สิรภพ หรือรุ่งศิลา นักเขียนและกวี ถูกดำเนินคดีฐานไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหาร ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 คดีนี้อัยการทหารสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2557 ซึ่งสิรภพขอต่อสู้คดีในชั้นศาล ใช้เวลากว่า 2 ปี ศาลทหารจึงนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2559
ทนายความของสิรภพได้ยื่นคำแถลงปิดคดีขอให้ศาลทหารกรุงเทพยกฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2559 มีใจความว่า คดีนี้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย เนื่องจากคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 44/2557 สั่งให้สิรภพไปรายงานตัวที่สโมสรกองทัพบก เทเวศร์ แต่ผู้กล่าวหากลับไปแจ้งความที่กองบังคับการปราบปราม ซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจท้องที่ที่มีการกระทำผิดตามข้อกล่าวหา ทั้งคำให้การของพยานและแนวทางการสืบพยานของอัยการทหารก็ไม่ปรากฏว่า กองบังคับการปราบปรามมีอำนาจสอบสวนในคดีนี้
เมื่อพนักงานสอบสวนสอบสวนคดีโดยไม่มีอำนาจ จึงถือเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลแขวงปทุมวันเคยยกฟ้องในคดีชุมนุมต่อต้านรัฐประหารของอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ด้วยเหตุผลนี้มาแล้ว
สิรภพยังเห็นว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ที่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร ไม่มีสภาพบังคับใช้ เนื่องจากขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ไทยลงนามเป็นภาคี ในประเด็นที่บุคคลทุกคนควรได้รับการพิจารณาคดีอาญาอย่างเป็นธรรมและเปิดเผย โดยศาลและตุลาการที่มีอิสระและเป็นกลาง รวมถึงมีสิทธิที่จะอุทธรณ์การลงโทษหรือคำพิพากษาต่อศาลชั้นสูงขึ้นไป เพราะประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ขัดต่อหลักการที่ไม่นำพลเรือนขึ้นศาลทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่พลเรือนมีความขัดแย้งกับองค์กรทหารโดยตรง ตุลาการศาลทหารซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ คสช. ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ขาดความเป็นกลางในการตัดสินคดี
ทั้งนี้ ระหว่างพิจารณาคดี สิรภพได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลทหารกรุงเทพส่งสำนวนให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ศาลทหารวินิจฉัยว่าศาลทหารไม่มีอำนาจในการส่งคำร้องดังกล่าวไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่ได้มีบทกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ ให้ยกคำร้องดังกล่าว คดีนี้จึงยังคงถูกพิจารณาในศาลทหารกรุงเทพต่อไป
นอกจากนี้ สิรภพยังต่อสู้ในคำแถลงปิดคดีอีกว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557, 41/2557 ที่กำหนดโทษทางอาญาแก่บุคคลที่ไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. และคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 44/2557 ที่เรียกให้สิรภพมารายงานตัวต่อ คสช. ตราขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อหลักนิติรัฐ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงไม่มีสภาพเป็นกฎหมาย
สิรภพเห็นว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย การใช้อำนาจตุลาการซึ่งเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยจึงต้องเพื่อประโยชน์ของประชาชน และขยายขอบเขตการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ พิทักษ์รักษาระบอบประชาธิปไตยและดำรงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานการแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจระหว่างอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ โดยมีกฎหมายที่ตราขึ้นโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่การรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาบที่มาจากการเลือกตั้งโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และตั้งรัฐบาลที่มีอำนาจทั้งในทางบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการผ่านการประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหารซึ่งเป็นองค์กรในฝ่ายบริหาร โดยไม่ได้มาจากความยินยอมพร้อมใจของประชาชน เป็นการทำลายระบบกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม จนไม่สามารถเหลือสภาพความเป็นประชาธิปไตยและนิติรัฐได้
คำแถลงปิดคดีระบุว่า คณะรัฐประหาร นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ เมื่อ 20 พ.ค. 2557 โดยไม่มีเหตุตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และไม่มีพระบรมราชโองการตามที่บัญญัติในกฎหมาย จากนั้นได้ให้ทหารพร้อมอาวุธเข้าควบคุมสถานีโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อกระจายเสียงทุกชนิด ตั้งป้อมค่ายตามสถานที่ราชการ และดำเนินการที่แสดงถึงการเตรียมการเพื่อใช้กำลัง หรือขู่เข็ฐว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ซึ่งถือเป็นส่นหนึ่งของการก่อการรัฐประหาร ก่อการกบฏ หรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏ
ต่อมา คสช. ได้ยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการในวันที่ 22 พ.ค. 2557 และใช้กำลังบังคับกักขังไม่ให้แกนนำของรัฐบาลในขณะนั้นพร้อมทั้งตัวแทนจากพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองอันได้แก่ กลุ่มแนวร่วมประชาชนประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ออกนอกหอประชุมกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร อันเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย รวมถึงประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 สิ้นสุดลง
สิรภพเห็นว่า การกระทำของ คสช. เป็นการร่วมกันล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เป็นการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เป็นการใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ และล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ อันเป็นความผิดฐานเป็นกบฏภายในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ซึ่งพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ กับพวกได้ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพวก ที่ศาลอาญา
“เมื่อใดก็ตามที่รูปแบบของรัฐบาลเป็นสิ่งที่ทำลายเป้าหมายเหล่านี้ เช่น การยึดอำนาจรัฐประหารโดยกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้รับความยินยอมจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อนั้นย่อมเป็นสิทธิของประชาชนพลเมืองที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับ ต่อต้านโดยสันติวิธี หรือยกเลิกรัฐบาลนั้นเสีย รวมทั้งไม่ยอมรับบรรดาประกาศคำสั่งที่ออกโดยคณะบุคคลที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและด้วยความพร้อมใจของประชาชนนั้น หลักการในการต่อต้านโดยสันติวิธี และการอารยะขัดขืนต่อคณะรัฐประหารดังกล่าวมีลักษณะเป็นสากล เป็นหลักยุติธรรมตามธรรมชาติ”
คำแถลงปิดคดียังชี้ให้เห็นว่า คำสั่งให้สิรภพมารายงานตัวต่อคณะรัฐประหารเป็นส่วนหนึ่งของการรัฐประหาร จึงเป็นกฎหมายหรือคำสั่งที่ขัดต่อหลักกฎหมายธรรมชาติ ไม่สามารถบังคับใช้ได้ ที่สิรภพไม่ไปรายงานตัวจึงเท่ากับอารยะขัดขืนต่อคณะรัฐประหาร มิใช่การกระทำความผิดตาม “กฎหมาย” หรือหลักการแห่งกฎหมาย ในความหมายที่เป็นกฎหมายอย่างแท้จริง
“กระบวนการยุติธรรมอันเป็นเสาหลักของบ้านเมืองจึงไม่ควรไปยอมรับ หรือรับใช้ต่อหลักการอื่นอันมิได้เป็นไปตามหลักนิติรัฐ และหลักความยุติธรรมแห่งกฎหมายที่มีโดยธรรมชาติ ซึ่งหากกระบวนการยุติธรรมอันนับแต่ชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน อัยการ และศาลอันเป็นปลายทางและเป็นปราการสุดท้ายของกระบวนการยุติธรรมไปรับใช้อำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชนแล้ว กระบวนการยุติธรรมก็จะกลายเป็นกระบวนการอยุติธรรมแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจนกลายเป็นบ่าวรับใช้ต่ออำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน”
สิรภพเห็นว่า หากตุลาการยอมรับว่า คสช. เป็นรัฏฐาธิปัตย์ หรือยอมรับว่าคณะบุคคลที่ก่อการรัฐประหารมีอำนาจสามารถออกประกาศคำสั่งของตนให้มีผลเป็นกฎหมายได้ เท่ากับตุลาการไม่ได้รับใช้ประชาชน หันไปรับใช้อำนาจอันโดยมิชอบ และเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตย เป็นการส่งเสริมให้เกิดการรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป เปิดช่องทาง หรือยอมรับให้บุคคล หรือคณะบุคคลที่ทำการรัฐประหาร ยืมมือกฎหมายเข้าปกครองประเทศ ตุลาการจึงไม่ควรที่จะรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัรัฏฐาธิปัตย์ หากแต่ต้องใช้อำนาจตุลาการในการพิพากษาวินิจฉัยให้คณะรัฐประหารต้องรับผิดตามกฎหมาย เพื่อธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมและรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย และคุ้มครองประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง
คำแถลงปิดคดีระบุว่า คสช. ใช้ประกาศและคำสั่งในฐานะกฎหมายเป็นเครื่องมือมาตั้งแต่เข้ายึดอำนาจ ทั้งการประกาศกฎอัยการศึก การออกคำสั่งให้ทหารมีอำนาจเรียกบุคคลมารายงานตัว และควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ มีอำนาจจับกุมตามอำเภอใจ แทรกแซงการสอบสวน รวมทั้งนำคดีทางการเมืองของพลเรือนออกมาพิจารณาในศาลทหาร ซึ่งกระบวนการยุติธรรมตลอดทั้งสายได้ถูกตั้งคำถามจากสังคมทั้งในและต่างประเทศอย่างกว้างขวาง ศาลทหารจึงเป็นปราการสุดท้ายที่จะยืนยันความเป็นอิสระต่ออำนาจของคณะรัฐประหาร ไม่ให้กระบวนการยุติธรรมทั้งสายกลายเป็นเครื่องมือรับใช้ของคณะรัฐประหาร
แถลงปิดคดีฉบับนี้ เป็นฉบับที่ทนายความของสิรภพยื่นส่งต่อศาลอีกครั้ง หลังศาลทหารตีกลับแถลงการณ์ปิดคดีของนายสิรภพ ที่ยื่นเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2559 โดยให้เหตุผลว่า คำแถลงดังกล่าวเป็นการเสียดสีศาล ให้แก้ไขและยื่นใหม่ภายใน 7 วัน หลังยื่นคำแถลงปิดคดี ศาลได้นัดพิพากษาวันที่ 25 พ.ย. 2559
ดาวน์โหลดไฟล์แถลงปิดคดีฉบับเต็มที่: คำแถลงการปิดคดีฉบับแก้ไข.pdf