ศาลยกฟ้องคดี “วิ่งไล่ลุงเชียงราย” ชี้พยานหลักฐานโจทก์ไม่พอฟังว่าเป็นผู้จัด หลังสู้คดีกว่า 2 ปี

15 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 9.30 น. ศาลแขวงเชียงรายนัดอ่านคำพิพากษาในคดี “วิ่ง ไล่ ลุง เชียงราย” มีนายเอกรัฐ มัชฌิมา, นางสาวนรินนิราน์ แสงขาม, นายกฤตตฤณ สุขบริบูรณ์, นายภัทรกฤต ดวงสนิท และนายนิรุตติ์ แก้วกัน จำเลยทั้ง 5 ถูกฟ้องต่อศาลในข้อหา “จัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจฯ ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง” ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ เหตุจากจำเลยทั้งห้าคนยืนเรียงกันอ่านแถลงการณ์ก่อนปล่อยตัวนักวิ่งในงานกิจกรรมดังกล่าว

คดีนี้สืบเนื่องมาจาก เฟซบุ๊กเพจ “วิ่งไล่ลุงเชียงราย” ประกาศจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง เชียงราย” (Run Against Dictatorship) ในวันที่ 12 ม.ค. 63 เวลา 16.00 – 18.00 น. ที่สวนสาธารณะหาดเชียงราย ต.รอบเวียง อ.เมือง จ.เชียงราย (แต่เดิมจัดที่ศาลากลางหลังเก่า แต่มีการย้ายสถานที่จัดกิจกรรม) โดยมีประชาชนผู้สนใจและนักวิ่งเข้าร่วมจำนวนมาก รวมระยะทางวิ่ง 4 กิโลเมตร มีจำนวน BIB 1,000 บิบ และยังมีการประกาศเปิดจองซื้อเสื้อและหมวกของกิจกรรม

หลังจากงานกิจกรรมเสร็จสิ้นลงไม่นาน จำเลยทั้ง 5 ทยอยได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาจากสถานีตำรวจภูธรเมืองจังหวัดเชียงราย กระทั่งเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 63 จำเลยทั้ง 5 เข้าพบพนักงานสอบสวนและถูกแจ้งข้อกล่าวหาจัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมฯ ซึ่งเป็นคดีที่มีโทษปรับสูงสุด 10,000 บาท จำเลยทั้ง 5 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา กระทั่งเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 64 จำเลยทั้ง 5 ถูกฟ้องต่อศาลแขวงเชียงราย แต่มีการเลื่อนการพิจารณาคดีเนื่องจากรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งได้มีการสืบพยานไปเมื่อวันที่ 25-26 พฤศจิกายน และ 2-3 ธันวาคม 2564

ภาพประชาสัมพันธ์กิจกรรม “วิ่งไล่ลุงเชียงราย”

คำพิพากษายกฟ้อง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จำเลยทั้ง 5 โดยสรุป

เวลา 11.30 น. ในห้องพิจารณาคดีที่ 3 ศาลแขวงเชียงรายอ่านคำพิพากษา “ยกฟ้องจำเลยทั้ง 5” มีเนื้อหาโดยสรุปว่า 

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประเด็นแรกว่ากิจกรรม “วิ่งไล่ลุงเชียงราย” เป็นการชุมนุมสาธารณะตามความในมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ หรือไม่ 

ศาลเห็นว่า กิจกรรม “วิ่งไล่ลุงเชียงราย” เป็นการชุมนุมสาธารณะ แม้กิจกรรมวิ่งไล่ลุง เป็นการชักชวนให้ประชาชนมาวิ่งออกกำลังกาย แต่ก็เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านการวิ่งออกกำลังกาย จึงไม่ใช่กรณีเป็นกิจกรรมกีฬา ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 3(3) 

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะหรือไม่ เห็นว่า มีการประชาสัมพันธ์ขายเสื้อและหมวกผ่านเฟซบุ๊กเพจ “วิ่งไล่ลุงเชียงราย” โดยมีการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ซึ่งปรากฏเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ประกอบกับเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563 จำเลยที่ 1 เข้ามายื่นหนังสือขอความอนุเคราะห์ขอจัดการชุมนุมสาธารณะต่อเจ้าพนักงานตำรวจจริง และยังมีการโพสต์เชิญชวนบุคคลทั่วไปให้เข้าร่วมกิจกรรม ทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ประสงค์จัดการชุมนุมสาธารณะ ตามความมาตรา 10 วรรค 2


ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะหรือไม่ เห็นว่า พ.ต.ต.เกรียงศักดิ์ มณีจันทร์สุข เบิกความว่าจำเลยที่ 2 เดินทางมายื่นคำร้องขอความอนุเคราะห์กับจำเลยที่ 1 ด้วย แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เพียงแต่เดินทางมายื่นเอกสารด้วยเท่านั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563 จำเลยที่ 1 ก็เดินทางมาติดตามคำร้องขอที่สถานีตำรวจเพียงคนเดียว โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้เดินทางมาด้วย ประกอบกับในวันงานกิจกรรมตามที่ ส.ต.อ.วิษณุพร อ่อนคำเหลือง เบิกความว่าจำเลยที่ 2 ยืนเรียงแถวหน้ากระดานบริเวณจุดปล่อยตัวนักวิ่งเท่านั้น โดยไม่ได้อ่านแถลงการณ์ ย่อมไม่ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ประสงค์จัดการชุมนุมสาธารณะตามความในมาตรา 10 วรรค 2 จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้ จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ พฤติการณ์จำเลยที่ 3 เพียงแต่ยืนเรียงแถวหน้ากระดานและอ่านแถลงการณ์เท่านั้น แม้จำเลยที่ 3 รับสารภาพว่าเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ แต่ศาลมีอำนาจรับฟังพยานของโจทก์จนปราศจากข้อสงสัย ตามทางพิจารณาไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ประสงค์จัดการชุมนุมฯ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้ จำเลยที่ 3 ไม่มีหน้าที่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 4 เดินทางไปยื่นหนังสือขอความอนุเคราะห์ฯ กับจำเลยที่ 1 ด้วย แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีพฤติการณ์เป็นผู้ประสงค์จัดการชุมนุม ในวันกิจกรรม จำเลยที่ 4 ประกาศออกไมค์ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเก็บขยะ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 ชักชวนบุคคลทั่วไปให้เข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่ก่อนงานกิจกรรม แต่เป็นการชักชวนให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีจิตสำนึกดูแลสถานที่ด้วยการเก็บขยะเท่านั้น นอกจากนี้ในจุดปล่อยตัวนักวิ่งจำเลยที่ 4 เพียงแต่ยืนเรียงแถวหน้ากระดานโดยไม่ได้กล่าวอะไร ย่อมไม่ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ประสงค์จัดการชุมนุมสาธารณะตามความในมาตรา 10 วรรค 2 จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้ จำเลยที่ 4 ไม่มีหน้าที่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 5 เป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 5 เป็นผู้ดูแลเฟซบุ๊กเพจ “วิ่งไล่ลุงเชียงราย” แต่ไม่ปรากฏภาพของจำเลยที่ 5 ในเพจดังกล่าว พยานโจทก์ไม่ได้ตรวจสอบว่าใครเป็นผู้ดูแลเพจ และ พ.ต.ต.เกรียงศักดิ์ มณีจันทร์สุข ก็ไม่ระบุว่าเจ้าหน้าที่คนใดเป็นผู้ตรวจสอบว่าจำเลยที่ 5 เป็นผู้ดูแลเพจ มีเพียงแต่พยานบอกเล่าเท่านั้น ยังมีพฤติการณ์การประกาศผลผู้ได้รับรางวัลจากกิจกรรม มีชื่อจำเลยที่ 5 เป็นผู้ได้รับรางวัลด้วย ซึ่งหากจำเลยที่ 5 เป็นผู้จัดกิจกรรม ก็ไม่ต้องใส่ชื่อตนเองเป็นผู้รับรางวัลก็ได้ 

นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 5 ร่วมอ่านแถลงการณ์ก่อนปล่อยตัวนักวิ่ง พยานโจทก์ก็ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 5 ได้มีการชักชวนบุคคลภายนอกให้เข้าร่วมกิจกรรมแต่อย่างใด และการอ่านแถลงการณ์จำเลยที่ 5 เพียงแต่มีบุคคลเข้ามาชักชวนให้ร่วมอ่านแถลงการณ์เท่านั้น พยานโจทก์ยังอยู่ในความสงสัย จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้ จำเลยที่ 5 ไม่มีหน้าที่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ

ยังมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้รับแจ้ง ก่อนเริ่มชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงหรือไม่ เห็นว่า พ.ต.อ.กิตติพงษ์ สุขวัฒนพันธ์ เบิกความว่าเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563 จำเลยที่ 1 มายื่นหนังสือขอความอนุเคราะห์จัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุงเชียงราย” โดยขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสถานที่บริเวณศาลากลางหลังเก่า แต่ในวันและสถานที่ดังกล่าวมีขบวนเสด็จจึงไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรม จำเลยที่ 1 จึงเปลี่ยนสถานที่เป็นสวนสาธารณะหาดเชียงรายนั้น

เนื่องจากพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ มาตรา 10 มีจุดประสงค์ให้ผู้จัดกิจกรรมแจ้งต่อหัวหน้าสถานีตำรวจในท้องที่ที่จัดกิจกรรมเพื่อให้มาดูแล อำนวยความสะดวกผู้เข้าร่วมชุมนุม และอำนวยความสะดวกทางการจราจรเท่านั้น เมื่อพิจารณาประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดวิธีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะ เป็นลักษณะการแจ้งล่วงหน้า ไม่ใช่การขออนุญาต เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลใช้เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ

การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งการชุมนุมโดยจำเลยที่ 1 ยื่นหนังสือขอความอนุเคราะห์ฯ แล้วถือว่าจำเลยที่ 1 ได้แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10 แล้ว แม้ พ.ต.อ.กิตติพงษ์ สุขวัฒนพันธ์ จะแจ้งให้เปลี่ยนสถานที่จากศาลากลางหลังเก่า แต่ก็ไม่ได้ให้จำเลยที่ 1 กรอกแบบฟอร์มหรือยื่นเอกสารเข้ามาใหม่ 

อีกทั้งในวันงานกิจกรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่แจ้งหรือประกาศแก่ผู้ชุมนุมว่างานชุมนุมสาธารณะดังกล่าวเป็นการชุมนุมฝ่าฝืนกฎหมาย นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังติดตามความคืบหน้าของหนังสือขอความอนุเคราะห์ดังกล่าวด้วยการเข้าไปสอบถามอีกครั้ง และในวันกิจกรรมก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปดูแลสถานที่จัดกิจกรรมดังกล่าว พฤติการณ์ย่อมทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจโดยปริยายได้ว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมที่ถูกต้องตามกฎหมาย

พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 5 

นรินนิราน์ใส่เสื้อวิ่งไล่ลุงเชียงราย เข้าฟังคำพิพากษา
X