หนึ่งในหมุดหมายสำคัญของการเคลื่อนไหวในปี 2563 จนมาถึงปัจจุบันเดือนกันยายน 2564 นั่นก็คือการเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมากของทั้งผู้หญิงและกลุ่มคนเพศหลากหลาย (LGBTIQ+) ในฐานะผู้มีบทบาทนำในการเคลื่อนไหว จากข้อมูลผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองนับตั้งแต่เดือนมกราคมของปีนี้จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีแกนนำการชุมนุม หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปที่เป็นเพศหญิงถูกดำเนินคดีทางการเมือง จำนวนไม่น้อยกว่า 293 ราย (รวมกรณีที่เป็นเยาวชน) ในขณะที่สัดส่วนของแกนนำการชุมนุม หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปที่เป็นกลุ่ม LGBTIQ+ ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง จำนวนไม่น้อยกว่า 43 ราย (รวมกรณีที่เป็นเยาวชน) ในกรณีของผู้ต้องหา/จำเลยที่เป็นผู้หญิง มีอัตราส่วนถึงเกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ต้องหา/จำเลยที่เป็นเพศชายเลยทีเดียว
นอกจากการถูกโจมตีและดำเนินคดีโดยรัฐ เหตุจากการมีแนวคิดทางการเมืองที่ฝักใฝ่ประชาธิปไตย สิ่งที่นักกิจกรรมเพศหญิงและเพศหลากหลายต้องเผชิญเพิ่มขึ้นไปอีก หากเทียบกับนักกิจกรรมที่เป็นผู้ชาย ยังรวมถึงอคติและการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศของเจ้าหน้าที่ตำรวจ การใช้ถ้อยคำของเจ้าหน้าที่รัฐในเชิงคุกคามทางเพศ การต้องเข้ามาตรการในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เข้าใจเรื่องสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกาย ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลสามารถส่งผลกระทบได้ในระดับที่อาจกลายเป็นความป่วยไข้ทางใจในระยะยาว
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนอ่านเรื่องราวการคุกคาม/อคติทางเพศ ผ่านสายตาของนักกิจกรรมทางการเมืองและทนายความ ในฐานะผู้ที่ให้ความช่วยเหลือทางคดี สิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นต้องเจอเมื่อต้องเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐ และความรุนแรงที่ซ่อนเร้นอยู่อีกชั้นภายใต้กระบวนการยุติธรรม ที่อาจไม่เคยได้รับการพูดถึงมาก่อน
.
.
“หมวย” นลินรัตน์ (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรมเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ และการสร้างพื้นที่ปลอดภัยภายในโรงเรียน
หมวยเล่าเรื่องเหตุการณ์การคุกคามทางเพศโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่เกิดขึ้นกับเธอ 3 กรณีด้วยกัน ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2563 ตอนที่การชุมนุมของกลุ่ม #คณะราษฎร63 กำลังเคี่ยวงวด
พื้นที่การเคลื่อนไหวของหมวยแรกเริ่ม เกิดขึ้นบนหน้าเฟซบุ๊ก ต่อมา เธอถึงตัดสินใจก้าวเข้าสู่พื้นที่ชุมนุมในฐานะนักกิจกรรมครั้งแรกในการชุมนุมวันที่ 21 พฤศจิกายน 2563 พร้อมกับใส่ชุดนักเรียน – สัญลักษณ์ที่เป็นภาพแทนต่อเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับเธอ และถือแผ่นป้ายอีกหนึ่งแผ่น ประกาศชัดว่า ครั้งหนึ่ง เธอเคยเป็นเหยื่อที่ถูกกระทำอนาจารโดยคนที่เธอเรียกว่า “ครู”
อย่างไรก็ตาม เธอกลับถูกละเมิดซ้ำอีกครั้ง ในครั้งนี้เป็นการละเมิดโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งควรที่จะมีหน้าที่พิทักษ์สิทธิของประชาชน และเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่หนเดียว
“ตอนที่ไปร่วมม็อบ เจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบเขาอาจจะไม่รู้ว่าเราเป็นใคร เราก็เลยโดนผิวปากใส่”
“มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราใส่ชุดเมดไปร่วมกิจกรรมม็อบเฟส ที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วทำแคมเปญรณรงค์รับบริจาคสำหรับสวัสดิการค่าผ่าตัดของข้าราชการครู ซึ่งสิทธิ 30 บาทไม่ครอบคลุม เจ้าหน้าที่เดินเข้ามา แล้วก็พูดทำนองว่า ‘เนี่ย อยากจะร่วมทำบุญ พี่ขอใส่หน่อยซิ แต่ไม่ได้ใส่ในกล่องรับบริจาคนะ ขอใส่ตรงอื่น’ พอเขาพูดเสร็จ เขาก็มองไปที่หน้าอกเรา เพื่อนเราเองก็เห็นท่าทางของเจ้าหน้าที่คนนั้น”
“อีกกรณีคือการชุมนุมที่ด้านหน้าของ สน.ยานนาวา เหตุที่มีกลุ่มการ์ด We Volunteer ถูกจับกุม เราจำได้ว่าเราขอเจ้าหน้าที่เข้าห้องน้ำ แต่เขาไม่ให้เราเข้า ตำรวจบอกว่า ให้เราเอาโทรศัพท์เราให้เขา เปิดให้เขาดูว่าเราถ่ายรูปอะไรไปบ้าง”
“เราพยายามบ่ายเบี่ยง เจ้าหน้าที่ก็พูดอีกว่า ทำไมเข้าห้องน้ำต้องเอาโทรศัพท์เข้าไปด้วย เอาโทรศัพท์มาให้เขา จากนั้นเจ้าหน้าที่คนนั้นเขาก็บีบข้อมือเรา เรากลัวมาก บอกให้เขาปล่อย เพราะเราเป็นโรคตื่นตระหนก (panic attack) เราคุมตัวเองไม่ได้ พอทำอะไรไม่ถูก ก็ร้องไห้แล้วกรี๊ด ซักพักมีตำรวจอีกนายเข้ามาโอบไหล่เรา เอาหัวเราไปพิงกับหน้าอกเขา เขาพยายามปลอบ บอกไม่มีอะไรน่ากลัว โอบตัวเราแน่นกว่าเดิม เราก็ยิ่งร้องไห้ ยิ่งกรี๊ดหนักกว่าเดิม”
“สิ่งที่เกิดขึ้นที่ สน.ยานนาวา ทำให้เรารู้สึกหลอนไปเลย ช่วงหนึ่ง เราฝันถึงเรื่องนั้นหลายคืนติดกัน มันทำให้เรารู้สึกว่า ตำรวจเขาไม่ใช่ผู้พิทักษ์ราษฎรอีกต่อไป สุดท้าย ถ้ามันเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา เราคงไม่กล้าไปขอความช่วยเหลือจากตำรวจแน่ๆ”
จนกระทั่งวันนี้ การคุกคามโดยเจ้าหน้าที่เองไม่ใช่แค่เรื่องเลวร้ายเดียวที่หมวยต้องเจอ เพราะตั้งแต่วันที่ก้าวเท้าออกมาเคลื่อนไหว และสะท้อนเรื่องราวการคุกคาม เธอกลายเป็นเป้าโจมตีอย่างหนักในโลกออนไลน์ และเมื่อเป็นผู้หญิง เป้าดังกล่าวจึงไม่เคยก้าวพ้นไปจากเรื่องเนื้อตัวร่างกายของเธอเลย
“นอกจาการละเมิดในพื้นที่ชุมนุม เรายังเจอเรื่องการคุกคามในโลกออนไลน์ เคยโดนคอมเมนท์ด่าว่าเป็นกะหรี่ ขายตัว โดนจ้างมาเพราะเงิน มีคนส่งรูปผู้ชายที่ใช้ลิ้นเลียอวัยวะเพศหญิงเข้ามาใน inbox เฟซบุ๊คเรา บอกเราว่า อยากโดนอย่างนี้บ้างไหม แต่อย่างน้อง เงินพันแปด พี่ก็ไม่จ่ายให้นะ พันห้าพี่ยังคิดว่ายังแพงไปเลย เราเจอเรื่องแบบนี้บ่อยมาก ตั้งแต่ออกมาเคลื่อนไหว”
.
.
แนน (นามสมมติ) – นักข่าวสายการเมือง อดีตนักกิจกรรมทางการเมือง
แนนคืออดีตนักกิจกรรมทางการเมือง ที่ต่อมาหลังจบการศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัย เลือกที่จะก้าวเข้าสู่สนามข่าวการเมืองในฐานะคลื่นลูกใหม่ของวงการสื่อ แต่ด้วยภาระหน้าที่ที่ต้องลงสังเกตการณ์พื้นที่ชุมนุม ทำให้เธอเองก็ตกอยู่ในเป้าสายตาของเจ้าหน้าที่รัฐ จนนำไปสู่การคุกคามที่เกือบกลายเป็นแผลใจระยะยาว
“เรื่องที่เกิดขึ้นกับเรา มันเป็นช่วงระหว่างรอยต่อม็อบตุ้งติ้งครั้งแรกกับม็อบแฮมทาโร่ ปี 2563 ตอนนั้น เราเข้าไปขวางเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กำลังเข้าหาน้องนักกิจกรรมผู้หญิงรายหนึ่ง ซึ่งเขาเป็นมือใหม่ ยังไม่เคยรับมือกับเจ้าหน้าที่
“ไม่นานหลังจากนั้น ก็มีชายหัวเกรียนเข้ามาถ่ายรูปเราใกล้ ๆ อย่างโจ่งแจ้ง เราก็รู้สึกไม่โอเค เลยเข้าไปโวยวาย จำได้ว่าเขาอ้างว่า ตัวเขาไม่ได้เป็นตำรวจนะ แค่ถ่ายรูปเราไปเล่นๆ เฉยๆ อ้างว่าเป็นคนขับแท็กซี่ แต่มันชัดเจนมากว่าเขาเป็นเจ้าหน้าที่ เพราะหัวเกรียน แต่เราก็ไม่ได้เอาเรื่อง เพราะเรายังต้องทำข่าวต่อ”
“พอตอนจบงานนั้น พวกรุ่นพี่นักกิจกรรมก็แนะนำให้เรารู้จักกับเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบระดับสั่งการ เราก็เลยบ่นเรื่องเจ้าหน้าที่ที่ถ่ายรูปเราไป เรารู้สึกไม่โอเค แล้วเขายังมาแถข้างๆ คูๆ ว่าไม่ใช่เจ้าหน้าที่ เราเข้าใจว่าสถานะเรามันค่อนข้างก้ำกึ่ง พอเราเป็นสื่อที่มีอีกหน้าที่หนึ่ง คือเป็นคนอ่านข่าว มันก็เลยยากที่จะห้ามไม่ให้มีคนถ่ายรูป”
“เรารู้สึกว่า ถ้าเป็นคนธรรมดาถ่ายรูปเรา แฟนคลับถ่าย มันก็น่าจะได้ แต่พอเป็นเจ้าหน้าที่ ทำให้เรารู้สึกว่ามันเป็นการคุกคามมากๆ แถมยังแถไปอีก เราเลยไปคุยกับ บก. ได้คำแนะนำมาว่า คราวหลังถ้าโดนถ่ายรูป ให้เราแสดงความบริสุทธิ์ใจ ให้นามบัตรเขาไปเลย”
“วันต่อมาที่ม็อบแฮมทาโร่ หลังจากเราไปโวยวายกับเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบระดับสั่งการ เขาน่าจะไปคุยกันมา เพราะที่ม็อบ เราเจอเจ้าหน้าที่คนที่ถ่ายรูปเราคนเดิมเดินเข้ามาหา แล้วก็บอกว่า ‘เออเนี่ย พี่ขอโทษนะที่ทำให้น้องลำบากใจ จริงๆ พี่ก็ไม่ได้เป็นคนขับแท็กซี่ตามที่บอกหรอก พี่เป็นทหารนะ’ แล้วเขาก็โชว์บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ ตอนนั้นเรายังไม่เชี่ยวชาญ ไม่ได้ถ่ายรูปบัตรเขาไว้ เพราะตกใจอยู่ เรากลัว เกิดคำถามว่า เขาเข้ามาพูดกับเราเพื่ออะไร”
“คำที่น่ากลัวที่สุดที่เราได้ยินจากปากเขาคือ เขาไม่ได้ถ่ายไปรายงานนะ แต่เขาถ่ายเพราะเราสวย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการถ่ายไปรายงานหรือถ่ายไปเพราะรูปร่างหน้าตาเรา คำอธิบายทั้งสองก็เป็นคำอธิบายที่สยดสยองพอกัน ในความเห็นเรา มองว่า เขาคงถ่ายไปเพื่อรายงานนั่นแหละ แต่การที่เขาเลือกอธิบายว่าถ่ายไปเพราะเราสวย เพราะสำหรับเขา มันน่าจะฟังดูสมเหตุสมผลมากกว่าถ่ายเพื่อเอารูปไปรายงานล่ะมั้ง”
“การมองแบบนั้นเป็นการมองที่ขาดความเข้าใจเรื่องเพศมากๆ ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกกลัวยิ่งกว่าเดิม จากนั้นเขาก็เดินตาม เดินตื้อ ไม่ยอมหยุด ทำให้เราทำงานได้ลำบากกว่าเดิม พยายามชวนเราไปกินข้าว ถามว่าเรามีแฟนหรือยัง พยายามทำความรู้จักกับเรา ทั้งที่เราไม่ต้องการ”
“เราก็เลยเลือกทำตามคำแนะนำของ บก. ก็ให้นามบัตรไปเลย เขาก็ยังตามเราไม่หยุด จนเราต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่นให้ช่วยดึงเราออกไปหน่อย กว่าจะรอดตัวก็เหนื่อย รู้สึกผวาไปเลย ขับรถกลับบ้านก็แอบกลัวคนตาม”
“หลังจากนั้น ปรากฏว่าเขาใช้เบอร์ส่วนตัวของเขา แอด Line เรามา เราไม่รู้อีกต่อไปแล้วว่าเขาได้รับคำสั่งมาแบบนี้ หรือเป็นความต้องการส่วนตัวของเขา บังเอิญช่วงนั้นมันก็มีม็อบจัดขึ้นทุกวัน เขาก็ทักมาถามเราตลอดว่ามาม็อบไหม? วันไหนบ้าง? จนเราต้องตัดเขาแล้วไม่ตอบไปเลย”
“สุดท้าย มันเกือบกลายเป็นทรอม่า (Trauma – ความเจ็บป่วยทางจิตใจ) ทุกครั้งที่เราไปม็อบ เราก็ต้องมามัวระแวงว่าจะเจอเขาที่ม็อบหรือเปล่า กลัวมาก หลอนเป็นสัปดาห์ จากนั้นเขาก็หายไปนาน วันดีคืนดี อยู่ๆ เขาก็ทักมาบอกเราว่า ‘เนี่ย พี่ออกจากทหารแล้วนะ’ เราก็เลยเลือกที่จะบล็อคไลน์เขาเพื่อตัดการสื่อสาร”
แนนยอมรับว่า แม้เหตุการณ์คุกคามนี้จะเกิดขึ้นมานานนับปีแล้ว แต่เธอก็ยังหลงเหลือความรู้สึกบางอย่างที่ไม่สามารถก้าวผ่านได้
“สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา มันไม่ได้รุนแรงจนถึงขั้นที่เราต้องหาจิตแพทย์ แต่มันทำให้เรารู้สึกไม่พอใจ ในช่วงแรกๆ ที่เกิดเรื่องขึ้น เรากลายเป็นคนที่ระแวง คอยดูรอบข้างว่ามีใครคอยตามมาหรือเปล่า”
“ทุกวันนี้ แม้เรื่องมันจะผ่านมาค่อนข้างนานแล้ว แต่เวลาเห็นใครหัวเกรียนแล้วใส่แมสก์ แล้วหน้าตาคล้ายๆ กัน เราจะแอบรู้สึกเย็นวาบทุกครั้ง”
“พอย้อนกลับไปมอง เราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมตัวเองต้องทำใจกล้า รักษามารยาทจนเกินไป แล้วเราก็เซ็งที่เราไม่โวยวายตั้งแต่ตอนนั้น ตอนนี้ ถ้าจะไปถามหาต้นสังกัดเขา มันก็คงจะช้าไปแล้ว แต่ตอนนั้น ไม่ว่าเราจะมองไปทางไหน มันก็ไม่ได้มีใครที่รับเรื่องร้องเรียนการคุกคามในรูปแบบนี้”
.
.
ทนายเมย์ – พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความท้าทายในการทำงานของทนายความหญิง นอกจากเรื่องความยากและความซับซ้อนของรูปคดี ยังมีเรื่องทัศนคติของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งโดยมากเป็นผู้ชาย การลงพื้นที่หน้างานและต้องประสานงานกับเจ้าหน้าที่ บ่อยครั้งก็หลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งบางอย่างไม่ได้
สำหรับทนายเมย์ ในฐานะเจ้าหน้าที่ทนายความของศูนย์ทนายฯ เธอได้เล่าเรื่องราวการละเมิดที่เกิดขึ้นกับเธอ 2 กรณีด้วยกัน ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างที่เธอปฏิบัติหน้าที่ให้ความช่วยเหลือลูกความ ในขณะที่อีกกรณีเกิดขึ้นขณะที่เธอพยายามเข้าเยี่ยมลูกความรายหนึ่งที่เรือนจำชั่วคราวรังสิต
“ครั้งหนึ่งช่วงที่มีการจับกุมหลายๆ วันติดกันเมื่อปลายปีที่แล้ว ผู้ต้องหาเกือบทุกรายถูกส่งไปดำเนินคดีที่ บก.ตชด. จังหวัดปทุมธานี พอเราเดินทางไปถึง บก.ตชด. ก็มีเจ้าหน้าที่รายหนึ่งซึ่งเราโต้เถียงด้วยเรื่องการปกป้องสิทธิของลูกความ เรายืนยันว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิยึดมือถือผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่รายนั้นเขาก็ไม่พอใจ ลักษณะเอาแขนมาชนแขนเรา พูดว่า ‘ทำไมไม่ช่วยพี่เลย’ ซึ่งเราก็รู้สึกไม่โอเค ไม่ได้สนิทกัน อยู่ๆ ก็เข้ามาแตะเนื้อต้องตัวเรา”
“อีกกรณีคือตอนที่เราไปที่เรือนจำชั่วคราวรังสิต มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้ามาถามเราว่า เรามีแฟนหรือยัง? เรารู้สึกว่า ประเด็นนี้มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับงาน แม้เขาอาจจะพยายามเป็นมิตรก็ตาม แต่มันก็ด้วยแนวคิด กรอบคิดเก่าๆ แบบที่ผู้ชายเป็นใหญ่ เราก็เลยพูดกลับไปตรงๆ ว่า ‘พี่ไม่ควรจะถามแบบนี้’”
นอกจากเรื่องการทำงาน ทนายเมย์ยังได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องของการละเมิดหรือคุกคามด้วยเหตุแห่งเพศ กรณีที่เกิดขึ้นกับนักกิจกรรมที่เป็นผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่หรือคนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้เพิ่งจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในช่วงเวลาไม่นาน จากที่เคยหลบอยู่ในมุมมืดของสังคมตลอดมา
“สมัยก่อน ผู้หญิงอาจจะไม่ได้ถูกสนับสนุนให้พูดเรื่องสิทธิของตัวเองมากเท่าในสมัยนี้ สมัยนี้มันมีองค์ความรู้ มีการอธิบายเรื่องสิทธิของผู้หญิงในหลายรูปแบบ มันทำให้ผู้หญิงกล้าออกมาพูดเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวเองมากขึ้น แล้วมันก็ทำให้คนที่ไม่เข้าใจมองนักกิจกรรมผู้หญิงหลายคนว่า เป็นคนเรื่องเยอะ นี่คืออย่างแรกที่พวกเธอถูกตีตรา”
“อีกอย่างหนึ่ง ถ้าเทียบกันระหว่างนักกิจกรรมผู้หญิงกับนักกิจกรรมผู้ชาย พอเป็นนักกิจกรรมหญิง มันกลายเป็นว่ามักถูกโจมตีในประเด็นเรื่องทางเพศด้วย มากกว่าผู้ชายที่โดนเรื่องอุดมการณ์อย่างเดียว”
“สมมติว่า คุณเป็นนักกิจกรรมหญิงแล้วต้องการเสนอประเด็นอะไรบางอย่าง ก็มักจะโดนคนเข้ามาคอมเมนท์โลมเลียทางเพศ หรือแม้กระทั่งกรณีที่มีนักกิจกรรมหญิงรายหนึ่งซึ่งถูกละเมิดด้วยการเผยแพร่คลิปส่วนตัว นอกจากจะถูกละเมิดโดยคนกระทำแล้ว ยังถูกคนหยิบเอาเรื่องนี้มาใช้โจมตี ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ไม่เป็นผลดีกับวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่พวกเรากำลังสร้างอยู่ด้วย”
.
.
“เพชร” ธนกร ภิระบัน – นักกิจกรรมเยาวชนและผู้มีความหลากหลายทางเพศ
ในช่วงปลายปีที่แล้ว เพชรเริ่มต้นเส้นทางการเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองของเธอ จากการขึ้นปราศรัยในการชุมนุมเล็กๆ ในปริมณฑล จนเมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น ประเด็นที่เธอหยิบยกขึ้นมาถกเถียงเริ่มมีความแหลมคม และเป็นประเด็นที่สัมพันธ์กับโครงสร้างทางสังคมอย่างแนบแน่น อย่างเรื่องของสถาบันกษัตริย์ เธอจึงก้าวเข้าสู่สนามปราศรัยในการชุมนุมใหญ่หลายครั้งในกรุงเทพฯ
ทว่าผลที่เธอได้รับกลับเป็นคดีความจำนวนมาก ทั้ง ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, มาตรา 116 ป.อาญา ก่อนจะไต่ระดับไปจนถึงมาตรา 112
เนื่องจากช่วงเวลาที่เพชรเริ่มเคลื่อนไหว เธอยังคงเป็นเยาวชน อายุไม่ถึง 18 ปี กระบวนการอย่างหนึ่งที่เธอต้องเข้าร่วมในศาลเยาวชนฯ นั่นก็คือการต้องเข้าพบนักสังคมสงเคราะห์ หรือแม้แต่นักจิตวิทยา และจะต้องมีการทำแบบประเมินอีกหลายครั้งหลายตอน แต่มีคำถามหนึ่งที่ยังคงติดอยู่ในความรู้สึก
“วันที่ไปศาลเยาวขนฯ แล้วต้องพบนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ เขาจะมีแบบสอบถามให้เราทำ แล้วมันมีอยู่คำถามหนึ่งที่เราสะดุด เป็นคำถามประมาณว่า ‘เคยมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันไหม?’ นี่คือประสบการณ์ที่เราเจอ”
“เราก็คุยกับเขาว่า ทำไมต้องถามคำถามนี้ ไม่ตอบได้ไหม เพราะรู้สึกว่ามันไม่โอเค ถ้ามันเป็นคดีที่เกี่ยวกับประเด็นเรื่องเพศ เรายังพอเข้าใจนะ แต่การที่เขาถามเราในคดีที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง เราไม่แน่ใจว่าเขาต้องการสื่ออะไร เราก็เลยเลือกที่จะไม่ตอบ”
คำถามดังกล่าวก่อเกิดเป็นคำถามอื่นๆ อีกหลายคำถาม เพราะในการทำแบบสอบถามหลายครั้งต่อมา เธอก็ไม่ได้เจอคำถามในลักษณะเดียวกันอีก แต่เป็นการถามกว้างๆ ไม่ได้ชี้ชัด
ความไม่สม่ำเสมอดังกล่าว สะท้อนอะไรให้เราเห็นกันแน่?
“การที่เขาถามคำถามเราแบบนี้มันก็เหมือนกับเขาพยายามบอกว่า การเป็น LGBTIQ+ ในสายตาของเขา อาจจะมีบางอย่างที่ผิดปกติหรือเปล่า? มันเป็นเหตุที่นำไปสู่การกระทำผิดเหรอ? แต่บางแบบฟอร์มที่เราเคยทำหลายๆ ครั้ง มันก็ไม่ได้มีการถามคำถามนี้ อาจจะถามแบบกว้างๆ ว่าเคยมีเพศสัมพันธ์ไหม ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นกับเพศไหน”
.
.
“มายมิ้น” ศุกรียา วรรณายุวัฒน์ – แนวร่วมกลุ่มกลุ่มเสรีเทยพลัส
หนึ่งในหมุดหมายใหม่ของการเคลื่อนไหวในปี 2563 นั่นก็คือการที่คนจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างเข้มข้น มายมิ้นเองก็เป็นหนึ่งในนักกิจกรรมที่เริ่มต้นเคลื่อนไหวอย่างจริงจังเมื่อช่วงปีที่แล้ว พร้อมกับกลุ่มเพื่อนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ภายในนามกลุ่ม #เสรีเทยพลัส เธอได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเพื่อนของเธอ ผู้ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามเข้าหาเพื่อสืบข้อมูล และมีการใช้คำพูดบางอย่างซึ่งสะท้อนชัดเจนถึงอคติทางเพศ
“เรื่องนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ในสายตาคนอื่น แต่ด้วยความที่เราทำงานเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ มันเป็นความรุนแรงที่สัมผัสได้ แต่ในสายตาบางคนมันอาจจะไม่ได้รู้สึกว่ามันรุนแรงขนาดนั้น แต่เราก็อยากเลือกที่จะพูดเรื่องนี้”
“ช่วงแรกๆ ที่เราเข้ามาเป็นนักกิจกรรมหน้าใหม่ ยังไม่มีตำรวจคนไหนรู้จักเรา ทีนี้พอจะจัดม็อบ ก็จะต้องแจ้งเรื่องกับทาง สน. ในพื้นที่รับผิดชอบ ตำรวจก็เลยจะมีไลน์ส่วนตัวของเรา จนพอจัดม็อบเสร็จ ทางตำรวจเขาก็ทักไลน์มาชวนเราไปกินข้าว กินเบียร์กันต่อ”
“ถ้าอ่านเอกสารของตำรวจ นี่คือรูปแบบการทำงานในทางลับของเขา คือพาคนที่ต้องจับตา คนที่นายสั่งมาให้ติดตามไปเลี้ยง เราก็พากันไปทั้งทีม แล้วทีนี้มีเพื่อนคนหนึ่งที่ไปด้วยกัน ซึ่งเขาเป็น LGBTIQ+ มีความออกสาวหน่อยๆ ตำรวจก็เข้าหา พยายามหยอกล้อเพื่อนเราในเชิงชู้สาว หลังจากวันนั้นก็ยังทักหาเพื่อนเราเรื่อยๆ ชวนไปทำอะไรกัน กินอะไรกันต่อนอกรอบ”
“เพื่อนเรารู้สึกอึดอัด เพราะเขาไม่อยากคุย ตำรวจนายนั้นยังส่งข้อความมาอีกว่า ‘เนี่ย ผู้ชายหาไม่ได้ง่ายๆ นะ’ ‘ยิ่งเป็นตำรวจด้วยนะ’ เขายังส่งรูปเครื่องแบบมาให้เพื่อนเราดูอีกด้วย”
“มันเห็นชัดเจนมาก ตำรวจเลือกที่จะเข้าทางเพื่อนเรา เพราะมองว่าอาจจะง่ายกว่าหรือเปล่า? เหมือนเอาผู้ชายมาล่อ เขามองว่าคนที่เป็น LGBTIQ+ อาจจะมีความต้องการมากกว่าคนอื่นหรือเปล่า? วิธีการสื่อสารของเขา มันทำให้เรารู้สึกแบบนั้น ยิ่งตอนที่ไปกินเบียร์ด้วยกัน เขาก็จะใช้คำพูดแบบ ‘ไหนเอาน้องคนนั้นมานั่งกับพี่หน่อยซิ’ ทำกับเพื่อนเราเหมือนว่าเขาเป็นเด็กดริ้งค์ ประมาณนั้น”
.
.
“ซัน” วัชรากร ไชยแก้ว – แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
สำหรับคนรุ่นใหม่ เจเนอเรชั่น ซี (Generation Z) โลกของพวกเขาไม่ได้ถูกกำหนดแค่คำว่า ”ชาย” หรือ “หญิง” อีกต่อไป การแต่งกายและการแสดงออกทางเพศสามารถลื่นไหลได้ไร้ขอบเขต และเป็นความเท่าเทียมอย่างหนึ่ง ที่อาจยังไม่ได้รับความเข้าใจจากสังคมมากนัก
สำหรับซัน ฝ่ายวิชาการของกลุ่ม #แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ผู้นิยามตัวเองว่าเป็นเควียร์ (คนที่ไม่ต้องการถูกนิยามเพศชัดเจน) และเลือกที่จะแสดงออกผ่านเสื้อผ้าที่ผสมผสานระหว่างความเป็นชายและความเป็นหญิง สิ่งที่เขาต้องเผชิญเมื่อต้องก้าวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมซึ่งยังคงมีความอนุรักษ์นิยม อย่างแรกที่สุดเลยนั่นก็คือความ “ไม่เข้าใจ” ในความแตกต่างหลากหลายในการแสดงออก และนั่นนำไปสู่การใช้คำพูดบางอย่างที่สะท้อนอคติทางเพศ
“เรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนที่เราโดนคดีจากการอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมัน ทำให้เราต้องไปที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ หลายนัดมาก แล้วมีอยู่ครั้งหนึ่ง เราขอเขาไปห้องน้ำ ก็ไปเข้าห้องน้ำชาย พนักงานสอบสวนก็ทักเราว่า ‘อ้าว เราเป็นผู้ชายเหรอ เหมือนผู้หญิงจัง ไม่ใช่ผู้หญิงเหรอ’ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องที่ควรจะเอามาพูด เอามาถามกัน”
“การที่เขาทักแบบนี้มันสะท้อนให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม เริ่มตั้งแต่พนักงานสอบสวน ตั้งแต่ชั้นตำรวจ พวกเขายังขาดความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางเพศและสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกาย ทั้งๆ ที่การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มันควรเป็นกระบวนการที่ประกอบด้วยสหวิชาชีพ คนในกระบวนการนี้จำเป็นต้องมีความเข้าใจหลากหลาย”
“แง่หนึ่ง เราคิดว่าเราเข้าใจถึงความไม่เข้าใจของเขา ว่าทำไมเขาถึงเลือกที่จะพูดไปแบบนั้น แต่สังคมมันทำงานแบบนั้นไม่ได้ ถึงเราจะรู้สึกว่าเราเข้าใจ แต่มันก็กระทบความรู้สึกด้วย ไม่ใช่ว่าเราแต่งกายแบบนี้จะต้องเป็นไปตามภาพจำแบบนั้น ไม่ใช่ว่าแต่งตัวแบบนี้แล้วจะหมายความว่า เราอยากเป็นผู้หญิง มันสะท้อนว่าเจ้าหน้าที่ยังก้าวไปไม่ทันโลก ที่จริงเราอาจจะต้องบรรจุเรื่องนี้ลงไปในการปฏิรูปตำรวจ เพราะมันมีหลายมิติมากที่คนได้รับผลกระทบ”
.
.
ทนายเกล้า – คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายประจำฝ่ายคดีเยาวชนของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 จนถึงขณะนี้ ซึ่งเข้ากลางเดือนกันยายน เกิดปรากฏการณ์การชุมนุมอย่างต่อเนื่องของกลุ่ม #ทะลุแก๊ส ที่บริเวณแยกดินแดง เป็นผลให้เยาวชนและผู้เข้าร่วมในการชุมนุมถูกจับกุมดำเนินคดีมากถึงกว่าสองร้อยราย
ในกรณีที่มีผู้ถูกจับกุมจำนวนมาก หลายมาตรการถูกนำมาใช้อย่างไม่ได้สัดส่วน และมีอยู่กรณีหนึ่งด้วยกันที่สะท้อนชัดเจนว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจขาดความเข้าใจเรื่องสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของผู้ที่ถูกจับกุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคนๆ นั้นเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ
นี่คือสิ่งที่ทนายคุ้มเกล้า ทนายประจำศูนย์ทนายฯ พบเจอจากการปฏิบัติงาน
“ในเคสนี้ เราได้รับแจ้งจากทางทนายอาสาที่ลงไปให้ความช่วยเหลือทางคดีที่ บช.ปส. ว่ามีน้องคนหนึ่งซึ่งถูกจับใน #ม็อบ10สิงหา อยู่ในกลุ่มเด็กผู้ชายทั้งหมด น้องคนนี้โดยภาพลักษณ์ แต่งตัวเหมือนเด็กผู้ชาย ไว้ผมสั้น แต่จริงๆ น้องเขาเป็นเพศหญิง เป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลาทางเพศ”
“ณ ขณะที่ถูกจับกุม กลุ่มผู้ทำการจับกุมคือเจ้าหน้าที่ คฝ. ซึ่งเป็นผู้ชาย เขาได้จับน้องถอดกางเกง อาจจะเป็นการถอดเพื่อดำเนินการในการตรวจค้น แต่อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควรที่จะปฏิบัติต่อผู้ที่ถูกจับกุม คุมตัว ในรูปแบบนั้น”
“เรื่องนี้สะท้อนให้เราเห็นถึงปัญหาเกี่ยวกับแนวคิดหรือวิธีการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ คฝ. เพราะอย่างเวลาที่เจ้าหน้าที่เขาฝึกซ้อมกัน อย่างเวลาจับ ถ้าเป็นผู้ชายก็จะใช้เจ้าหน้าที่ผู้ชายจับ ถ้าเป็นผู้หญิงก็ให้ผู้หญิงทำการควบคุมหรือจับ อย่างการใช้กองร้อยน้ำหวาน เป็นต้น”
“แต่ในเคสของน้องๆ ม็อบทะลุแก๊ส แม้ว่าโดยภาพรวมส่วนใหญ่ เด็กและเยาวชนที่ไปรวมตัวกันชุมนุมที่นั่นจะเป็นผู้ชาย แต่ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าคนที่ถูกจับ ถูกค้น จะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ตาม การที่จะไปตรวจค้นด้วยการถอดกางเกง มันก็เป็นเรื่องที่ไม่สมควร ไม่ว่าเขาจะเป็นเพศอะไร”
“พฤติกรรมแบบนั้นมันเป็นการไม่เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขา มันเป็นการทำให้ผู้ถูกจับอับอาย เป็นการประจาน ที่สำคัญคือถ้าเป็นเด็ก การจะทำการจับหรือค้น ต้องเป็นการกระทำที่เป็นไปโดยละมุนละม่อม คำนึกถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขา ต้องไม่มีลักษณะเป็นการประจานเด็กอย่างในกรณีนี้”
.
.
“ทาทา” ศิริ นิลพฤกษ์ – นักกิจกรรมทางการเมืองและผู้มีความหลากหลายทางเพศ
การใช้คำพูดคุกคามทางเพศเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปในสังคม แต่เมื่อคำพูดดังกล่าวหลุดออกมาจากปากของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้รักษากฎหมาย ก็น่าตั้งคำถามว่า สังคมที่พวกเรากำลังอยู่ในตอนนี้นั้นเป็นสังคมแบบไหนกันแน่?
ทาทา คือนักกิจกรรมทางสังคมที่ต่อสู้เรื่องสิทธิของคนไร้บ้าน ผู้ผันตัวเข้ามาเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย เธอได้สะท้อนเรื่องราวหนึ่งที่เกิดขึ้นกับเธอเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2563 ในการชุมนุมต่อเนื่องที่แยกราชประสงค์ เธอได้พบเจอกับการใช้คำพูดบางอย่างของเจ้าหน้าที่ ซึ่งแทนที่จะทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างที่ควรจะเป็น แต่กลับใช้คำพูดในเชิงคุกคามทางเพศต่อผู้ชุมนุม ซึ่งยังเป็นเพียงเด็กผู้หญิงเท่านั้น
“เริ่มต้นคือ วันนั้นกลุ่ม คฝ. เขาจะวางกำลังกันอยู่กันช่วงศาลพระพรหม เอราวัณ ขณะที่เรายืนอยู่กับกลุ่มน้องผู้หญิงกลุ่มหนึ่ง ซึ่งทุกคนมารวมตัวกันเป็นแบริเออร์มนุษย์ เพื่อจะกันรอบนอกที่ชุมนุมไว้”
“ต่อมา เราได้ยินคำสั่งของตำรวจชั้นผู้ใหญ่ สั่งให้เคลียร์พื้นที่ คฝ. เขาก็เริ่มประชิดเข้ามา แต่แบริเออร์มนุษย์ก็ยังอยู่ ตอนที่เราอยู่ข้างหน้ากับน้องๆ ขนาบซ้ายขวา เราได้ยิน คฝ. ราว 3 คน คุยกันเกี่ยวกับเราว่า ‘นมปลอมหรือนมจริง?’ เขากระซิบกันข้างหู แต่เราได้ยิน”
“เขาไม่ได้พูดกันเฉยๆ แต่พูดไปหัวเราะไป ในขณะเดียวกัน น้องที่ยืนข้างๆ เรา คฝ. ก็พูดถึงสรีระของน้องเขาว่า ‘เอ้ย นมใหญ่จัง’ พูดประมาณนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่เราที่ได้ยิน แต่ตรงนั้นก็มีหลายคนที่ได้ยิน แล้วเขาก็ยิ้มมุมปาก หัวเราะ”
“ในฐานะของนักสิทธิ นั่นคือการคุกคามทางเพศ เราก็ตะโกนตอบไปว่า ‘ที่พี่พูดอย่างนั้นมันเป็นการคุกคามทางเพศน้องเขานะ’ เขาก็เลยหันมา แต่เราก็ไม่ได้เอาเรื่องอะไร เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัยของน้องๆ ที่อยู่กับเรา”
“ส่วนตัวเราค่อนข้างเข้มแข็งพอในการตอบโต้ แต่พอได้ฟังอย่างนั้น เราไม่โอเค แต่ก็พยายามเก็บอารมณ์ไว้ ไม่อยากที่จะพูดโต้แย้งจนทำให้เกิดอันตรายกับน้องๆ ส่วนน้องผู้หญิงที่ได้ยิน เขาก็หน้าเจื่อนเลย”
“การใช้คำพูดอย่างนี้ของเจ้าหน้าที่ มันสะท้อนว่าเขาไม่ได้เข้าใจเรื่องสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของคนอื่น ทั้งยังมีความคิดแบบชายเป็นใหญ่ พอเขาคิดแบบนี้ มันทำให้เขาไม่รู้สึกผิดกับคำพูดที่ออกมาจากปากเขา มันเป็นคำพูดที่เขาอาจจะพูดจนเคยชินเป็นปกติ แต่มันคือการคุกคามในรูปแบบหนึ่ง ต่อให้คุณไม่ได้ใช้อาวุธตีก็ตาม”
.