8 มี.ค. 2560 ศาลทหารกรุงเทพนัดถามคำให้การคดีส่องโกงราชภักดิ์ จำเลย 6 คนให้การปฏิเสธขอต่อสู้คดี ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน 19 มิ.ย. 2560 เวลา 08.30 น.
11.05 น. พ.อ.ศุภชัย อินทรารุณ พ.อ.ธีรพล ปัทมานนท์ และ พ.อ.สมพงษ์ จิณสิทธิ์ ตุลาการศาลทหารออกนั่งพิจารณาคดี โดยอ่านฟ้องให้ฟังและถามคำให้การจำเลยทั้งหกคน ได้แก่ นายสิรวิชญ์ เสริธิวัฒน์ นายอานนท์ นำภา นายกิตติธัช สุมาลย์นพ นายวิศรุต อนุกูลการย์ นางสาวกรกนก ตำตา และนายวิจิตร์ หันหาบุญ ที่ถูกฟ้องข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จากการร่วมกิจกรรม “นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง
จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธขอต่อสู้คดี ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 19 มิ.ย. 2560 เวลา 08.30 น. โดยจำเลยที่ 1-5 ยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือ
คำให้การเพิ่มเติมระบุว่า การกระทำของจำเลยทั้งห้าไม่เป็นความผิดเพราะประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ไม่มีสถานะเป็นกฎหมายและไม่สามารถบังคับใช้ได้ เพราะกฎหมายที่จะถูกตราขึ้นมาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือให้อำนาจองค์กรของรัฐกระทำการใดๆ จะต้องเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยความยินยอมของประชาชน ไม่ว่าจะผ่านการให้ความยินยอมในรูปแบบทางตรงหรือทางอ้อมโดยผ่านทางผู้แทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งหลักการดังกล่าวได้รับการรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ข้อ 25 (a) ที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2539 โดยไม่ได้ตั้งข้อสงวนใดๆ ไว้ และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. 2540 เป็นต้นมา
คสช. ทำรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองประเทศ โดยไม่ผ่านความยินยอมของประชาชน ไม่เป็นไปตามวิถีการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย และไม่เป็นไปตามกระบวนการเข้าสู่การเป็นผู้ปกครองแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 อีกทั้งการทำรัฐประหารยังเป็นการละเมิดกฎหมายแผ่นดิน มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาผ่านหลักเกณฑ์เสรีประชาธิปไตยข้างต้นถือว่า คสช. ไม่มีสถานะเป็นผู้ปกครองแผ่นดินที่จะสามารถกระทำการทางบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้
ดังนั้น คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ซึ่งเป็นกฎหมายมีเนื้อหาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ออกโดย คสช. ที่ไม่มีสถานะเป็นผู้ปกครองแผ่นดินและไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนของประชาชนดังกล่าวข้างต้น จึงไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย และใช้บังคับกับประชาชนซึ่งรวมถึงจำเลยทั้งห้าไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องและศาลก็ไม่มีอำนาจรับฟ้องคดีไว้เช่นกัน
คำให้การยังระบุอีกว่า หลังวันที่ 22 ก.ค. 2557 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) มาตรา 4 บัญญัติว่า
“ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ประชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”
ปรากฎว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับที่ผ่านมา รับรองเสรีภาพของบุคคลในการชุมนุมและการเดินทางมาโดยตลอด โดยเฉพาะอยางยิ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 34 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเดินทางและมีเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ภายในราชอาณาจักร…” และมาตรา 63 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ..” การกระทำของจำเลยจึงเป็การใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องและปล่อยตัวจำเลย
นอกจากจำเลยทั้งหกคนในคดีนี้ ยังมีนายธเนตร อนันตวงษ์, นายกรกช แสงเย็นพันธ์ และนางสาวชนกนันท์ รวมทรัพย์ ที่ถูกฟ้องจากกิจกรรมเดียวกัน แต่ถูกแยกฟ้องเป็นคนละคดี อยู่ระหว่างรอศาลทหารกรุงเทพนัดพร้อมเพื่อถามคำให้การ และคาดว่าจะมีการยื่นคำร้องขอให้รวมคดีของทั้งสามเป็นคดีเดียวกับคดีนี้