‘อั๋ว’ รับทราบข้อหาเป็นรายสุดท้าย คดีชุมนุมกดดันปล่อย #คณะราษฎรอีสาน หน้า สตช.

20 ม.ค. 64 เวลา 11.00 น. ที่ สน.ปทุมวัน “อั๋ว” จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ นักศึกษาและนักกิจกรรม เข้าพบ ร.ต.ท.สิทธิกร วิจิตรโสภา สารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน หลังจากได้รับหมายเรียกจากกรณีการชุมนุมหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 63

จุฑาทิพย์เป็นผู้ต้องหารายที่ 4 ในคดีนี้ และเป็นรายสุดท้ายที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ก่อนหน้านี้ผู้ต้องหา 3 ราย ได้แก่ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ แกนนำกลุ่ม “ขอนแก่นพอกันที” และทิพอัปสร แก้วมณี นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง กลุ่ม “ลูกพ่อขุนโค่นล้มเผด็จการ” เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 63 และ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำกลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่ผ่านมา

>> ชุมนุม-สาดสีหน้า สตช. กดดันปล่อย #คณะราษฎรอีสาน ถูกตั้งข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ-ทำให้เสียทรัพย์

>> ‘เพนกวิน’ รับทราบ 8 ข้อหา ชุมนุมกดดันปล่อย #คณะราษฎรอีสาน หน้า สตช.

เหตุแห่งคดีนี้สืบเนื่องจากในวันที่ 13 ต.ค. 63 #คณะราษฎรอีสาน ตั้งเต็นท์ ‘นอนรอม็อบ’ เพื่อเตรียมชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 63 ที่บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมพื้นที่ เนื่องจากมีขบวนเสด็จในช่วงเย็น และใช้กำลังเข้าอุ้มและลากตัวผู้ชุมนุมขึ้นรถควบคุมผู้ต้องขังของตำรวจ รวม 21 ราย เดินทางไปยัง บก.ตชด.ภาค 1

จากนั้นเวลาประมาณ 17.40 น. ได้มีการนัดหมายผู้ชุมนุมไปรวมตัวกันที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ และเคลื่อนขบวนไปยังหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวไป ผู้ชุมนุมได้มีการปราศรัย ตะโกน “ปล่อยเพื่อนเรา” “ขี้ข้าเผด็จการ” และ “หยุดคุกคามประชาชน” และมีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์สาดสีใส่ป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนกระทั่งเวลาประมาณ 20.30 น. จึงประกาศยุติการชุมนุม

ชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนหน้า สตช. (ภาพโดย ประชาไท)

ในวันนี้ ร.ต.ท.สิทธิกร วิจิตรโสภา พนักงานสอบสวนได้บรรยายพฤติการณ์กล่าวหาจุฑาทิพย์ ว่าเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 63 เวลาประมาณ 18.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมรวมทั้งผู้ต้องหานัดรวมตัวกันที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” โดยมีจุฑาทิพย์และพวกเป็นผู้จัดการชุมนุม มีการปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียง

ต่อมา ผู้ชุมนุมได้เคลื่อนตัวไปยังบริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าพนักงาน ข้อกล่าวหาระบุว่าการชุมนุมนี้มีการปิดกั้นเส้นทางจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาต และเป็นการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ กลุ่มผู้ชุมนุมยังได้มั่วสุมกัน มีการใช้รถยนต์กระบะติดตั้งเครื่องขยายเสียงโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และทำการพ่นสีใส่ป้ายที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

จากนั้นจุฑาทิพย์และพวกได้ทำการสาดสี และขว้างปาสิ่งของเข้าไปด้านในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฝั่งหน้าประตูทางเข้า ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่อยู่ จนเป็นเหตุให้เครื่องแบบเจ้าหน้าที่ตำรวจ จำนวน 3 นาย ได้รับความเสียหายจากการถูกสีน้ำ คิดเป็นความเสียหายประมาณ 7,500 บาท

พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาจุฑาทิพย์ รวม 7 ข้อหา เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ดังนี้

  1. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  2. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง มีอัตราโทษจำคุกไม่ 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  3. พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
  4. พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะตลอดจนผู้ชุมนุมไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะฯ มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
  5. ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวาง หรือทอดทิ้งสิ่งของ หรือโดยกระทำด้วยประการอื่นใด มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท 
  6. พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 19 ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
  7. พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 12 ร่วมกันขูด กระเทาะ ขีด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใดๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใดๆ บนถนน โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

จุฑาทิพย์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และปฏิเสธการลงลายมือชื่อรับทราบข้อกล่าวหา โดยจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือในวันที่ 9 ก.พ. 64 หลังจากการรับทราบข้อกล่าวหาไม่มีการควบคุมตัวแต่อย่างใด

ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่หลังการชุมนุมเยาวชนปลดแอกเป็นต้นมา จุฑาทิพย์ถูกกล่าวหาในคดีทางการเมืองรวมแล้ว 7 คดี

 

X