จับกุม-แจ้ง ม.112 เหตุปราศรัยหน้าศาล “ไบรท์” ชินวัตร แถลงปฎิเสธกระบวนการพิจารณาคดี ชี้ศาลไร้ความเป็นกลาง ก่อนถูกฝากขังเรือนจำ

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2565 เวลา 18.00 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองสืบสวนนครบาล 6 ได้เข้าจับกุม “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง นักกิจกรรมทางการเมืองวัย 30 ปี ถึงบ้านพักในจังหวัดนนทบุรี เป็นการจับกุมตามหมายจับออกโดยศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2565 

เบื้องต้น เจ้าหน้าที่แจ้งว่า เป็นการจับกุมในคดี 112 ของ สน.ยานนาวา จากเหตุเข้าร่วมปราศรัยกิจกรรมเรียกร้องขอคืนสิทธิการประกันตัวให้ “บุ้ง-ใบปอ” นักกิจกรรมทะลุวัง ที่อดอาหารมาเกือบสองเดือน ที่บริเวณหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2565 ก่อนที่ชินวัตรจะถูกนำตัวไปที่ บช.ปส. (กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด) ภายในสโมสรตำรวจ ซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ

ในคดีนี้ก่อนหน้านี้ อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และเลขาฯ สมาชิกศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) เป็นผู้แจ้งความไปร้องทุกข์กล่าวโทษคดีนี้ไว้ที่ สน.ยานนาวา เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2565 โดยตำรวจมีการดำเนินคดีและร้องขอออกหมายจับภายในวันเดียว

เหตุการณ์ตอนจับกุม >> https://fb.watch/eD4LvJRomZ/

สำหรับบันทึกจับกุม ระบุว่าการจับกุมอยู่ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.สรเสริญ ใช้สถิตย์ ผู้บังกับการกองบัญชาการตำรวจนครบาล 6 โดยมีชุดจับกุมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองกำกับการสืบสวนนครบาล รวมทั้งสิ้น 5 นาย 

ในชั้นจับกุม ชินวัตรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่ยอมรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับจริง และประสงค์ให้มีทนายความคอยอยู่ร่วมในกระบวนการด้วย 

แจ้ง ม.112-พ.ร.บ.คอมฯ เหตุร่วมชุมนุมทวงคืนสิทธิประกันตัว “บุ้ง-ใบปอ” หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ วิจารณ์การถ่ายโอนทรัพย์สินพระมหากษัตริย์-การบังคับใช้ ม.112 

สำหรับพฤติการณ์คดี พ.ต.ท.คมสัน เลขาวิจิตร พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา บรรยายโดยสรุปว่า เมื่อช่วงกลางคืนของวันที่ 28 ก.ค. 2565 ชินวัตรได้ใช้เครื่องขยายเสียงพูดปราศรัยเพื่อให้กลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ฟัง รวมทั้งมีการไลฟ์สด ผ่านช่อง Youtube “ไทยทีวีนิวส์” ให้บุคคลทั่วไปรับฟังด้วย โดยมีข้อความบางส่วนกล่าวถึงการโอนย้ายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์, เครือซีเมนต์ ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ข้อกล่าวหาอ้างว่าข้อความดังกล่าว เป็นการบิดเบือนใส่ร้ายด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ทําให้ประชาชนเกลียดชังและมองว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นคนโลภหรือเป็นคนคดโกง

คำปราศรัยยังกล่าวถึงการโอนย้ายกองกำลังทหารไปเป็นกองกำลังส่วนพระองค์ ผู้กล่าวหาเห็นว่าข้อความดังกล่าวเป็นเท็จ ทําให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงรวบอํานาจและต้องการตั้งกองทัพส่วนพระองค์ อันทําให้เกิดความเสื่อมเสียพระเกียรติ 

นอกจากนี้การใช้คําว่า ‘หากทรงคิดพิลึก’ เป็นการใช้คําที่หมิ่นพระเกียรติ ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการกล่าวหาว่าพระเจ้าอยู่หัวจะยึดอํานาจจากระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบราชาธิปไตย เป็นการกล่าวหาที่เลื่อนลอยไร้หลักฐาน เป็นการใส่ร้ายเบื้องสูงว่าไม่ทรงเลื่อมใสศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่ทรงอยู่เหนือการเมือง ทุกประการตามรัฐธรรมนูญ

ข้อกล่าวหายังระบุว่ามีการปราศรัยในเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมทางการเมืองทุกคดี โดยมีการเชื่อมโยงกับพระมหากษัตริย์ และมีการกล่าวหาถึงการที่เคยไม่ให้ดำเนินคดีมาตรา 112 กับประชาชน  ผู้กล่าวหาอ้างว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการเรียกร้องว่าพระเจ้าแผ่นดินต้องห้ามดําเนินคดีมาตรา 112 เป็นเหตุให้ต้องทรงใช้พระราชอํานาจที่เหนือกฎหมาย คือทรงใช้พระราชอํานาจไม่ให้กฎหมายเกิดการบังคับใช้ เป็นการกระทําที่จะเป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศ และเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม การกระทําดังกล่าวของผู้ต้องหาเป็นการกล่าวโทษและป้ายสีสถาบัน ให้ประชาชนเกิดความเกลียดชัง เป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติ 

พนักงานสอบสวนได้แจ้งชินวัตร 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4

‘ชินวัตร’ ปฎิเสธกระบวนการพิจารณาคดี ชี้ไม่ยอมรับอำนาจศาลที่เป็นองค์กรใต้อำนาจคู่กรณี ก่อนถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ  

หลังจากสอบคำให้การเสร็จสิ้นแล้ว ชินวัตรได้ถูกควบคุมตัวไว้ที่ บช.ปส 2 คืน ก่อนในวันที่ 1 ส.ค. 2565 พนักงานสอบสวนได้นำตัวเขาไปยื่นขออำนาจศาลอาญากรุงเทพใต้ฝากขัง โดยอ้างเหตุว่า พนักงานสอบสวนยังทำการสอบสวนไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบพยานเพิ่มอีก 10 ปาก และรอผลการตรวจลายนิ้วมือ 

ขณะเดียวกันยังคัดค้านการประกันตัว โดยระบุว่าผู้ต้องหาเคย “กระทำความผิด” ในคดีเกี่ยวกับความมั่นคงมาก่อนหลายคดี แต่ผู้ต้องหายัง “กระทำผิดซ้ำ” จึงเห็นว่าหากให้ประกันตัว ผู้ต้องหาจะกระทำความผิดในลักษณะเดิมอีก  

ทั้งนี้ โดยข้อเท็จจริงในคดีมาตรา 112 ที่ชินวัตรถูกกล่าวหา ยังไม่มีคดีใดที่ศาลมีคำพิพากษาออกมาแต่อย่างใด

ต่อมาหลังทนายความได้ยื่นคำร้องคัดค้านฝากขังในช่วงเช้าวันนี้ ศาลได้ออกนั่งพิจารณาไต่คำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 ในเวลา 14.30 น. โดยอนุญาตให้แค่ทนายความอยู่ในห้องพิจารณาได้เท่านั้น โดยครอบครัวของชินวัตร ทั้งญาติ ภรรยา และลูกชายอายุขวบครึ่ง ไม่สามารถเข้าร่วมฟังการไต่สวนได้ โดยเจ้าหน้าที่ได้อ้างถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาด 

ชินวัตรได้แถลงปฏิเสธ ไม่เข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดี โดยขอถอนคำร้องคัดค้านฝากขัง ขอไม่ให้การต่อศาล ไม่ถามค้านพยานหากมีการสืบพยาน และไม่ลงชื่อในเอกสารใดๆ ของศาล เนื่องจากกังขาต่อความเป็นกลางของศาล

.

ชินวัตรได้เขียนแถลงการณ์เผยแพร่โดยมีใจความว่า ตนรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมอย่างถูกต้อง จึงจำเป็นต้องออกคำแถลงการณ์ดังกล่าวไว้เพื่อให้สื่อและประชาชนได้ทราบโดยทั่วกัน โดยเขาจะไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมดังกล่าว จนกว่าจะได้รับความเป็นธรรมอย่างถูกต้อง 

“ตามที่พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องต่อข้าพเจ้าเป็นคดีอาญาต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในข้อหาดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย ต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ข้าพเจ้าของแถลงดังนี้”

“ศาลไทยซึ่งได้ประกาศยืนยันสถานภาพองค์กรมาโดยตลอด อันเป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า ศาลกระทำการพิจารณาและพิพากษาคดีในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นการประกาศตนว่าเป็นองค์กรใต้อำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่ปัญหาทางหลักการนิติปรัชญาต่อสถานะและอำนาจของศาลในคดีที่เกิดขึ้นต่อข้าพเจ้านี้คือ ในตัวบทกฎหมายคดีอาญามาตรา 112 ดังกล่าว มีระบุเนื้อความในตัวบทว่าการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์เป็นบุคคลผู้ถูกกระทำ โดยการดูหมิ่น การหมิ่นประมาท หรือการแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์จึงถือเป็นผู้เสียหายแห่งคดีนี้โดยตรง” 

“ไม่เพียงศาลไทยประกาศตัวเป็นองค์กรของพระมหากษัตริย์เท่านั้น เมื่อทนายความของข้าพเจ้ายื่นอุทธรณ์คำสั่งคำร้องปล่อยตัวชั่วคราว ศาลมีคำสั่ง “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พฤติการณ์ในการกระทำของผู้ต้องหาตามคำร้องฝากขังเป็นเรื่องกระทบต่อความมั่นคงและสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงถือเป็นภัยร้ายแรง หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหาอาจหลบหนีและไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานทำให้ยุ่งยากต่อการดำเนินการพนักงานสอบสวน ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว และให้ยกคำร้อง แจ้งคำสั่งให้ฝู้ต้องหาและผู้ขอประกันทราบโดยเร็ววัน”

“ในคำสั่งของศาลดังกล่าว มีลักษณะการพิพากษาคดีล่วงหน้า เห็นได้ชัดเจนว่าศาลได้เชื่อว่าผู้ต้องหากระทำการหรือมีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาไปแล้ว ซึ่งขัดกับหลักกฎหมายเบื้องต้นที่ต้องสัณนิษฐานว่าจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน จนกว่าจะพิสูจน์ทราบจนสิ้นสงสัยหรือพิพากษาว่ามีความผิดจริง โดยที่ในชั้นฝากขังยังไม่ได้มีกระบวนการพิสูจน์ทราบใดใดทั้งสิ้นว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำการเป็นความผิดตามที่ถูกกล่าวหาจริงหรือไม่ ทั้งยังไม่มีการสืบพยาน ยังไม่มีการสืบความทางคดีใดใดเลยเสียด้วยซ้ำ”

“คำสั่งดังกล่าวจึงกลายเป็นการพิพากษาคดีล่วงหน้าในการลงโทษจำคุกจำเลยผู้ถูกกล่าวหาก่อนการยื่นฟ้องคดี ส่วนคำสั่งของศาลที่ว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาอาจหลบหนี การคาดการณ์สิ่งใด ๆ ในคดีจะต้องปรากฎหลักญานให้เชื่อถือได้เพราะการพิจารณาพิพากษาคดีขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน หาใช่การ ‘คาดเดาไม่’ แต่ในคดีนี้ไม่ปรากฎหลักฐานข้อมูลหรือแม้แต่”

“นอกจากนี้ คำสั่งของศาลดังกล่าวในส่วนที่ว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหาอาจหลบหนีและไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานทำให้ยุ่งยากต่อการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวนก็ไม่ปรากฎหลักฐานว่า หากปล่อยชั่วคราวแล้วผู้ถูกกล่าวหาจะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานอะไรได้อย่างไร จึงเป็นการคาดเดาไปเองของศาลโดยไร้พยานหลักฐานใดใดสนับสนุน ซึ่งเป็นโทษต่อผู้ต้องหาที่ยังบริสุทธิ์”

“ข้อแต่ศาลที่เคารพ ตามตัวบทกฎหมายมาตรา 112 นี้ และด้วยการแสดงตนเป็นองค์กรได้อำนาจของคู่กรณีแห่งคดีนี้ ศาลจึงไร้สิ้นซึ่งความเป็นกลางทางคดี ทั้งในทางพฤตินัยและนิตินัยตามหลักนิติศาสตร์เบื้องต้น ศาลไทยที่แสดงตนเป็นองค์กรใต้อำนาจของคู่กรณีแห่งคดี จึงไร้ซึ่งศักดิ์และสิทธิ์ใด ๆ ในการพิจารณาหรือพิพากษา คดีมาตรา 112 ที่ข้าพเจ้าถูกแจ้งข้อกล่าวหาพิพาทกับคู่กรณีซึ่งดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์”

“ข้าพเจ้าขอประกาศต่อศาลและสาธารณชน รวมถึงวิญญชนทุกหมู่เหล่าว่า ข้าพเจ้าไม่ขอยอมรับอำนาจศาลที่เป็นองค์กรใต้อำนาจแห่งคู่กรณีดังกล่าว ในการพิจารณาคดีอาญามาตรา 112 นี้ และข้าพเจ้าจะไม่ขอเข้าร่วมในกระบวนการพิจารณาและกระบวนการพิพากษาคดีนี้ทั้งสิ้น โดยไม่ให้การ ไม่แต่งทนายเข้าดำเนินคดี ไม่ถามค้านพยานโจทก์ ไม่นำสืบพยานจำเลย ไม่ลงชื่อในเอกสารใดๆ ของศาล และกระบวนการพิพากษาคดีนี้ทั้งสิ้น แต่ก็มิขัดขวางใดๆ หากศาลต้องการดำเนินการใดต่อ ก็ขอให้ดำเนินการต่อไปแต่เพียงฝ่ายเดียวทั้งสิ้น มิได้เกี่ยวข้องใดๆ กับการยอมรับอำนาจศาลในคดีนี้ของข้าพเจ้า จนกว่าศาลจักหาข้อพิสูจน์ที่แน่ชัด ในทางพฤตินัยและนิตินัย จนเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าเชื่อได้ว่า ศาลมิได้เป็นองค์กรใต้อำนาจของคู่กรณีแห่งคดี ตามตัวบทมาตรา 112 ดังกล่าว จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน ข้าพเจ้าจึงจะรับพิจารณาการยอมรับหรือไม่ยอมรับอำนาจศาลอีกครั้ง” 

ด้วยความเคารพอำนาจตุลาการที่ต้องมาจากประชาชน

ชินวัตร จันทร์กระจ่าง

.

แถลงการณ์ของชินวัตรปฏิเสธกระบวนการพิจารณา

.

ต่อมา ศาลอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาเป็นระยะเวลา 12 วัน ตามคำร้องขอพนักงานสอบสวน  ทำให้เย็นวันนี้ชินวัตรถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 

สำหรับคดีนี้ นับเป็นคดีมาตรา 112 ที่ชินวัตรถูกกล่าวหาคดีที่ 7 แล้ว และทำให้ยอดจำนวนคดีมาตรา 112 หลังการชุมนุมเยาวชนปลดแอกเป็นต้นมา เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 223 คดีแล้ว

อนึ่ง จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จนถึงวันที่ 1 ส.ค. 2565 ยังมีผู้ถูกคุมขังในคดีเกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกทางการเมือง อย่างน้อย 31 คน

.

X