ศาลจำคุก 87 ปี “อัญชัญ” คดีม.112 เหตุแชร์คลิป “บรรพต” สูงสุดเท่าที่เคยบันทึกไว้

19 มกราคม 2564 – วันนี้ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 809 ศาลอาญา รัชดาฯ นัดอ่านคำพิพากษาในคดีของ อัญชัญ อดีตข้าราชการระดับสูงขององค์กรภาครัฐแห่งหนึ่ง ซึ่งถูกฟ้องว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ...คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ตั้งแต่ปี 2558 จากการแชร์คลิปเสียงของ ดีเจบรรพต” นักจัดรายการวิทยุใต้ดินที่วิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสถาบันกษัตริย์ เป็นจำนวนทั้งหมด 29 ข้อความ นับเป็น 29 กรรม 

คดีนี้เกิดตั้งแต่ในช่วงที่ คสช. ยังอยู่ในอำนาจ และระหว่างที่มีการจับกุมอัญชัญเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 58 ยังมีการประกาศกฎอัยการศึก และเธอถูกเจ้าหน้าที่ทหารนำตัวไปควบคุมในค่ายทหารเป็นเวลา 5 วัน ก่อนถูกตั้งข้อกล่าวหาและถูกสั่งฟ้องในศาลทหารกรุงเทพ โดยเธอถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงกลางมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 58 โดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว แม้จะเคยยื่นหลักทรัพย์ 1 ล้านบาท เพื่อขอประกันตัวต่อศาลทหาร และศาลทหารยังสั่งพิจารณาคดีนี้เป็นการลับ ญาติหรือบุคคลทั่วไปไม่สามารถเข้าฟังการพิจารณาได้อีกด้วย

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 61 อัญชัญจึงได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 5 แสนบาท และคดีได้ถูกโอนย้ายมายังศาลอาญาในช่วงปี 2562 ทว่าก่อนที่จะมีการสืบพยานโจทก์ต่อจากที่ค้างไว้ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2563 อัญชัญในวัย 65 ปี ได้ตัดสินใจกลับคำให้การในคดี เป็นให้การรับสารภาพเสียก่อน ด้วยหวังว่าศาลจะลดโทษและระยะเวลาในการคุมขัง

ในส่วนของคำพิพากษา ศาลได้เท้าความถึงเนื้อหาในคำฟ้องของอัยการทหาร ระบุว่า เนื่องจากได้มีประกาศของ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 38/2557 กำหนดให้คดีความที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง รวมไปถึงคดีมาตรา 112 นี้ด้วย จะต้องถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร

คดีนี้เกิดขึ้นระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2557 จนถึง 24 มกราคม 2558 อันเป็นเวลาที่อยู่ในระหว่างการประกาศกฎอัยการศึก จำเลยได้นำไฟล์และคลิปข้อความเสียงของผู้ใช้นามแฝงว่า บรรพตจำนวน 19 คลิป อันเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ผ่านอินเตอร์เน็ตลงในยูทูบ 3 บัญชี รวม 23 ครั้ง และเฟซบุ๊กส่วนตัว 1 บัญชี รวม 6 ครั้ง ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ และเมื่อประชาชนทั่วไปหรือบุคคลที่สามได้ฟังคลิปข้อความเสียงดังกล่าวแล้ว ย่อมเข้าใจว่าจำเลยมีเจตนาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และองค์รัชทายาท

ศาลพิพากษาว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามมาตรา 112 และ พ...คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 เป็นจำนวนทั้งหมด 29 กรรมจริง อันเป็นความผิดฐานดูหมิ่นสถาบันฯ นำเข้าข้อข้อมูลอันเป็นเท็จในประการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของราชอาณาจักร แต่เนื่องจากจำเลยกระทำความผิดหลายกระทง ศาลจึงตัดสินลงโทษเฉพาะมาตรา 112 ซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่า จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมเป็นจำคุก 87 ปี แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือกระทงละ 1 ปี 6 เดือน เท่ากับพิพากษาจำคุก 29 ปี 174 เดือน (ราว 43.5 ปี)

อย่างไรก็ตาม ตลอดการอ่านคำพิพากษาในคดีของอัญชัญ ผู้พิพากษาในคดีอ่านคำพิพากษาด้วยเสียงที่ค่อนข้างเบาและไม่กล่าวถึงท่อนเนื้อหาที่เป็นคำพูดของบรรพต ซึ่งเป็นข้อความที่นำมาใช้กล่าวหาจำเลยในคดีนี้

หลังจากศาลอาญามีคำพิพากษา ญาติของอัญชัญและทนายความได้ยื่นขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ โดยใช้หลักทรัพย์ 1 ล้านบาท 

จนเวลา 15.34 น. ศาลอาญามีคำสั่งเรื่องการขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ว่า “ส่งศาลอุทรณ์เพื่อพิจารณาและมีคำสั่ง” ทำให้ในวันนี้เธอจะถูกนำตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง เพื่อรอฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์เรื่องการประกันตัวใหม่อีกครั้ง ราว 2-3 วัน

 

 

นอกเหนือจากประเด็นเรื่องการละเมิดในชั้นจับกุมและการพิจารณาโดยลับของศาลทหาร ศูนย์ทนายฯ มีข้อสังเกตต่อคดีนี้ในเรื่องของการกำหนดโทษ ในคดีที่เกี่ยวข้องกันคือคดีของบรรพตเอง ที่เป็นผู้จัดทำคลิปเสียงและถูกจับกุมในเวลาไล่เลี่ยกับอัญชัญ ทาง ปอท. ได้แจ้งข้อหากับบรรพตและผู้เกี่ยวข้องส่วนใหญ่เพียงกรรมเดียวเท่านั้น และแทบทั้งหมดให้การรับสารภาพ ศาลทหารได้พิพากษาจำคุก 10 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 5 ปี ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำแล้วในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ในคดีของอัญชัญซึ่งทาง DSI เป็นผู้แจ้งข้อหา กลับถูกแจ้งข้อหาและสั่งฟ้องถึง 29 กรรม มากที่สุดในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีกรณี “เครือข่ายบรรพต” ทั้งหมด โดยที่เธอเองก็ไม่ได้เป็นจัดทำคลิปเหล่านี้ขึ้นด้วยตนเอง

นอกจากนั้น คำพิพากษาจำคุกถึง 87 ปีในวันนี้ ยังนับว่าเป็นอัตราโทษจำคุกในคดีมาตรา 112 ที่มากที่สุดเท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเคยบันทึกไว้ โดยในช่วงหลังการรัฐประหารปี 2557 ทั้งศาลทหารและศาลยุติธรรมมีแนวโน้มพิพากษาลงโทษผู้ต้องคดีนี้ด้วยอัตราโทษที่สูงขึ้น จากเดิมกรรมละ 5 ปี เป็นกรรมละ 8-10 ปี ทำให้เกิดกรณีที่ศาลทหารพิพากษาจำคุกด้วยโทษสูง 50 – 70 ปี (จำเลยรับสารภาพได้ลดโทษครึ่งหนึ่ง) ในหลายคดี 

สำหรับคดีที่ศาลทหารเคยลงโทษจำคุกไว้สูงสุดที่สุด คือคดีของวิชัย พนักงานขายของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ถูกฟ้องร้องจากการปลอมเฟซบุ๊กแล้วโพสต์ข้อความ 10 ข้อความ ซึ่งศาลทหารมีคำพิพากษาจำคุก กรรมละ 7 ปี นับโทษรวมเป็น 70 ปี ให้การรับสารภาพ ลดโทษเหลือจำคุก 30 ปี 60 เดือน (รวม 35 ปี) โดยขณะนี้เขายังคงถูกคุมขังในเรือนจำ

>> ทำลายสถิติ วิชัย คดีปลอม FB โพสต์ 112 ศาลทหารพิพากษา 70 ปี สารภาพเหลือ 30 ปี 60 เดือน
>> เปิดฐานข้อมูลคดี 112 ที่ศูนย์ทนายฯ ให้ความช่วยเหลือทาง กม.

 

 

X