ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรายงานว่าระหว่างวันที่ 5-7 กันยายน 2560 นี้ ที่ศาลจังหวัดพะเยามีการนัดสืบพยานในคดีของนายออด สุขตะโก และพวก รวม 3 คน ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากกรณีการพบป้ายที่มีข้อความว่า “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา” ติดบริเวณสะพานลอยหน้าโรงเรียนบ้านร่องห้า อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2557
สำหรับจำเลยสามคนในคดีนี้ ได้แก่ นายออด สุขตะโก ปัจจุบันอายุ 66 ปี ประกอบอาชีพทำสวนทำไร่ นางถนอมศรี นามรัตน์ อายุ 56 ปี ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป และนายสุขสยาม จอมธาร อายุ 65 ปี เคยเป็นดีเจสถานีวิทยุชุมชนและปัจจุบันประกอบอาชีพทำสวนทำไร่ ทั้งสามคนเป็นสมาชิกของกลุ่มแม่สรวยรักประชาธิปไตย ซึ่งเป็นกลุ่มเสื้อแดงที่เคยทำกิจกรรมในพื้นที่อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ในช่วงปี 2553 จนถึงช่วงก่อนการรัฐประหาร 2557
ก่อนหน้านี้ ทั้งสามคนเคยถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกันนี้มาแล้ว จากกรณีการพบป้ายข้อความ “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา” เช่นเดียวกัน ซึ่งถูกติดอยู่บริเวณสะพานลอยข้ามถนนพหลโยธิน หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่าจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557
ในคดีนี้ ต่อมามีการสั่งฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดเชียงราย และจำเลยทั้งสามคนขอต่อสู้คดี ก่อนที่ศาลจังหวัดเชียงรายจะมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 โดยเห็นว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามมาตรา 116 (2) (3) ประกอบกับมาตรา 83 ให้ลงโทษจำคุกคนละ 4 ปี แต่ฝ่ายจำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง จึงให้ลดโทษ 1 ใน 4 เหลือจำคุก 3 ปี และจำเลยทั้งสามไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้ เป็นระยะเวลา 5 ปี
ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว คือระหว่างปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม 2557 มีการพบป้ายข้อความดังกล่าวนี้ในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ ทั้งที่จังหวัดเชียงราย พะเยา เชียงใหม่ และพิษณุโลก โดยที่สถานการณ์ทางการเมืองในช่วงดังกล่าวมีการชุมนุมยืดเยื้อในกรุงเทพมหานครโดยกลุ่มกปปส. เพื่อต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในขณะนั้น รวมทั้งมีความพยายามขัดขวางหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 และศาลอาญาในขณะนั้นได้ปฏิเสธการออกหมายจับแกนนำ กปปส. ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ในคำพิพากษาของศาลจังหวัดเชียงรายในคดีแรกนั้น ศาลเห็นว่าข้ออ้างของฝ่ายจำเลยที่ว่าไม่มีความยุติธรรมต่อกลุ่มการเมืองของจำเลยทั้งสามเป็นการคิดเอาเองฝ่ายเดียว ส่วนถ้อยคำ “ขอแยกเป็นประเทศล้านนา” มีความหมายว่าไม่ยอมรับการยกคำร้องของศาลอาญาในการขอออกหมายจับแกนนำกลุ่มกปปส.ในช่วงนั้น เป็นการปฏิเสธอำนาจของศาลอาญาที่มีกฎหมายให้อำนาจในการปฏิบัติหน้าที่ไว้ มิใช่เพื่อแสดงความเห็นหรือติชมโดยสุจริต จึงมีเจตนาทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร
ป้ายที่พบติดในอำเภอเมือง จังหวัดพะเยา เมื่อวันที่ 1 มี.ค.57 (ภาพจาก ผู้จัดการออนไลน์)
.
คดีคาอยู่ในชั้นตำรวจเกือบ 3 ปี ก่อนนัดไปสั่งฟ้องคดี
สำหรับกรณีที่อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ตามรายงานข่าวของผู้จัดการออนไลน์ หลังจากการตรวจพบป้ายข้อความ “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา” เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2557 ต่อมาทางฝ่ายทหาร โดย พ.อ. (พิเศษ) วีรศักดิ์ พูลเกตุ รองผู้บัญชาการจังหวัดทหารบกพะเยา (ในขณะนั้น) และทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดย พ.ต.ท.เฉลิมชาติ ยาวิชัย รองผู้กำกับสืบสวนสภ.เมืองพะเยา ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 116 ต่อผู้ติดป้ายในกรณีนี้ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองพะเยา
หลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ภายหลังจากที่คนเสื้อแดงทั้งสามรายถูกดำเนินคดีตามมาตรา 116 ที่สภ.เมืองเชียงรายแล้ว ในราวเดือนสิงหาคม 2557 ทางพนักงานสอบสวนสภ.เมืองพะเยา ได้มีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาสามคนเดียวกันนี้ มารับทราบข้อกล่าวหาเดียวกันจากกรณีการติดป้ายในจังหวัดพะเยาด้วย
นายออดระบุว่าหลังจากนั้น คดีในจังหวัดพะเยาไม่ได้มีความเคลื่อนไหวอีก โดยเข้าใจไปว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้ว เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ กระทั่งในช่วงเดือนมีนาคม 2560 เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.เมืองพะเยา กลับได้มีการแจ้งมายังผู้ต้องหาทั้งสามคน ให้เดินทางไปรับทราบคำสั่งในคดี โดยระบุว่าทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้พิจารณาสำนวนแล้วมีความเห็นสั่งฟ้องคดี และต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดพะเยาก็มีคำสั่งให้ฟ้องคดีเช่นเดียวกัน
ก่อนหน้านี้ศาลจังหวัดพะเยามีการนัดถามคำให้การในคดี และทั้งสามคนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยได้รับการประกันตัวในชั้นศาล ด้วยหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินรายละ 2 แสนบาท และศาลจังหวัดพะเยาได้นัดหมายสืบพยานในช่วงระหว่างวันที่ 5-7 กันยายน ที่จะถึงนี้ โดยที่จำเลยทั้งสามคนมีทนายความในพื้นที่จังหวัดเชียงรายที่เคยให้ความช่วยเหลือในคดีเดิม รับให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในคดีใหม่นี้ด้วย
ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเดียวกันอีกที่ สภ.แม่ลาว
ขณะเดียวกัน นายออดยังเปิดเผยกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่าทั้งสามคนยังถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 อีกคดีหนึ่ง จากพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแม่ลาว จังหวัดเชียงราย โดยในช่วงกลางปี 2560 นี้เอง ภายหลังมีการสั่งฟ้องคดีที่จังหวัดพะเยาแล้ว ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองปราบปรามนำหมายจับตามมาตรา 116 ไปที่บ้านของนายออด โดยระบุว่าเป็นกรณีการติดป้ายข้อความ “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา” บริเวณสะพานลอยหน้าตลาดป่าก่อดำ อำเภอแม่ลาว ซึ่งมีการพบป้ายดังกล่าวในช่วงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557
นายออดระบุว่าตนถูกเจ้าหน้าที่นำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาที่สภ.แม่ลาว โดยไม่มีทนายความอยู่ด้วย และถูกคุมขังที่สถานีตำรวจหนึ่งวัน ก่อนถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลจังหวัดเชียงราย และต่อมาได้รับการประกันตัว เมื่อญาติได้นำหลักทรัพย์ราว 2 แสนบาทเศษ มายื่นขอประกันตัว
ต่อมา เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ผู้ต้องหาอีกสองราย ได้แก่ นางถนอมศรี และนายสุขสยาม ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากพนักงานสอบสวนสภ.แม่ลาว ก่อนถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลเช่นเดียวกัน โดยในตอนแรกมีปัญหาเรื่องหลักทรัพย์ในการประกันตัว ทำให้ทั้งสองคนถูกนำตัวไปคุมขังในเรือนจำเป็นเวลา 4 วัน ก่อนญาติและทนายความจะไปยื่นประกันตัวทั้งสองคน และศาลอนุญาตให้ประกันตัว โดยขณะนี้ คดีนี้ยังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน
นายออดเปิดเผยว่าตนก็ไม่เข้าใจและไม่ทราบชัดเจนว่าเหตุใดหลังจากเสร็จสิ้นคดีเดิมที่ศาลจังหวัดเชียงรายแล้ว กลับจึงมีการกล่าวหาดำเนินคดีกับทั้งสามคนเป็นคดีใหม่ถึงสองคดี และเหตุใดเรื่องป้ายนี้ถึงมาดำเนินการกับกลุ่มของตนกลุ่มเดียว เจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงแต่บอกว่าป้ายมันเหมือนกันกับคดีที่เชียงราย แต่ทั้งสามคนได้ยืนยันปฏิเสธข้อกล่าวหา เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการติดป้ายในสองพื้นที่ดังกล่าวแต่อย่างใด และยืนยันจะต่อสู้คดีในชั้นศาลต่อไป
.
ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ระบุว่าผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต
(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย
(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ
(3) เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี