ชีวิตเกือบ 6 ปี หลังลูกกรงที่ไม่อาจกักขังอุดมการณ์ประชาธิปไตย ของ “บุรินทร์ อินติน” อดีตนักโทษ ม.112

ชายหนุ่มในวัยกลางคน เดินเข้ามาหาเราด้วยท่าทีสบายๆ พร้อมกระเป๋าสะพายหนึ่งใบกับโทรศัพท์ในมือ รูปร่างผอมบาง ผมตัดสั้น และไว้หนวดดูเป็นเอกลักษณ์ เสื้อยืดที่เขาสวมใส่แสดงออกถึงจุดยืนทางการเมือง ผ่านภาพสกรีนสัญลักษณ์ “สามนิ้ว” ถึงอย่างนั้น ชายคนดังกล่าวก็ยกมือไหว้ทักทาย พร้อมกับแนะนำตัวว่าชื่อ ‘บุรินทร์ อินติน’ 

เราใช้เวลาสั้นๆ ในการตัดสินใจเลือกสถานที่นั่งคุยกัน จนได้ข้อสรุปว่าโต๊ะหินอ่อนใต้ที่พักของเขา น่าจะเป็นจุดที่พอใช้เวลานั่งพูดคุยกันถึงเรื่องราวต่างๆ ได้

บุรินทร์ อินติน ปัจจุบันอายุ 34 ปี พื้นเพเป็นคนจังหวัดพะเยา มีวุฒิการศึกษาระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 เริ่มเข้ามาทำงานในกรุงเทพโดยการประกอบอาชีพช่างเชื่อมอะไหล่รถยนต์ และเริ่มเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองต่อต้านรัฐประหารตั้งแต่ปี 2557 จนถูกจับกุมระหว่างไปร่วมกิจกรรม “ยืนเฉยๆ” ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อนถูกดำเนินคดีข้อหามาตรา 112 อันนำไปสู่การถูกคุมขัง 

ตลอดระยะเวลาที่ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ฯ เขาได้อภัยโทษรวม 4 ครั้ง จนติดคุกจริงเป็นเวลา 5 ปี 11 เดือน และได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา

“ถามมาได้หมดเลย เรื่องในคุกถามมาเยอะๆ” เป็นประโยคที่บุรินทร์เอ่ยเป็นระยะในขณะที่พูดคุยกัน อันนำไปสู่เรื่องเล่าและประสบการณ์จากในเรือนจำ รวมถึงความอยุติธรรมที่เขาและเพื่อนนักโทษได้เผชิญ

.

กิจกรรมยืนเฉยๆ กับกลุ่มพลเมืองโต้กลับ

ก่อนจะมาเป็นบุรินทร์ในวัย 34 ปีในวันนี้ อาจจะต้องย้อนทบทวนกลับไปถึงการเคลื่อนไหวในช่วงยุค คสช. เสียหน่อยว่า มีเหตุอะไรถึงทำให้ช่างเชื่อมอะไหล่รถยนต์คนนี้ต้องถูกจองจำอยู่ในคุกนานเกือบ 6 ปี

เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2559 บุรินทร์ อินติน ในวัย 29 ปี เข้าร่วมกิจกรรมที่ “กลุ่มพลเมืองโต้กลับ” นัดกัน “ยืนเฉยๆ” บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว 8 แอดมินเพจล้อเลียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเหตุให้ในวันเดียวกันนี้ เขาและกลุ่มผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวม 16 คน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจนครบาลพญาไทควบคุมตัว หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ทหารใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ในช่วงนั้นควบคุมตัวบุรินทร์แยกออกไป

.

ภาพกิจกรรม “ยืนเฉยๆ”กับกลุ่มพลเมืองโต้กลับที่บุรินทร์ไปเข้าร่วมก่อนถูกจับกุม

.

ต่อมาวันที่ 29 เม.ย. 2559 พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายเสนาธิการผู้บังคับบัญชา คณะทำงานพิเศษฝ่ายกฎหมาย คสช. นำตัวบุรินทร์ อินติน ที่กลายเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลทหารกรุงเทพ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นำส่งให้ พนักงานสอบสอบสวน บก.ปอท. ดำเนินคดี โดยเขาถูกกล่าวหาจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 1 ข้อความ และจากการส่งข้อความแชทพูดคุยกับ “แม่จ่านิว” อีก 1 ข้อความ

คดี 112 ในยุครัฐประหารเช่นนั้น ผู้ถูกกล่าวหาส่วนใหญ่ไม่ได้รับการประกันตัว กรณีบุรินทร์ เขายื่นประกันตัวทั้งหมด 5 ครั้ง แต่ไม่เคยได้รับอนุญาต ทั้งยังถูกดำเนินคดีภายใต้ศาลทหาร ในอำนาจทหาร กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญทำให้ต้องตัดสินใจรับสารภาพ 

วันที่ 27 ม.ค. 2560 บุรินทร์ถูกศาลทหารพิพากษาให้มีความผิด รวม 2 กรรม ตัดสินลงโทษจำคุกรวม 22 ปี 8 เดือน ลดกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 10 ปี 16 เดือน 

เขาถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. 2559  จนถึงวันที่ได้อิสรภาพ รวมระยะเวลา 2,154 วัน  

ย้อนทบทวนกลับไปบุรินทร์เล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงนั้นว่า “ผมเห็นประกาศการทางเฟซบุ๊ก  ตอนนั้นไปเข้าร่วมก็ไปกับกลุ่มทนายอานนท์ พากันไปยืนเฉยๆ ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เรียกร้องให้ปล่อยตัวแอดมินเพจล้อเลียนประยุทธ์ แต่ไม่มีใครชักชวนนะ ไปด้วยตัวเองนี่แหละ”

“ไม่นานก็มีตำรวจเข้ามาจับกุมเรา ภายหลังผมก็โดนคำสั่งหัวหน้า คสช. พาตัวไปค่ายทหาร สมัยนั้นเขาใช้กองกำลังทหาร มีเอกสารพิมพ์มาเรียบร้อยแล้ว บังคับให้เซ็นอย่างเดียว โดยปกติแล้วการสอบสวน ควรให้โอกาสถาม-ตอบ แต่ในวันนั้นโดนบังคับให้เซ็นเอกสารเลย” 

เราจึงถามต่อว่าในขณะนั้นเขาได้ตอบโต้กลับอย่างไรบ้าง “ผมก็ไม่ยอมเซ็นนะ มันก็ทำร้ายผม ตบหัว ข่มขู่บ้าง พยายามบังคับให้ผมเซ็นจนได้”

ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทหารช่วงนั้น อ้างอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 หรือที่รู้จักกันในนามอำนาจจาก “มาตรา 44”

เขาเล่าถึงสิ่งที่ถูกกล่าวหาว่า “ผมแชทคุยกับแม่จ่านิว แค่คุยเรื่องราชวงศ์กับกษัตริย์ในขณะนั้นว่า ถ้าสิ้นรัชกาลนี้ไป อะไรจะเกิดขึ้นก็เท่านั้นเอง มันไม่สมเหตุสมผลเลยสักนิด แค่พูดกับคิด ยังทำไม่ได้ แล้ววิธีการดำเนินคดีแบบนี้ก็รุนแรงเกินไป”

จนถึงวันนี้ คำพิพากษาในตอนนั้นก็ยังคงทิ้งไว้เพียงปริศนาในหัวใจของชายคนนี้ จนกระทั่งวันปล่อยตัว 

.

.

ชีวิตในเรือนจำของ บุรินทร์ อินติน

“ในช่วงแรกที่ได้เข้าไปในเรือนจำ เราจะต้องอยู่ในแดนแรกรับ หรือ แดน 1 ก่อน ในช่วงนั้นพี่สมยศก็คอยช่วยเหลือเรื่องอาหารการกิน ส่วนทนายอานนท์ก็คอยส่งเงินมาให้บ้าง ตอนหลังพอพี่สมยศเขาได้ออกไปแล้ว ก็แวะเวียนมาเยี่ยมผมเหมือนกัน”

บุรินทร์เล่าต่ออีกว่า สมยศ พฤกษาเกษมสุข และ อานนท์ นำภา เป็นบุคคลที่มีอิทธิพลหลักในการดำเนินชีวิตของเขาในเรือนจำเลยเลยก็ว่าได้ เพราะความช่วยเหลือหลักๆ ก็จะมาจากทั้งสองคน คนหนึ่งเป็นพี่ใหญ่ที่เคยดูแลผู้ต้องขังทางการเมืองในเรือนจำ อีกคนเป็นทนายความที่ดูแลคดีของเขา ทำให้เขาใช้ชีวิตในคุกได้อย่างไม่ขัดสนมากนัก

“ตอนหลังผมก็ถูกย้ายไปย้ายมา จนมาจบที่แดน 8 คือมันเป็นแดนสุดท้ายของเรือนจำแล้ว ในแดนนี้จะประกอบไปด้วยกลุ่มนักโทษเกเรที่ไม่เอาไหน เขาจะไม่ให้นักโทษคดีการเมืองอยู่ด้วยกันเลย ถ้าเจอ ก็จะเจอไม่นาน”

เราถามต่อว่าแบบนี้ได้พบเพื่อนผู้ต้องขังทางการเมืองในช่วงหลังๆ หรือไม่ บุรินทร์ใช้เวลาคิดไม่นานจึงตอบกลับเรา “ผมได้เจอแซม สาแมท กับหมอลำแบงค์ อยู่บ้าง แต่สองคนนี้เขาอยู่ไม่นานก็ได้ประกันตัวออกไป” บุรินทร์เล่า

“แต่ผมต้องออกตัวเลยนะว่าในคุกเนี่ย ผมไม่ใช่นักโทษ ‘พิเศษ’ แต่ผมเป็นนักโทษ ‘ขี้เกียจ’ คือว่าเขาใช้ให้ผมทำอะไร ผมก็จะไปใช้คนอื่นต่ออีกทอดหนึ่งนะ” บุรินทร์เอ่ยบอกตามตรง เพื่อให้เข้าใจว่าทำไม แดน 8 จึงกลายเป็นที่ๆ เขาต้องไปใช้ชีวิตอยู่ 

“การใช้ชีวิตในคุกต้องมีวินัย ตื่นก็เช้ามาก และประมาณบ่ายสองโมง เขาก็เอาขึ้นห้องนอนกันแล้ว ปรับตัวค่อนข้างยากเลย ในช่วงแรกๆ ภาพจำจากชีวิตเราข้างนอกมันยังอยู่ พอต้องมาอยู่ในคุกมันก็ยังไม่ชิน 

“ผมค่อนข้างเครียดนะ เวลานอนเขาก็เปิดไฟตลอด 24 ชั่วโมง ตอนเช้าก็ต้องตื่นขึ้นมาสวดมนต์ ซักผ้า ซักที่นอนอะไรเองหมด แม้แต่ตอนกินข้าวก็ต้องรีบไป เพราะทุกคนแย่งกันกิน ถึงแม้ว่าอาหารเขาจะแบ่งใส่ถาดให้พวกเรา แต่เพราะในโรงเลี้ยงหนึ่งมันรองรับได้แค่ 200-300 คนเท่านั้น เทียบกับจำนวนนักโทษหนึ่งแดนที่มี 700 กว่าคน อาหารที่มีมันไม่พอครับ” เขาบอก

“อีกอย่างการอยู่ในเรือนจำ มันจะมีการถูกเรียกเข้า ‘บ้าน’ ซึ่งมันก็คือการไปเข้ากลุ่มเข้าแก๊งค์ สมมติว่าถึงเวลากินข้าว ในบ้านเรามี 10 คนใช่ไหม ถ้า 1 ในนั้นยังไม่มากินข้าวล่ะก็ คนอื่นก็จะยังกินไม่ได้” 

เขาอธิบายต่อว่า “ในช่วงแรกๆ ที่เข้ามาอยู่ในคุกเนี่ย ผมเคยไปอยู่กับพวกพี่ๆ เสื้อแดง แต่ตอนหลังก็ออกมาเพราะคนเยอะ เวลากินข้าวในโรงเลี้ยงมันก็มีจำกัด ผมก็ไม่อยากรอใครเลยขอออกมาอยู่คนเดียวดีกว่า

“เอาจริงๆ การออกจากกลุ่มบ้านนี่ก็ยากนะ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะถ้าใครที่อยากออกมักจะถูก ‘เก็บยอด’ หรือเรียกแบบภาษาบ้านๆ ก็คือโดนกระทืบนั่นแหละครับ แต่ผมไม่เคยโดนนะ”

ด้วยเวลาเกือบ 6 ปี เรื่องทุกอย่างที่ถูกถ่ายทอดออกมา ดูเหมือนจะยังเป็นเรื่องราวที่ยังคงแจ่มชัดอยู่ในความทรงจำของบุรินทร์ 

“ในคุกจะมีการฝึกวิชาชีพ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นช่างไม้ เย็บรองเท้า พับถุงกระดาษ หรือไปช่วยงานเจ้าหน้าที่ เป็นช่างตัดผม ทำอาหาร อะไรประมาณนี้ แต่เราเลือกงานไม่ได้นะ เขาจะเป็นคนเลือกมาให้ทำ ส่วนตัวผมเคยพับถุงกระดาษ เดือนหนึ่งได้แค่ 18 บาทเอง แล้วต้องทำให้เสร็จทันก่อนบ่าย 2 ด้วย”  

ค่าแรงงานที่ถูกกดขนาดหนัก เงินรายเดือนที่แค่จะซื้อกาแฟสักแก้วหนึ่งยังทำไม่ได้ เราถามเขาว่ามีงานไหนที่ดีกว่านี้บ้างหรือไม่

“ผมต้องบอกตามตรงว่ามันไม่มีงานไหนดีสักงาน ในคุกไม่เคยให้อะไร แต่พวกคุณรู้ไหมถุงกาแฟ ถุงกล้วยแขกที่เห็นตามร้านค้าข้างนอก ส่วนมากก็ทำมาจากในคุกนั่นแหละ” เขาหัวเราะก่อนจะแอบกระซิบต่อว่า “ถุงกระดาษพวกนั้นน่ะ ส่วนใหญ่ก็ใช้ตีนทำกันทั้งนั้นแหละครับ”

ดูเหมือนว่าในระหว่างพูดคุยกัน บุรินทร์มักจะหลุดใช้ศัพท์เฉพาะที่มีแค่คนในคุกเท่านั้นที่จะเข้าใจได้ เราจึงอยากรู้มากขึ้นถึงประสบการณ์ชีวิตแง่มุมต่างๆ ในเรือนจำ ที่เขาน่าจะเล่าได้ดีที่สุด

.

ชีวิตที่ไม่เท่าเทียมกันในคุก

“ถามเรื่องคอรัปชั่นในคุกก็ได้นะ ผมรู้เยอะมาก” นั่นเป็นประโยคหลังจากที่เราตัดสินใจย้ายไปอยู่คาเฟ่ ไม่ไกลจากที่พักของบุรินทร์มากนัก เนื่องจากอากาศที่ร้อนจัดระหว่างพูดคุย

“พอนึกถึงเรื่องนี้แล้วมันก็สะเทือนใจผมมาก ในคุกมันไม่มีความเท่าเทียมกันเลยทั้งเจ้าหน้าที่ทำกับผู้ต้องขัง หรือผู้ต้องขังทำกับผู้ต้องขังด้วยกันเอง อย่างพวกผู้คุมถ้ารู้ว่าเรามีเงิน มันก็จะโอ๋เรา แต่ถ้าเป็นคนไม่มีอะไร ไม่มีเงิน ก็จะไม่เอาเราเลย” 

บุรินทร์พยายามนึกต่อ “คอรัปชั่นในเรือนจำมันมีเยอะมาก ขนาดบุหรี่ยังขายห่อละ 5-6 พันหรือพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ข้างนอกขายอันละไม่เกินสองพันสามพัน พอมาอยู่ในคุกนี่ราคาพุ่งไปเกือบหมื่น”

บุรินทร์พยายามยกตัวอย่างให้เห็นภาพถึงสิ่งของเครื่องใช้ที่ตีราคาแพงหูฉี่ ราวกับว่าในดินแดนสนธยาแห่งนี้ไม่มีอะไรเหมือนกันเลยกับโลกข้างนอกที่เราใช้ชีวิตอยู่

“การรีดไถก็มีให้เห็นเป็นเรื่องปกติ เวลาใครอยากได้อะไรจะใช้ ‘กาแฟ’ หรือ ‘นมสด’ ของพวกนี้จะใช้แทนเงินในเรือนจำเลย พวกผู้คุมก็จะมาเรียกเอาจากเราไปเวียนขายร้านค้า เอาจริงๆ เรื่องนี้ผมก็ไม่รู้กลไกเขานะ แต่เขาก็ได้เงินจากเราไปฟรีๆ นั่นแหละ” บุรินทร์บอก 

“มันเป็นช่องทางทำมาหากินของพวกเจ้าหน้าที่น่ะ หรือบางทีของผิดกฎหมายเนี่ยก็ไม่ได้มาจากญาติหรอกครับ ก็พวกผู้คุมทั้งนั้นที่เอาเข้ามา อย่างเช่น มีดผ่าตัด เข็มฉีดยา ก็ผ่านเข้ามาได้เพราะพวกผู้คุม อย่างเข็มฉีดยา พวกนักโทษชายมันชอบเอามาฉีดให้อวัยวะเพศตัวเองใหญ่ขึ้นกัน ผมก็ไม่เข้าใจนะ บางคนติดคุกตลอดชีวิต หรือแก่แล้วก็ยังทำกัน ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร พอเน่าก็ต้องพากันตัดทิ้งหมด” 

“แต่มันก็จะมีกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า ‘สมเด็จ’ พวกนี้เป็นอภิสิทธิ์ชนในคุกเลย” เขาอธิบาย “พวกสมเด็จจะเป็นเจ้าของร้านทอง นักการเมือง คนรวย ดารา คือพวกมีเงินนั่นแหละครับ การใช้ชีวิตก็จะต่างจากนักโทษธรรมดาอย่างเรามาก สมมติว่าถ้ามีญาติมาเยี่ยม คือเขาจะเยี่ยมได้ไม่จำกัดเวลาเลยนะ อยู่กี่ชั่วโมงก็ได้ แต่นักโทษอย่างเราแค่ 20 นาทีก็ไล่แล้ว เขาอยากสูบบุหรี่ก็ได้สูบเป็นซอง ไม่ใช่ม้วนยาเส้นมาให้เหมือนเรา อยากกินผลไม้ก็ได้กินเป็นลูก”

“นักโทษบางคน สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอกไม่มีเลย เจ้าหน้าที่ก็ไม่หาให้ เราต้องเขียนคำร้องไป ก็ใช่ว่าจะได้ตามคำร้องเสมอ แต่กับพวกสมเด็จต่างกันมาก ถ้าเขาอยากได้อะไรก็หาให้เลย ของมีไม่พอ หมูไก่ ทีวี ตู้เย็น เจ้าหน้าที่หามาให้ได้หมด เอาเข้าจริงพวกนี้เหมือนแค่มาเปลี่ยนที่นอนเฉยๆ เช็กยอดเข้าแถวยังไม่ต้องทำเลย” เขาเล่าให้ฟัง

แม้แต่การเป็นนักโทษเหมือนกันก็ไม่ได้ทำให้คนเท่าเทียมกันเสียเท่าไหร่ ทั้งชีวิตในหรือนอกเรือนจำ ดูเหมือนว่าการแบ่งชนชั้นก็ยังพบเห็นได้ทั่วไป เราคุยกันถึงการก้าวข้ามไปเป็นนักโทษระดับ ‘สมเด็จ’ ว่าพอเป็นไปได้ไหมที่นักโทษการเมืองอย่างบุรินทร์จะไปอยู่ในระดับนั้นกับเขาบ้าง

.

.

อาหารที่เหมือน ‘ของเหลือเดน’

“อันนี้ต้องพูดเลย อาหารต้องผสมมาม่ากับผงปรุงรสกิน ผมเข้าไปแรกๆ นี่ถ้าไม่ใส่ผงปรุงรสกินข้าวไม่ได้เลยนะ และสิ่งที่ขาดไม่ได้อีกอย่างในคุกก็คือพวกพริกน้ำปลา ถ้าไม่มีของพวกนี้อาหารจะจืดมากเลย หมูไก่นี่ไม่ต้องพูดถึง มาแต่วิญญาณ” บุรินทร์เล่าอย่างออกรส “ผมก็สงสัยเรื่องงบประมาณในการสั่งซื้อวัตถุดิบของราชทัณฑ์เหมือนกัน วันหนึ่งเขาสั่งซื้อเนื้อหมูเป็น 100 กิโล งบเป็นแสนครับ แต่มาถึงเราแค่ 3 กิโลเองมั้ง พูดง่ายๆ คือคุณค่าทางโภชนาการที่นักโทษได้รับ มันเหมือนกับว่าเราได้แค่หลักหมื่นเอง”

เราถามบุรินทร์กลับว่าเรื่องแบบนี้ไปรู้มาได้อย่างไร ในเมื่ออยู่ในคุกแบบนั้น “ผมไปขโมยสมุดงานบัญชีมาดู คือไม่ได้ไปช่วยงานอะไรเขาหรอกนะ แค่ขโมยมาดูน่ะ” บุรินทร์หัวเราะ “ไม่แน่นะ รัฐบาลอาจจะสั่งข้าวดีๆ ให้เรากินก็ได้ แต่ใครจะไปรู้บางทีอาจจะเป็นราชทัณฑ์เองนี่แหละ ที่เอาข้าวไม่มีคุณภาพมาให้เรากิน บางทีผมยังเคยเจอ ‘เขียงผ่าซีก’ ในจานข้าวตัวเองเลย มันตลกมาก ตอนแรกผมก็นึกว่าเนื้อหมู เราก็เลยคิดว่าจะเก็บไว้กินตอนท้าย พอมองดูดีๆ แล้ว เอ้า! เขียงนี่ ผมนึกในใจว่ามึงใส่เขียงมาให้กูกินได้ไงวะเนี่ย”

“หรือบางวันมีแกงมาให้เรากิน คือต้องบอกก่อนว่าในคุกมันจะมีแกงขึ้นชื่อ เรียกว่า ‘แกงปลาระเบิด’ มันทั้งคาวและไม่อร่อย ปลาอะไรก็ไม่รู้ กินยากมากเลย เกล็ดก็แข็งมากแต่จะไม่กินก็ไม่ได้ เราก็ยังต้องใช้ชีวิต” เขากล่าว

“แต่วันไหนที่มี ‘ผู้ใหญ่’ มา (ผู้บริหารและข้าราชการชั้นสูง) วันนั้นจะเป็นวันที่อาหารอร่อยที่สุดเลย มีอยู่ครั้งหนึ่งผู้อำนวยการอะไรสักอย่างเดินมาหาผม สะกิดถามว่าอาหารเป็นยังไง คือผมว่าเขาถามถูกคนนะ ผมตอบเขาไปเลยว่า ท่านก็มาลองนั่งกินดูสิครับ ท่านแค่เดินดู ท่านจะไปรู้อะไร” บุรินทร์หัวเราะ และพูดต่อว่า “พอผมพูดไปแบบนั้น เขาก็เดินหนีผมไปเลย” 

ถึงแม้ว่าในประโยคดังกล่าวจะเต็มไปด้วยเสียงขำขันของเจ้าตัว แต่แน่นอนว่านี่เป็นความขมขื่นที่บุรินทร์เองก็ไม่ได้อยากให้เกิดขึ้นกับใคร แม้ว่าเขาคนนั้นจะมีสถานะเป็นนักโทษก็ตาม

.

โควิดในลูกกรง

“ช่วงที่โควิดมาใหม่ๆ หน้ากากอนามัยเป็นสิ่งที่หายากมาก นักโทษจะต้องหาผ้ามาทำกันเอง ส่วนตัวผมก็เคยติดโควิดในเรือนจำมารอบหนึ่งก่อนได้วัคซีน ส่วนรอบสองก็ติดอีก แต่หลังจากได้วัคซีนแล้วนะ” เขากล่าว

“แต่ตอนติดโควิดก็ไม่มียาให้เหมือนกัน แค่น้ำร้อนยังแทบไม่มีกินเลย สิ่งที่เขาทำคือแค่ขังเราไว้รวมกันเฉยๆ ทั้งคนที่ติดและไม่ติด” บุรินทร์เล่าถึงความยากลำบากในช่วงนั้น ราวกับว่าดินแดนสนธยาแห่งนี้เป็นสถานที่ที่นักโทษต่างถูกทอดทิ้ง หรือไม่การรักษาจากภายนอกก็เข้าไม่ถึง

 “ตอนป่วยธรรมดา เราไปขอยาค่อนข้างยากมาก เขาจะไม่ค่อยให้ ยกตัวอย่างว่าเราปวดหัว ตัวร้อนหรือเป็นอะไรหนักหน่อยก็ไม่ได้ไปโรงพยาบาลนะ นอกจากใกล้ตายจริงๆ ส่วนตัวผมเองก็เคยเห็นคนนอนตายต่อหน้าต่อตามาแล้วในคุกครั้งหนึ่ง” เขาบอกกับเรา

“อีกเรื่องคือพวกเครื่องอุปโภคอย่าง แปรงสีฟัน สบู่ พวกคุณรู้ไหมมันไม่เคยเพียงพอกับจำนวนคนเลย อย่างแปรงสีฟันเขาให้เรามาแค่แดนละ 100 อัน ผมก็คิดนะว่าบ้าหรือเปล่า คน 700-800 คน ให้แปลงมาใช้แค่ร้อยเดียว จะใช้กันยังไงว่ะ”

“ช่วงโควิด ราชทัณฑ์เบิกงบเยอะมาก แต่ไม่มาถึงเราเลย เขาเคยมีนโยบายจะปรับปรุงเรื่องที่นอนในเรือนจำด้วย เป็นที่นอนยางพารา แต่ในสภาพความเป็นจริง บางแดนมันก็เสื่อผืนหมอนใบเหมือนเดิม” 

.

คู่มือการเอาชีวิตรอดในคุก ฉบับ ‘บุรินทร์’

“ช่วง 2 ปีแรกจะเป็นช่วงที่ทรมานที่สุด แต่สักพักมันจะชินชาไปเอง ผมใช้วิธีปลงตกเอา แบบว่าช่างมันเถอะ เรื่องไหนที่ไม่ใช่เรื่องของเราก็แค่ปล่อยมันไป ไม่ต้องไปยุ่ง”

“ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีนักโทษก่อความวุ่นวาย อันนี้ไม่ควรเข้าไปห้ามหรือช่วยเลย เพราะพวกผู้คุมมันตีแบบเหมารวมหมด เจ็บตัวฟรี เผลอๆ โดนผิดวินัยร่วมด้วย อีกอย่างในคุกเวลาเดินมองหน้ากันก็ไม่ค่อยได้ พูดไม่ถูกหูก็ต่อยแล้ว เหยียบตีนก็ต่อย เหยียบที่นอนแม่งยังโวยวายเลย” เขาเอ่ยและเหมือนคิดอะไรได้ จึงบอกอย่างมองโลกในแง่ดี

.

.

“ทีวีในเรือนจำมันก็จะเปิดแต่หนังเรื่องเดิมๆ ช่องเดิมๆ ผมดูหนังเรื่องหนึ่งซ้ำเป็นร้อยรอบได้จนจำบทได้แล้วมั้ง แต่หนังสือก็ช่วยได้เยอะครับ ถ้าไม่มีหนังสือให้อ่านนี่แย่เลย” บุรินทร์บอก

“ถ้าให้มองในแง่ดีจริงๆ ก็ต้องคิดไว้ว่า พวกผู้คุมมันก็ขี้ข้านักโทษ เพราะว่าเขาต้องมารับใช้เรา น้ำไม่ไหลก็ต้องเรียกเขา ตีกันก็ต้องกดกริ่งเรียกเขาให้เข้ามาดู เอาจริงๆ ผมก็เคยทะเลาะกับคนอื่นนะ เหมือนว่าเราพลิกตะแคงไปกินที่เขาน่ะ” 

พอถึงจุดนี้ เราจึงสงสัยว่าการเป็นอยู่ มันเบียดเสียดขนาดนั้นเลยหรือ แค่นอนเกินพื้นที่ก็ถึงขั้นโวยวายใส่กันแล้ว แต่บุรินทร์ไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไรให้เห็นภาพ เขาสอดส่องสายตาไปรอบๆ ก่อนจะเทียบห้องนอนกับร้านกาแฟในตึกแถวที่พวกเรานั่งกันอยู่ “ก็ประมาณร้านนี้แหละ นอนกัน 30 กว่าคนได้ รวมห้องน้ำแล้ว”

“นี่คือนอนกันแบบสบายแล้วนะ ถ้าแน่นจริงๆ คือ 60 กว่าคน” บุรินทร์สรุป

.

ฝากถึงรัฐบาลและ “กระบวนการยุติธรรม” ที่พบเผชิญ

“ผมไม่มีอะไรจะฝากนะ เพราะคนอื่นคงพูดไปหมดแล้ว แต่ถ้าเป็นความในใจ ก็คือถ้าเขาอยากจะอยู่ต่อ เขาต้องทำให้ดีกว่านี้ แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็แค่ให้คนอื่นมาทำแทน” บุรินทร์ออกความเห็นต่อรัฐบาลชุดปัจจุบันเพียงสั้นๆ

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ากลุ่มผู้บริหารเรือนจำจะเป็นบุคคลที่เขาอยากจะพูดด้วยมากที่สุดเสียมากกว่า 

“ส่วนตัวผมอยากทำหนังสือส่งถึงผู้บัญชาการเรือนจำ อยากถามมากจริงๆ ว่าทำไมทีวีต้องเปิดแต่ ‘ช่องโมโน’ ไม่รู้ว่ามีหุ้นส่วนอะไรกับช่องนี้หรือเปล่า พวกเราดูช่องอื่นไม่ได้เลยหรือ” 

เขาเอ่ยก่อนจะเสริมว่า “แล้วก็ช่วยเปิดเผยความเป็นจริงให้คนในสังคมรับรู้ด้วยว่าสภาพในเรือนจำมันแย่แค่ไหน เวลามีสำนักข่าว มีรายการมาถ่ายทำ แทนที่จะให้เขาเห็นสภาพความเป็นอยู่ของนักโทษจริงๆ คุณก็เอาแต่สร้างภาพต้อนรับเขา

“เรื่องงบประมาณ อาหารการกินก็แย่ ผมอยากเรียกร้องแทนเพื่อนนักโทษทุกคนเพราะมันมีดีแค่ตอนที่คณะกรรมการ ข้าราชการชั้นสูงมาตรวจเท่านั้น ผมพูดตรงๆ ว่าอาหารที่ได้กินในแต่ละวันเหมือนไม่ได้ทำมาให้คนกิน

“อีกเรื่องคือ ผมอยากให้ยกเลิกกฎระเบียบที่มันล้าสมัยออกไปบ้าง โดยเฉพาะที่มันกดขี่ข่มเหงนักโทษ อย่างมาตรา 68 (ใน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560) ที่วางกฎไว้ว่า ‘ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน จะถือว่าผู้ต้องขังรายนั้นทำผิดวินัย’ อันนี้เป็นกฎที่ค่อนข้างเปิดกว้างให้ผู้คุมมาก เขาอยากจะสั่งให้เราทำอะไรก็ได้ ถ้าเราไม่ทำคือก็ผิดวินัยแล้ว”

.

มุมมองต่อการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่

เราเองอยากจะรู้ว่าหลังจากที่บุรินทร์ได้อิสรภาพอีกครั้ง และได้เห็นความตื่นตัวของเยาวชน คนรุ่นใหม่มากมายหลายกลุ่มนับแต่ปี 2563 เขามีมุมมองอย่างไร และมีความคิดเห็นอย่างไรกับสถานการณ์บ้านเมืองในตอนนี้

“ผมไม่อยากคาดหวังอะไรนะ ระบบเผด็จการ จนผมตายหรืออีกเป็นร้อยปีมันก็อาจจะยังอยู่ แต่เราจะไม่คาดหวังอะไรเลยก็ไม่ได้หรอก เพราะคนเรามีชีวิต ยังไงก็ต้องมีหวังต่อไป” เขาบอก ก่อนจะเอ่ยต่อ “ส่วนเรื่องม็อบ ผมคิดว่ามันทำให้การเมืองเรามีสีสันดี ตอนนี้ผมไม่ได้เข้าร่วมกลุ่มไหนเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่ก็ไปกับพวกพี่สมยศ พี่สุวรรณาครับ (สุวรรณา ตาลเหล็ก)”

.

.

หากมองว่าการดำเนินคดีต่อนักกิจกรรมทางการเมืองของรัฐ มีเป้าหมายหนึ่งเพื่อมุ่งปราบปรามหยุดยั้งผู้แสดงออกทางการเมืองให้ยุติปิดปากตนเองลง การดำเนินคดีและคุมขังบุรินทร์เกือบ 6 ปี ก็ดูเหมือนจะ “ไม่ประสบความสำเร็จ” ที่จะทำให้เขาเปลี่ยนแปลงความคิด และการเดินหน้าออกมาเคลื่อนไหว เมื่อเขายังยืนยันจะร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป

“อยู่ในคุกตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย ทุกอย่างแย่เหมือนเดิม ผมไม่เคยมีความสุขเลยเวลาเห็นนักกิจกรรมคนอื่นๆ ต้องถูกจับเข้าคุกไป มันเสียใจนะที่เราต่อสู้กับความอยุติธรรมข้างนอกแล้ว ยังต้องไปเผชิญกับความไม่เท่าเทียมกันในคุกอีก” บุรินทร์บอกเล่า

“นี่เคยมีคนข้างในถามผมนะว่าออกไปแล้วจะกลับเข้ามาอีกมั้ย ผมก็บอกเขาไปตามตรงว่าไม่แน่หรอก ผมอาจจะมาใช้บริการที่นี่อีก (หัวเราะ) คือการเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง มันไม่มีหลักประกันอะไรนะว่าเราจะไม่ทำผิดอีก แต่ถ้าจะต้องกลับเข้าไปผมก็พร้อมเสมอครับ”

.

จากนักโทษ สู่การเป็นพลเมืองผู้ตื่นตัวทางการเมือง

“ก็กำลังปรับตัวครับ ออกมาช่วงแรกไปอยู่บ้านญาติ แต่เขาก็บ่นไม่อยากให้เราออกไปทำกิจกรรมที่ไหนอีก แต่จะให้มากักขังจิตวิญญาณเราได้ยังไง พ่อแม่ผมยังไม่ว่าอะไรเลย มากสุดเขาก็แค่บอกให้ผมดูแลตัวเองดีๆ ผมเลยไม่โอเค ย้ายออกมาอยู่คนเดียว” 

เมื่อพูดถึงพ่อแม่แล้ว เราจึงถามบุรินทร์ว่าได้พบหน้ากันบ้างหรือยัง ตั้งแต่ที่ออกมาจากเรือนจำ

“ยังเลย ผมก็คิดว่าจะไปหาเขาอยู่นะ แต่ช่วงนี้มีกิจกรรมให้ต้องไปทำอยู่เรื่อยๆ เลยไม่มีโอกาสไปเสียที อีกสักพักก็จะกลับไปทำงานแล้ว เป็นช่างเชื่อมเหมือนเดิมนี่แหละ ตอนนี้เลยคิดแค่ว่าจะทำกิจกรรมให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้”

.

ภาพบุรินทร์เข้าร่วมกิจกรรม สงกรานต์มหาซน ที่จัดโดยกลุ่มทะลุฟ้า และ We Volunteer
(ภาพจากเพจไข่แมวชีส)

.

ภาพบุรินทร์เข้าร่วมกิจกรรม ‘ใครฆ่าพระเจ้าตาก’ กับกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ (ภาพจากสำนักข่าวประชาไท)

.

.

X