การ ‘ล่าแม่มด’ ไม่ได้หมายถึงใครคนหนึ่งไม่พอใจทัศนะของอีกคนหนึ่งแล้วเริ่มขยายวงตั้งกลุ่มด่าทอกันเท่านั้น นิยามการล่าแม่มดในความหมายสากลมักพิจารณา ‘อาชญากรรมแห่งความเกลียดชัง’ (hate crime) ของประวัติศาสตร์ชาตินั้นๆ ร่วมด้วย เช่น ชาวยุโรปเรียนรู้ว่า ในยุคกลาง การตัดสินผู้ถูกพิจารณาจาก ‘ศาลศาสนา’ ว่าเป็น ‘ผู้นอกศาสนา’ แล้วลงโทษอย่างทารุณเป็นการล่าแม่มดที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีก
สำหรับสังคมไทย เกิดการล่าแม่มดที่มีอาชญากรรมแห่งความเกลียดชังขับเคลื่อนและจบลงด้วยการสูญเสียชีวิตขึ้นหลายครั้ง ทว่ายังคงหวนกลับมาเกิดซ้ำ โดยเฉพาะการล่าแม่มดที่เป็นผลจากผู้ถูกล่าฯ วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ซึ่งกลับมาร้อนระอุในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมานี้ เกิดปรากฏการณ์การขยายวงของกลุ่มผู้แจ้งความซึ่งอาศัยบทบัญญัติของ กฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ให้ ‘ใครก็ได้’ เป็นผู้แจ้งความตามคดีอาญามาตรา 112 แม้ไม่ใช่ผู้เกี่ยวข้องโดยตรง จำนวน ‘ใครก็ได้’ เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเปิดเผยเจตนาที่จงใจแจ้งความตามคดีอาญามาตรา 112 นอกภูมิลำเนาผู้ถูกล่าแม่มดว่าต้องการให้ผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาเดือดร้อนอย่างชัดแจ้ง
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนอ่านวิธีรับและรุกการถูกล่าแม่มดยุค 2020 ทั้งทางด้านกฎหมาย ความปลอดภัย สุขภาพจิต ฯลฯ เมื่อถูกล่าแม่มด ผู้ถูกล่าฯ มักมีความเครียด ความกังวลใจ ความหวาดกลัว ทว่าผู้ถูกล่าฯ อาจค่อยๆ บรรเทาความรู้สึกเหล่านี้ได้ หรือกระทั่งตั้งหลักและดำเนินการตอบสนองสถานการณ์อย่างรอบคอบเหมาะสม ด้วยความรู้ทางกฎหมายที่ชัดเจน การตั้งสติ การวางมาตรการต่างๆ เพื่อความปลอดภัย การหาความสนับสนุน การยืนยันสิทธิของตนเอง และตระหนักว่าในหลายกรณีผู้ล่าแม่มดต้องรับผิดชอบการกระทำของตนด้วยเช่นกัน
1.
รวบรวมข้อเท็จจริง ค้นหาว่าเกิดอะไรขึ้น?
ผู้ถูกล่าแม่มดมักมีความเครียด ความกังวลใจ ความโกรธ ทว่าไม่ควรทำให้ความรู้สึกเหล่านี้ถาโถมจนลืม ‘เก็บหลักฐาน’ ผู้ล่าแม่มดเเสดงการคุกคามอย่างไร? ใช้อุปกรณ์หรือวิธีการแบบใด? ใช้น้ำเสียงในการล่าแม่มดอย่างไร? พูดอะไรบ้าง (อย่างละเอียด)? การล่าแม่มดเกิดขึ้นเมื่อใดเเละเวลาไหน? ใช้หมายเลขโทรศัพท์หรือใช้บัญชีโซเชียลมีเดียใด? สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานที่ต้องเก็บรวบรวมไว้ทั้งหมด ทั้งเพื่อไว้ประเมินความเสี่ยงและเผื่อไว้ยื่นคำฟ้องต่อศาลในสถานการณ์ที่ต้องการสู้ รวมทั้งสอบทานประวัติผู้ล่าฯ หากสงสัยว่ามีใครอยู่เบื้องหลัง โดยเฉพาะหากผู้ล่าฯ ได้ข้อมูลส่วนตัวที่ควรเป็นความลับของผู้ถูกล่าฯ โดยผู้ถูกล่าฯ ไม่ได้เปิดเผย หรือผู้ล่าฯ นำข้อมูลทางราชการและทะเบียนราษฎร์ของผู้ถูกล่าฯ มาเผยแพร่ ซึ่งจะทำให้เอาผิดผู้ล่าแม่มดได้
2.
ประเมินตนเองว่ามีความเสี่ยงระดับใดและจัดการเรื่องความปลอดภัยก่อน
หากจะกล่าวว่า ‘ใครๆ ก็ล่าแม่มดได้’ ไม่น่าจะผิดนัก การล่าแม่มดทำได้ค่อนข้างง่าย ไม่ต้องใช้ความพยายามหรือทรัพยากรมาก ดังนั้นบางครั้งผู้ล่าฯ จึงใช้วิธีนี้เพื่อข่มขู่เท่านั้น แต่บางครั้งนี่คือการนำร่องไปสู่การทำอันตรายในชีวิตจริง ผู้ถูกล่าฯ ต้องประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นว่าจะมีแนวโน้มที่จะเกิดเหตุการณ์ตามการข่มขู่จริงหรือไม่ โดยประเมินจาก
- ประเมินผู้ล่าฯ วิเคราะห์วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของผู้ล่าฯ ประเมินสถานการณ์ว่าทำไมถูกล่าแม่มดในขณะนี้ สถานการณ์บ้านเมือง อารมณ์สังคมขณะนั้นเป็นอย่างไร? การล่าฯ สอดคล้องกับวาระทางสังคมวาระใดหรือไม่? มีแบบแผนการล่าฯ ที่ใกล้เคียงกรณีที่เจอมาเกิดขึ้นมาก่อนหรือไม่?
- ประเมินตนเอง ว่ามีโอกาสถูกทำร้ายร่างกาย ถูกบีบให้ออกจากงาน ถูกติดตามจับตาดู ตั้งข้อหาอาชญากรรม หรือถูกขู่คุกคามว่าจะทำร้ายร่างกายสมาชิกในครอบครัวหรือไม่? อยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่จะถูกทำอันตรายได้ง่ายหรือไม่? โดยเฉพาะหากถูกเปิดเผยที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และใบหน้าสมาชิกในครอบครัว มีศักยภาพในการต้านทานการถูกคุกคามในชีวิตจริงมากแค่ไหน?
- หากประเมินว่ามีความเสี่ยงให้รีบจัดการกับความปลอดภัยก่อน โดยแจ้งให้คนที่ไว้ใจทราบว่ากำลังถูกคุกคามพร้อมรายละเอียด เพื่อหาคนพร้อมให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนด้านความปลอดภัยโดยทันที บันทึกเบอร์โทรศัพท์และช่องทางการติดต่อของบุคคลหรือองค์กรให้ความช่วยเหลือหากจำเป็น เช่น ทนาย ตำรวจ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ฯลฯ ไว้ในอุปกรณ์การสื่อสารและสมุดบันทึกทั้งของตนเอง สมาชิกในครอบครัว เพื่อนฝูง โดยกระจายไว้หลายแห่ง
- รักษาความปลอดภัยของบุตรหลาน หากประเมินสถานการณ์แล้วพบว่าการย้ายที่อยู่ เก็บตัวโดยไม่ออกจากบ้านชั่วคราว ไม่เช็กอินโลเคชั่นว่าทำอะไรอยู่ที่ไหน หรือเลือกตั้งค่าอุปกรณ์สื่อสารให้ปิดกั้นการระบุสถานที่ที่เราอยู่ จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น อาจพิจารณาทางเลือกเช่นนั้นสักระยะ ประเมินทางเลือกในการใช้โซเชียลมีเดีย เช่นหากปกติโซเชียลมีเดียของผู้ถูกล่าแม่มดเป็นแหล่งเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวหลายด้าน ควรตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของโซเชียลมีเดียอย่างจำกัดให้เห็นข้อมูลเหล่านั้นได้เฉพาะเพื่อน ตั้งค่าจำกัดการเห็นโพสต์ในอดีต ปิดรับการคอมเมนต์จากคนอื่นที่ไม่ใช่เพื่อน หรือปิดโซเชียลมีเดียชั่วคราวเพื่อป้องกันการคุกคามและค่อยประเมินสถานการณ์ว่าจะกลับมาเปิดอีกครั้งหรือไม่
- อย่างไรก็ตาม การเปิดโซเชียลมีเดียเพื่ออัพเดตสถานการณ์ความปลอดภัยของตน หรือการเช็กอินบ่อยๆ ว่าอยู่ที่ไหนเพื่อให้สังคมคอยช่วยจับตา อาจเป็นผลดีมากกว่าในบางกรณี เช่นในกรณีโซเชียลมีเดียนั้นเป็นของบุคคลสาธารณะ มีผู้ติดตามมาก และไม่ได้โพสต์ข้อมูลส่วนตัวไว้มากพอจะนำมาสู่การคุกคามได้ หรือผู้โพสต์อยู่ในสถานะที่มั่นใจว่าดูแลรักษาความปลอดภัยของตนเองและคนรอบข้างได้
3.
ตั้งสติ ไม่ลนลาน ไม่รีบร้อนล่าถอยในทันที ปรึกษานักกฎหมาย
การล่าแม่มดมีผลกระทบด้านจิตใจ โดยอาจทำให้ผู้ถูกล่ารู้สึกเสี่ยง ไม่ปลอดภัย สับสน กลัว ทำอะไรไม่ถูก หรือล่าถอยเร็วเกินไป ซึ่งมีผลเสียเช่นกัน เช่นทำให้ถูกรุกล่าหนักขึ้น หรือทำให้รีบยอมรับต่อเจ้าหน้าที่รัฐว่าทำผิดเมื่อถูกสอบสวนโดยทันที ทั้งที่จริงแล้วบ่อยครั้งสิ่งที่ทำให้ถูกล่าแม่มดนั้นอาจมีความผิดทางกฎหมายหรือไม่มีก็ได้ สิ่งที่ทำให้ออกจากความกลัวนี้ได้เร็วที่สุดคือ ‘ความรู้’
ทันทีที่ถูกล่าแม่มด หมายถึงคำพิพากษาทางสังคมเริ่มทำงาน แต่ไม่ได้หมายความว่าคำพิพากษาทางกฎหมายเริ่มต้นขึ้นด้วย ตราบใดที่เจ้าหน้าที่รัฐยังไม่ได้ ‘แจ้งข้อกล่าวหา’ ว่าผู้ถูกล่าฯ กระทำความผิด เท่ากับ ‘ยังไม่มีกระบวนการทางกฎหมายเริ่มต้น’ สิ่งที่ควรทำโดยทันทีเมื่อพบคำขู่ล่าแม่มด คือนำข้อความ โพสต์ สเตตัส ฯลฯ ที่เป็นเหตุทำให้ถูกล่าฯ มาปรึกษานักกฎหมาย ว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายข้อใดหรือไม่ โดยเฉพาะกฎหมายที่พบบ่อยในการล่าแม่มด คือ ม.112 ม.116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
บางครั้งข้อความที่เป็นเหตุให้เกิดการล่าแม่มดนั้นเป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ใช่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย หรือกระทบต่อความมั่นคง เช่น การแสดงความคิดเห็นในเชิงหลักวิชาการ ซึ่งนับว่าไม่มีความผิด หรือเป็นเพียง ‘ข้อความที่ไม่เหมาะสม’ ซึ่งตามหลักกฎหมายอาญานั้น ‘ความไม่เหมาะสม’ กับ ‘ความผิดทางกฎหมายอาญา’ เป็นคนละเรื่องกัน เช่นในกรณีของกฎหมายอาญามาตรา 112 ข้อหา ‘ดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย’ ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดของ ม. 112 มีความหมายเจาะจง เคร่งครัดมากในกฎหมายอาญา อีกทั้งเป็นคนละเรื่องกับ ‘ความไม่เหมาะสม’ ซึ่งประเมินด้วยอารมณ์และความรู้สึกของผู้ล่าแม่มดเอง ซึ่งนำมาใช้กับการตัดสินความผิดในคดีอาญาไม่ได้ การนำข้อความที่เป็นเหตุให้ถูกล่าแม่มดมาปรึกษานักกฎหมายก่อน จะช่วยให้ประเมินได้อย่างถูกต้องว่าควรทำอย่างไรต่อไป
4.
ตั้งหลัก หากมั่นใจว่าทำถูกต้องแล้ว ให้ยืนยันเจตนาเพื่อลดแรงกดดันทางสังคม
หลังปรึกษานักกฎหมายเรียบร้อยแล้ว หากตรวจสอบจนได้ความมั่นใจว่าข้อความที่ทำให้ถูกล่าแม่มดไม่เข้าข่ายมีความผิดทางกฎหมาย จะมาถึงขั้นตอนการลดแรงกดดัน ไม่ให้ผู้ล่าฯ รุกไล่มากกว่านี้ ด้วยการยืนยันหลักการและแสวงหาความเข้าใจจากสาธารณะ เช่นอาจโพสต์อธิบายอย่างรอบคอบในโซเชียลมีเดียของตนว่าเพราะเหตุใดจึงโพสต์ข้อความเช่นนั้น และข้อความที่เป็นเหตุที่ทำให้ถูกล่าแม่มดนั้นเป็นข้อความที่ไม่ได้เข้าองค์ประกอบความผิดอย่างไร ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่เคยถูกล่าแม่มดเคยพูดถึงการยืนยันหลักการอย่างน่าสนใจว่า
“กระบวนการเสียบประจานหรือการล่าแม่มดนี้จะทำอะไรเราไม่ได้เลย ถ้าเราไม่กลัว ไม่ตื่นตระหนกตกใจ ไม่ปล่อยให้มันมาทำให้เราสูญเสียความเป็นตัวตน ทั้งนี้ ผู้ตกเป็นเป้าจะต้องยึดมั่นในหลักการซึ่งเป็นที่มาแห่งการกระทำของตนให้แน่น ในช่วงวันแรกๆ ที่โดนกระหน่ำโจมตี เราอาจตกใจ หวาดกลัว หวาดวิตกก็จริง แต่ต้องรีบตั้งหลักให้ได้เร็วที่สุด จากนั้นสื่อสารกลับไปยังสังคมเพื่อยืนยันถึงหลักการแนวคิดของเรา อธิบายต่อสังคมว่ากระแสการเสียบประจานหรือการล่าแม่มดนั้นไม่ตรงกับข้อเท็จจริงอย่างไร มีการกล่าวเท็จ มีการขยายความที่บิดเบือนไปจากสิ่งที่เราต้องการสื่อตั้งแต่แรกอย่างไร เราต้องยึดมั่นและเชื่อมั่นในหลักการ สิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความยุติธรรม และความเท่าเทียมกันของมนุษย์”
นอกจากการโพสต์ในโซเชียลมีเดียแล้ว อาจติดต่อกับสื่อมวลชนเพื่อขอให้ข้อมูล เพื่อให้สังคมรับรู้ว่าข่าวที่เป็นกระแสอยู่นั้นไม่เป็นความจริงและยับยั้งการแพร่ขยายของการล่าแม่มดไม่ให้ลุกลาม
5.
จัดการกับโซเชียลมีเดียโดยสร้างสมดุลระหว่าง
‘ยับยั้งการล่าฯ’ กับ ‘การไม่ยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน’
เมื่อถูกล่าแม่มด หลายคนอยากซ่อนข้อความ ตั้งค่าข้อความให้เห็นคนเดียว หรือลบข้อความที่ทำให้เกิดการล่าแม่มดโดยทันที เพื่อตัดความรำคาญใจ เพื่อรักษาความปลอดภัย หรือเพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดการล่าฯ มากกว่านี้ แต่กังวลว่าจะเป็นการ ‘ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน’ หากถูกแจ้งความดำเนินคดีโดยข้อความนั้นหรือไม่ ต่อไปนี้คือคำแนะนำ
ในสถานการณ์ปกติเจ้าของบัญชีโซเชียลมีเดียมีอิสระในการจัดการกับโซเชียลมีเดียของตน ไม่ว่าจะเปิด ปิด ลบ ซ่อน ตั้งค่าเช่นใด แม้กระทั่งเมื่อถูกล่าแม่มดแล้ว เจ้าของบัญชียังคงมีสิทธิในการทำเช่นนั้นอยู่ แต่เมื่อเจ้าของบัญชี “ถูกแจ้งความดำเนินคดี” แล้ว ซึ่งขั้นตอนนี้เริ่มนับหลัง 1. ตำรวจออกหมายเรียกให้ผู้ถูกล่าแม่มดมารับทราบข้อกล่าวหา 2. ผู้ถูกล่าฯ เดินทางไปสถานีตำรวจ 3. ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา 4. ผู้ถูกล่าฯ รับทราบข้อกล่าวหาเรียบร้อยแล้ว หลังขั้นตอนที่ 4 ข้อมูลต่างๆ ทางคอมพิวเตอร์ถือเป็นหลักฐานทางกฎหมาย ซึ่งจะปิด ลบ ซ่อน หรือทำลายไม่ได้ และอาจถือว่าเจ้าของบัญชียุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน แต่หากเจ้าของบัญชีได้ทำไปก่อนที่จะรับทราบข้อกล่าวหาไม่นับเป็นความผิด ทั้งนี้ไม่ว่าผู้ถูกล่าแม่มดจะลบข้อความหรือไม่ เจ้าหน้าตำรวจจะมีวิธีการตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าผู้ถูกล่าแม่มดเคยโพสต์หรือจัดการกับข้อความที่เป็นเหตุแห่งคดีเมื่อใดอย่างไรอยู่แล้ว
6.
แสวงหาพันธมิตรและใช้สอยกลไกด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่
เพื่อยกระดับความปลอดภัยและลดความเสี่ยงให้น้อยลง ควรสร้างพันธมิตรให้มากที่สุด รวมทั้งใช้สอยกลไกด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่ เช่น
- ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร, องค์กรทางสิทธิมนุษยชนต่างๆ, สถาบันการศึกษาที่เปิดสอนด้านสิทธิมนุษยชน ฯลฯ เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีการคุ้มครองทางสิทธิมนุษยชนหรือร่วมกันยืนยันหลักการด้านสิทธิมนุษยชน หากการล่าแม่มดนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกล่าฯ ได้
- ใช้กลไกพิเศษของ UN (UN Special Procedures) ซึ่งเป็นกลไกติดตามสอดส่องและรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งในลักษณะสถานการณ์รายประเทศหรือในรายประเด็น โดยส่งข้อมูลการถูกล่าแม่มดหรือการปล่อยให้มีพื้นที่ที่เกิดการล่าแม่มดซึ่งมีลักษณะทำเป็นกระบวนการและใช้กฎหมายที่ไม่ได้สัดส่วนและเกินกว่าเหตุเพื่อล่าแม่มด และให้ความยินยอมให้องค์กรที่มีสามารถจัดทำข้อร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยัง ‘ผู้รายงานพิเศษ’ (Special Rapporteur) หรือ ‘คณะทำงาน’ (Working Group) ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เสรีภาพในการแสดงออก โดยกลไกพิเศษจะกลั่นกรองข้อร้องเรียนต่างๆ หากเห็นว่ามีน้ำหนักจะส่งข้อร้องเรียนกลับมายังรัฐบาลไทยเพื่อขอรับข้อมูลและคำชี้แจง ทั้งยังจะมีการเผยแพร่หนังสือของผู้รายงานพิเศษหรือคณะทำงานและคำชี้แจงของรัฐไทยต่อสาธารณะ ในเว็บไซต์ของสหประชาชาติด้วย
- หากการล่าแม่มดกระทบถึงเรื่องงาน พึงตระหนักว่าคนเราจะถูกไล่ออกจากงาน กดดันให้ลาออก หรือถูกเลือกปฏิบัติในที่ทำงานเพราะการล่าแม่มดไม่ได้ หากเจอเหตุการณ์ข้างต้น ควรศึกษา พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ควบคู่กับข้อบังคับบริษัทหรือสัญญาการจ้างงานอย่างละเอียด โดยเฉพาะข้อบังคับเรื่อง ‘ห้ามกระทำให้นายจ้างเสียหาย’ว่าระบุข้อห้าม เช่น ห้ามแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ห้ามวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ห้ามใช้โซเชียลมีเดียในเวลางาน ฯลฯ หรือไม่ หากลูกจ้างมั่นใจว่าไม่ได้ทำสิ่งใดผิดจากข้อบังคับหรือสัญญาแต่บริษัทกลับเสนอให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อใน ‘หนังสือตักเตือนถึงพฤติกรรม’ ลูกจ้างมีสิทธิไม่ลงลายมือชื่อ (ในหนังสือตักเตือนฯ มักมีข้อความว่าลูกจ้างยอมรับว่าตนทำผิดและหากมีพฤติกรรมซ้ำเดิมอีกเพียงครั้งเดียวจะโดนไล่ออกโดยถือว่านายจ้างไม่ได้ทำผิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน) การไม่ลงลายมือชื่อดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้าง และลูกจ้างยังมีสิทธิทำหนังสือคัดค้านว่าเหตุที่นายจ้างอ้างเป็นเหตุลงโทษตักเตือนไม่ได้ถูกระบุไว้ในสัญญาหรือข้อบังคับ หรือแม้ระบุไว้แต่หากเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน เช่นหลักการวิจารณ์โดยสุจริต หรือเป็นการเอาเปรียบลูกจ้าง ลูกจ้างยังมีสิทธิต่อสู้ได้ว่าข้อสัญญาหรือข้อบังคับเอาเปรียบลูกจ้างเกินสมควร และให้ศาลสั่งให้สัญญาและข้อบังคับของบริษัทหรือองค์กรตามที่ระบุไว้ดังกล่าวมีผลใช้บังคับเพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี ตาม มาตรา 14/1 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551
- นอกจากนี้ผู้ถูกล่าแม่มดจนกระทบเรื่องงานยังควรปรึกษา/ส่งเรื่องต่อกรรมาธิการการแรงงาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เครือข่ายผู้บริโภค รวมทั้งขบวนการแรงงานต่างๆ ให้ช่วยยืนยันหลักการและความถูกต้อง หรือส่งเสียงว่าผู้บริโภคต้องการอุดหนุนผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่มีนโยบายเคารพสิทธิมนุษยชนและปฏิบัติตามนโยบายอย่างจริงจัง
7.
ประเมินสถานการณ์ พัฒนาจุดแข็ง ลดจุดอ่อน
ตามปกติเมื่อถูกล่าแม่มด ผู้ถูกล่าฯ อาจขจัดความเสี่ยงหรือแรงกดดันไม่ได้โดยสิ้นเชิง แต่ดําเนินการต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงได้ โดยประเมินจากข้อมูลทั้งหมด ทั้งต้นเหตุที่ทำให้ถูกล่าฯ มีความผิดตามกฎหมายหรือไม่? ความสามารถต้านทานแรงกดดันของตนเอง ครอบครัว และคนใกล้ชิด มีมากน้อยแค่ไหน? สถานการณ์และวาระทางสังคมในขณะนั้นเป็นอย่างไร ควรยืนยันหลักการให้ดังกว่าเดิม หรือเก็บตัวรอให้อารมณ์สังคมอันเดือดพล่านลดความร้อนแรงลงแล้วค่อยออกมาต่อสู้? แรงสนับสนุนทั้งจากในและต่างประเทศเป็นอย่างไร? แล้วพัฒนาจุดแข็ง ลดจุดอ่อนของตน
ตัวอย่างการพัฒนาจุดแข็งของตน เช่น ผู้ถูกล่าฯ บางรายใช้อารมณ์ขันของตัวเองให้เป็นประโยชน์ในการผ่อนปรนสถานการณ์ ผู้ถูกล่าฯ บางรายยิ่งถูกล่าฯ ยิ่งใช้หลักสันติวิธีจนผู้ล่าฯ ขาดความชอบธรรมในสายตาของสังคม ผู้ถูกล่าฯ บางรายเป็นคนธรรมดา ไม่มีชื่อเสียง ไม่เคยออกสื่อ หากติดต่อสื่อมวลชนที่ถ่ายทอดเรื่องราวอย่างมีพลังได้ อาจสร้างแนวร่วมกับคนธรรมดาซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมได้มากกว่าบุคคลที่มีชื่อเสียงในบางกรณี เพราะเรื่องราวชีวิตมีความสดใหม่มากกว่าบุคคลที่มีชื่อเสียง
มีหลายกรณีที่จุดอ่อนกลายเป็นจุดแข็ง เช่น ผู้ถูกล่าฯ อยู่ในวัยมัธยมซึ่งดูเหมือนเป็นวัยที่ไม่น่าจะรับแรงกดดันได้มาก แต่เมื่อแสวงหาความสนับสนุนด้านจิตใจและความปลอดภัยจนตั้งหลักได้ การยืนยันหลักการและส่งเสียงกลับไปยังผู้ล่าฯ กลับมีพลังจนผู้ล่าฯ ต้องถอยร่น หรือกรณีผู้ถูกล่าฯ บางรายไม่มีทางเลือกในชีวิตมากนัก เมื่อถูกเรียกตัวเข้ารับทราบข้อกล่าวหา จึงไม่ได้หลีกเลี่ยงหรือพิจารณาทางเลือกเช่นการลี้ภัยซึ่งต้องใช้ทั้งทุนทรัพย์และทุนภาษา แต่สร้างจุดแข็งจากการแสวงหาความร่วมมือในการสู้คดีแทนโดยดำเนินการอย่างรอบคอบตั้งแต่ขั้นตอนการรับทราบข้อกล่าวหาอย่างรัดกุมจนรอดคดีได้ และมีบ่อยครั้งเช่นกันที่จุดแข็งกลายเป็นจุดอ่อน เช่น ผู้ถูกล่าฯ เป็นบุคคลสาธารณะที่เข้มแข็งและมีความต้านทานต่อแรงกดดันสูง จนสังคมเบาใจไม่เข้ามาช่วยเหลือ หรือสื่อไม่เสนอเรื่องราวมากเท่าที่ควรเพราะออกสื่อบ่อยแล้ว บุคคลผู้ถูกล่าแม่มดต้องประเมินและพัฒนาจุดแข็ง ลดจุดอ่อนของตนตลอดเวลา
8.
ทำอย่างไรเมื่อกระบวนการทางกฎหมายเริ่มต้น
เมื่อการถูกล่าแม่มด มาถึงขั้นถูกดำเนินคดี สิ่งแรกที่เกิดขึ้นคือผู้ล่าฯ มักหวาดกลัวและทำอะไรไม่ถูก ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่ทำให้ถูกล่าแม่มดฯ อาจไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นการตั้งสติและค่อยๆ ดำเนินการขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม และรู้สิทธิของผู้ต้องหาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ดังกรณีตัวอย่างดังนี้
กรณีที่ 1: เมื่อนรเศรษฐ์ได้รับหมายเรียก
ต่อไปนี้คือกรณีศึกษาของบุคคลรายหนึ่ง ชื่อสมมติ ‘นรเศรษฐ์’ ซึ่งถูกล่าแม่มดจนได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ต่อไปนี้คือสิ่งที่นรเศรษฐ์ทำ
เมื่อนรเศรษฐ์ได้รับ ‘หมายเรียก’ เพื่อให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาซึ่งส่งมาที่บ้าน นรเศรษฐ์ได้ติดต่อทนายความ แจ้งวันที่สะดวกต่อเจ้าหน้าที่ว่าตนสะดวกไปรับทราบข้อกล่าวหาวันไหนภายในขอบเขตที่หมายเรียกกำหนด ซึ่งเจ้าหน้าที่อาจกำหนดไว้ในช่วง 1-3 วันหลังจากออกหมายเรียกนั้น นรเศรษฐ์จึงมีเวลาเตรียมตัว ปรึกษาแนวทางการให้การกับทนาย เลือกวันที่ตนเองสะดวกแล้วเดินทางไปสถานีตำรวจพร้อมทนายความ เพราะนรเศรษฐ์ถือหลักว่าไม่ควรให้การใดๆ กับพนักงานสอบสวน จนกว่าจะปรึกษาทนายความของตนเองก่อนเท่านั้น หรือหากไม่มีทนายความของตนเองในชั้นนี้ นรเศรษฐ์จะเลือกวิธีให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา หรือยืนยันกับพนักงานสอบว่าจะไม่ให้การใดๆ ตนมาเพียงเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา และจะให้การในชั้นศาลเท่านั้น เพราะประชาชนทุกคนมีสิทธิตามกฎหมายที่จะให้การหรือไม่ให้การกับพนักงานสอบสวนได้ มีสิทธิจะให้ทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจเข้าร่วมการสอบสวนได้ และรู้ว่าการให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนจะเป็นผลเสียอย่างมากในการต่อสู่คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาล
นรเศรษฐ์เดินทางไปสถานีตำรวจภายในวันที่หมายเรียกกำหนด เข้ารับทราบข้อกล่าวหากระทำความผิดกฎหมายตามมาตรา112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งขณะนี้นรเศรษฐ์อยู่ในสถานะ ‘ผู้ถูกกล่าวหา’ นรเศรษฐ์ตัดสินใจยังไม่ให้การด้วยวาจา แต่ให้ทนายความยื่นหนังสือชี้แจงเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ซึ่งเรียกว่า ‘คำให้การแก้ข้อกล่าวหาเป็นเอกสาร’ และ ‘รายชื่อของผู้จะร่วมให้ข้อมูลในประเด็นต่างๆ’ ต่อตำรวจแทนและยืนยันจะให้การด้วยวาจาในชั้นศาลเท่านั้น จากนั้นเมื่อกลับจากสถานีตำรวจ นรเศรษฐ์พบว่ายังมีข้อมูลที่จะใช้พิสูจน์ความบริสุทธิ์เพิ่มเติมที่ไม่ได้ยื่นไว้ นรเศรษฐ์จึงเดินทางไปสถานีตำรวจอีกครั้ง เพื่อยื่น ‘คำให้การแก้ข้อกล่าวหาเป็นเอกสาร’ อธิบายความและเจตนาในการโพสต์ข้อความ เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา และนำส่งรายชื่อของพยานเอกสารและพยานบุคคล ที่นรเศรษฐ์พร้อมจะนำเข้าพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเพิ่มเติม จากนั้นเป็นหน้าที่ของผู้กล่าวหาหรือผู้ล่าแม่มดที่จะนำส่งพยานหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่และเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่จะรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมต่อไป พนักงานสอบสวนและอัยการมีภาระทางคดีที่จะต้องพิสูจน์ว่าผู้ถูกล่าฯ มีความผิดจริง โดยต้องมีพยานหลักฐานที่หนักแน่น
กรณีที่ 2: เรื่องของวิษณุ เมื่อตำรวจมาถึงบ้านพร้อมหมายจับ
ต่อไปนี้คือกรณีศึกษาของบุคคลรายหนึ่ง ชื่อสมมติ ‘วิษณุ’ ซึ่งถูกล่าแม่มด จนเจ้าหน้าที่ตำรวจมาปรากฎตัวที่บ้าน โดยปกติการโพสต์หรือแชร์ข้อความลงในโซเชียลมีเดียไม่ใช่การกระทำความผิดซึ่งหน้า ผู้ถูกแจ้งความมักได้รับ ’หมายเรียก’ ซึ่งอาศัยอำนาจของตำรวจในการออก เป็นเอกสารในชั้นแรก แต่บางกรณีเจ้าหน้าที่อาจร้องขอต่อศาลให้ใช้ดุลยพินิจออก ’หมายจับ’ โดยลัดขั้นตอนการออก ’หมายเรียก’ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่พบได้
เมื่อเจ้าหน้าที่มาถึงบ้านพร้อมแสดงเจตนาจะควบคุมตัววิษณุไปสถานีตำรวจ วิษณุตระหนักว่า วิษณุมีสิทธิขอดูบัตรแสดงตัวของเจ้าหน้าที่ ว่าชื่ออะไร สังกัดอะไร และขอดูหมายจับ เพื่อพิสูจน์ว่าเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังกล่าวจริง หากพบว่าเจ้าหน้าที่มาพร้อมหมายจับ วิษณุตระหนักว่าตนมีสิทธิถามเจ้าหน้าที่ว่าจะควบคุมตัวด้วยข้อหาอะไร จะถูกพาตัวไปที่ไหน และมีสิทธิแจ้งญาติ คนใกล้ชิด และทนายความให้ทราบก่อนถูกควบคุมตัว อีกทั้งมีสิทธิปฏิเสธหากเจ้าหน้าที่จะพาไปแถลงข่าว
เจ้าหน้าที่ยังบอกว่าต้องการค้นบ้านของวิษณุด้วย วิษณุมีสิทธิสอบถามเจ้าหน้าที่ว่ามี ‘หมายค้น’ หรือไม่ ซึ่งเป็นหมายที่ต้องอาศัยอำนาจศาลในการออกเช่นกัน หากไม่มีวิษณุมีสิทธิปฏิเสธไม่ให้ตรวจค้น หากมีวิษณุสามารถยืนยันได้ว่าการตรวจค้นต้องทำต่อหน้าผู้ครอบครองสถานที่ และให้คนใกล้ชิดมาเป็นพยาน ต้องทำการค้นในเวลากลางวัน และมีสิทธิบันทึกการตรวจค้นจากเจ้าหน้าที่ไว้เป็นหลักฐาน
เมื่อเจ้าหน้าที่บอกว่า “ขอดูโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์หน่อย” สิ่งที่วิษณุต้องถามหาจากเจ้าหน้าที่คือ ’หมายศาล’ มีการกระทำหลายอย่างที่เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจสั่งให้เราทำตามได้หากไม่มีหมายศาล เช่น
- คัดลอกข้อมูล จากคอมพิวเตอร์ มือถือ แท็บแล็ต หรือระบบคอมพิวเตอร์อื่นๆ ของเรา
- สั่งให้ส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูล เช่น แฟลชไดรฟ์, แผ่นซีดีให้แก่เจ้าหน้าที่
- ตรวจสอบ หรือ Log in (เข้าระบบ) เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค มือถือ แท็บแล็ต ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ของเรา
- ถอดรหัสผ่าน (password) เพื่อเข้าคอมพิวเตอร์ หรือสั่งให้เราพิมพ์หรือเขียนรหัสผ่าน เพื่อเข้าระบบคอมพิวเตอร์ หรือสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเราพิมพ์หรือเข้าpassword หรือให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการกระทำการดังกล่าว
- ยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์ของเรา เช่น ยึดคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือแท็บเล็ต แต่ยึดได้ไม่เกิน 30 วัน และขยายได้สูงสุดไม่เกิน 60 วัน เท่านั้น
ทั้งนี้ หากผู้ใดสนใจคำแนะนำเบื้องต้นกรณีถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวจากการโพสต์หรือแชร์ข้อความในโซเชียลมีเดีย อ่านขั้นตอนการรับมืออย่างละเอียดได้ที่ https://tlhr2014.com/?p=404 และหากถูก ‘เชิญตัวไปสอบถามข้อมูลและจัดทำบันทึกข้อตกลง’ โดยไม่มีหมายศาลหรือหมายจับ พึงตระหนักว่านี่คือ ‘กระบวนการนอกกฎหมาย’ แม้กลุ่มบุคคลดังกล่าวจะอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ก็ตาม ซึ่งการกระทำของบุคคลดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง หรือปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ หากเผชิญกระบวนการในลักษณะนี้ อ่านขั้นตอนการรับมืออย่างละเอียดได้ที่ https://tlhr2014.com/?p=14480
9.
คนล่าแม่มดมีโอกาสมีความผิดเช่นกัน
การเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นต่อสาธารณะของขบวนการล่าแม่มดอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาหรือเป็นความผิดที่จะเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งได้ในหลายกรณีเช่นกัน ดังนี้
- หากข้อมูลที่ถูกล่าแม่มด ได้รับการพิจารณาว่าเป็นข้อมูลที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย เช่นเป็นข้อมูลที่ ‘หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์’ เข้าข่ายคดีอาญามาตรา 112 ผู้ล่าแม่มดโดยเอาข้อมูลนั้นมาเผยแพร่อีกทอด มีโอกาสมีที่จะถูกดำเนินคดีในฐานะเป็น ‘ตัวกลาง’ ที่เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลนั้นเช่นกัน แม้ในมุมมองของผู้ล่าฯ จะมองว่าตนเป็นแค่ผู้ชี้เป้าและหวังดีเท่านั้น แต่อาจมีโอกาสถูกดำเนินคดีได้เช่นกัน
- หาก ‘ผู้ควบคุมข้อมูลหรือผู้ประมวลผลข้อมูล’ เช่น เจ้าหน้าที่ในบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ที่ไม่ได้รับยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานและกิจการที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ที่ถือข้อมูลส่วนตัวของผู้ถูกล่าแม่มด ฯลฯ ได้เปิดเผยชื่อ ที่อยู่ หมายเลขหนังสือเดินทาง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการล่าแม่มด จะเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 2562 ตามบทลงโทษมาตรา 79 และมาตรา 27 ที่กำหนดว่า “ผู้ควบคุมข้อมูลหรือผู้ประมวลผลข้อมูลเปิดเผยข้อมูลโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือเปิดเผยข้อมูลต่างจากวัตถุประสงค์ที่แจ้งตอนเก็บข้อมูล แล้วก่อให้เกิดความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย มีโทษจำคุกหกเดือนหรือปรับห้าแสนบาท หรือทั้งจำและปรับ” หรือหากเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแล้วเกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูล จะมีความผิดทางแพ่งบุคคลนั้นจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าของข้อมูลผู้ได้รับความเสียหายนั้นด้วย ตามมาตรา 77
- หากขบวนการล่าแม่มดได้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ถูกล่าแม่มดมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เข้าถึงข้อมูลโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะโดยการลักขโมย เจาะระบบ ดักรับ หรือจารกรรมข้อมูลจากเซิฟเวอร์ ระบบ ฐานข้อมูล ระบบหรืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของผู้อื่น อาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 5, 7 หรือ 8 ได้
- การล่าแม่มดยังมีโอกาสที่จะเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายในตระกูล ‘หมิ่นประมาท’ เช่นกฎหมายอาญามาตรา 326 หรือ 328 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 ซึ่งมีทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ เหยื่อที่ถูกล่าแม่มดอาจจะแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีหรือฟ้องร้องเพื่อให้ผู้กระทำความผิดรับโทษทางอาญาได้ และหากเหยื่อของการล่าแม่มดเห็นว่าได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งจากการเปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัว
การกระทำของผู้ล่าแม่มดอาจเป็นความผิดในข้อหาละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่น โดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่า ผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น” โดยเหยื่อที่ถูกล่าแม่มดสามารถฟ้องร้องให้ผู้กระทำความผิดชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนได้ - นอกจากนี้การข่มขืนใจผู้อื่น โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจ ก็อาจจะถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 มีโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่หกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ , ทำร้ายร่างกาย (มาตรา 297 ประมวลกฎหมายอาญา) ฯลฯ
- อย่างไรก็ตาม ผู้ถูกล่าแม่มดที่ต้องการฟ้องร้องผู้ล่าแม่มด เมื่อเดินหน้าฟ้องร้องแล้วจะมีภาระทางคดีเช่นกัน
จึงควรประเมินความพร้อมอย่างรอบด้านก่อนจะตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายกับทนายความเสียก่อน
10. ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ไม่ได้ทำให้สิทธิมนุษยชนของผู้ถูกล่าแม่มดลดน้อยลง
สถานการณ์ภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ไม่ได้ทำให้สิทธิต่าง ๆ ของผู้ถูกล่าแม่มดลดน้อยลง หากผู้ถูกล่าแม่มดถูกดำเนินคดียังคงมีสิทธิที่จะขอให้เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งไว้วางใจทราบถึงการถูกจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมในโอกาสแรก ยังมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความเป็นการส่วนตัว ยังมีสิทธิที่จะให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำได้ ยังคงมีสิทธิที่จะได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อญาติได้ และหากถูกสอบสวนหรือสอบปากคำผู้ถูกล่าแม่มดยังคงมีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ หากไม่ให้การใด ๆ ก็ไม่ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7/1 และ มาตรา 134/4 ยกเว้นหาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยกระดับจากสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วไป เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่ร้ายแรง ซึ่งจะเพิ่ม ม.11 ที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาได้ 7 วันและซักถามได้ แต่สิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ ยังคงอยู่เช่นเดิมเหมือนในเวลาปกติ.