สำนึกของสิรภพ ประชาชนผู้ขัดขืนอำนาจของคณะรัฐประหาร

1

เรื่องเล่าและภาษิตเกี่ยวกับกฎหมายที่สังคมยึดถือ

“การฝ่าฝืนกฎหมาย”หรือ“การถูกลงโทษโดยกฎหมาย”เป็นเครื่องมือสำคัญของสังคมที่ถูกใช้ในการสร้างตราบาปให้กับผู้ต้องหา จำเลยหรือผู้ถูกลงโทษว่าเป็นพวกคนเลวและเป็นภัยกับสังคม เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะมีเรื่องเล่าที่สำคัญเกี่ยวกับกฎหมายที่คนในสังคมยึดถือกันว่า กฎหมายคือภาพตัวแทนของประโยชน์ส่วนรวมหรือเป็นเกราะกำบังสังคมจากสิ่งเลวร้ายและความวุ่นวาย แต่เช่นเดียวกับเรื่องเล่าอื่นๆ เรื่องเล่าเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้มันสามารถถูกโต้แย้งหรือถูกท้าทายได้

“กฎหมายคือกฎหมาย”เป็นภาษิตสำคัญที่นักกฎหมายยึดถือกันเพื่อต้องย้ำให้เป็นเห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์และอำนาจในการบังคับของสิ่งที่เรียกว่ากฎหมายที่ปราศจากข้อยกเว้น กฎหมายจึงต้องถูกเชื่อฟังเพราะเป็นกฎหมาย ด้วยเพราะเรื่องเล่าและภาษิตเช่นว่านี้ทำให้ประชาชนหรือแม้แต่นักกฎหมายไม่อาจต่อสู้ขัดขืนกฎหมายได้ ต่อให้กฎหมายดังกล่าวมีเนื้อหาเป็นไปอย่างอำเภอใจและก่ออาชญากรรมด้วยกฎหมายก็ตาม

2

การฝ่าฝืนกฎหมาย คือ ทางเลือก ?

ภายหลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช. ได้ออกคำสั่งเรียกบุคคลอย่างเป็นทางการจำนวน 37 คำสั่ง รวมผู้ถูกเรียกตัวจำนวน 472 รายชื่อ ให้เข้ารายงานตัวกับ คสช. และมีการออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 ขึ้นมากำหนดโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับ 40,000 บาทกับบุคคลที่ไม่ยอมมารายงานตัวตามคำสั่งของคสช.ปรากฏว่าคนที่ถูกเรียกจำนวนมากก็เลือกที่จะยอมปฏิบัติตามโดยดี แต่ยังมีบางคนที่เลือกจะไม่เชื่อฟังคำสั่ง ทำให้ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัว บางคนเลือกที่จะรับสารภาพ แต่หลายคนก็เลือกที่จะยืนยันความเชื่อของตนที่มีกฎหมายของ คสช. ผ่านการสู้คดีในกระบวนการยุติธรรมโดยหนึ่งในนั้นคือ นายสิรภพ ซึ่งศาลทหารกรุงเทพนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 เวลา 8.30 น.นี้

สำหรับบางคน สำนึกที่เขาหรือเธอมีต่อกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับมิได้เป็นไปตามเรื่องเล่าที่สังคมเชื่อหรือยึดถือตามภาษิตข้างต้น อีกทั้งเขาหรือเธอเหล่านั้นก็มิได้ยอมรับตราบาปต่างๆที่สังคมมอบให้ จนทำให้เขาหรือเธอเหล่านั้นสามารถมองออกไปในมุมต่างอีกว่าแท้จริงนั้นการฝ่าฝืนกฎหมายของคสช.อาจจะมีความหมายเพื่อรักษาไว้ซึ่งหลักการที่ควรจะมีในสังคมประชาธิปไตยเอาไว้ก็เป็นได้

3

‘สิรภพ’ เป็นใคร ?

นายสิรภพ เป็นชื่อของชายอายุราว 50 ปี มีอาชีพรับเหมาก่อสร้างแต่ชื่อ “รุ่งศิลา” เป็นชื่อที่เขาใช้เขียนบทความเกี่ยวกับทหารและกาพย์กลอนการเมืองลงโซเชียลเน็ตเวิร์ค

หากลองสำรวจผลงานกาพย์กลอน “เติบโตจากพ่ายแพ้” “แสงดาว ก้าวย่าง” “ศาลนรก” และ “จิตวิญญาณนักสู้” ที่เขาแต่งขึ้นจากในเรือนจำพิเศษกรุงเทพคงจะพบว่าสิรภพมองเห็นตัวเองว่าเป็นผู้ยืนหยัดในความเชื่อและอุดมการณ์ของตัวเองอย่างเด็ดเดี่ยวไม่ว่าบนเส้นทางดังกล่าวจะต้องเผชิญกับความยากลำบากในชีวิตจากอำนาจเถื่อน ศาลและคุกเพียงใดก็ตาม

อุดมการณ์ชนิดใดกันที่สิรภพมองว่าตัวเองยืนหยัดเพื่อมัน สามารถหาคำตอบได้จากคำที่เขาใช้ในบทกวี “แด่…เจ้านกน้อยสีแดง” ที่สั้นแต่เปี่ยมด้วยความหมายว่า “นกน้อยสีแดง”และ“เสรี”

4

สิรภพกับคดีฝ่าฝืนคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว

คดีนี้เริ่มจากเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2557 เพียงไม่กี่วันหลัง คสช. ทำรัฐประหาร ชื่อของนายสิรภพได้ปรากฏเป็นหนึ่งในหลายชื่อในคำสั่ง ฉบับที่ 44/255 ที่ประกาศออกทางโทรทัศน์เรียกให้เข้ารายงานตัวที่ห้องจามจุรี สโมสรทหารบก เทเวศน์ ในวันที่ 3 มิถุนายน 2557 แต่นายสิรภพก็ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งแต่อย่างใด

จนกระทั่งวันที่ 25 มิถุนายน 2557 ระหว่างที่นายสิรภพกำลังเดินทางผ่าน จ.กาฬสินธุ์ ไปยัง จ.อุดรธานี ด้วยรถตู้เพื่อไปติดต่อขอสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR ในตอนที่รถกำลังจะเข้าเมืองกาฬสินธุ์ มีรถฟอร์จูนเนอร์ปาดหน้าและมีทหารไม่แต่งเครื่องแบบอย่างน้อย 5 นายและมีทหารจากรถอีกคันจอดประกบทางด้านหลังเจ้าหน้าที่ทั้งหมดมาพร้อมอาวุธครบมือเข้าล้อมรถไว้ ทหารบังคับให้ทุกคนในรถตู้หมอบลงกับถนนที่เปียกไปด้วยฝน ต่อมาจึงควบคุมตัวคนขับรถและนายสิรภพไปควบคุมไว้ที่หน่วยงานราชการในจังหวัดกาฬสินธุ์หนึ่งคืน จากนั้นจึงนำไปคุมตัวต่อที่ค่ายสีหราชเดโชชัย จ.ขอนแก่น 1 วัน ก่อนจะถูกส่งตัวมาควบคุมที่กรุงเทพฯจนครบ 7 วัน ตามอำนาจที่กฎอัยการศึกให้ไว้

วันที่ 15 สิงหาคม 2557 อัยการศาลทหารกรุงเทพได้ยื่นฟ้องนายสิรภพเป็นจำเลยในข้อหาฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรียกบุคคลให้มารายงานตัวที่ศาลทหารกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 40 ก./2557 คดีนี้ไม่สามารถอุทธรณ์-ฎีกาได้เพราะเกิดขึ้นขณะมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกวันที่ 8 กันยายน 2557 นายสิรภพได้ให้การปฏิเสธว่าเขาไม่ได้กระทำผิดตามที่อัยการศาลทหารกรุงเทพฟ้องและประสงค์จะต่อสู้คดี ซึ่งกระบวนการพิจารณาคดีและกระบวนการยืนยันความเชื่อและวิธีคิดของนายสิรภพจึงดำเนินเรื่อยมานับแต่นั้น

5

คณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นกบฏ กฎหมายของ คสช. จึงเป็นการกระทำของกบฏไม่ใช่กฎหมาย

แม้ว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยจำนวนหนึ่งของศาลจะยืนยันว่าคณะรัฐประหารขณะนี้มีสถานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์และมีอำนาจสมบูรณ์ที่จะออกประกาศ คำสั่งและกฎหมายมาบังคับใช้กับประชาชนเช่นไรก็ได้ แต่นายสิรภพกลับมองต่างออกไปว่ากฎหมายจะมีสภาพเป็นกฎหมายที่สามารถบังคับใช้กับประชาชนได้จะต้องเป็นกฎหมายที่ออกโดยองค์กรหรือบุคคลที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย

“การรัฐประหารมีการยกเลิกอำนาจบริหารบ้านเมืองโดยคณะรัฐมนตรีและยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 โดยมีคำสั่งและประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติออกมารองรับซึ่งข้าฯเห็นว่าเป็นการกระทำของกบฎ” และ “คำว่ารัฏฐาธิปัตย์เป็นถ้อยคำที่เสนอขึ้นเพื่อการสนองรับอำนาจเผด็จการซึ่งมาจากต่างประเทศ” นายสิรภพกล่าวต่อศาลเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2559

“คำสั่งเรียกข้าฯมารายงานตัว ข้าฯเห็นว่าไม่เป็นกฎหมาย เป็นคำสั่งที่ออกโดยคณะกบฎ” เป็นเหตุผลที่นายสิรภพให้ต่อศาลว่าทำไมเขาจึงไม่ไปรายงานตัวกับ คสช.

ไม่เข้ารายงานตัวคือการปฏิเสธการให้ความร่วมมือกับกบฏและต่อต้านรัฐประหาร

“หากข้าฯไปรายงานตัวจะเป็นการร่วมเป็นกบฏต้องรับโทษด้วย” และ “ข้าฯจึงกระทำตนอารยะขัดขืนไม่มารายงานตัวต่อทหารที่ยึดการปกครอง เนื่องจากข้าฯได้นำเสนอความคิดในการต่อต้านรัฐประหารยึดอำนาจจากประชาชนโดยตลอดและข้าฯเชื่อว่าคณะรัฐประหารจะยึดอำนาจไว้ได้ไม่นาน ข้าฯจึงเลือกที่จะปกป้องประชาธิปไตยโดยวิธีสันติอหิงสาไม่ให้ความร่วมมือกับคณะรัฐประหาร” คือถ้อยคำของนายสิรภพ

เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นกบฏ คำสั่งของ คสช. ไม่มีสถานะเป็นกฏหมาย การยอมปฏิบัติคำสั่งของคสช.จะต้องถือว่าเป็นการให้ความร่วมมือกับการทำรัฐประหารและเป็นส่งเสริมสถานะและอำนาจของคสช.ด้วย ดังนั้น การไม่ยอมปฏิบัติคำสั่งของคสช.ของนายสิรภพด้วยการนิ่งเฉยอันเป็นรูปแบบหนึ่งของอารยะขัดขืนจึงเป็นการรักษาหลักการประชาธิปไตยที่ตัวเองยึดถือไว้และเป็นการต่อต้านการรัฐประหารอีกด้วย มิใช่การมีเจตนาก่อความวุ่นวายให้สังคมตามที่ผู้มีอำนาจหรือสังคมสร้างตราบาปให้ผู้ต้องโทษแต่อย่างใด

เขาต้องเชื่อฟังคำบัญชาของผู้มีอำนาจเหนือเขา แต่เขาต้องเชื่อฟังเสียงจิตสำนึกของตนยิ่งกว่า

“ที่ข้าฯให้การในชั้นสอบสวนว่าเหตุที่ไม่ไปรายงานตัวเพราะกลัวความผิดนั้น ข้าฯไม่ได้กลัวโทษตามกฎหมายที่ไม่มารายงานตัวแต่ข้าฯกลัวว่าจะต้องรับผิดในฐานะผู้ร่วมก่อการหรือให้ความร่วมมือในการรัฐประหาร” นายสิรภพเบิกความต่อศาลเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2559

นายสิรภพถือว่าหลักการประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่เหนือกว่าบทบัญญัติใดๆแห่งกฎหมาย กฎหมายใดที่ขัดต่อหลักการดังกล่าว ย่อมนำมาบังคับใช้ไม่ได้ ไม่ว่ากฎหมายของคสช.จะมีโทษจำคุกหรือโทษปรับเพียงใดก็ไม่ก่อให้เกิดอำนาจบังคับให้นายสิรภพมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามได้ แต่กลับทำให้เกิดหน้าที่ที่จะปฏิเสธอำนาจของคณะรัฐประหารตามที่เขาเบิกความไว้ว่า“อารยะขัดขืนในความเห็นของข้าฯคือเป็นการปฏิเสธอำนาจที่ไม่ชอบ”

และสุดท้ายแล้วนายสิรภพยังได้เบิกความย้ำอีกว่า “หากมีการรัฐประหารและเรียกข้าฯให้รายงานตัว ข้าฯก็จะไม่ไป” อันเป็นวิธีการแก้ปัญหาของเขาเมื่อจะต้องเผชิญหน้ากับกฎหมายที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตยไม่ว่าอีกกี่ครั้ง ซึ่งสามารถพูดในอีกแบบหนึ่งว่านายสิรภพต้องเชื่อฟังคำบัญชาของผู้มีอำนาจเหนือเขา แต่เขาต้องเชื่อฟังเสียงจิตสำนึกของตนยิ่งกว่า และในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 ที่ศาลทหารกรุงเทพนัดฟังคำพิพากษาคดีฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของนายสิรภพนี้ ซึ่งไม่ว่าคำพิพากษาจะออกมาในรูปแบบใด โทษจำคุกหรือโทษปรับที่ถูกกำหนดขึ้นโดยศาลทหารกรุงเทพคงไม่อาจเปลี่ยนแปลงสำนึกของนายสิรภพต่อกฎหมายของ คสช. ได้

X