27 เม.ย. 2560 ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีของปิยะ โปรแกรมเมอร์ที่ถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์พระบรมฉายาลักษณ์และข้อความ ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นเคยพิพากษาลงโทษจำคุก 9 ปี แต่ให้การเป็นประโยชน์ในชั้นสอบสวน จึงลดโทษเหลือ 6 ปี ส่วนศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
เวลาประมาณ 09.30 น. ห้องพิจารณาคดีที่ 914 ศาลอาญา ตุลาการออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาเร็วกว่าที่กำหนดนัดที่แจ้งไว้ 10.00 น. คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ใจความว่า ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสามคนต่างเปิดเฟซบุ๊ก พบภาพตามเอกสารท้ายฟ้อง เป็นลักษณะ 4 ภาพ ย่อยมาประกอบเป็นภาพเดียว
พยานโจทก์ดังกล่าว ต่างพบเห็นภาพในคดีนี้ผ่านทางเฟซบุ๊กบัญชีผู้ใช้ของบุคคลอื่น มิใช่เฟซบุ๊กของจำเลย แม้โจทก์จะมีนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ เบิกความว่า ได้เข้าไปดูบัญชีเฟซบุ๊ก ชื่อบัญชีนายพงศธร บันทอน และพบเห็นภาพในคดีนี้โดยถ่ายภาพหน้าจอไว้ แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานเป็นภาพเต็มหน้าจอ กับไม่มี URL ให้สืบค้นแหล่งที่มา จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า ภาพถ่ายหน้าจอดังกล่าวมาจากนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์
อีกทั้ง พนักงานสอบสวนเบิกความว่า ภาพดังกล่าวเป็นลักษณะ 4 ภาพ นำมาเรียงเป็นภาพเดียว ด้านบน 2 ภาพ และด้านล่าง 2 ภาพ มิได้มีลักษณะเรียงเป็นแนวดิ่ง ซึ่งเป็นการโพสต์โดยปกติ แสดงว่าภาพในคดีนี้ไม่ได้แชร์ต่อกันจากผู้โพสต์คนแรกโดยตรง แต่มีผู้รวบรวมขึ้นภายหลัง อย่างไก็ตาม เมื่อพิจารณาภาพที่ถูกโพสต์ในคดีนี้ ส่วนที่เป็นใบหน้าของจำเลยตรงกับภาพที่ปรากฏในหน้าบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยเอง ตามที่จำเลยลงลายมือชื่อรับรองไว้กับพนักงานสอบสวน
เมื่อเดือนมีนาคม 2544 จำเลยใช้ชื่อทองจันทร์ บันทอน ขอออกบัตรประชาชนใหม่ แล้วขอเปลี่ยนชื่อเป็นพงศธร ซึ่งไม่ใช่ชื่อที่แท้จริงของจำเลย อันเป็นการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน โดยมิได้ปรากฏเหตุผล หรือความจำเป็นอย่างอื่น ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่ามีเจตนาที่จะปกปิดตนเอง เพื่อกระทำการบางอย่างโดยมิชอบ
คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลย จำเลยยอมรับว่า ประกอบอาชีพเขียนโปรแกรมแอนดรอยด์ จำเลยทราบว่ามีผู้เข้าไปใช้เฟซบุ๊กของจำเลย แต่ไม่สนใจและไม่ได้เปลี่ยนรหัสผ่าน รวมถึงไม่ได้ไปแจ้งต่อตำรวจ เพียงแต่แจ้งไปยังเฟซบุ๊กและกูเกิลเพื่อให้ตรวจดูภาพที่ไม่เหมาะสมและลบออก ต่อมากูเกิลลบภาพและข้อความบางส่วน ยังคงเหลือภาพและข้อความในคดีนี้ โดยจำเลยยังคงใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นประจำและจำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างคำให้การในส่วนนี้ จึงเชื่อว่าจำเลยให้การตามความเป็นจริง
พิจารณาถึงอาชีพของจำเลยที่เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมทางคอมพิวเตอร์ ย่อมต้องมีความรู้ความเข้าใจในระบบคอมพิวเตอร์ รวมถึงการใช้โปรแกรมเฟซบุ๊กเป็นอย่างดี จำเลยยอมรับว่าใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อนายพงศธร บันทอนมาตลอด และพบเห็นภาพในคดีนี้ แต่อ้างว่ามีผู้อื่นเข้ามาใช้เฟซบุ๊กของจำเลย อันเป็นการเบิกความลอย ๆ และง่ายต่อการกล่วอ้าง ทั้งจำเลยยังไม่ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใด ๆ และใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวตลอดมา และไม่ได้ดำเนินการใด ๆ กับผู้ที่มาใช้เฟซบุ๊กของจำเลยทั้งที่เป็นเรื่องร้ายแรงเป็นที่ผิดปกติวิสัย
ที่จำเลยนำสืบอ้างว่า เหตุที่ไม่ได้แจ้งต่อพนักงานตำรวจ เพราะจำเลยเกรงว่าจะถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการแอบอ้างใช้ชื่อนายพงศธร บันทอนนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทราบได้อย่างไร ว่ามีการดำเนินคดีกับจำเลยในเรื่องดังกล่าว อีกทั้งความร้ายแรงของความผิดก็ต่างกัน ไม่อาจนำมาเป็นเหตุอ้างได้ ตามที่จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า เคยแจ้งไปยังเฟซบุ๊กและกูเกิลให้ลบภาพและข้อความที่ไม่เหมาะสมออก แต่ยังเหลือข้อความในคดีนี้ ยิ่งไม่สมเหตุสมผลว่าเหตุใดจึงลบออกไม่ได้ อีกทั้งการแจ้งกูเกิลให้ลบออกยังเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2557 หลังการแจ้งความดำเนินคดีกับจำเลยแล้ว ส่วนที่จำเลยนำสืบว่า เพิ่งทราบว่ามีการโพสต์พระบรมฉายาลักษณ์และข้อความไม่เมาะสมเมื่อปี 2557 โดยคนรักของจำเลยมาบอก จำเลยก็ไม่ได้นำคนรักของจำเลยมาเบิกความยืนยัน อีกทั้งไม่เคยให้การเช่นนั้นต่อพนักงานสอบสวน
ส่วนการตรวจพิสูจน์เครื่องคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางที่ยึดมาจากจำเลย ไม่พบประวัติการเข้าถึงบัญชีเฟซบุ๊กนายพงศธร บันทอน และภาพพระบรมฉายาลักษณ์นี้ ก็เพราะการตรวจยึดเกิดขึ้นหลังเวลาเกิดเหตุถึงหนึ่งปีเศษ ซึ่งจำเลยได้แจ้งลบข้อความต่อกูเกิลไปก่อนถูกจับแล้ว แสดงให้เห็นว่าจำเลยทราบดีว่ามีการติดตามการกระทำของจำเลย และย่อมไม่เก็บพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้กับตัว ดังนั้น แม้ไม่ปรากฏพยานหลักฐานในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของจำเลย แต่พยานหลักฐานโจทก์ที่วินิจฉัยมามีน้ำหนักเพียงพอชี้ให้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้โพสต์พระบรมฉายาลักษณ์และข้อความตามฟ้อง โดยใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อนายพงศทร บันทอน
การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย
ก่อนหน้านี้ ศาลอาญาเคยพิพากษาเมื่อ 20 ม.ค. 2559 ให้จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ม.14 (3) (5) ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษจำเลยตาม ม.112 อันเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักสุดเพียงบทเดียว ลงโทษจำคุก 9 ปี คำให้การชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษใหจำเลยหนึ่งในสาม เหลือโทษจำคุก 6 ปี
นอกจากนี้ ปิยะยังถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์อีกคดีหนึ่งเมื่อ 10 ต.ค. 2559 จากการส่งอีเมล์ที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 8 ปี
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- ศาลอาญาล็อกห้องพิพากษาลับคดี 112 จำคุกปิยะ 8 ปี
112 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์