10 เหตุผลที่ทำไมเราต้องคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ….

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักการร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน และมอบหมายให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหน่วยงานเจ้าของเรื่องในการนำร่างกฎหมายไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ…. เสร็จและอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เปิดรับฟังความคิดเห็นทางเว็บไซต์ถึงวันที่ 25 มี.ค. 2565 ก่อนจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งดำเนินการภายใต้มูลนิธิสิทธิเพื่อความยุติธรรม เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ…. ส่งผลต่อเสรีภาพในการรวมกลุ่มของประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ จึงขอคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ…. ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

.

.

1. ไม่มีเหตุจำเป็นในการออกกฎหมาย

แม้ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ…. จะระบุเหตุผลจำเป็นในการออกกฎหมายฉบับนี้ “เพื่อให้การดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหากำไรเป็นไปอย่างเปิดเผย โปร่งใส เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ตลอดจนรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” โดยบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ประกอบร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ…. เรื่องเสร็จที่ 1621/2564 มิได้ระบุถึงสภาพปัญหาอันเป็นเหตุในการออกกฎหมาย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า ถ้อยคำดังกล่าวนั้นก็เป็นเพียงคำกล่าวอย่างกว้างๆ และไม่อาจเข้าใจได้ว่าความจำเป็นในการออกกฎหมายนี้เพื่อประโยชน์ในด้านใด เพราะไม่สามารถสะท้อนปัญหาที่ผ่านมา หรือในปัจจุบันนั้นการดำเนินการขององค์กรไม่แสวงหากำไรนั้นมีปัญหาอย่างไร ซึ่งหากการดำเนินการขององค์กรไม่แสวงหากำไรที่เป็นอยู่นั้นไม่ได้เป็นปัญหา การออกกฎหมายฉบับนี้จึงมิได้มีความจำเป็น และขัดกับหลักการตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 77 ซึ่งกำหนดให้รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จําเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจําเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดํารงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ โดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน

2. ควบคุมองค์กรทุกประเภท ซ้ำซ้อน สร้างภาระเกินสมควร

ในร่างมาตรา 3 กำหนดนิยามของ “องค์กรไม่แสวงหากำไร” หมายความว่า คณะบุคคล ซึ่งรวมกลุ่มกันจัดตั้งในรูปแบบใดๆ ที่มีบุคคลร่วมดําเนินงานเพื่อจัดทํากิจกรรมต่างๆ ในสังคม โดยไม่มุ่งแสวงหากําไรมาแบ่งปันกัน แต่ไม่รวมถึงการรวมกลุ่มของคณะบุคคลเพื่อดําเนินกิจกรรมเป็นการเฉพาะคราวหรือดําเนินกิจกรรมเฉพาะเพื่อประโยชน์ของคณะบุคคลนั้นหรือ “พรรคการเมือง” และในมาตรา 5 ยังกำหนดว่าองค์กรไม่แสวงหากำไรที่จัดตั้งโดยกฎหมายเฉพาะแล้วยังต้องอยู่ในบังคับกฎหมายองค์กรไม่แสวงหากำไรฉบับนี้ด้วย

จากนิยามดังกล่าว ทำให้ครอบคลุมการรวมตัวของประชาชนในหลายรูปแบบ ไม่ใช่เพียงองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) แต่ยังรวมถึงการรวมตัวของประชาชนในรูปแบบอื่นๆ กลุ่มแรงงาน กลุ่มชาวบ้าน กลุ่มอนุรักษ์ หรือกลุ่มกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นต้น การใช้เกณฑ์อย่างเดียวกันในการจดแจ้ง การเปิดเผยข้อมูล การดำเนินงานย่อมไม่สอดรับกับความแตกต่างหลากหลาย และสร้างภาระเกินสมควรแก่องค์กรขนาดเล็ก หรือกลุ่มที่เพิ่งเริ่มต้นรวมตัวกันทำกิจกรรม

นอกจากนี้ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังบังคับถึงองค์กรที่จัดตั้งตามกฎหมายอื่น ซึ่งครอบคลุมถึงสมาคม มูลนิธิ บริษัท ฯลฯ หมายความว่านอกจากการดำเนินการตามกฎหมายที่รับรองความเป็นนิติบุคคลต่างๆ เหล่านั้นแล้ว องค์กรเหล่านี้ยังมีภาระเพิ่มขึ้นในทางกฎหมายซ้ำซ้อนขึ้นไปอีก

3. องค์ประกอบของคณะกรรมการถูกครอบงำโดยรัฐได้ง่าย

กลไกในการดำเนินงานของร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ…. จะมี “คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรไม่แสวงหากำไร” เป็นกลไกหลักในการดำเนินการมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 11 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธานกรรมการ ซึ่งตามองค์ประกอบของคณะกรรมการตามมาตรา 6 อาจมีกรรมการได้ถึง 21 คน โดยเป็นข้าราชการประจำ 10 คน และกรรมการผู้แทนองค์กรไม่แสวงหากำไร ไม่เกิน 7 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 4 คน ซึ่งกรรมการผู้แทนองค์กรและผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 11 คนมาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรี จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการทั้งหมด 21 คน จะอยู่ใต้อำนาจของภาครัฐโดยประธานคณะกรรมการเป็นหลัก ขาดซึ่งดุลอำนาจของภาคประชาชนอย่างแท้จริง

หากพิจารณาประเด็นหลักของร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ…. จะเห็นว่าประเด็นหลักของร่างฉบับนี้นั้น ภาครัฐต้องการให้องค์กรไม่แสวงหากำไร (1) ต้องเปิดเผยข้อมูลและบัญชีรายรับรายจ่ายตามมาตรา 19 และมาตรา 22 (2) ควบคุมการดำเนินกิจกรรมไม่ให้กระทบความมั่นคงฯตามมาตรา 20 (3) ควบคุมการรับเงินบริจาคจากต่างประเทศตามมาตรา 21

4. หน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูล

มาตรา 19 กำหนดให้วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง วิธีการดำเนินงาน แหล่งที่มีเงินทุน รายชื่อผู้รับผิดชอบ โดยที่หน่วยงานรัฐและบุคคลทั่วไปเข้าถึงข้อมูลนั้นได้โดยง่าย ทั้งนี้หากองค์กรไม่เปิดเผยข้อมูลหรือปกปิดข้อมูล นายทะเบียนมีอำนาจในการแจ้งเตือนและกำหนดระยะเวลา เมื่อพ้นระยะเวลาแล้วยังไม่ดำเนินการให้องค์กรไม่แสวงหากำไร “หยุดดำเนินกิจกรรม”จนกว่าจะเปิดเผยข้อมูล

กรณีหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวนั้นไม่มีความชัดเจนว่าต้องการรายละเอียดของข้อมูลเพียงใด รอบในการให้ข้อมูลเป็นรายเดือนหรือรายปี หากเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย รายละเอียดดังกล่าวต้องดำเนินการเปิดเผยต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามรอบปีอยู่แล้ว แต่หากเป็นองค์กรขนาดเล็กหรือต้องรายงานในรอบการดำเนินการที่ถี่มากขึ้น อาจไม่มีกำลังในการดำเนินการในส่วนดังกล่าว

อย่างไรก็ตามข้อกังวลอีกประการหนึ่งคือ กรณีที่เป็นการเปิดรับบริจาคไม่ว่าทางบัญชีหรือทางกล่องรับบริจาค การระบุแหล่งที่มาของเงินทุนนั้นเป็นการเพิ่มขั้นตอนมากขึ้น จนอาจทำให้ผู้บริจาคงดเว้นการบริจาคเพราะต้องมีการดำเนินการที่มากขึ้น เช่น โอนเงินบริจาคแล้วต้องส่งสลิปแจ้งผู้รับบริจาคหรือผู้บริจาคบางรายอาจไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวหากต้องมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ซึ่งอาจส่งผลต่อจำนวนเงินบริจาคที่ลดลงและส่งผลต่อความมั่นคงขององค์กรไม่แสวงหากำไรในการดำเนินกิจกรรมได้

นอกจากนี้ มาตรา 22 ยังกำหนดให้องค์กรไม่แสวงหากำไรที่มีรายได้จากการรับบริจาคมีหน้าที่จัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายและเปิดเผยให้บุคคลทั่วไปเข้าถึงได้ โดยมีโทษของการฝ่าฝืนคือ “หยุดดำเนินกิจกรรม” ได้เช่นเดียวกับมาตรา 19

5. มาตรา 20 เป้าหมายคือยุติการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหากำไร

มาตรา 20 ของร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ…. นับว่ามีความเสี่ยงในการใช้เพื่อจำกัดการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหากำไรมากที่สุด แม้ในมาตรา 17 ของร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ…. จะรับรองว่า “องค์กรไม่แสวงหากำไรมีสิทธิและเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมเพื่อประโยชน์ของสังคมหรือประโยชน์สาธารณะได้ตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง” แต่บทบัญญัติที่เป็นหลักทั่วไปในการรับรองสิทธิเสรีภาพเช่นกลับเขียนให้อยู่ “ภายใต้บังคับของมาตรา 20” ซึ่งมาตรา 20 กำหนดห้ามองค์กรไม่แสวงหากำไรดำเนินงานในลักษณะกระทบความมั่นคงฯ อันเป็นบทยกเว้น แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของมาตราดังกล่าวที่อาจเปิดโอกาสให้ภาครัฐตีความอย่างกว้างขวางเพื่อยุติการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหากำไร กล่าวคือ

มาตรา 20 องค์กรไม่แสวงหากําไรต้องไม่ดําเนินงานในลักษณะดังต่อไปนี้

  1. กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ รวมถึงความมั่นคงของรัฐด้านเศรษฐกิจ หรือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
  2. กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม
  3. กระทบต่อประโยชน์สาธารณะรวมทั้งความปลอดภัยสาธารณะ
  4. เป็นการกระทําความผิดต่อกฎหมาย
  5. เป็นการกระทําที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น หรือกระทบต่อความเป็นอยู่โดยปกติสุขของบุคคลอื่น

โดยนายทะเบียนต้องแจ้งเตือนหากมีการฝ่าฝืน ให้หยุดการกระทำหรือให้แก้ไข หากไม่ดำเนินการนายทะเบียนสามารถสั่งให้ “ยุติการดำเนินงาน” ขององค์กรไม่แสวงหากำไร

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า ถ้อยคำตามมาตรา 20 นั้น นายทะเบียนสามารถตีความได้อย่างกว้างขวาง แม้ในปัจจุบันองค์กรพัฒนาเอกชนหรือกลุ่มประชาชนจะไม่ได้ดำเนินในลักษณะข้อที่ 1-5 อยู่แล้ว แต่ถ้อยคำลักษณะนี้เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ตีความได้กว้างขวาง ส่งผลให้มีคำสั่งยุติดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหากำไรได้ อาทิ การทำงานขององค์กรไม่แสวงหากำไรในการส่งข้อร้องเรียนเร่งด่วน (Urgent Appeal) จัดส่ง Communication หรือจัดทำรายงานคู่ขนาน (Alternative report) ไปยังกลไกของสหประชาชาติ หรือกลไกตามสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน อาจถูกตีความว่าเป็นการดำเนินกิจกรรมที่กระทบต่อความมั่นคง หรือกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลง แก้ไขกฎหมายในประเทศ ปฏิรูปสถาบันต่างๆ เจ้าหน้าที่รัฐก็อาจตีความเข้ามาตรา 20  ว่าทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมได้ บทบัญญัติตามมาตรา 20 จึงอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการขององค์กรไม่แสวงหากำไรอย่างร้ายแรง อันส่งผลต่อเสรีภาพในการแสดงของประชาชนด้วยอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้หากองค์กรไม่แสวงหากำไรดำเนินการในลักษณะมาตรา 20 ข้อ 1-5 จริงก็ย่อมขัดต่อกฎหมายข้อใดข้อหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ในปัจจุบันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีบทบัญญัติในลักษณะดังกล่าวอีก เช่น หากองค์กรไม่แสวงหากำไรดำเนินการใดๆ ที่ผิดกฎหมายก็ต้องมีโทษตามกฎหมายดังกล่าวอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเขียน (4) เป็นการกระทําความผิดต่อกฎหมาย ซึ่งจะทำให้เป็นการลงโทษซ้ำซ้อน และในทางหลักการแล้วไม่สามารถบัญญัติกฎหมายเพื่อลงโทษบุคคลจากการกระทำเดียวถึงสองครั้งได้ อีกทั้งระดับการกระทำผิดต่อกฎหมายนั้นก็อาจแตกต่างกัน การเขียนถ้อยคำโดยกว้างเพื่อครอบคลุมเหตุทั้งหมดโดยมีผลประการเดียว คือ ยุติการดำเนินงานขององค์กรจึงไม่เหมาะสม และอาจไม่ได้สัดส่วนของการกระทำและผลที่อาจเกิดขึ้นได้

นอกจากนี้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอีกประการหนึ่ง คือ หากองค์ไม่แสวงหากำไรนั้นมีหลายส่วนงานหรือหลายสาขา หากนายทะเบียนเห็นว่าองค์กรไม่แสวงกำไรดำเนินการเข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งแล้วออกคำสั่งยุติการดำเนินงานขององค์กรซึ่งเป็นการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนเช่นเดียวกัน

6. ควบคุมการรับเงินบริจาคจากต่างประเทศ

มาตรา 21 ยังกำหนดให้องค์กรไม่แสวงหากําไรที่ได้รับเงินอุดหนุนหรือเงินบริจาคจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศให้ดําเนินการ

  1. แจ้งชื่อแหล่งเงินทุน บัญชีธนาคารที่จะรับเงิน จํานวนเงินที่จะได้รับและวัตถุประสงค์ของการนําเงินไปใช้จ่าย ต่อนายทะเบียน
  2. ต้องรับเงินผ่านบัญชีของธนาคารตามที่องค์กรไม่แสวงหากําไรแจ้งไว้ต่อนายทะเบียน
  3. ต้องใช้เงินที่ได้รับจากแหล่งเงินทุนเฉพาะตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งต่อนายทะเบียนตาม (1)
  4. ต้องไม่ใช้เงินที่ได้รับจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศเพื่อดําเนินกิจกรรมในลักษณะการแสวงหาอํานาจรัฐ หรือเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมือง

ทั้งนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า การดำเนินการที่มีขั้นตอนมากขั้นอาจจะทำให้องค์กรทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ลำบากมากขึ้น เพราะที่ผ่านมางานดังกล่าวไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนภายในประเทศได้อย่างเพียงพอ และหากไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับสูงถึงสองเท่าของจำนวนเงินที่ได้รับจากแหล่งทุนต่างประเทศ

7. กลไกในการตรวจสอบอ่อนแอ

มาตรา 23 ในกรณีที่องค์กรไม่แสวงหากำไรได้รับคำสั่งจากนายทะเบียนให้หยุดการดำเนินกิจกรรมตามมาตรา 19 มาตรา 22 หรือยุติการดำเนินงานขององค์กรตามมาตรา 20 องค์กรไม่แสวงหากำไรสามารถอุทธรณ์คำสั่งต่อรัฐมนตรีใน 30 วัน โดยการอุทธรณ์ไม่เป็นเหตุในการทุเลาการปฏิบัติตามคำสั่งเท่ากับว่าคำสั่งของนายทะเบียนนั้นมีผลในทันที

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า คำสั่งให้หยุดดำเนินงานหรือยุติการดำเนินงานนั้นมีผลอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ยุติดำเนินงานนั้นก็เปรียบกับการประหารองค์กรหรือนิติบุคคลนั้นลงไป การกลั่นกรองหรือใช้อำนาจที่บัญญัติไว้อย่างกว้างขวาง โดยคำสั่งขององค์กรเดี่ยวที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ให้มีผลทันที โดยไม่มีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนว่ารัฐมนตรี (ซึ่งเป็นองค์กรเดี่ยว) จะพิจารณาอุทธรณ์เสร็จภายในกี่วัน ส่งผลต่อความไม่แน่นอนในการดำเนินกิจการขององค์กรไม่แสวงหากำไร

แม้องค์กรไม่แสวงหากำไรอาจจะดำเนินการอุทธรณ์ได้ แต่ก็พิจารณาโดยรัฐมนตรีซึ่งอาจมีความล่าช้าและขาดการตรวจสอบถ่วงดุลและขาดความรอบคอบ เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจขององค์กรเดี่ยว ทั้งนี้หากองค์กรไม่แสวงหากำไรไม่เห็นพ้องกับคำสั่งรัฐมนตรีก็อาจฟ้องคดีต่อศาลปกครองในภายหลังได้ แต่อาจใช้ระยะเวลาที่ยาวนานนับปี ทำให้โอกาสในการทำงานแก้ไขประเด็นปัญหาที่องค์กรไม่แสวงหากำไรทำงานอยู่นั้นผ่านเลยไปได้

8. บทกำหนดโทษรุนแรง ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำ

นอกจากโทษให้หยุดดำเนินกิจกรรมและยุติการดำเนินงานขององค์กรซึ่งเปรียบเสมือนโทษประหารชีวิตแล้ว ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ…. ยังมีโทษทางอาญาโดยกำหนดโทษปรับที่สูงเกินสัดส่วนกว่าการกระทำ กล่าวคือ

·  มาตรา 25 หากไม่เปิดเผยข้อมูลตามมาตรา 19 หรือเปิดเผยบัญชีรายรับรายจ่าย ตามมาตรา 22 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และวันละ 1,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

·  มาตรา 26 หากไม่ยุติการดำเนินงานตามมาตรา 20 ระวางโทษปรับ 500,000 บาท และวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

·  มาตรา 27 กำหนดโทษปรับสองเท่าของเงินที่ได้รับจากแหล่งทุนต่างประเทศหากไม่มีการดำเนินการตามมาตรา 21

·  มาตรา 28 กำหนดให้ผู้รับผิดชอบดำเนินงานขององค์กรต้องรับโทษเช่นเดียวกับองค์กรไม่แสวงหากำไร มาตรานี้ไม่ชัดเจนว่า “ผู้รับผิดชอบดำเนินงานขององค์กร” นั้นตีความเพียงใด เฉพาะกรรมการหรือรวมถึงผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่ในองค์กรด้วยหรือไม่เพราะถ้อยคำดังกล่าวนั้นไม่ใช่ถ้อยคำทางกฎหมาย แต่กลับกำหนดโทษทางอาญา ซึ่งสามารถตีความได้อย่างกว้างขวาง และการลงโทษทั้งองค์กรและผู้ดำเนินงานนั้นจะถือว่าเป็นการลงโทษซ้ำหรือไม่ กรณีที่เป็นนิติบุคคลหรือไม่เป็นนิติบุคคลจะแตกต่างอย่างไร

9. ร่างกฎหมายฉบับนี้ทำลายเสรีภาพในการรวมกลุ่ม

มาตรา 42 รัฐธรรมนูญ 2560 และกติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 22 ต่างรับรองเสรีภาพในการรวมกลุ่ม ซึ่งเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย แต่ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ…. ซึ่งกำหนดนิยามครอบคลุมหลากหลายองค์กร กำหนดหน้าที่เพิ่มเติมจากองค์กรที่จัดตั้งตามกฎหมายอยู่แล้ว กำหนดหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลและบัญชีรายรับรายจ่ายตามมาตรา 19 และ 22 ห้ามดำเนินกิจกรรมที่สร้างผลกระทบความมั่นคงฯ ตามมาตรา 20 และควบคุมการรับบริจาคจากแหล่งทุนต่างประเทศตามมาตรา 21 นี้ จะส่งผลทำให้การรวมตัวของประชาชนทำได้ยากยิ่งขึ้น และบางกรณีหรือบางกิจกรรมจะทำให้เจ้าหน้าที่ตีความว่ากระทบต่อความมั่นคง จนไม่สามารถดำเนินกิจกรรมในนามองค์กรต่อไปได้ อันเป็นผลบั่นทอนต่อการใช้เสรีภาพและประชาธิปไตย

10. ไม่ใช่แค่ NGO มีปัญหา แต่ประชาชนก็ได้รับผลกระทบ

ร่างกฎหมายดังกล่าว แม้จะพูดถึงองค์กรไม่แสวงหากำไร ซึ่งอาจทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่ากฎหมายดังกล่าวส่งผลต่อเฉพาะองค์กรพัฒนาเอกชน แต่ความจริงแล้วกฎหมายดังกล่าวครอบคลุมถึงการรวมกลุ่มเคลื่อนไหวของประชาชนในรูปแบบอื่นๆ ด้วย และการที่ประชาชนไม่สามารถรวมกลุ่มได้อย่างอิสระ อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิพื้นฐานหรือสวัสดิการต่างๆ ตามมา

ทั้งนี้ แม้ประชาชนบางรายเห็นว่าตนอาจจะไม่ได้ใช้เสรีภาพในการรวมกลุ่มทำกิจกรรมใดๆ ก็ตาม แต่ท่านอาจเคยได้รับประโยชน์จากการเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรต่างๆ เหล่านี้มาก่อน เช่น การได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ และการได้รับสิทธิแรงงาน เช่น การลาคลอด ลาป่วย ล้วนมาจากการรวมตัวเรียกร้องสิทธิแรงงาน ในอนาคตหากมีการเรียกร้องรัฐสวัสดิการสำเร็จประชาชนทุกคนย่อมได้ประโยชน์ทางใดทางหนึ่ง หรือกลุ่มเกษตรกรอาจไม่สามารถอยู่รอดทางเศรษฐกิจหากไม่สามารถรวมตัวเรียกร้องให้มีการประกันราคาหรือรับซื้อผลิตผลทางการเกษตร ฯลฯ เช่นนี้แล้วหากประชาชนไม่สามารถรวมตัวได้อย่างอิสระหรือมีข้อจำกัดในการทำกิจกรรมบางประการ อาจทำให้เราถูกลิดรอนสิทธิ หรือไม่ได้มาซึ่งประโยชน์ใดๆ ที่ควรได้ในอนาคต แม้จะไม่ได้ใช้สิทธิเสรีภาพนั้นโดยตรงก็ตาม

ด้วยเหตุดังกล่าวศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอแสดงจุดยืนในการคัดค้านการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ…. และเชิญชวนประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นภายในวันที่ 25 มี.ค. 2565 รวมถึงช่วยติดตามร่างดังกล่าวที่อาจเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในโอกาสถัดไป

.

X