รอรับ “ไผ่” จตุภัทร์ ที่เรือนจำพิเศษเย็นนี้ หลังศาลอุทธรณ์ให้ประกัน 2 คดี ยังเหลือผู้ต้องขังอีก 8

23 ต.ค. 63 เวลา 13.40 น. ศาลอาญาอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ให้ประกัน “ไผ่”จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ในคดี #คณะราษฎรอีสาน ของ สน.สําราญราษฎร์ ซึ่งจตุภัทร์ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 และคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ของ สน. ชนะสงคราม โดยกำหนดวงเงินประกันคดีละ 70,000 บาท

หลังจากทราบคำสั่งศาลอุทธรณ์ เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ใช้ตำแหน่ง ส.ส.วางเป็นหลักประกันแทนเงินสด เมื่อทำสัญญาประกันเสร็จเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะนำหมายปล่อยไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หากไม่มีหมายจับในคดีอื่นมายื่นให้อายัดตัวอีก ไผ่จะได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำเย็นวันนี้

อย่างไรก็ตาม ยังเหลือผู้ต้องหาจากคดีการชุมนุมอีก 8 คน ที่ยังอยู่ในเรือนจำ โดย 7 คน ศาลยังไม่ให้ประกันตัว ได้แก่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ไมค์” ภาณุพงษ์ จาดนอก, เอกชัย หงส์กังวาน, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และ “ตัน” สุรนาถ แป้นประเสริฐ ส่วนอานนท์ นำภา ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ประกันแล้ว แต่ยังไม่ยื่นประกัน เนื่องจากเกรงจะถูกอายัดตัวในคดีอื่นต่อ

การยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันจตุภัทร์ต่อศาลอุทธรณ์ในทั้งสองคดี มีขึ้นเมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา หลังจากทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวครั้งแรก เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 โดยศาลอาญามีคำสั่งว่า “พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าพฤติการณ์ของผู้ต้องหามีลักษณะเป็นการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวก็อาจจะไปมีพฤติการณ์ในลักษณะเดียวกันอีก ประกอบกับพนักงานสอบสวนได้คัดค้านการประกันตัว จึงให้ยกคำร้อง”

.

ต่อมา เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 ทนายความจึงได้คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นครั้งที่ 2 แต่ศาลชั้นต้นยังคงมีคำสั่งไม่อนุญาต โดยสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว กรณีไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมให้ยกคำร้อง”

ทั้งนี้ คำร้องอุทธรณ์ของจตุภัทร์ที่คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ระบุเหตุผลว่า

1. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 29 ได้รับรองหลักสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด

2. ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่ให้ประกัน อ้างว่า ผู้ต้องหามีลักษณะเป็นการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองนั้น คลาดเคลื่อนต่อหลักการวินิจฉัยสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ตามประมวลกฎหมายวีธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 เนื่องจากผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์ส่อไปในทางที่ก่อให้เกิดความรุนแรงดังที่พนักงานสอบสวนระบุไว้ในสำนวนคดี ผู้ต้องหาเพียงแต่ใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ซึ่งกติการะหว่างประเทศรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 44 วรรคหนึ่ง รับรองไว้ จึงย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ไม่ได้มีพฤติกรรมเลวร้าย และไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปก่อความวุ่นวายในที่ชุมนุม

.

X