ครอบครัว “วันเฉลิม-ชัชชาญ-สยาม” เดินหน้าเข้าร้องทุกข์ ขอใช้กลไกคุ้มครอง-เยียวยาตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ หวังรัฐไทยให้ความยุติธรรม

วันที่ 1 มิ.ย. 2566 เวลา 10.00 น. ที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย สำนักงานอัยการสูงสุด เขตตลิ่งชัน สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของ “ต้าร์” วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์, ก่อการ บุปผาวัฏฏ์ ลูกชายของ “สหายภูชนะ” ชัชชาญ บุปผาวัลย์ และกัญญา ธีรวุฒิ มารดาของ “ไอซ์” สยาม ธีรวุฒิ พร้อมกับทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน เดินทางเข้าสอบถามรายละเอียดและขั้นตอนการใช้กลไกคุ้มครองและเยียวยาผู้เสียหาย ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565

กรณีของวันเฉลิมที่ถูกบังคับสูญหายที่ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2563 และกรณีของชัชชาญที่ถูกบังคับสูญหายที่ประเทศลาว เมื่อวันที่ 12-13 ธ.ค 2561 และถูกพบเป็นศพลอยอยู่ในแม่น้ำโขงในวันที่ 27 ธ.ค. 2561 ทั้งสองครอบครัวได้เดินทางมาร้องทุกข์กับศูนย์ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ เป็นครั้งแรก

ในขณะที่ กรณีของสยามที่ถูกบังคับสูญหายหลังจากถูกทางการเวียดนามจับกุมและส่งให้ทางการไทย เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2562 ซึ่งครอบครัวได้เข้าร้องทุกข์กับศูนย์ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. 2566 ก็ได้เดินทางเข้ามาให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในวันนี้ (1 มิ.ย. 2566)

เวลา 10.40 น. ครอบครัวของวันเฉลิมและชัชชาญเข้าพบ ร.ต.อ.โชคชัย สิทธิผลกุล รองผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พร้อมพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบ 

สิตานันกล่าวว่า ในกรณีของวันเฉลิม วันนี้เธอต้องการเข้าร้องทุกข์เพื่อเข้าสู่กลไกการคุ้มครองและเยียวยาตามพ.ร.บ.นี้ แต่ในการให้ข้อเท็จจริงนั้น เธอต้องการให้ศูนย์ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ใช้อำนาจรวบรวมข้อมูลที่เธอเคยให้ไว้กับหน่วยงานรัฐอื่นๆ เข้ามาประกอบ

อย่างไรก็ตาม รองผู้อำนวยการระบุว่า หากเคยดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กับหน่วยงานอื่นมาก่อนแล้ว ศูนย์ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ จะมีอำนาจเพียงแค่เข้าไปติดตามตรวจสอบเท่านั้น 

ทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าวว่า เมื่อพ.ร.บ.นี้บังคับใช้แล้ว กรณีวันเฉลิมต้องอยู่ภายใต้กลไกตามพ.ร.บ.นี้  แม้จะเคยแจ้งความร้องทุกข์กับหลายหน่วยงานไปแล้ว แต่ไม่มีหน่วยงานใดดำเนินการได้ถึงที่สุด

เจ้าหน้าที่ระบุว่า ในวันนี้หากต้องการร้องทุกข์ตามพ.ร.บ.นี้ก็สามารถทำได้ แต่หากพิจารณาแล้วว่าเป็นการดำเนินการที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น ก็สามารถยุติไปได้

ทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมแย้งว่า หากเป็นเช่นนั้นกรณีของวันเฉลิมจะถูกตีความด้วยกฎหมายใหม่ คือ พ.ร.บ.นี้หรือไม่ และครอบครัวก็คาดหวังว่าจะมีหน่วยงานที่เชี่ยวชาญเข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งศูนย์ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ก็ตั้งมาเพื่อการนี้

พนักงานอัยการซึ่งรับผิดชอบกรณีวันเฉลิมกล่าวว่า การจะเข้าองค์ประกอบตามพ.ร.บ.นี้ ผู้กระทำความผิดต้องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ในตอนนี้ไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้ใดเป็นคนกระทำความผิด กรณีไม่สามารถวินิจฉัยกันตามใจชอบได้ และยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้ชัดเจนว่าวันเฉลิมหายไปที่กัมพูชา ต้องรอให้ศาลแขวงกรุงพนมเปญวินิจฉัยก่อนว่าเกิดเหตุนี้ขึ้นที่กัมพูชา จึงจะดำเนินการต่อไปได้

สิตานันกล่าวว่า หากกล่าวเช่นนั้น ประชาชนก็จะไม่ได้รับความยุติธรรมเลย ในกรณีที่มีคนถูกอุ้มหาย คนกระทำความผิดย่อมพยายามไม่ให้เหลือหลักฐาน การจะให้เธอหาผู้กระทำผิดมาลงโทษเองนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

หลังจากการพูดคุยกัน เจ้าหน้าที่จึงขอให้ครอบครัวของวันเฉลิมและชัชชาญเข้าให้ข้อเท็จจริงกับพนักงานอัยการเวรเพื่อทำบันทึกคำร้องทุกข์ โดยในเบื้องต้นพนักงานอัยการผู้รับเรื่องร้องทุกข์แจ้งว่า หลังจากนี้อาจมีการแสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมมาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ให้ไว้ เพื่อพิจารณาว่ากรณีเข้าองค์ประกอบที่จะใช้กลไกคุ้มครองและเยียวยาตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือไม่

X