นักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน, ณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ และชาดไท น้อยอุ่นแสน นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ ณัฐพร อาจหาญ นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม, ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ และนีรนุช เนียมทรัพย์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ส่วนอีก 2 รายยอมรับการอบรมจากเจ้าหน้าที่ทหารทำให้คดีสิ้นสุดลงก่อนชั้นอัยการ ส่วนรังสิมันต์ โรม ยังไม่ได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาจากพนักงานสอบสวน

10.00 น. องค์คณะตุลาการศาลทหารออกนั่งพิจารณาคดี โดยศาลได้ถามคำให้การจำเลยทั้ง 8 ราย ว่าจะสู้คดีหรือไม่ จำเลยทั้งแปดรายยืนยันขอต่อสู้คดี และได้ยื่นคำให้การเป็นหนังสือ จากนั้น อัยการทหารแถลงต่อศาลขอสืบพยาน แต่ทนายจำเลยแถลงว่า ติดใจตรวจพยานหลักฐานก่อนการสืบพยาน อัยการแถลงคัดค้านว่า ไม่น่าต้องตรวจพยานหลักฐาน เพราะโจทก์ต้องส่งพยานหลักฐานต่อศาลอยู่แล้ว ทนายจำเลยสามารถมาคัดสำเนาได้ ถ้าตรวจพยานหลักฐาน เกรงว่าคดีจะล่าช้า และจะมีข้อโต้แย้งว่าขังจำเลยเกินกำหนดโทษอีก ด้านทนายจำเลยยืนยันว่าการตรวจพยานหลักฐานเป็นสิทธิของจำเลยตามกฎหมาย ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 23 มี.ค. 61 เวลา 08.30 น.

ทั้งนี้ โดยทั่วไปความล่าช้าที่เกิดขึ้นในศาลทหารเกิดจากระบบวันนัดสืบพยานของศาลที่ไม่สามารถนัดพิจารณาคดีต่อเนื่องได้ วันนัดสืบพยานวันหนึ่งมักสืบพยานได้เพียงคนเดียวในครึ่งวันเช้า และแทบไม่มีการสืบพยานต่อในครึ่งบ่าย อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการที่อัยการไม่สามารถติดตามพยานมาศาลได้ในวันนัด ทำให้คดีต้องเลื่อนการพิจารณาออกไปเรื่อยๆ กว่าจะนัดสืบพยานนัดต่อไปได้อาจต้องรออีกอย่างน้อยหนึ่งเดือน ต่างจากระบบศาลยุติธรรมที่นัดสืบพยานต่อเนื่อง สืบพยานได้หลายคนในหนึ่งวัน และศาลเข้มงวดให้คู่ความติดตามพยานมาเบิกความต่อศาล

จำเลยทั้งแปดคนในคดีพูดเพื่อเสรีภาพ

สำหรับคำให้การเป็นหนังสือของจำเลย มีใจความว่า การกระทำของจตุภัทร์, ณรงค์ฤทธิ์, ฉัตรมงคล, ณัฐพร, ภานุพงศ์, และชาดไท ในกิจกรรม ‘พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?’ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ 7 ส.ค. 2559 เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ชอบด้วยกฎหมาย ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ส่วนดวงทิพย์ และนีรนุช ไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ผู้เข้าร่วมการชุมนุม

นอกจากนี้ ทั้ง 8 คน ยังเห็นว่า การกระทำไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เนื่องจากคำสั่งฉบับดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง แต่การกระทำในคดีนี้ ไม่ใช่การมั่วสุมหรือชุมนุมที่จะก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือมุ่งกระทำผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง หากแต่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตาม พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 7 ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย” ซึ่งเป็นการแสดงออกตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ

บรรยากาศการพิจารณาคดีในวันนี้มีประชาที่สนใจและมาร่วมแสดงความยินดีรวมถึงให้กำลังใจ ‘ไผ่ ดาวดิน’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หลังจบการศึกษาเป็นบัญฑิตใหม่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประมาณ 60 คน

คดีนี้นับเป็นอีกคดีที่พลเรือนยังต้องขึ้นศาลทหาร แม้ว่าจะมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 55/2559 ให้ยกเลิกการดำเนินการเกี่ยวกับคดีบางประเภทของพลเรือนที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ซึ่งมีความเข้าใจผิดส่วนหนึ่งว่าทำให้พลเรือนไม่ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร แต่คำสั่งดังกล่าวมีผลเฉพาะการกระทำที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย. 2559 เป็นต้นไปเท่านั้น การกระทำที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ความมั่นคง ความผิดเกี่ยวกับอาวุธ และความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศและคำสั่ง คสช. ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. 57 – 11 ก.ย. 59 ยังคงต้องขึ้นศาลทหาร

X