ศาลอุทธรณ์สั่งไต่สวนใหม่ กรณีจ่านิวขอให้ปล่อยธเนตรจากการควบคุมตัวมิชอบ

12 พ.ค. 2559 ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนใหม่ กรณีทนายความยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ที่ให้ยกคำร้องขอให้ปล่อยตัวนายธเนตร อนันตวงษ์ ถูกควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90  เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2558

เหตุผลที่ทนายความยื่นต่อศาลอุทธรณ์ เนื่องจากศาลชั้นต้นไม่ได้ไต่สวนตามบทบัญญัติมาตรา 90 ทั้งที่ข้อเท็จจริงมีมูลพอที่จะให้ศาลไต่สวน การยกคำร้องทันที จึงเป็นการทำคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกควบคุมตัว รวมถึงมาตรา 90 เป็นมาตรการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล ถ่วงดุลการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ให้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ควบคุมตัวบุคคลโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องทันทีโดยไม่ไต่สวน จึงถือเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90

  • สรุปเนื้อหาอุทธรณ์คำสั่งดังนี้

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2558 นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ผู้ร้อง ยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเพื่อนนายธเนตร อนันตวงษ์ ซึ่งถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2558 โดยเจ้าหน้าที่ไม่ทราบหน่วยหรือสังกัด ควบคุมตัวไปจากโรงพยาบาลสิรินธร เมื่อเวลาประมาณ 12.30 น. ซึ่งขณะนั้นมีนายปิยะรัฐ จงเทพ กับเพื่อนอีกหนึ่งคนไปเยี่ยมธเนตรที่โรงพยาบาล และเห็นขณะที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวธเนตรไป โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งชื่อ – นามสกุล ต้นสังกัด และไม่แจ้งว่าจะควบคุมตัวนายธเนตรไปที่ใด เพราะเหตุใด อีกทั้งไม่ได้แสดงหมายจับของศาลขณะควบคุมตัวธเนตรแต่อย่างใด

ต่อมาปิยะรัฐได้โทรศัพท์แจ้งผู้ร้องว่าธเนตรถูกควบคุมตัวไป ไม่ทราบว่าไปที่ใด วันดังกล่าวเวลาประมาณ 18.00 น. ผู้ร้องจึงได้พยายามติดตามหาธเนตรที่ สน.ประเวศ เจ้าพนักงานตำรวจที่สถานีตำรวจแจ้งว่าไม่มีการควบคุมตัวธเนตรมาที่ สน.ประเวศ

ต่อมาทราบจากเพื่อนว่าธเนตรถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไว้ที่กองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) แขวงถนนนครไชยศรี โดยเจ้าหน้าที่ทหารให้เพื่อนฝากยาให้ธเนตรได้ แต่ไม่อนุญาตให้เยี่ยมหรือติดต่อกับธเนตร

ขณะที่ยื่นคำร้อง สิรวิชญ์ไม่ทราบชะตากรรมของธเนตร และไม่มีผู้ใดติดต่อธเนตรได้อีกเลย การควบคุมตัวธเนตรดังกล่าวจึงเป็นการควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องมีความห่วงกังวลในความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของธเนตรอย่างมาก เนื่องจากธเนตรถูกควบคุมตัวขณะมีอาการป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ผู้ร้องในฐานะเพื่อนและบุคคลที่ธเนตรวางใจ ไม่มีหนทางอื่นใดจะติดตามตัวธเนตร และบรรเทาความเสียหายต่อเสรีภาพและความปลอดภัยในชีวิตของธเนตรได้ ผู้ร้องจึงมายื่นคำร้องขอปล่อยตัวธเนตรต่อศาล ขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งปล่อยตัวธเนตร

ต่อมา 15 ธ.ค. 2558 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องว่า “พฤติการณ์ที่ผู้ร้องบรรยายทำนองว่านายปิยะรัฐ จงเทพ โทรศัพท์แจ้งผู้ร้องว่าธเนตรถูกเจ้าหน้าที่ไม่ทราบหน่วยหรือสังกัด ควบคุมตัวไปจากโรงพยาบาลสิรินธร เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2558 เวลา 12.30 น. และต่อมาผู้ร้องทราบจากเพื่อนว่าธเนตรถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไว้ที่กองพันทหารราบ มทบ.11 โดยอ้างว่าเป็นการควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ผู้ร้องเพียงแต่ได้รับคำบอกเล่ามาจากปิยะรัฐอีกต่อหนึ่ง โดยไม่มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าธเนตรจะถูกคุมขังไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่

นอกจากนี้ ผู้ร้องระบุว่าธเนตรทราบข่าวว่าตนถูกออกหมายจับแล้วจากมือถือที่เพื่อนยื่นให้ จึงไม่คิดจะหลบหนี และแสดงเจตนาจะมอบตัวเพื่อพิสูจน์ตัวเอง แต่ถูกควบคุมตัวในห้องศัลยกรรมชายทันที ซึ่งขัดแย้งกับคำร้องที่ว่า ธเนตรถูกควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อเท็จจริงที่ได้ความตามคำร้องของผู้ร้อง จึงยังไม่มีมูลเพียงพอที่ศาลจะรับไว้เพื่อดำเนินการไต่สวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องไม่เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งของศาลชั้นต้น จึงขออุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังต่อไปนี้

1. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 บัญญัติว่า เมื่อศาลได้รับคำร้องกรณีมีการอ้างว่าบุคคลใดถูกคุมขังในคดีอาญาหรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน ถ้าศาลเห็นว่าคำร้องนั้นมีมูล ศาลมีอำนาจสั่งผู้คุมขังมาศาลโดยพลัน และถ้าผู้คุมขังแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลไม่ได้ว่าการคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังไปทัน แต่ปรากฏว่าในการพิจารณาคำร้องของผู้ร้องคดีนี้ ศาลชั้นต้นไม่ได้มีคำสั่งไต่สวนคำร้องของผู้ร้องโดยด่วน และมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยมิได้ไต่สวนแต่อย่างใด การยกคำร้องดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90

อย่างไรก็ตาม ผู้ร้องเห็นว่าคำร้องมีมูลเพียงพอที่ศาลจะสั่งให้ผู้คุมขังนำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลัน เพื่อให้ศาลได้ซักถาม และแสดงหลักฐานต่อศาลจนเป็นที่พอใจแก่ศาลว่าการคุมขังชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

2. ตามคำสั่งศาลที่ว่า “ผู้ร้องเพียงแต่ได้รับคำบอกเล่ามาจากนายปิยะรัฐอีกต่อหนึ่ง โดยไม่มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่า นายธเนตรจะถูกคุมขังไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่” นั้น ผู้ร้องไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้ร้อระบุในคำร้องแล้วว่า ขณะถูกควบคุมตัว ธเนตรเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในที่ รพ.สิรินธร ประกอบกับในช่วงเย็น เพื่อนของผู้ร้องได้รับการประสานงานจากเจ้าหน้าที่กองพันทหารราบ มทบ.11 แขวงถนนนครไขชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ให้นำยาไปฝากให้นายธเนตร เพื่อนของผู้ร้องจึงไปขอรับยาที่ รพ. แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้พบนายเธนตร แม้ผู้ร้องจะได้รับการบอกเล่าจากนายปิยะรัฐ ซึ่งเห็นเหตุการณ์ขณะที่นายธเนตรถูกควบคุมตัวที่ รพ. แต่กรณีนี้สามารถรับฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้วว่านายธเนตรถูกควบคุมตัวไปจาก รพ.สิรินธร มิเช่นนั้นนายธเนตรย่อมต้องรักษาตัวอยู่ที่ รพ. อย่างแน่นอน แต่ขณะที่ยื่นคำร้องนี้นายธเนตรกลับหายไปไม่มีใครสามารถติดต่อได้

ผู้ร้องสันนิษฐานว่า นายธเนตรจะถูกควบคุมตัวอยู่ที่กองพันทหารราบ มทบ.11 เนื่องจากเพื่อนผู้ร้องได้นำยาไปฝากให้นายธเนตรมาแล้ว จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า การควบคุมนายธเนตรไม่ใช่การควบคุมตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะไม่ได้นำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจ และนำตัวไปฝากขังและขังไว้ที่เรือนจำตามปกติ ผู้ร้องจึงเห็นว่าเป็นการควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงที่ศาลเห็นว่าผู้ร้องเป็นเพียงพยานบอกเล่าไม่น่าเชื่อถือนั้น ผู้ร้องไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม หากศาลประสงค์จะไต่สวนนายปิยะรัฐ ผู้ร้องก็พร้อมจะนำนายปิยะรัฐเข้าไต่สวน พร้อมนำเสนอพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และศาลมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานอื่นได้ด้วย เพื่อให้ศาลสิ้นข้อสงสัย ก่อนจะมีคำสั่งว่าคำร้องมีมูลหรือไม่ การที่ศาลไม่ได้ไต่สวนคำร้องและข้อเท็จจริงส่วนนี้ใช้เป็นเหตุในการยกคำร้องทันที จึงเป็นการทำคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกควบคุมตัวอย่างยิ่ง

ที่ศาลมีคำสั่งว่าคำร้องยังไม่มีมูลเพียงพอที่ศาลจะรับไว้เพื่อดำเนินการไต่สวน เนื่องจากคำร้องระบุว่า นายธเนตรทราบข่าวว่าตนถูกออกหมายจับแล้ว จึงไม่คิดจะหลบหนี และแสดงเจตนาที่จะมอบตัวเพื่อพิสูจน์ตนเอง แต่ถูกควบคุมตัวในห้องศัลยกรรมชายทันที ซึ่งขัดแย้งกับคำร้องที่ว่านายธเนตรถูกควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ผู้ร้องเห็นว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ได้ขัดแย้งกันเอง แม้นายธเนตรทราบว่าตนมีหมายจับและไม่คิดจะหลบหนี แต่ขณะนั้นอยู่ระหว่างเข้ารับการรักษาอาการป่วยที่ รพ. และยังไม่มีทนายความ จึงยังไม่พร้อมจะมอบตัว แต่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ไม่ทราบหน่วยงานและสังกัด เข้าควบคุมตัวนายธเนตรที่ รพ. เสียก่อน โดยไม่แสดงหมายจับหรือแจ้งว่าจะนำตัวนายธเนตรไปที่ใด และไม่ปรากฏว่าเป็นการควบคุมตัวตามหมายจับแต่อย่างใด

ผู้ร้องมีความห่วงใยกังวล เนื่องจากหากมีกรควบคุมตัวตามหมายจับจริง นายธเนตรย่อมติดต่อญาติหรือทนายความเพื่อให้ความช่วยเหลือทันที แต่กรณีนี้ไม่มีผู้ใดสามารถติดต่อนายธเนตรได้ และไม่มีใครทราบชะตากรรมว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร เหตุใดจึงต้องควบคุมตัวนายธเนตรไว้ที่ค่ายทหารก่อน ทั้งที่นายธเนตรมีหมายจับอยู่แล้ว ผู้ร้องจึงต้องมายื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการควบคุมตัว

3. บทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 เป็นมาตรการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมหรือขังโดยเจ้าพนักงานหรือบุคคลธรรมดาก็อยู่ในความคุ้มครองของมาตรานี้ ศ.ดร.คณิต ณ นคร ได้อธิบายว่า บทบัญญัตินี้มีที่มาจากหลัก Habeas Corpus ของอังกฤษ“การถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย” นั้น ต้องพิจารณาจากตัวผู้ถูกควบคุมตัว โดยนัยนี้จึงหมายถึงการสูญเสียเสรีภาพในร่างกายหรือเสรีภาพในการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่ทางที่ผู้ถูกควบคุมหรือขังไม่จำเป็นต้องยอมรับสภาพเช่นนั้น โดยไม่คำนึงว่าการกระทำนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่การควบคุมหรือขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ในระหว่างสอบสวนโดยไม่มีความจำเป็นและสมควร เป็นการผิดหลักการในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล

ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4 บัญญัติว่า ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้วย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”

ประเทศไทยให้สัตยาบันเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) แห่งองค์การสหประชาชาติ ข้อ 9 กำหนดว่า “บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้ บุคคลจะถูกลิดรอนเสรีภาพของตนมิได้ ยกเว้นโดยเหตุ และโดยเป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย”

ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง โดยไม่ได้ดำเนินการไต่สวนและไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายผู้ร้องได้นำเสนอข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอย่างเต็มที่ หรือศาลไม่แสวงหาข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานจนเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ว่าคดีมีมูลหรือไม่ จึงเป็นการปิดกั้นโอกาสในการใช้สิทธิตามกฎหมายที่จะร้องขอให้ศาลปล่อยตัวนายเธนตรจากการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อีกทั้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการควบคุมตัวนายธเนตร ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมตัวด้วยอำนาจกฎหมายใด ควบคุมตัวที่ใด เหตุในการควบคุมตัวคืออะไร ผู้ถูกควบคุมตัวมีสภาพร่างกายปกติหรือไม่ อย่างไร ข้อเท็จจริงส่วนนี้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องจะทราบดีที่สุด และเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐที่ผู้ร้องไม่สามารถเข้าถึงได้

ดังนั้น กฎหมายจึงกำหนดให้ศาลต้องเรียกเจ้าหน้าที่รัฐที่ควบคุมตัว และผู้ถูกควบคุมตัวมาไต่สวนด้วยตนเอง การไต่สวนของศาลจึงถือเป็นการค้นหาข้อเท็จจริงโดยศาล และเป็นการถ่วงดุลการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ให้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ควบคุมตัวบุคคลโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง จึงถือเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90

ด้วยเหตุผล ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายดังกล่าว ผู้ร้องขอศาลอุทธรณ์ได้โปรดมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้น เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้กระบวนการพิจารณาคดี ในกรณียื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวจากการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ได้ดำเนินไปตามเจตนารมณ์ที่กฎหมายกำหนด และเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

X