แม้จะผ่านมากว่า 3 อาทิตย์ ตั้งแต่มีรายงานข่าวการออกหมายเรียก 5 นักวิชาการ นักศึกษา และนักแปล ผู้เข้าร่วมการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา เพื่อให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จากกรณีการติดป้าย “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานประชุม แต่จนถึงปัจจุบัน (3 ก.ย.60) ก็ยังมีการออกแถลงการณ์หรือจดหมายเปิดผนึกแสดงถึงความวิตกกังวลในการดำเนินคดีนี้ พร้อมกับเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง
การดำเนินคดีครั้งนี้ถือเป็นการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกในวงวิชาการที่สำคัญอีกกรณีหนึ่ง เมื่อข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นเกิดจากกิจกรรมที่เป็นการแสดงออกในงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ซึ่งมีนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศเข้าร่วมกว่า 1,200 คน และยังปรากฏข้อเท็จจริงเรื่องการเข้ารบกวนและแทรกแซงงานประชุมโดยเจ้าหน้าที่ทหาร อันเป็นที่มาของการแสดงออกของกลุ่มผู้ต้องหาดังกล่าว (ดูสรุปคำให้การของ 5 ผู้ต้องหาที่ยื่นต่อพนักงานสอบสวน)
ความน่าวิตกของการดำเนินคดีนี้ ยังเห็นได้จากองค์กรหรือเครือข่ายวิชาการซึ่งมีความสำคัญในระดับโลก รวมทั้งนักวิชาการที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์และเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดี อาทิเช่น เครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง, สมาคมมานุษยวิทยาอเมริกัน, สถาบันเกี่ยวกับไทยศึกษาและอาเซียนศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอีกหลายแห่ง หรือแม้แต่องค์กรภาคประชาสังคมในประเทศพม่า
จนถึงปัจจุบัน มีสถาบันหรือองค์กรทางวิชาการ สิทธิมนุษยชน และภาคประชาสังคม ทั้งในประเทศไทยและนานาชาติ ได้ออกแถลงการณ์หรือออกจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีไทยศึกษานี้ กว่า 70 องค์กร และมีนักวิชาการ หรือภาคประชาสังคม ทั้งในไทยและต่างประเทศ อย่างน้อย 1,071 รายชื่อ ร่วมกันลงชื่อเรียกร้อง รวมแล้วมีแถลงการณ์และจดหมายเปิดผนึก อย่างน้อย 18 ฉบับ ที่ร่วมแสดงออกถึงการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการในกรณีนี้
รายงานนี้ประมวลแถลงการณ์และจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวเท่าที่มีการเผยแพร่ในสื่อสาธารณะ อย่างน้อยเพื่อเป็นบทบันทึกใน “หน้าประวัติศาสตร์หนึ่ง” ของบรรยากาศการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพทางวิชาการในยุคของ คสช.
เครือข่าย-องค์กรนักวิชาการระดับนานาชาติ
แถลงการณ์ในวงวิชาการระดับชาติที่สำคัญ ได้แก่ แถลงการณ์ของ เครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง (Scholars at Risk – SAR) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ติดตามการละเมิดสิทธิเสรีภาพและการคุกคามของนักวิชาการในระดับนานาชาติ ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 17 ส.ค. แสดงความวิตกกังวลต่อการดำเนินคดีผู้ต้องหาทั้ง 5 คน พร้อมกับมีการเปิดให้มีการร่วมส่งจดหมายและอีเมล์เรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้ถอนข้อกล่าวหาที่มีต่อผู้ต้องหาทั้งห้าคน อันสืบเนื่องจากการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ สิทธิในสมาคม หรือเสรีภาพทางวิชาการ และ SAR ยังยืนยันว่าการดำเนินคดีใด ๆ ต่อบุคคลทั้งห้าต้องอยู่ภายใต้กระบวนการที่สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ
อีกแถลงการณ์สำคัญเป็นของ สมาคมมานุษยวิทยาอเมริกัน (American Anthropological Association – AAA) ซึ่งเป็นองค์กรของนักวิชาการด้านมานุษยวิทยาที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสมาชิกกว่า 10,000 คนทั่วโลก ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 21 ส.ค. เรียกร้องให้มีการถอนการตั้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหาทั้งห้าคนโดยทันที โดยเห็นว่าหากนโยบายและการปฏิบัติของรัฐบาลสร้างข้อจำกัดอย่างไม่มีเหตุผลต่อการสอน การเรียนและการวิจัยทางวิชาการ นโยบายและการปฏิบัติเหล่านั้นย่อมสร้างความเสียหายขั้นพื้นฐานต่อการส่งเสริมความเข้าใจ พร้อมยืนยันว่าเสรีภาพทางวิชาการมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อนักวิจัย อาจารย์ และนักศึกษาในการสานต่อวัตถุประสงค์ของสถาบันอุดมศึกษาขั้นสูงเพื่อรับใช้สังคมส่วนรวม
หน้าเว็บไซต์ของสมาคมมานุษยวิทยาอเมริกัน ที่ออกจดหมายเปิดผนึกกรณีดำเนินคดีต่อ 5 ผู้เข้าร่วมประชุมไทยศึกษา
นอกจากนั้นยังมีแถลงการณ์เมื่อวันที่ 21 ส.ค. ของ 9 ตัวแทนของสถาบันด้านไทยศึกษาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในมหาวิทยาลัยระดับนานาชาติทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา อาทิเช่น สมาคมอาเซียนศึกษา (AAS), เครือข่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษานิวยอร์ค, หลักสูตรไทยศึกษา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นต้น ได้ร่วมกันแถลงเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีต่อผู้เข้าร่วมประชุมไทยศึกษาทั้งห้าคน โดยเห็นว่าการที่มีเจ้าหน้าที่ทหารหลายคนมาปรากฏตัวในที่ประชุมนั้น เป็นเหตุอย่างชัดแจ้งให้ผู้เข้าร่วมงานประชุมบางส่วนต้องออกมายืนยันว่าการประชุมครั้งนี้เป็นเวทีวิชาการ และไม่ใช่ค่ายทหาร
แถลงการณ์ฉบับนี้ระบุว่าถ้อยคำดังกล่าวเป็นการปกป้องหลักธรรมดาทางวิชาการของงานประชุม ซึ่งศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่นั้นก็ย่อมไม่ใช่ค่ายทหารอย่างแน่นอน ถ้อยคำที่เป็นข้อเท็จจริงนี้จึงเป็นการแสดงออกโดยชอบธรรมด้วยสิทธิเสรีภาพดังที่ได้อนุญาตไว้ในมาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 และไม่ได้เป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศไทยแต่อย่างใด
ด้าน ผู้เข้าร่วมการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ครั้งที่ 13 จำนวน 291 คน ซึ่งเป็นนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยทั้งในไทยและต่างประเทศ ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 18 ส.ค. เรียกร้องให้ยกเลิกการดำเนินคดีต่อผู้ต้องหาทั้งห้าคน โดยเห็นว่าการประชุมที่จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยมีผู้เข้าร่วมสูงสุดถึง 1,224 คน ทว่าประการเดียวที่ทำให้การประชุมมีความเสียหาย คือการปรากฏตัวของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งในและนอกเครื่องแบบ ก่อให้เกิดบรรยากาศความหวาดกลัวระหว่างการประชุม ซึ่งถือเป็นการละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี และยังไม่ปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนาม อันเป็นการให้หลักประกันเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ
อีกทั้ง เมื่อวันที่ 20 ส.ค. นักวิชาการระดับนานาชาติ จำนวน 418 คน ยังได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียกร้องให้ถอนการดำเนินคดีต่อผู้ต้องหาทั้ง 5 คนทันที และขอให้รัฐบาลส่งเสริมและสนับสนุนนักวิชาการและนักศึกษาให้สามารถดำเนินการทางวิชาการ ทั้งการสอน การวิจัย การถกเถียงและอภิปรายสาธารณะ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยโดยไม่ถูกขัดขวาง ทั้งยังเรียกร้องให้ยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการถกเถียงในสังคมที่เสรีและเปิดกว้าง ในประเด็นต่างๆ ที่อยู่ในความห่วงใยของสาธารณชนไทย
หน้าเว็บไซต์เครือข่ายนักวิชาการ Scholars at Risk ร่วมเชิญชวนให้ส่งจดหมายเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้ถอนข้อกล่าวหาที่มีต่อผู้ต้องหาทั้งห้าคน
นักวิชาการ-องคฺ์กรวิชาการในประเทศไทย
ภายในประเทศไทยเอง นักวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัย ก็ได้มีการออกแถลงการณ์ต่อกรณีนี้เช่นเดียวกัน โดยเมื่อวันที่ 20 ส.ค. นักวิชาการและภาคประชาสังคม จำนวน 301 คน ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ถอนข้อกล่าวหาต่อผู้ถูกดำเนินคดีทั้ง 5 คน โดยเห็นว่าการถือป้ายข้อความดังกล่าว เป็นกิจกรรมเล็กน้อยที่เป็นเพียงการสื่อสารถึงความไม่เหมาะสมของการแทรกตัวของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงในการสัมมนาเท่านั้น การดำเนินคดีในลักษณะนี้จึงไม่สมเหตุสมผล ก่อให้เกิดการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
แถลงการณ์ฉบับนี้ยังเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เพื่อรื้อฟื้นความเชื่อมั่นและบรรยากาศในการแลกเปลี่ยนเพื่ออนาคตของสังคมไทย ยุติการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
ทางด้านคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นิสิตปัจจุบัน และศิษย์เก่าของศูนย์ไทยศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 42 ราย ก็ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 28 ส.ค. เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีและข่มขู่นักวิชาการทุกรูปแบบ โดยระบุว่าการดำเนินคดีนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นการละเมิดเสรีภาพทางวิชาการอย่างร้ายแรง แต่ยังนับเป็นการส่งสัญญาณอันตรายจากรัฐบาลไทยไปสู่วงวิชาการนานาชาติอีกด้วย โดยเห็นว่าหากประเทศไทยไม่อาจแม้แต่จะจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติในศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องประเทศตัวเองได้ โดยที่ไม่ต้องเกิดเหตุจับกุมตั้งข้อหาและข่มขู่คุกคามคณะผู้จัดงานได้แล้ว จะยังมีเสรีภาพทางวิชาการใดๆ เหลืออยู่ให้ชาวต่างชาติเชื่อมั่นได้หรือไม่
ในส่วนของคณะกรรมการบริหารประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุม ร่วมชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและเรียกร้องให้กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) จ.เชียงใหม่ ยุติการดำเนินคดีต่อบุคลากรและผู้ร่วมงานไทยศึกษาทั้ง 5 คน
แถลงการณ์ฉบับนี้ยังระบุถึงการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าในระหว่างการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาได้มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้ามาในงาน โดยมิได้มีการแจ้งให้กับผู้จัดงานรับทราบ และไม่มีการลงทะเบียนเข้าฟัง ทั้งที่เป็นงานที่มีการเก็บค่าลงทะเบียนอย่างเป็นทางการ ซึ่งได้สร้างความไม่สบายใจให้กับผู้ร่วมประชุม โดยเฉพาะผู้เข้าร่วมประชุมจากต่างประเทศ
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ ก็ได้ออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. โดยเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีต่อผู้ต้องหาทั้งห้าคน เพราะเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ระบุไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี พ.ศ.2560 และสิทธิมนุษยชนสากล ทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดพื้นที่เสรีภาพ การมีส่วนร่วมในทุกมิติ และเรียกร้องให้ทุกมหาวิทยาลัยแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรม ในการปกป้องพื้นที่ เสรีภาพ และการแสดงออกทางวิชาการ
รวมทั้งลูกศิษย์ของดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ จำนวน 19 คน จากศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีต่อผู้ต้องหาทั้งห้าคน เพราะเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพการแสดงออกและเสรีภาพทางวิชาการ
เว็บไซต์ new mandala ที่เป็นพื้นที่ของนักวิชาการนานาชาติที่ศึกษาประเด็นในภูมิภาคอาเซียน นำเสนอการดำเนินคดีจากการประชุมไทยศึกษา
องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนไทย-เทศ
นอกจากนักวิชาการและสถาบันทางวิชาการต่างๆ แล้ว องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับนานาชาติและในประเทศไทย ก็ได้ออกแถลงการณ์ถึงกรณีการดำเนินคดีไทยศึกษานี้เช่นเดียวกัน
เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ทางฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) โดยแบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ได้แถลงยืนยันว่าการเซ็นเซอร์ของรัฐบาลและการสอดแนมข้อมูลของกองทัพไม่ควรปรากฏขึ้นในที่ประชุมวิชาการ พร้อมระบุด้วยว่าการดำเนินคดีต่อผู้จัดการประชุมและผู้เข้าร่วม แสดงให้โลกเห็นว่ารัฐบาลทหารไทยดูถูกอย่างยิ่งต่อเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพด้านอื่นๆ
แถลงของฮิวแมนไรท์วอทช์ ยังระบุด้วยว่าประเทศไทยกำลังเผชิญอนาคตที่มืดมน หากมีการเซ็นเซอร์การแสดงความเห็น มีการลงโทษต่อการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงวิชาการ และมีการสั่งห้ามการอภิปรายทางการเมืองแม้แต่ในเขตมหาวิทยาลัย พร้อมเรียกร้องให้นักวิชาการทั่วโลกควรร่วมกันเรียกร้องให้มีการถอนฟ้องผู้ต้องหาทั้งห้าคนโดยทันที
ต่อมา 21 องค์กรสิทธิมนุษยชนที่ทำงานในระดับนานาชาติและในเอเชีย อาทิเช่น สมาพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH), Front Line Defenders, Asia Indigenous Peoples Pact, FORUM-ASIA, EarthRights International เป็นต้น ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันเมื่อวันที่ 21 ส.ค. เรียกร้องให้ทางการไทยยุติการดำเนินคดีต่อนักวิชาการและผู้เข้าร่วมการประชุมไทยศึกษาทันที โดยเห็นว่าการดำเนินคดีนี้ขัดต่อพันธกรณีของไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งกติกา ICCPR และ ICESCR ซึ่งรัฐบาลไทยมีพันธะต้องปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ เช่นเดียวกับเสรีภาพทางวิชาการในฐานะส่วนหนึ่งของสิทธิในการศึกษา เช่นเดียวกับต้องคุ้มครองเสรีภาพการแสดงออกและเสรีภาพทางวิชาการตามรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 มาตรา 34
หน้าเว็บไซต์ของ Front Line Defenders เผยแพร่ข้อมูลคดี 5 ผู้ต้องหาไทยศึกษา พร้อมเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดี
ด้านองค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยสามองค์กร ได้แก่ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) และสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 18 ส.ค. โดยเห็นว่าการดำเนินคดีนี้เป็นการละเมิดเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี
นอกจากนั้น ยังเห็นว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ไม่ควรถูกนำมาบังคับใช้ในสภาวะปกติที่ประเทศไม่ได้อยู่ในสภาวะสงครามหรือสภาวะฉุกเฉินอันเป็นภัยคุกคามความอยู่รอดของประเทศ การบังคับใช้คำสั่งดังกล่าวจึงขัดต่อกติการะหว่างประเทศ ICCPR แถลงการณ์ของสามองค์กรสิทธิฯ ยังเห็นว่าในการประชุมวิชาการไทยศึกษาครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหลายหน่วยงานทั้ง “ทหาร” และ “ตำรวจ” เข้ามาแฝงตัวในกลุ่มผู้เข้าประชุม มีการถ่ายภาพผู้อภิปราย ผู้เข้าร่วม อันเป็นการคุกคามประชาคมวิชาการ และเป็นการแทรกแซงเวทีวิชาการโดยรัฐ
เครือข่ายภาคประชาสังคมในไทย
เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน จำนวน 28 องค์กร ที่ทำงานด้านสิทธิชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติ ได้ออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 16 ส.ค. เรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถอนการแจ้งข้อกล่าวหาต่อ ดร.ชยันต์และพวกในทันที และรัฐหรือหน่วยงานใดๆ จะต้องไม่ใช้อำนาจในการดำเนินคดีกับบุคคลใดที่ได้ใช้สิทธิในการแสดงออกทางวิชาการและแสดงออกทางความเห็นต่างใดๆ อีกต่อไป
ด้านคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.ภาคเหนือ) ซึ่งเป็นกลไกประสานงานร่วมของเครือข่ายและสมาชิกองค์กรพัฒนาเอกชนทั่วภาคเหนือ ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 16 ส.ค. แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยและคัดค้านการดำเนินคดีไทยศึกษาครั้งนี้ รวมทั้งเรียกร้องต่อรัฐบาลในการยุติการแทรกแซงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางวิชาการและสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญแห่งชาติได้บัญญัติไว้
แม้แต่ทางคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) นำโดยพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ยังได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 20 ส.ค. โดยเห็นว่าการออกหมายเรียกในคดีนี้ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานตามหลักนิติธรรม จึงเรียกร้องให้หัวหน้าคสช. มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทบทวนการออกหมายเรียกนักวิชาการและนักกิจกรรมทั้ง 5 คน เพื่อร่วมกันรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางวิชาการ เพื่อให้เข้าสู่สังคมประชาธิปไตยที่มีการเคารพในสิทธิเสรีภาพ แถลงการณ์ของครป. ยังระบุว่าให้มีการทบทวนการใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ด้วย
เครือข่ายภาคประชาสังคมในพม่า
นอกจากนั้น เนื่องจากดร.ชยันต์ วรรธนะภูติเอง มีบทบาทในการทำงานศึกษาและจัดเวทีวิชาการเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ในประเทศพม่าและสถานการณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การดำเนินคดีไทยศึกษาในครั้งนี้ ยังปรากฏแถลงการณ์จาก 306 องค์กรภาคประชาสังคมในพม่า ซึ่งร่วมกันออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 21 ส.ค. เรียกร้องให้มีการยกเลิกการดำเนินคดีไทยศึกษานี้ทันที โดยระบุว่าการดำเนินคดีนี้เป็นการกดขี่ทางวิชาการ และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและบรรทัดฐานทางประชาธิปไตย รวมทั้งเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพในการชุมนุม และเสรีภาพในการแสดงออก จึงขอประณามการกระทำครั้งนี้อย่างจริงจัง
เครือข่ายเพื่อการปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติ (NNER) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนทำงานด้านการศึกษาและเสรีภาพทางวิชาการของประเทศพม่า มาตั้งแต่ปี 2556 ยังได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 20 ส.ค. โดย ระบุเรื่องที่งานประชุมนานาชาติไทยศึกษาเป็นพื้นที่เพื่อการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดที่หลากหลาย เพื่อแสวงหาทางออกที่ดีขึ้นสาหรับอนาคตของประเทศไทย การดำเนินคดีนี้ จึงถือเป็นการคุกคามกิจกรรมทางวิชาการและเสรีภาพทางวิชาการ แถลงการณ์จึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกการดำเนินคดีต่อผู้เข้าร่วมประชุมไทยศึกษาโดยทันที
แถลงการณ์ของ เครือข่ายเพื่อการปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติ (NNER) เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีไทยศึกษา ในภาษาพม่า
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เปิดคำให้การ 5 ผู้ต้องหาคดีติดป้าย “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานไทยศึกษา
แจ้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองคดี “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” เหตุอาจก่อกระแสต่อต้าน รบ.ในเชิงลบ
ออกหมายเรียก 5 นักวิชาการ-น.ศ. ฝ่าฝืนคำสั่งชุมนุมทางการเมือง กรณีกิจกรรมในงานไทยศึกษา