เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2566 เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และ พิชชากร ฤกษ์สมพงษ์ พร้อมทนายความ ได้เดินทางไปที่ศาลปกครองกลาง เพื่อยื่นฟ้องจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรณีมีคำสั่งตัดคะแนนความประพฤติทั้งสองคน และทำให้เนติวิทย์ถูกปลดออกจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) เมื่อช่วงปี 2565
หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2565 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีคำสั่งลงโทษตัดคะแนนความประพฤตินิสิตสองราย ได้แก่ เนติวิทย์ นิสิตคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายก อบจ. และ พิชชากร นิสิตคณะครุศาสตร์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งอุปนายกคนที่ 1 ของอบจ. คนละ 10 คะแนน โดยกรณีของเนติวิทย์ยังมีคำสั่งให้ต้องพ้นจากตำแหน่งนายก อบจ. อีกด้วย
การตัดคะแนนดังกล่าว อ้างถึงการกระทำผิดวินัยจากการจัดงานปฐมนิเทศนิสิตใหม่ ปีการศึกษา 2564 ที่จัดขึ้นในรูปแบบไลฟ์สด และมีการเชิญ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และพริษฐ์ ชิวารักษ์ มาร่วมกล่าวในงานโดยไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า และแขกรับเชิญมีการกล่าวถ้อยคำที่สำนักบริหารกิจการนิสิตฯ มองว่าเป็นคำ “หยาบคาย” ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคี ขัดต่อวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของไทย และกระทบต่อชื่อเสียงเกียรติคุณของมหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรง
หลังจากนิสิตทั้งสองได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์หรืออุทธรณ์ของนิสิต ยังได้มีมติยกอุทธรณ์ดังกล่าวของทั้งคู่ ทำให้เนติวิทย์และพิชชากรดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในครั้งนี้ เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งและเรียกร้องค่าเสียหายจากการทำละเมิดดังกล่าว โดยส่วนของผู้ฟ้องคดีที่ 1 (เนติวิทย์) เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1 ล้านบาท และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (พิชชากร) เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1 หมื่นบาท
.
คำฟ้องต่อศาลปกครองของทั้งสองคน โดยสรุประบุถึงประเด็นคำสั่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ชอบในสองประเด็นหลัก ได้แก่
1. รูปแบบหรือขั้นตอนในการออกคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย
กรณีที่นิสิตทั้งคู่ได้ขอคัดค้านรายชื่อคณะกรรมการ 2 ราย ที่ถูกตั้งขึ้นพิจารณาวินัยนิสิตในกรณีนี้ เนื่องจากเห็นว่ามีลักษณะไม่เป็นกลาง แต่ปรากฏว่ามีคณะกรรมการถอนตัวเพียง 1 ราย ส่วนอีก 1 ราย ยังคงร่วมพิจารณาทางปกครองในกรณีพิพาทนี้ต่อไป
คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่เกิดขึ้นจากการพิจารณาโดยกรรมการวินัยนิสิต ซึ่งเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามทำการพิจารณาทางปกครองเข้าร่วมในกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อมีคำสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดีทั้งสอง
2. เนื้อหาของคำสั่งขัดต่อหลักความชอบด้วยกฎหมาย
ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเห็นว่า การใช้ดุลยพินิจออกคำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการใช้ดุลยพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด โดยภายหลังจากมีการเผยแพร่คลิปสั้นของวิทยากรทั้งสามท่านออกไป ก็มิได้มีข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีความแตกแยกสามัคคีในหมู่นิสิตจุฬาฯ แต่อย่างใด
อีกทั้ง มิได้ขัดต่อขนบธรรมนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของไทย อันเป็นการส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงเกียรติคุณของมหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรงแต่ประการใด มีแต่เพียงความไม่พอใจของบุคคลบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการเชิญวิทยากรทั้งสามท่านมาร่วมกิจกรรม
อย่างไรก็ตาม หากจะถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดวินัยนิสิตฐานนี้จริง ก็ยังถือว่าเป็นการกระทำผิดวินัยเพียงเล็กน้อย และเป็นการกระทำความผิดครั้งแรกที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแต่อย่างใด เนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้งสองมิได้เป็นผู้กล่าวถ้อยคำดังกล่าวด้วยตัวเอง และการใช้คำของวิทยากรที่เป็นประเด็นแห่งการพิจารณาทางปกครองนี้เป็นแต่เพียงการใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม มิได้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือเป็นการทำให้แตกความสามัคคีในหมู่นิสิต และมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือองค์กรใดอันเป็นการเฉพาะ
นอกจากนี้ ยังสร้างผลความเสียหายรุนแรงต่อสิทธิตามกฎหมายให้กับผู้ฟ้องคดีที่ 1 เกินสมควรอีกด้วย กล่าวคือ การใช้ดุลยพินิจลงโทษทางวินัยอย่างรุนแรงเกินการกระทำ ส่งผลให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกสโมสรนิสิต โดยที่ผู้ถูกฟ้องคดีรู้อยู่แล้วว่าหากลงโทษตัดคะแนนผู้ฟ้อง 10 คะแนน จะทำให้ผู้ฟ้องคดีขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารนิสิตฯ
การลงโทษดังกล่าวเป็นไปเพื่อปกปิดอำพรางเจตนาที่แท้จริงที่ต้องการใช้อำนาจมาปลดผู้ฟ้องคดีให้พ้นจากตำแหน่ง เพราะขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่ง เนื่องจากเป็นผู้ที่ “เคยถูกลงโทษตัดคะแนนความประพฤติสะสมตั้งแต่ยี่สิบคะแนนขึ้นไป” ความรุนแรงในการลงโทษดังกล่าวเทียบเท่าความผิดฐานลักทรัพย์หรือทำลายทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีลักษณะที่เป็นความผิดวินัยรุนแรง และมีลักษณะเป็นความผิดทางอาญาร่วมอยู่ด้วย
โดยสรุปผู้ฟ้องคดีจึงเห็นว่าคำสั่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดังกล่าวทำให้ทั้งสองได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงและเกียรติยศ และขาดโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมหรือลงสมัครในตำแหน่งต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยในระยะเวลาที่เหลือของการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรี จึงขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ฟ้อง เพื่อสร้างบรรทัดฐานการพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของนิสิตนักศึกษา
.