สืบพยานคดีเลือกตั้งที่(รัก)ลัก ตำรวจชุดจับกุมยืนยันจำเลยฝ่าฝืนประกาศ คสช. แต่รธน.ชั่วคราวยังรับรองสิทธิ

ศาลทหารนัดสืบพยานคดีเลือกตั้งที่(รัก)ลัก ตำรวจชุดจับกุมเบิกความกิจกรรมนี้ถือเป็นการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5คนซึ่งเป็นความผิดตามประกาศ คสช. แต่ไม่มีการยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงในการชุมนุมและรัฐธรรมนูญ ชั่วคราวยังให้การรับรองสิทธิในการแสดงความเห็น สืบไม่จบต่อนัดหน้า 30 สิงหาฯ

25 ส.ค.2560 ศาลทหารนัดสืบพยานปากที่สองในคดีเลือกตั้งที่(รัก)ลัก พ.ต.ท.สันติชัย หนูทอง อดีตสารวัตรป้องกันและปราบปราม สน.ปทุมวัน ตำรวจชุดจับกุมในวันเกิดเหตุ มาเบิกความในประเด็นการจำเลยในคดีทั้ง4คนได้แก่ นายอานนท์ นำภา นายศิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ และนายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ ซึ่งตกเป็นจำเลยในข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ทั้งนี้การสืบพยานปากนี้ยังไม่เสร็จสิ้นโดยังเหลือในส่วนของการถามค้านของฝ่ายจำเลย ศาลจึงให้สืบต่อนัดหน้าวันที่ 30 ส.ค.2560

พ.ต.ท.สันติชัยเบิกความโดยสรุปได้ว่าตนเป็นผู้จับกุมจำเลยทั้ง4คน ที่ในหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่14ก.พ.2558 ในข้อหาร่วมกันตั้งแต่5คนขึ้นไป มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง เป็นการฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557

ในขณะเกิดเหตุคดีนี้เป็นช่วงเวลาที่บ้านเมืองมีสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นมีการแบ่งกลุ่มแบ่งข้างและมีการชุมนุม คสช. ที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งมีสถานะเป็นรัฎฐาธิปัตย์ การออกประกาศหรือคำสั่งจึงถือเป็นกฎหมายที่ประชาชนต้องปฏิบัติตาม หากไม่ปฏิบัติตามถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

พ.ต.ท.สันติชัยทราบถึงการจัดการชุมนุมดังกล่าวเพราะวันที่ 14 ก.พ.2558 พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพเดินทางเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนที่สน.ปทุมวันว่า เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2558 พบเฟซบุ๊กชื่อ อานนท์ นำภาโพสต์เชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมทางการเมือง โดยข้อความระบุว่า “ซ้อมไว้ ซ้อมไว้ พบกัน 14 ก.พ.นี้ หน้าหอศิลปฯ กรุงเทพฯ 16.00 น. อิๆ” ซึ่งพ.อ.บุรินทร์แนบมาด้วย ซึ่งพ.อ.บุรินทร์ได้รับคำสั่งผู้บังคับบัญชามาให้ติดตามเรื่องนี้

หลังได้รับแจ้งแล้วจึงได้ไปตรวจสอบในสถานที่เกิดเหตุและเวลาตามข้อความดังกล่าวพบว่ามีผู้ชุมนุมมาชุมนุมที่ลานหน้าอาคารหอศิลปฯ เป็นจำนวนมากจริง

หลังรับเรื่องร้องทุกข์แล้วพยานได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้นำกำลังจากสน.ปทุมวันเข้าไปในพื้นที่ แต่จำไม่ได้ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ แต่เจ้าหน้าที่ที่เข้าปฏิบัติการมีทั้งตำรวจและทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบรวมแล้วประมาณ 150 นาย

เมื่อพ.ต.ท.สันติชัยไปถึงที่เกิดเหตุพบว่ามีการชุมนุมกันจริงโดยมีการใช้เครื่องขยายเสียงเชิญชวนให้คนที่ผ่านไปมาเข้าร่วมการชุมนุมและมีการเรียกร้องขอประชาธิปไตยและการเลือกตั้งที่หายไปกลับคืนมา ซึ่งการชุมนุมนี้ถือเป็นการชุมนุมทางการเมือง โดยมีคนเข้าร่วมการชุมนุมนี้ราว100 คน ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่สืบสวนจึงได้บันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวเอาไว้ด้วย

พยานเห็นว่าการชุมนุมนี้เป็นการกระทำความผิดฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่7/25557 พยานจึงเข้าแสดงตัวว่าเป็นตำรวจพร้อมกับฝ่ายทหารเข้าจับกุมจำเลยทั้ง4 คน โดยมีการแจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบแล้ว การจับกุมนี้เป็นการใช้อำนาจตามที่กฎหมายให้ไว้และเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า ทั้งนี้ในการจับกุมจำเลยทั้ง4ไม่ได้ต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่แต่ยินยอมให้จับกุมแต่โดยดี จึงได้นำจำเลยทั้ง 4 คนไปทำบันทึกการจับกุมที่สน.ปทุมวัน ในชั้นนี้จำเลยให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา

พ.ต.ท.สันติชัยเบิกความตอบคำถามค้านของทนายความจำเลยว่าในวันที่ 14ก.พ.2558 มีการประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารตั้งแต่ช่วงเช้า แต่เขาจำไม่ได้ว่ามีพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพเข้าร่วมการประชุมด้วยหรือไม่ และจำไม่ได้แล้วว่ามีทหารร่วมประชุมด้วยกี่คนและยศอะไรบ้าง

ในการประชุมไม่ได้มีการคุยกันว่าการชุมนุมนี้มีจุดประสงค์อะไร แต่ดูว่าเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่ จะเน้นการรักษาความปลอดภัยไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามมากกว่า หากมีการจับกุมก็จะให้เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่สวมเครื่องแบบเป็นผู้จับกุม ส่วนเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเพียงแค่ทำหน้าที่สังเกตุการณ์และบันทึกภาพเท่านั้น

พ.ต.ท.สันติชัยเบิกความต่อว่าในการประชุมพยานหลักฐานที่นำเข้ามาเสนอในที่ประชุมส่วนใหญ่เป็นของเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งมีภาพข้อความจากเฟซบุ๊กของนายอานนท์ด้วย ข้อความที่เขาได้เห็นมีเพียงตามที่ได้เบิกความตอบอัยการไปตอนต้น ไม่พบว่ามีความที่เป็นการยั่วยุให้มีการใช้ความรุนแรง และในที่ประชุมได้ให้พ.ต.อ.จารุต ศรุตยาพร ผู้กำกับสน.ปทุมวัน เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ แต่เขาจำไม่ได้ว่าฝ่ายทหารมีการรายงานด้วยหรือไม่ว่าการชุมนุมนี้มาเพื่อรำลึกการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2ก.พ.2557 และพยานก็จำไม่ได้ด้วยว่ามีการตกลงกันไว้ว่าไม่ให้เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าร่วมการควบคุมการชุมนุมด้วยหรือไม่

หลังเสร็จการประชุมตัวพ.ต.ท.สันติชัยเองสแตนด์บายอยู่ที่โรงพัก ส่วนผู้กำกับของชุดควบคุมฝูงชนจะมีอีกคนแต่เขาไม่ทราบว่าจะมีใครอยู่ที่จุดใดบ้าง แต่ในตอนเช้าฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการวางกำลังอยู่ที่หน้าหอศิลปฯ แล้ว แต่ไม่ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารอยู่ในพื้นที่ด้วยหรือไม่

ทนายความจำเลยถามพ.ต.ท.สันติชัยว่าจากกิจกรรมที่มีขึ้นในวันที่ 14ก.พ.2558นี้ พยานใช้เกณฑ์อะไรในการเข้าจับกุม พยานตอบว่าในขณะเกิดเหตุมีการชักชวนให้คนมาเข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและการเลือกตั้งจึงเป็นการชุมนุมทางการเมือง ทนายความจึงถามต่อว่าหากเป็นเช่นนั้นการรำลึกในวันระพีหรือรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์พฤษภาฯ35 ก็ถือเป็นการชุมนุมทางการเมืองด้วยหรือไม่ พยานขอไม่ตอบคำถามนี้

ทนายความถามอีกว่าในการใช้ดุลยพินิจของพยานแม้ว่าการชุมนุมดังกล่าวไม่มีการเรียกร้องหรือมีการยื่นข้อเสนอถึงรัฐบาลก็ถือเป็นการชุมนุมทางการเมืองใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่

ทนายความถามว่าตามที่พยานเบิกความว่า คสช. มีสถานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์การออกประกาศและคำสั่งต่างๆ จึงถือว่าเป็นกฎหมายนั้น ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เป็นการออกโดยอาศัยอำนาจอะไร พยานตอบว่าตามมาตรา8และ 11 ของพ.ร.บ.กฎอัยการศึก ทนายความจึงถามต่อว่าประกาศดังกล่าวซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรองและมีการกำหนดโทษเอาไว้ด้วยถือเป็นการออกเกินอำนาจที่กฎหมายลำดับสูงกว่าให้อำนาจไว้หรือไม่ พยานตอบว่าทั้งสองมาตราที่ให้อำนาจในการออกประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารและการปฏิบัติเอาไว้แต่ไม่ได้มีบทกำหนดโทษเอาไว้ แต่ในการปฏิบัติหน้าที่ของพยานเป็นไปตามประกาศฉบับที่ 7/2557 ซึ่งมีการกำหนดโทษเอาไว้

ทนายความจึงถามอีกว่าขณะที่ประกาศ คสช. ฉบับที่7/2557 บังคับใช้อยู่และในวันเกิดเหตุ ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ชั่วคราว พ.ศ.2557 เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2557 และในมาตรา 4 ก็ได้บัญญัติถึงการรับรองสิทธิของประชาชนให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา54ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ ทนายความถามต่อว่าแล้วกิจกรรมเมื่อวันที่ 14 ก.พ.2558ถือเป็นการแสดงออกที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ พยานตอบว่าใช่

พ.ต.ท.สันติชัยเบิกความตอบทนายความถึงขณะพยานอยู่ในเหตุการณ์ว่า พยานไปถึงที่เกิดเหตุตอนเวลาประมาณ 17.00น.และกลับถึงสน.ปทุมวันเวลาประมาณ17.20น. ระหว่างนี้พยานไม่เห็นว่ามีกลุ่มการเมืองหรือมีพรรคการเมืองใดเข้ามาร่วมการชุมนุมนี้ ผู้ชุมนุมที่มามีการเรียกร้องขอคืนการเลือกตั้งถึงรัฐบาลแต่ไม่ได้มีการยั่วยุให้มีการใช้ความรุนแรง ส่วนทางฝ่ายเจ้าหน้าที่มีการใช้เครื่องขยายเสียงประกาศให้ยุติการชุมนุม ทนายความถามพยานว่าได้เห็นพ.อ.บุรินทร์อยู่ในที่เกิดเหตุหรือไม่ พยานบอกว่าในเหตุการณ์มีคนอยู่เยอะ เขาจำไม่ได้ว่าได้เจอหรือไม่

ทนายความถามพ.ต.ท.สันติชัยว่าทราบหรือไม่ว่าก่อนที่พยานจะไปถึงจำเลยที่ 2 ได้ถูกจับกุมไปแล้วพยานตอบว่าไม่ทราบ ในวันนั้นตนคุมการปฏิบัติของผู้ใต้บังคับบัญชาเท่านั้น ไม่ได้เป็นคนจับกุมด้วยตนเอง ทนายความถามต่อว่าแล้วทราบหรือไม่ว่าเจ้าหน้าที่ที่จับกุมจำเลยทั้ง 4 คนเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ พยานยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ที่จับกุมเป็นเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบและผู้ใต้บังคับบัญชาได้แจ้งสิทธิแก่จำเลยทั้ง4 ก่อนที่จะทำการจับกุม

ทนายความจึงถามพ.ต.ท.สันติชัยว่าสรุปแล้วในวันนั้นการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เป็นการเชิญตัวหรือจับกุมจำเลย พยานตอบว่าที่หน้าหอศิลปฯ เป็นการเชิญตัวมาที่โรงพักแล้วจึงทำการจับกุมที่โรงพัก

ทนายความถามพ.ต.ท.สันติชัยถึงที่เขาเบิกความตอบอัยการว่าในช่วงขณะเกิดเหตุบ้านเมืองมีความไม่สงบนั้น ในวันที่เกิดเหตุมีการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มการเมืองเช่น เสื้อเหลือง เสื้อแดง พันธมิตรฯ หรือ กปปส. หรือไม่ พยานตอบว่าไม่มี แต่ยังมีการชักชวนให้ออกมาชุมนุมผ่านสื่อต่างๆ อยู่และยังคงมีการประกาศใช้ ประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 อยู่

การสืบพยานในวันนี้ได้สิ้นสุดลงเนื่องจากเป็นเวลา 12.00น. แล้ว อัยการทหารแถลงว่าในตอนบ่ายพยานจำเป็นต้องเดินทางกลับจังหวัดชัยภูมิจึงขอให้ทนายความถามค้านต่อในนัดหน้าคือวันที่ 30ส.ค.2560

ก่อนสิ้นสุดการพิจารณาคดีของวันนี้ ศาลทหารมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ให้ระบุชื่อตุลาการศาลทหารที่พิจารณาคดีลงในกระบวนพิจารณา โดยให้เหตุผลว่าศาลทหารได้ดำเนินการตามระเบียบศาลทหารในการแต่งตั้งตุลาการในการพิจารณาพิพากษาคดี โดยสามารถตรวจสอบชื่อตุลาการได้ในสำนวนคดีอยู่แล้วการไม่ระบุชื่อของตุลาการในกระบวนพิจารณาจึงไม่เป็นการตัดสิทธิจำเลย

X