เปิดคำสั่งไม่ฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลำปาง ชี้ชุมนุมพื้นที่โล่งแจ้ง ผู้ชุมนุมสวมหน้ากาก ไม่พบการติดเชื้อไวรัส

หลังจากเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 64 พนักงานอัยการคดีศาลแขวงลำปางแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องคดีของพินิจ ทองคำ, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “บอล” ธนวัฒน์ วงค์ไชย และ อานนท์ นำภา ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีการชุมนุม #ลำปางรวมการเฉพาะกิจ ซึ่งจัดขึ้นบริเวณสวนสาธารณะห้าแยกหอนาฬิกา อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 63 โดยพนักงานสอบสวนสภ.เมืองลำปางได้แจ้งกับพินิจหนึ่งในผู้ต้องหา สั้นๆ ถึงเหตุผลที่ไม่ฟ้องคดีว่า พยานหลักฐานไม่เพียงพอจะฟ้องได้

>> อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุม #ลำปางรวมการเฉพาะกิจ เป็นคดีแรก

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 64 พินิจ ทองคำ นักศึกษาวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง หนึ่งในผู้ต้องหาคดีนี้ ได้เข้าติดต่อขอทราบและรับสำเนาเอกสารคำสั่งไม่ฟ้องคดี ที่มีรายละเอียดเหตุผลในการไม่ฟ้องของทางอัยการเพิ่มเติม โดยได้ยื่นคำร้องขอสำเนาเอกสารที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงลำปาง และได้รับเอกสารคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการมาในที่สุด

คำสั่งไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการคดีนี้ลงวันที่ 3 มีนาคม 2564 ลงนามโดยนายณัฐนนท์ ไวปัญญา อัยการจังหวัดผู้ช่วย ปฏิบัติราชการแทนอัยการจังหวัดคดีศาลแขวงลำปาง มีเนื้อหาระบุว่า

“พิจารณาแล้ว จากพยานหลักฐานรูปถ่ายสถานที่เกิดเหตุบริเวณข่วงนคร ห้าแยกหอนาฬิกา ซึ่งเป็นสวนสาธารณะ มีลักษณะเป็นลานกว้าง โล่งแจ้ง ไม่มีลักษณะเป็นสถานที่แออัด อันจะมีลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่กําลังระบาดอยู่ในประเทศไทยในช่วงเวลาเกิดเหตุแต่อย่างใด

“อีกทั้งมีภาพถ่ายของผู้ที่มาร่วมชุมนุมส่วนใหญ่มีการป้องกันโรคติดต่อ ด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัย ยืนและนั่งกระจายกันตามจุดต่างๆ ไม่มีลักษณะแออัด ที่เบียดเสียดใกล้ชิดกันแต่ประการใด และในการชุมนุมมีการประสานกับเจ้าหน้าที่จัดกิจกรรมในระยะเวลาที่ไม่นาน เนื้อหาปราศรัยส่วนใหญ่โจมตีการบริหารงานของรัฐบาล มีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพ ที่มีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่มีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานใดที่ชัดว่ามีการยุยงปลุกปั่น หรือกระทําการใดๆ เพื่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองแต่อย่างใด

“เมื่อพิจารณาจาก รายงานหรือสถิติผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ในท้องที่จังหวัดลําปาง ตามหนังสือของ ศาลากลางจังหวัดลําปางที่ ลป 0032/23631 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 (เหตุในคดีเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 กรกฏาคม 2563) ไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในท้องที่จังหวัดลําปางแต่อย่างใด

“คดีนี้ ผู้ต้องหาทั้งสี่ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทําความผิดตามข้อกล่าวหาในคดีนี้ พยานหลักฐานในคดียังมีไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าผู้ต้องหาทั้งสี่ร่วมกันกระทําความผิดตามข้อกล่าวหาในคดีนี้ คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้องผู้ต้องหาทั้งสี่ในคดีนี้

“จึงสั่งไม่ฟ้องนายพินิจ ทองคำกับพวกรวม 4 คน ในข้อหา ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมการทํากิจกรรม หรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทํา การดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย การชุมนุมการทํากิจกรรมหรือมั่วสุมในลักษณะที่ เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค

“ตามพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9, 18 ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 15 มีนาคม 2563 ข้อ 5, 15 และตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83”

 

 

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค. 64 ซึ่งตัวแทนผู้ต้องหาได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการจากพนักงานสอบสวน สภ.เมืองลำปาง ก็ได้ถือว่าคดีเป็นอันสิ้นสุดแล้ว เพียงแต่การติดตามเอกสารทางคดีเป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่จะได้รับทราบรายละเอียดและเหตุผลประกอบคำสั่ง

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีนี้นับเป็นคดีแรกที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมือง อย่างเด็ดขาด ตั้งแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นต้นมา โดยก่อนหน้านี้คดีจากการชุมนุมทางการเมืองหลายคดี ได้ทยอยถูกสั่งฟ้องต่อศาล

ตั้งแต่ 26 มี.ค. 63 – 31 มี.ค. 64 มีผู้ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 457 คน ในจำนวน 136 คดี แล้ว โดยในการชุมนุมที่ถูกกล่าวหาทั้งหมดยังไม่มีรายงานการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เกิดขึ้นแต่อย่างใด

>> 1 ปี สถานการณ์ฉุกเฉินรับมือโควิด: ผลกระทบต่อเสรีภาพในการชุมนุม

>> มีนาคม 64: เดือนเดียวผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองเพิ่มเกือบ 200 ราย ยอดพุ่งไปอย่างน้อย 581 คน ใน 268 คดี

 

X