พรุ่งนี้(6ก.ค.2560) ศาลทหารมีนัดฟังคำพิพากษาคดีน.ส.จิตรา คชเดช นักกิจกรรมทางการเมืองและสังคม เจ้าหน้าที่และที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพฯ และผู้ประสานงานกลุ่มสหกรณ์คนงาน TRY ARM ที่ตกเป็นจำเลยในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเรียกบุคคลเข้ารายงานตัว จากการที่เธอไม่ได้เข้ารายงานที่สโมสรทหารบก เทเวศน์เมื่อวันที่ 3มิ.ย.2557 ตามคำสั่งฉบับที่ 44/2557
น.ส.จิตรายืนยันมาโดยตลอดว่าไม่ได้มีเจตนาจะหลบเลี่ยงการเข้ารายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. แต่ทั้งนี้เธออยู่ระหว่างการเดินทางในประเทศสวีเดน อีกทั้งยังได้พยายามหาช่องทางในการชี้แจงถึงเหตุขัดข้องแล้วทั้งการไปแสดงตัวที่สถานทูตไทย ฝากเพื่อนยื่นหนังสือชี้แจงถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ก็ไม่เป็นผล ทำให้เมื่อเดินทางกลับมาเธอถูกจับกุมที่สนามบินและถูกดำเนินคดีจนนำมาสู่การต่อสู้คดีในชั้นศาล และกำลังจะมีคำพิพากษาในวันพรุ่งนี้
รายงานชิ้นนี้จึงไล่ลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่ คสช. ออกคำสั่งเรียกบุคคลเข้ารายงานตัว การจับกุม และสรุปการสืบพยานในชั้นศาล
ที่มาของคดี
เมื่อ คสช.ทำการรัฐประหารในวันที่ 22พ.ค.2557 ได้ออกคำสั่งเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวต่อ คสช. อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งวันที่ 1มิ.ย.2557 คสช.ออกคำสั่งเรียกบุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม ฉบับที่ 44/2557 ซึ่งมีชื่อของน.ส.จิตราเป็นหนึ่งในคนที่ถูกเรียกตามคำสั่งฉบับนี้ ให้เข้ารายงานตัวที่สโมสรกองทัพบก เทเวศน์ ในวันที่ 3มิ.ย.2557 แต่ในตอนนั้นเธอกำลังท่องเที่ยวอยู่ในประเทศสวีเดนหลังเสร็จจากการเข้าร่วมวงเสวนาของกลุ่มแรงงานไทยในประเทศสวีเดนและได้เลื่อนตั๋วเดินทางกลับตั้งแต่วันที่ 27พ.ค.2557 ซึ่งเป็นวันก่อนมีคำสั่งเรียก
หลังน.ส.จิตรารับทราบว่าตนถูกเรียกเข้ารายงานตัวแต่ไม่สามารถเดินทางกลับมาที่ประเทศไทยได้ทัน จึงไปที่สถานทูตไทยในสวีเดนเพื่อแสดงเจตนาว่าตนไม่ได้มีเจตนาจะขัดคำสั่งเรียกรายงานตัว ทางเจ้าหน้าที่สถานทูตกลับตอบเธอว่าทางสถานทูตไม่สามารถรับรายงานตัวเนื่องจากไม่มีกรอบการทำงานรวมกันกับ คสช. ในประเด็นนี้และแนะนำให้เธอเดินทางกลับประเทศไทย
จนวันที่ 8มิ.ย.2557ศาลทหารได้อนุมัติหมายจับน.ส.จิตราในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เธอจึงขอให้เพื่อนที่กรุงเทพฯ เดินทางไปที่สโมสรกองทัพบก เทเวศน์เพื่อเข้ายื่นหนังสือชี้แจงเหตุผลที่ไม่สามารถเข้ารายงานตัวตามคำสั่ง แต่จะเข้ารายงานตัวในวันที่ 13มิ.ย.ซึ่งเป็นวันที่เดินทางถึงกรุงเทพฯ
แต่เมื่อน.ส.จิตราเดินทางถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 13มิ.ย. เมื่อลงจากเครื่องบินที่สุวรรณภูมิ ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองควบคุมตัวก่อนนำส่งกองปราบฯ
น.ส.จิตราถูกนำตัวส่งศาลทหารเพื่อฝากขัง ศาลอนุมัติฝากขัง ทนายความจึงยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวศาลอนุญาตโดยต้องวางหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นเงินสด 20,000บาท
จนกระทั่งวันที่ 31ก.ค.2557 ในนัดรายงานตัวครบฝากขังครั้งที่ 4 อัยการทหารเป็นโจทก์ยื่นฟ้องน.ส.จิตราต่อศาลทหารในข้อหาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลรายงานตัว จากการที่เธอรับทราบคำสั่งแล้วแต่ไม่เดินทางเข้ารายงานตัวในวันที่ 3มิ.ย.ตามคำสั่ง จากนั้นอีกเกือบสองเดือนต่อมาถึงมีนัดสอบคำให้การ เธอให้การปฏิเสธ ศาลจึงนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกในวันที่ 9ธ.ค.2557
การใช้ศาลทหารไม่เป็นไปตาม ICCPR
ในวันสืบพยานโจทก์นัดแรก9ธ.ค.2557 พยานโจทก์อ้างติดภารกิจไม่สามารถมาศาลได้จึงไม่มีการสืบพยาน แต่ทางน.ส.จิตราได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และ 38/2557 ที่ให้คดีของพลเรือนอยู่ในการพิจารณาของศาลทหารนั้น ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่โดยอ้างเหตุผลสองประการดังนี้ ประการแรก ประกาศทั้งสองฉบับเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ขัดกับข้อ 2 (1) และข้อ 4 (1)และ(5) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ประการที่สอง ศาลทหารซึ่งเป็นองค์กรตุลาการที่ไม่เป็นอิสระและไม่เป็นกลาง ขัดต่อ ICCPRข้อ 14(1)และ(5)
ศาลจึงให้เลื่อนการสืบพยานออกไปเป็นวันที่ 6 มี.ค.2558
ต่อมา26ธ.ค.2557อัยการทหารจึงยื่นคำร้องโต้แย้งคำร้องขอให้ศาลส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าประกาศทั้ง2ฉบับไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญเนื่องจากประเทศไทยอยู่ในช่วงที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกและประเทศไทยแจ้งถึงสหประชาชาติ (UN) แล้วจึงสามารถงดเว้นการปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศได้ และมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็รองรับให้ประกาศทั้ง 2 ฉบับชอบด้วยกฎหมาย
ภายหลังในวันนัดฟังคำสั่งและสืบพยานปากแรกเมื่อวันที่ 6มี.ค.2558 ก่อนเริ่มการสืบพยาน ศาลอ่านคำสั่งยกคำร้องของจำเลย โดยอ้างเหตุว่ารัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4 ได้รับรองว่าภายใต้บทบัญญัติต่างๆของรัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิตาม ICCPR แล้ว และภายหลังรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557 ให้ศาลทั้งหลายมีอำนาจพิจารณาคดีตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกอบกับมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญ ได้รับรองให้บรรดาประกาศ คสช.ที่ได้ออกในระหว่าง 22 พฤษภาคม 2557 ถึงวันที่คณะรัฐมนตรีเข้ารับหน้าที่ให้ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด ซึ่งการศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือนในความผิดตามที่ระบุไว้ในประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 และ 38/2557 จึงชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว
ส่วนการสืบพยานเลื่อนออกไปอีกครั้งเนื่องจากพยานไม่มาศาล
การสืบพยาน
การสืบพยานเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 พ.ค.2558 และจบลงเมื่อวันที่ 25 เม.ย.2560 พยานที่ขึ้นเบิกความรวมทั้งหมด แม้ว่าจะมีจำนวนพยานไม่มากนัก แต่การสืบพยานก็ใช้เวลาเกือบ 2 ปี รวมเวลาทั้งหมดตั้งแต่วันที่มีการจับกุมดำเนินคดีจนถึงวันพิพากษารวมเป็นเวลา 3 ปี
คสช.ออกคำสั่งเรียกจิตราให้เข้ารายงานตัว
น.ส.จิตราเบิกความว่าตนเดินทางไปประเทศสวีเดนตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย.2557 เพื่อไปแลกเปลี่ยนดูงานและบรรยายเรื่องสภาพการจ้างงานของแรงงานในประเทศไทย โดยมีกำหนดกลับในวันที่ 9 มิ.ย.2557 แต่เห็นว่าวีซ่าท่องเที่ยวมีอายุถึงวันที่ 13 มิ.ย.2557 จึงเปลี่ยนใจอยู่ท่องเที่ยวต่อในประเทศสวีเดนจึงเลื่อนตั๋วเครื่องบินขากลับประเทศไทยเป็นวันที่ 12 มิ.ย.2557 แทน โดยดำเนินการเลื่อนตั๋วตั้งแต่วันที่ 26 พ.ค.2557 ก่อนที่จะคสช.จะออกคำสั่งเรียกรายงานตัวเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2557ให้เข้ารายงานตัวในวันที่ 3 มิ.ย.2557
ทั้งนี้น.ส.จิตราเบิกความถึงสาเหตุที่ตัดสินใจไม่เดินทางกลับมารายงานตัวเนื่องจากเห็นว่าหากต้องเปลี่ยนตั๋วเพื่อเดินทางกลับก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มหลังจากที่ได้เลื่อนตั๋วกลับไปแล้วครั้งหนึ่งได้จ่ายไปประมาณ 16,000 บาท และอาจจะไม่สามารถเดินทางกลับมาได้ทันเพราะเวลาที่ไทยเร็วกว่าสวีเดน 5 ชั่วโมง และใช้เวลาเดินทางบนเครื่องบินอีก 10 ชั่วโมง และเหตุที่ไปทำเรื่องเลื่อนตั๋วขากลับเมื่อวันที่ 26 พ.ค.2557 เพราะต้องการท่องเที่ยวต่อเท่านั้นไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองเพราะตอนทำเรื่องขอเลื่อนตั๋วก็ยังไม่มีคำสั่งเรียกให้ไปรายงานตัว ส่วนในการไปขอเลื่อนตั๋วกลับจากเดิมที่ซื้อตั๋วกลับในวันที่ 9 มิ.ย.2557 เลื่อนเป็น 12 มิ.ย. ก็ต้องทำเรื่องขอเลื่อนล่วงหน้าหลายวัน เพราะต้องดูว่าวันที่จะเดินทางกลับจะมีที่นั่งให้จองหรือไม่และค่าตั๋วก็อาจจะสูงมาก แล้วการจะซื้อตั๋วใหม่ทันทีจะได้ตั๋วเลยหรือไม่ก็ไม่ทราบได้
สถานทูตไทยไม่รับรายงานตัวแทน อ้างไม่มีแนวทางทำงานร่วม คสช.
น.ส.จิตราเบิกความว่าเมื่อทราบคำสั่งจึงเดินทางไปที่สถานทูตไทยในสวีเดนในวันที่ 3 มิ.ย.2557โดยมีเพื่อนที่สวีเดนพาไป เพื่อเข้ารายงานตัวพร้อมนำเอกสารชี้แจงสาเหตุที่ไม่สามารถเข้ารายงานตัวที่สโมสรกองทัพบก กรุงเทพฯ ได้ตามคำสั่ง คสช. เพราะเห็นว่าสถานทูตไทยถือว่าเป็นตัวแทนของประเทศไทยที่อยู่ในต่างปประเทศ แต่เมื่อไปถึงแล้วเลขานุการเอกของสถานทูตแจ้งว่าทั้งทูตทหารและเอกอัครราชทูตไม่เข้าสถานทูตในวันนี้ และทางสถานทูตก็ไม่ได้มีกรอบการทำงานร่วมกับ คสช. ในการรับรายงานตัว
ระหว่างการเบิกความในประเด็นนี้น.ส.จิตราได้นำภาพและวิดีโอที่บันทึกการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่สถานทูตมาแสดงต่อศาลเพื่อยืนยันว่าตนได้ไปที่สถานทูตจริงและมีการพูดคุยจริง
เพื่อนของน.ส.จิตราที่เดินทางไปสถานทูตไทยพร้อมกันคือ นายมาธิอัส เคิน อดีตนักข่าวที่ติดตามประเด็นในประเทศไทยและเป็นเพื่อนของน.ส.จิตราในประเทศสวีเดนเบิกความตรงกัน และนายมาธิอัสยังถ่ายคลิปวิดีโอเอาไว้เป็นหลักฐานด้วย1 ซึ่งเป็นหลักฐานที่น.ส.จิตรานำมาเปิดในศาล
ในส่วนของพยานผู้แจ้งความดำเนินคดี พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจจาก คสช.ผ่านผู้บังคับบัญชาชื่อพล.ต.วีระ ให้มาเป็นผู้กล่าวหาน.ส.จิตราต่อกองปราบฯ ในข้อหาฝ่าฝืนไม่มารายงานตัว แต่ตนไม่ทราบเรื่องที่น.ส.จิตราเดินทางอยู่ในประเทศสวีเดนและได้เข้าไปชี้แจงที่สถานทูตไทยแล้ว ทั้งนี้ตอนที่น.ส.จิตราให้การที่กองปราบฯ ก็ไม่ได้นำพยานหลักฐานมายืนยันในเรื่องนี้
ความพยายามชี้แจงที่ไม่เป็นผล
หลังจากที่น.ส.จิตราไปรายงานตัวที่สถานทูตไม่สำเร็จ ต่อมาวันที่ 8 มิ.ย.2557 ได้รับทราบว่าตัวเองถูกออกหมายจับจากการที่ไม่ได้ไปรายงานตัวตามคำสั่งเรียก น.ส.จิตราเบิกความถึงประเด็นนี้ว่าเมื่อทราบว่าตนเองถูกออกหมายจับได้ติดต่อถึงน.ส.เกศริน เตียวสกุล เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) เพื่อปรึกษาว่าจะทำอย่างไร น.ส.เกศรินแนะนำว่าให้ทำหนังสือร้องเรียนถึง นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระกสม. เพื่อให้ติดตามเรื่องนี้ นอกจากนั้นน.ส.จิตรายังได้ติดต่อนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เนตเพื่อประชาชน(iLaw) เพื่อขอคำแนะนำ นายยิ่งชีพเห็นว่าควรทำหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เพื่อชี้แจงสาเหตุที่ไม่สามารถเข้ารายงานตัวได้ และแจ้งว่าจะเข้ารายงานตัวเมื่อเดินทางกลับถึงประเทศไทย และจำเลยยังได้ค้นหาช่องทางติดต่อ คสช. ในอินเตอร์เนตก็ได้เบอร์โทรศัพท์ของฝ่ายประชามสัมพันธ์ของ คสช. มา2เบอร์แต่เมื่อโทรศัพท์ไปแล้วปรากฏว่าไม่มีใครรับสาย
น.ส.จิตราจึงได้ทำหนังสือชี้แจงและไหว้วานให้นายยิ่งชีพเป็นผู้นำส่งถึงสโมสรกองทัพบกซึ่งเป็นสถานที่รับรายงานตัวในวันที่ 9มิ.ย.2557 โดยมีพ.ท.ชัยยงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นผู้รับหนังสือไป
สาเหตุที่น.ส.จิตราปรึกษากับทั้ง2คนเนื่องจากกังวลว่าจะถูกควบคุมตัวเหมือน น.ส.สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ถูกควบคุมตัวไปหลังเดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกา และไม่ทราบว่าถูกควบคุมตัวไปที่ไหน
น.ส.เกศริน เตียวสกุล ซึ่งได้ให้คำปรึกษาแก่ น.ส.จิตราเบิกความตรงกับที่น.ส.จิตราเบิกความว่าน.ส.จิตราได้ส่งข้อความมาทางเฟซบุ๊กเพื่อขอคำปรึกษาว่าตนอยู่ในประเทศสวีเดนไม่สามารถกลับมารายงานตัวตามคำสั่งของ คสช.ได้ แต่แจ้งว่าจะเดินทางกลับมาในวันที่ 12มิ.ย.2557 น.ส.เกศรินจึงได้แนะนำให้ทำหนังสือถึงฝ่ายกฎหมายของ คสช. เพราะตนเองเคยทำงานกับคนของฝ่ายกฎหมาย คสช. อยู่แล้ว เพื่อชี้แจงถึงสาเหตุที่ไม่สามารถเข้ารายงานตัวได้
นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการกฎหมายอินเตอร์เนตเพื่อประชาชนหรือ iLaw เพื่อนของน.ส.จิตราและเป็นคนที่ได้รับการไหว้วานจากน.ส.จิตราให้นำหนังสือแจ้งเหตุที่เข้ารายงานตัวตามคำสั่งไม่ได้ ไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่ของ คสช. ที่สโมสรกองทัพบก เทเวศน์ เขาเบิกความว่าเมื่อวันที่ 8มิ.ย.2557 เขาได้รับการติดต่อจาก น.ส.จิตรา ทางเฟซบุ๊กเพื่อปรึกษาเรื่องที่ตนถูกเรียกรายงานตัว ตอนนั้นน.ส.จิตราบอกว่ากำลังดูงานอยู่ที่ประเทศสวีเดน และจองตั๋วเครื่องบินขากลับประเทศไทยเอาไว้เป็นวันที่ 13 มิ.ย.2557จึงกังวลว่าเดินทางเข้ารายงานตัวตามที่กำหนดไว้ในคำสั่งไม่ทัน ทั้งนี้น.ส.จิตราจึงได้เดินทางไปรายงานตัวที่สถานทูตไทยในประเทศสวีเดนแต่เจ้าหน้าที่ไม่รับรายงานตัว
นายยิ่งชีพจึงตอบน.ส.จิตราว่าตนเองก็ไม่แน่ใจว่าต้องทำอย่างไรในกรณีแบบนี้ เพราะในตอนนั้น คสช. ก็ยังไม่มีแนวทางว่าต้องทำอย่างไร เขาจึงแนะนำให้ทำหนังสือถึง คสช. เพราะเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะแสดงเจตนาของน.ส.จิตราจึงได้ร่างหนังสือเล่าถึงเหตุผลที่ไม่สามารถเข้ารายงานตัวได้ทัน แต่จะเข้ารายงานตัวในวันที่ 13มิ.ย.2557 แทนโดยระบุผู้รับเป็นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และแนบตั๋วเครื่องบินขากลับให้กับตนเองทางกล่องข้อความเฟซบุ๊ก เพื่อให้พยานนำส่งถึง คสช. ให้แทน จากนั้นวันรุ่งขึ้น 9มิ.ย.2557 เขาจึงได้พิมพ์เอกสารที่น.ส.จิตราส่งมาและเดินทางไปที่สโมสรกองทัพบก เทเวศน์
ทั้งนี้นายยิ่งชีพยังได้แสดงสำเนาของจดหมายที่มีลายมือชื่อของพ.ท.ชัยยงค์ วงษ์สวรรค์ ซึ่งเป็นนายทหารที่ทำหน้าที่รับรายงานตัวบุคคลที่ถูกออกคำสั่งเรียก นอกจากนั้นยังระบุถึงการที่น.ส.จิตราเดินทางเข้ารายงานตัวที่สถานทูตไทยแล้วเจ้าหน้าที่ไม่รับรายงานตัวและได้โทรศัพท์ติดต่อถึง คสช. ตามหมายเลขโทรศัพท์ที่มีการประชาสัมพันธ์เอาไว้แต่ไม่มีคนรับสาย
พยานที่เป็นผู้รับหนังสือชี้แจงจากนายยิ่งชีพคือ พ.ท.ชัยยงค์ วงษ์สวรรค์ นายทหาร กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 ที่ได้รับคำสั่งให้เป็นผู้รับรายงานตัวผู้ที่ถูก คสช.ออกคำสั่งเรียก อยู่ที่สโมสรทหารบก เทเวศน์ และเป็นผู้รับมอบหนังสือชี้แจงของน.ส.จิตรา ในวันที่ 10 มิถุนายน 2557 พยานเบิกความว่าหลัง คสช.ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22พ.ค.2557ได้ออกคำสั่งเรียกบุคคล ฉบับที่ 44/2557 ให้บุคคลที่มีรายชื่อเข้ารายงานตัวในวันที่ 3มิ.ย.2557ซึ่งในคำสั่งดังกล่าวมีชื่อของน.ส.จิตราอยู่ด้วย แต่เมื่อถึงวันที่กำหนดไม่ปรากฏว่าน.ส.จิตราเดินทางมารายงานตัว พยานจึงแจ้งถึงผู้บังคับบัญชา
ทั้งนี้พ.ท.ชัยยงค์เบิกความว่าตนได้รับหนังสือของน.ส.จิตราที่ชี้แจงว่าตนเองไม่มีเจตนาฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัว พ.ท.ชัยยงค์ได้ลงชื่อรับหนังสือชี้แจงดังกล่าวเอาาไว้ และส่งต่อให้ผู้บังคับบัญชา แต่พยานยืนยันว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงกรณีที่คนถูกเรียกรายงานตัวจะแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มารายงานตัวได้
การจับกุมและดำเนินนคดี
น.ส.จิตราเบิกความว่าในวันที่ 13มิ.ย.2557 เมื่อเดินทางถึงประเทศไทย ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจับกุมตัวที่จุดตรวจคนเข้าเมืองของสนามบินสุวรรณภูมิแล้วพาไปที่ห้อง ตม. จากนั้นได้แจ้งว่ามีหมายจับอยู่ จำเลยจึงโทรศัพท์ถึงน.ส.เกศรินเพื่อแจ้งว่าถูกควบคุมตัวและขอให้เข้ามาพบที่ห้อง ตม. เพื่อร่วมรับฟังการแจ้งหมายจับและทำบันทึกจับกุม หลังการทำบันทึกจับกุมเสร็จสิ้นเจ้าหน้าที่ ตม. ได้นำตัวจำเลยไปส่งที่กองบังคับการปราบปราบ
ที่กองบังคับการปราบปราม น.ส.จิตราได้ให้การกับพนักงานสอบสวนโดยละเอียดพร้อมหลักฐานทุกอย่างเพื่อแสดงเจตนาว่าไม่ได้ต้องการฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัว แต่พนักงานสอบสวนก็ยังคงส่งสำนวนต่อถึงอัยการ เมื่อสำนวนถึงอัยการ น.ส.จิตราจึงได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมถึงอัยการแต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับจากอัยการ
ในศาลน.ส.จิตรายังได้ย้ำว่าหากมีเจตนาจะฝ่าฝืนแล้วก็จะไม่ไปที่สถานทูตเพื่อขอเข้ารายงานตัวและเดินทางกลับมาที่ประเทศไทยเพราะสามารถทำเรื่องเพื่อขอลี้ภัยเหมือนคนอื่นๆ ก็ได้
น.ส.เกศรินซึ่งได้ไปติดตามที่สนามบินได้เบิกความว่าตนทราบเรื่องที่ว่าน.ส.จิตรากังวลว่าจะถูกจับกุมแบบเดียวกับน.ส.สาวตรี สุขศรี จึงขอให้พยานไปรอรับที่สนามบินน.ส.เกศริน จึงได้ให้คำแนะนำแก่น.ส.จิตราไปว่าให้ทำคำร้องส่งมาถึงตนและนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เมื่อนพ.นิรันดร์ได้รับจดหมายแล้วได้มีความเห็นว่าควรให้พยานไปรอรับจำเลยที่สนามบินในเช้าของวันที่ 13มิ.ย.2557
จากนั้นเช้าวันที่ 13 เวลาประมาณ 6-7 โมงเช้าน.ส.เกศรินจึงได้ไปรออยู่ที่ทางออกของผู้โดยสารขาเข้าในประเทศ สนามบินสุวรรณภูมิ ระหว่างที่กำลังรออยู่นั้นน.ส.จิตราได้โทรศัพท์ถึงตนและแจ้งว่าถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองกักตัวเอาไว้ เมื่อเธอทราบเรื่องจึงได้โทรศัพท์ถึงหัวหน้าห้องกัก สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซอยสวนพลู เพื่อขอความช่วยเหลือโดยเล่ารายละเอียดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สักพักจึงได้รับการติดต่อกลับบอกว่าให้รอก่อนจะมีเจ้าหน้าที่ ตม. มาพาเข้าไปในส่วนที่ใช้กักตัวจำเลย เมื่อได้เข้าไปแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ได้ขอให้น.ส.เกศรินเป็นพยานร่วมรับฟังการแจ้งข้อกล่าวหาและการสอบปากคำเบื้องต้น และขึ้นรถของเจ้าหน้าที่ไปกองปราบฯ พร้อมน.ส.จิตรา
ตลอดเหตุการณ์น.ส.เกศรินได้แจ้งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแก่นพ.นิรันดร์เป็นระยะ
น.ส.เกศรินเบิกความอีกว่าภายหลังเหตุการณ์เรื่องของน.ส.จิตราได้เข้าสู่การตรวจสอบของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองด้วย
พยานตำรวจผู้จับกุม ร.ต.ต.สิทธิชัย สุขโรจน์ กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 ผู้จับกุมน.ส.จิตรา คชเดชที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อ 13 มิ.ย. 2557 เวลา 7.20 น. หลังได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบผู้โดยสารขาเข้าว่ามีผู้โดยสารที่ติดบัญชีดำเดินทางเข้ามาในประเทศ หลังจับกุมพยานนำตัวน.ส.จิตราไปห้องสืบสวนและแจ้งว่ามีหมายจับของศาลทหารกรุงเทพ น.ส.จิตรารับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับ พยานจึงทำการจับกุมแล้วทำบันทึกจับกุมก่อนนำตัวส่งไปที่กองปราบฯ
ร.ต.ท.วีรยุทธ ไชสุระ พนักงานสอบสวน กองปราบฯ ผู้ร่วมสอบสวนและมีความเห็นสั่งฟ้องในคดีนี้ โดยคดีนี้ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาน.ส.จิตรา ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัว หลังจากมีการร้องทุกข์ ตามระเบียบแล้วคณะพนักงานสอบสวนก็ได้มีการออกหมายจับ น.ส.จิตรา และเมื่อจับกุมตัวได้ในวันที่ 13 มิ.ย.2557ที่สนามบินสุวรรณภูมิ มีการดำเนินการสอบสวนก่อนทำความเห็นส่งฟ้อง
ทั้งนี้ในการสอบสวนร.ต.ท.วีรยุทธ พบว่านางสาวจิตรา คชเดชได้เดินทางไปต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย.2557 แล้ว ซึ่งเป็นช่วงก่อนการรัฐประหาร แต่จำไม่ได้ว่ามีกำหนดกลับประเทศไทยตอนใด นางสาวจิตรา คชเดชได้มีการยื่นเรื่องขอรายงานตัวตามคำสั่งโดยยื่นต่อสถานทูตไทยในสวีเดน ต่อมายังได้มีการยื่นหนังสือถึง คสช. ว่าไม่มีเจตนาไม่มารายงานตัวอีกด้วยตามคำสั่งเรียกรายงานตัว แต่ตนทราบเพียงว่าในคำสั่งกำหนดให้มารายงานตัวที่สโมสรทหารบก เทเวศน์เท่านั้น จำไม่ได้ว่าหากไม่มารายงานตัวให้แจ้งเหตุขัดข้องได้ที่ใด
สถานทูตไทยถือเป็นตัวแทนประเทศในต่างแดน?
ในการสืบพยานประเด็นหนึ่งในการต่อสู้คดีคือการที่น.ส.จิตราไปรายงานตัวต่อสถานทูตไทยในประเทศสวีเดนตามเหตุขัดข้องตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น แต่กลับถูกปฏิเสธไม่รับรายงานตัวโดยอ้างเพียงว่าไม่มีกรอบการทำงานกับ คสช. ในประเด็นการรับรายงานตัว จนทำให้น.ส.จิตราถูกออกหมายจับแม้ว่าจะไม่ได้มีเจตนาจะฝ่าฝืนคำสั่งก็ตาม ทั้งนี้สถานทูตไทยถือว่าเป็นตัวแทนของประเทศไทยในต่างแดนหรือไม่
ประเด็นนี้นายยิ่งชีพซึ่งมีอาชีพเป็นทนายความและน.ส.เกศรินทร์ เลขาฯ อนุกรรมการ กสม. ให้คำตอบในประเด็นนี้ว่าตามกฎหมายแล้วตัวแทนของประเทศไทยคือสถานทูตไทยในประเทศนั้นๆ
นอกจากนั้นร.ต.ท.ชลิต มณีพราว พนักงานสอบสวน กองปราบฯ เป็นผู้รับการร้องทุกข์กล่าวโทษจากพ.อ.บุรินทร์ และเป็นผู้สอบปากคำพ.ท.ชัยยงค์ ทั้งนี้ ร.ต.ท. ชลิต เบิกความถึงประเด็นนี้ในช่วงทนายถามค้านว่า ตนเห็นว่าเมื่อมีการยึดอำนาจมีการเรียกบุคคลเข้ารายงานตัว บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องไปรายงานตัว แต่หากอยู่ในที่ห่างไกลก็ต้องชี้เเจงกับหน่วยงานของรัฐที่ใกล้เคียงที่สุด ซึ่งในคดีนี้ ขณะถูกเรียกตัว จำเลยอยู่ต่างประเทศ เเละเมื่อจำเลยทราบจึงรีบเเจ้งต่อสถานทูตไทย ซึ่งถือเป็นหน่วยงานของรัฐที่อยู่ใกล้เคียงแล้ว ร.ต.ท. ชลิต เห็นว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามหน้าที่เเล้ว
คสช. เป็นรัฐฏาธิปัตย์หรือไม่?
จากการเบิกความของพ.อ.บุรินทร์ ซึ่งเป็นฝ่ายกฎหมายของ คสช. ได้เบิกความถึงว่าการออกประกาศและคำสั่งของ คสช. เนื่องจาก คสช.อยู่ในฐานะรัฎฐาธิปัตย์ และต่อมามีรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 รับรองให้คำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายเสมอ ในประเด็นนี้มีพยานที่มีความเห็นแย้งในประเด็นนี้
นายยิ่งชีพเบิกความในประเด็นนี้ว่าตนทราบการที่ คสช. ได้เข้ายึดอำนาจในการปกครองประเทศ แต่ไม่เสมอไปคสช. ซึ่งเป็นรัฏฐาธิปัตย์ออกคำสั่งประกาศถือเป็นกฎหมาย ซึ่งแล้วแต่สำนักกฎหมาย และคสช. ยึดอำนาจการปกครองประเทศโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และยังได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญไป แล้วหากเรียนกฎหมายตอนปี 1 สำนักบ้านเมืองก็จะสอนว่าเมื่อรัฏฐาธิปัตย์ออกคำสั่งหรือประกาศมาก็จะถือว่าเป็นกฎหมาย แต่เมื่อเรียนถึงปีที่ 4 เขาก็จะสอนว่าคำสั่งหรือประกาศจะถือเป็นกฎหมายหรือไม่ก็ต้องดูที่เนื้อหาและประชาชนยอมรับหรือไม่
และตนก็ไม่เคยทราบว่าในรัฐบาลเลือกตั้งมีการเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวแบบนี้ ถ้าจะมีก็เป็นการออกหมายเรียกตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญากับผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย
ประเด็นในคำพิพากษาของศาลทหารวันพรุ่งนี้จึงน่าสนใจว่าศาลจะนำเจตนาของน.ส.จิตราที่ไม่ได้มีการหลีกเลี่ยงไม่เข้ารายงานตัวมาพิจารณาหรือไม่และอย่างไร
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สืบตำรวจ ตม. ผู้จับกุมจิตรา คดีไม่รายงานตัว รับตอนจับจิตราไม่ขัดขืน ไม่รู้รายงานตัวที่สถานทูตแล้ว